TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainability"เกษตรเพิ่มมูลค่า" ด้วยวิถีจัดการทรัพยากรน้ำแบบยั่งยืน ของดร.รอยล จิตรดอน

“เกษตรเพิ่มมูลค่า” ด้วยวิถีจัดการทรัพยากรน้ำแบบยั่งยืน ของดร.รอยล จิตรดอน

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้กลายเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะผลกระทบต่อ “ทรัพยากรน้ำ” ต้นทุนสำคัญต่อการดำรงชีวิตของภาคครัวเรือน ภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมของประเทศ 

“จำเป็นที่ภาครัฐต้องกระจายอำนาจการบริหารทรัพยากรน้ำลงสู่ท้องถิ่น ด้วยโครงสร้างการบริหารแบบแมทริกซ์เพื่อการจัดการเชิงรุก รับมือทุกความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว” ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการ สถาบันสารสนเทศและทรัพยากรน้ำกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ ครั้งที่ 2 (ประจำปี 2564) จากการนำเทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูงและวิทยาการข้อมูลมาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนจนสามารถพลิกฟื้นความเป็นอยู่รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน กล่าว

ต้นทางปัญหา …

ดร.รอยล กล่าวถึงปัจจัยหลายประการที่กระทบต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำของประเทศ อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทำให้ปริมาณน้ำฝนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ยราว 1,300 มิลลิเมตรต่อปี ไปเป็น 1,500 มิลลิเมตรต่อปี เกิดเป็นปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชน ประสิทธิภาพของระบบกักเก็กน้ำที่ยังไม่ดีพอในการรับมือภัยแล้ง ซึ่งหากศึกษาตัวเลขปริมาตรน้ำฝน ประเทศไทยมีฝนตกเฉลี่ยราว 7 แสนล้านลูกบาศก์เมตร ไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองหนองบึงต่าง ๆ เป็นน้ำท่าหรือน้ำผิวดินราว 282,000 ล้าน กลายเป็นน้ำบาดาลที่นำไปใช้ราว 8,000 ล้าน ส่วนที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำมีเพียง 42,000 กว่าล้าน ทั้งที่ประเทศไทยมีอ่างเก็บน้ำซึ่งมีความจุรวมถึง 7 หมื่นกว่าล้าน ขณะฝนที่ตกนอกเขตชลประทาน สามารถนำน้ำมาใช้ได้ประมาณ 30,000 ล้าน ติดลบอยู่อีก 73,000 ล้าน 

พอมาดูตัวเลขความต้องการใช้น้ำสูงถึง 1.5 แสนล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งเทียบเคียงจากความต้องการน้ำของคนชนบทเฉลี่ย 80 ลิตรต่อคนต่อวัน คนเมืองต้องการน้ำ 200 ลิตรต่อคนต่อวัน ภาคการท่องเที่ยวต้องการน้ำ 1,200 ลิตรต่อคนต่อวัน แต่สามารถกักเก็บน้ำในอ่างได้แค่ 4 หมื่นกว่าล้าน เท่ากับติดลบอยู่ถึงแสนล้าน 

นอกจากนี้โครงสร้างการจัดการน้ำในภาคการเกษตรยังเป็นระบบใหญ่และใช้การบริหารแบบรวมศูนย์ (Centralization) เกษตรกรมองว่าการจัดการน้ำเป็นหน้าที่ของภาครัฐปัญหาคือ พื้นที่การเกษตรของประเทศมีอยู่ 154 ล้านไร่ แต่รัฐจัดการได้ไม่ถึง 20% ปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่ไม่เพียงพอได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ต่างจากภาคอุตสาหกรรมซึ่งหลังประสบวิกฤติต้มยำกุ้งได้เปลี่ยนผ่านการบริหารแบบรวมศูนย์ไปสู่การกระจายอำนาจการจัดการ (Decentralization) ที่เข้าใจและเข้าถึงบริบทของท้องถิ่น (Localization) แทนการวิ่งตามกระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) เพียงอย่างเดียว 

กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

ดร.รอยล ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาพื้นที่เพาะปลูกไร่ข้าวโพด 2000 กว่าไร่ ในจังหวัดน่าน ที่เริ่มจาก “การเข้าใจท้องถิ่น” โดยเน้นคำว่า “เรา” อันหมายถึง หน่วยงานและชุมชนทำงานร่วมกันตามวิถีเลียนแบบธรรมชาติ ณ บริเวณพื้นที่รอยต่อระหว่างป่าต้นน้ำและพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทาน ด้วยการทำฝายแม้ว หรือฝายชะลอความชุ่มชื้นตามแนวทางพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 การปลูกกล้วยป่าเพิ่มความชุ่มชื้น และปลูกพืชอื่นตามหลังจากผ่านไป 7 เดือน รวมถึงดึงหน่วยงาน กสทช. ไปช่วยพัฒนาเทคโนโลยี 4G ปรากฎว่า สามารถพลิกฟื้นพื้นที่การเกษตรในเวลาเพียง 2 ปี จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 7-8 ปี และสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า

“เราพบว่า จริง ๆ แล้ว เกษตรกรต้องการถางป่าให้หมดสภาพเพื่อขอเอกสารสิทธิในที่ดิน แต่พอกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก้กฎหมายให้ชาวบ้านได้มีพื้นที่ทำกินไปพร้อมกับการขอความร่วมมือในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า โดยเราเข้าไปช่วยจัดการระบบน้ำ การผันน้ำในพื้นที่ลาดเอียง พอป่าเริ่มฟื้น มีระบบกักเก็บน้ำดีที่ดีแล้ว เราก็สร้างระบบประปาบนภูเขาให้ชาวบ้านได้มีน้ำอุปโภคบริโภค จะเห็นว่าเกิดความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบซัพพลาย เชน เช่นเดียวกับที่เกิดในระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่” 

‘AgBiotech’ คลื่นลูกใหม่ของนวัตกรรมการเกษตร

ดีป้า ผนึก กรมส่งเสริมการเกษตร ติดปีกเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ยกระดับสู่เกษตรอัจฉริยะ

เติมการจัดการแบบแมทริกซ์

ดร.รอยล เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบความสำเร็จเรื่องการบริหารจัดการน้ำในระดับท้องถิ่นกระจายอยู่ในพื้นที่เต็มไปหมดตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปูรากฐานไว้และสืบสานต่อโดยรัชกาลที่ 10 แต่จะทำอย่างไรให้ระบบเหล่านี้โตขึ้น ขยายผลได้มากขึ้นเพื่อรองรับภาคการเกษตรที่มีอยู่ 16-17 ล้านคน 

“เรามักจะบ่นเกษตรกรเรื่องปัญหาผลผลิต เรื่องที่เราไม่สามารถยกระดับภาคการเกษตร โดยไม่เคยรู้เลยว่า สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะระบบน้ำไปไม่ถึงพวกเขา เช่น ชาวบ้านที่ทำเกษตรบนภูเขา หรือ อยู่นอกเขตชลประทาน ดังนั้นเราจึงไม่ได้แก้แค่เรื่องสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง แต่เป็นการแก้สมดุลเศรษฐกิจของประเทศที่ตัวเลขจีดีพีขึ้นอยู่กับการส่งออกราว 70% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการส่งออกสินค้าภาคการเกษตร สุดท้ายปลายทางจึงเป็นเรื่องของการสร้างความมั่นคงของประเทศ เป็นการเปลี่ยนประเทศที่นอกจากทำเพื่อแสวงหากำไร แต่เราต้องทำเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงด้วย” 

ดร.รอยล เรียกว่า การจัดองค์กรการบริหารแบบเมทริกซ์ (Matrix Organization) ที่เปลี่ยนจากการบริหารแนวดิ่งไปเป็นแนวราบ (Flat Management) โดยลดลำดับชั้นการทำงาน และมุ่งแสวงหาความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อเข้าถึงสาเหตุของปัญหาและดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็วรอบด้าน รวมถึงเป็นการทำงานจากล่างขึ้นบนเพื่อให้ชุมชนได้พิสูจน์ตัวเอง ยกตัวอย่าง พายุปลาบึกเข้าที่ภาคใต้ของไทยเมื่อปี 2561 ไทยสามารถบริหารจัดการน้ำให้ท่วมน้อยกว่าที่เกาหลีทั้งที่มีปริมาณฝนตกวันเดียว 400 กว่ามิลลิลิตร เพราะเรากระจายการบริหารออกไป

อีกตัวอย่างคือ ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิใจกระทิง สถาบันสารสนเทศฯ และมูลนิธิอุทกพัฒน์ซึ่งก่อตั้งขึ้นจากเงินพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2555 หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ โดยการแก้เหตุแห่งปัญหาที่ตำบลสรอย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จนที่สุดในจังหวัดแพร่ ใช้เวลาจากปี 2560-2561 จนถึงวันนี้กลายเป็นพื้นที่ที่มีความมั่นคง 

“เราเปลี่ยนวิธีจากการใช้งบราชการซึ่งอาจต้องรอการพิจารณายาว 3-4 ปี มาเป็นการสนับสนุนจากภาคเอกชนโดยมูลนิธิใจกระทิง ทำให้ดำเนินการได้เลย เริ่มจากการทำฝายซึ่งทำให้เราสามารถจัดการน้ำได้ ทำแท็งค์น้ำเพื่อผลิตน้ำอุปโภคบริโภค ยกระดับความจุอ่างเก็บน้ำห้วยปะยางจากเดิม 7 แสนกว่าลูกบาศก์เมตร เป็น 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ได้ปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มเป็น 341,000 ลูกบาศก์เมตร ไว้รองรับพื้นที่การเกษตรซึ่งมีอยู่เกือบ 2,000 ไร่”

ทีนี้พอมองตัวเลขภาพรวมความต้องการน้ำที่ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้ายังจ่ายน้ำด้วยคลองส่งน้ำเดิมที่อยู่ด้านล่างสุด ทุกคนต้องสูบน้ำขึ้นไปจ่ายพื้นที่เกษตรด้านบนซึ่งต้องมีค่าใช้จ่าย โดยที่ใช้น้ำได้ไม่ถึงพันไร่ แต่เปลี่ยนโดยการจ่ายท่อส่งน้ำไปตามไหล่เขา พอพื้นที่เกษตรด้านบนใช้เสร็จ น้ำก็หลากต่อลงพื้นที่ด้านล่างซึ่งทำให้จ่ายได้ครบสองพันไร่ สามารถทำเกษตรได้ตลอด 12 เดือน ส่วนเกษตรกรแทนที่จะทำไร่ข้าวโพดก็เปลี่ยนมาทำสวนทำนาพอกิน ก็ได้พื้นที่สีเขียวและผลผลิตเพิ่มขึ้นอีก ส่วนวัวที่เดิมเลี้ยงไว้บนเขาก็เอามาเลี้ยงเป็นระบบปิดข้างล่าง

“ปีแรกสามารถเก็บมูลวัวขายเพียงอย่างเดียวได้ถึง 1 ล้านบาท เมื่อไม่มีวัวขึ้นไปย่ำ ผืนป่าก็ฟื้นขึ้นมา หากมีพายุเข้าก็มีแหล่งระบายและจัดเก็บน้ำที่แก้มลิงข้างล่างได้หมด”

อีกตัวอย่างคือพื้นที่ติดเขาใหญ่กว่า 3 หมื่นไร่ที่จังหวัดปราจีนบุรี  ถ้าสร้างอ่างเก็บให้มีน้ำใช้เพียงพอต้องมีความจุ 30 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร ใช้งบประมาณ 2 พันกว่าล้าน กว่าจะขออนุมัติงบประมาณรัฐผ่านใช้เวลา 10 กว่าปี แต่ด้วยการสนับสนุนจากภาคเอกชน เข้าไปฟื้นฟูฝายเดิมในลำห้วย 3 สาขา หรือตัวอย่างการใช้โซล่าเซลล์ลอยน้ำซึ่งติดตั้งในปี 2561 สูบน้ำขึ้นไปบนภูเขา ทำให้การปลูกป่าเดิมใช้เวลานานในการฟื้นฟูสามาถสำเร็จได้ภายใน 2 ปี

พื้นที่นี้เคยเปลี่ยนวิถีการเกษตรมาถึง 3 รอบ จากทำนามาเป็นปลูกไผ่แต่ไม่สำเร็จเพราะไม่มีน้ำ พอเปลี่ยนมาเป็นไม้ดอกไม้ประดับก็ใช้น้ำบาดาลจนเกือบแห้ง สุดท้ายต้องหันกลับมาทำน้ำผิวดินร่วมกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อฟื้นฟูเขาใหญ่ ตัวเลขที่พิสูจน์ได้ คือ รายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 40% ในช่วงโควิด เพราะทุกคนหวนคืนสู่ภาคการเกษตร เริ่มนำเรื่องของอีคอมเมิร์ซเข้าช่วย ทั้งยังขยายผลจากการบริหารจัดการน้ำต่อไปถึงการทำผังการใช้ประโยชน์จากที่ดิน เกิดการบริหารจัดการกองทุนซึ่งเริ่มด้วยเงินไมกี่พันบาท ตอนนี้มีเงิน 600 กว่าล้านบาท ให้ดอกเบี้ยตอบแทนสมาชิกร้อยละ 6 ชาวบ้านคนไหนที่ต้องการขายที่ดิน กองทุนจะรับซื้อแล้วนำมาจัดสรรใหม่ให้เกิดประโยชน์ กลายเป็นเรื่องของการสร้างความมั่นคงและอนาคตที่ยั่งยืนให้กับท้องถิ่นและชุมชน

บริหารความเสี่ยงเพื่อความยั่งยืน

หัวใจสำคัญอีกประการ คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งกลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มที่สนใจทำเรื่องเหล่านี้มีรายได้สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วเสียอีก เพราะประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่เจอปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังคงเชื่อในวิถีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เชื่อในการแสวงหาผลกำไร แต่ไม่ได้เชื่อเรื่องการบริหารความเสี่ยง ซึ่งหากเราศึกษาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเห็นว่า เป็นแนวทางที่นำไปสู่การบริหารจัดการความเสี่ยง ยกตัวอย่าง เข่น การจัดสรรพื้นที่ทำกิน 1 แปลง 11 ไร่ ในการทำสวน ทำนา ขุดสระ เลี้ยงปลาขาย สามารถเพิ่มรายได้จากเดิม 2 แสนกว่าบาท เป็น 2 ล้านกว่าบาท ตัวอย่างพื้นที่สรอยที่บริหารให้เกิดการใช้น้ำซ้ำ ทำให้น้ำเสียไม่ถูกทิ้ง พื้นที่ดงขี้เหล็กที่มีทั้งแผนการใช้น้ำ แผนการเพาะปลูก แผนการขาย แผนกองทุน กระทั่งแผนเรื่องขยะ 

ประเทศไทยมีชุมชนตัวอย่างลักษณะนี้ 1,000 กว่าชุมชน แต่จะเดินต่อและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรในอีก 80,000 กว่าหมู่บ้าน ซึ่งดร.รอยลเห็นว่าภาคเอกชนคือหัวใจของการเปลี่ยนแปลง โดยอาศัยประสบการณ์จากการเปลี่ยนผ่านธุรกิจและอุตสาหกรรมหลังยุคปี 2542

หากลองคำนวณตัวเลขจีดีพีของประเทศไทยที่ 16.2 ล้านล้านบาท คนส่วนใหญ่จะมองว่า ภาคการเกษตรมีส่วนแบ่งแค่ 1-2 ล้านล้านบาท แต่ถ้ามองทั้งห่วงโซ่คุณค่าของภาคการเกษตรจะมีมูลค่าถึง 12 ล้านล้านบาท หรือมองในมิติของภาคอุตสาหกรรมการเกษตรจะมีมูลค่าสูงถึง 10 กว่าล้านล้านบาท ภาคการเกษตรจึงเป็นภาคที่ใหญ่ที่สุด

“ดังนั้น ถ้าเราต้องการเปลี่ยนประเทศไทย ก็ต้องเริ่มเปลี่ยน ณ จุดนี้ ซึ่งเรามีความพร้อม มีตัวอย่างที่สำเร็จเป็นรูปธรรม รวมถึงการได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน เช่น การทำงานร่วมกับกลุ่มธุรกิจทีซีพี (TCP) ก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการผนึกกำลังเพื่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืน” ดร. รอยล กล่าวในที่สุด

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

วรุณาจับมือข้าวหงษ์ทอง ริเริ่มโครงการเกษตรอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีและความรู้ยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทย

ปศุสัตว์ไทยเตรียมพร้อมสู่เกษตรกรยั่งยืน ลดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่การผลิต

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ