TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityGISTDA จับมือ อบก. เตรียมใช้เทคโนโลยีอวกาศ จัดทำบัญชีคาร์บอนครั้งแรกให้ประเทศไทย

GISTDA จับมือ อบก. เตรียมใช้เทคโนโลยีอวกาศ จัดทำบัญชีคาร์บอนครั้งแรกให้ประเทศไทย

Climate Change เคยลงโทษมนุษย์จนเสียชีวิตด้วยอากาศร้อนจัดมาแล้ว แต่ในปีนี้อากาศหนาวเย็นสุดขั้วถล่มสหรัฐฯ อุณหภูมิติดลบ 79 องศาเซลเซียส อากาศหนาวในฤดูหนาวกลายเป็นเรื่องน่าประหลาดใจของคนไทย ในขณะที่น้ำแข็งขั้วโลกก็ยังคงละลายอย่างต่อเนื่อง การแก้ไขให้ธรรมชาติกลับคืน ย่อมใช้เวลาไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่มนุษย์ได้ทำลายธรรมชาติลงไป เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทเป็นตัวช่วยได้หรือไม่? อย่างไร?

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรืออบก. นำพาหน่วยงานพันธมิตรมาร่วมค้นหาคำตอบ ในการสัมมนา “Carbon Accounting: Observation From Space” การใช้เทคโนโลยีอวกาศจัดทำบัญชีคาร์บอนให้กับประเทศไทย เพื่อลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เมื่อวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา  

กรมอุตุฯ จับมือ GISTDA วิเคราะห์ วิจัยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

กลไก “คาร์บอน เครดิต” ช่วยลดปัญหา “ก๊าซเรือนกระจก”

บทบาท 4 องค์กรชั้นนำของไทยกับการแก้ปัญหา Climate Change

เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ผู้ อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเน้นย้ำถึงเป้าหมายของประเทศไทยในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. เป็นหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงในการให้บริการ ดูแล และกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการวัด การรายงาน และการทวนสอบ และให้การรับรองปริมาณการปล่อย การลด และการชดเชยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาโครงการและการตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง  

“เราก็เป็นองค์กรเล็ก ๆ ต้องการจะเป็น Catalyst ให้ทุกคน Alert แล้วก็เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ขณะเดียวกันเราส่งเสริมให้ผู้ที่มีศักยภาพ มาทำโครงการดี ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าเพื่อเพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอน หรือการจัดการพลังงานเพื่อลดการปลดปล่อย ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยีทางด้านอวกาศ มาประยุกต์ใช้ได้ตรวจวัด 

นอกจากนี้ เรายังอนุญาตให้ผู้ที่พยายามจะลดก๊าซเรือนกระจก การทำด้วยตนเอง อาจไม่เพียงพอ สามารถที่จะไปซื้อเครดิตของคนอื่นเพื่อชดเชย โดยการเข้าไปสนับสนุนโครงการต่าง ๆ และรวมถึงเราสร้างกลไกการแลกเปลี่ยนผ่านแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งข้อมูลความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับมาตรฐานเหล่านี้ เราสื่อสารผ่าน สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ซึ่งเราตั้งเป็นสถาบันวิทยาการ ที่ให้การอบรมในทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้อง”

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือกฟผ. หนึ่งในองค์กรแรก ๆ ในประเทศไทยที่ประกาศตัว อย่างเป็นทางการ ว่าจะมีการดำเนินการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายเพราะต้องสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางพลังงาน บุญญนิตย์ วงศ์รักมิต รผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เผยประสบการณ์นโยบายและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวัดคาร์บอน ที่ทาง กฟผ. ดำเนินการอยู่ว่า 

“เราเป็นรัฐวิสาหกิจ หน้าที่ของเราก็คือ หาแหล่งวัตถุดิบ แล้วก็ผลิตไฟฟ้า ส่งมาให้ทุกคนมีไฟฟ้าใช้ ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการทำลายธรรมชาติ และแน่นอนว่ามีการปลดปล่อยก๊าซที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับโลก อย่างไรก็ตาม เราได้มีการปรับปรุงระบบการทำงานขององค์กรมาโดยตลอด กฟผ.เริ่มจากการจัดตั้งทีมงาน Greenhouse Gas Management Committee ขึ้นเพื่อดูแลเรื่องการแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจก มีการดำเนินการด้าน Carbon Footprint Organization โดยตรวจสอบและติดตามกระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดคาร์บอน 

เราร่วมกับ อบก. ตั้งแต่ยุคเริ่มแรก มีโครงการที่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต 16 โครงการ ในปี 2012-2013 รวมเป็นคาร์บอนเครดิต กว่า 1.85 ล้านตัน รวมถึงความร่วมมือในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER)  ในช่วงปี 2016-2020 กฟผ. ได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ Greenhouse Gas Master Plan และเข้าร่วมเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Action: NAMA) ซึ่งสามารถลดปริมาณคาร์บอนได้กว่า 50 ล้านตันในปี 2020 

ปี 2021 กฟผ. มีนโยบายเพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutrality โดยกำหนดเป็น ยุทธศาสตร์ 3 S ได้แก่ 

Sources Transformation การจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด ปรับเปลี่ยนแหล่งพลังงาน แหล่งเชื้อเพลิงที่จะมาผลิตไฟฟ้า ปรับเปลี่ยนใช้ตัว Floating Solar เอาโซลาร์ฟาร์มไปลอยน้ำในพื้นที่เขื่อนของเรา แล้วก็มีการทำเรื่อง Grid modernization ทำให้ระบบส่งไฟฟ้ามีความเข้มแข็ง แล้วก็มีความยืดหยุ่นเพียงพอ กับการเข้ามาของพลังงานทดแทนที่จะมีบทบาทในอนาคต และเราก็ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับเชื้อเพลิงไฮโดรเจน เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ๆ

Sink Co-creation การเพิ่มเติมแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม เช่น การปลูกป่า ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ.มีโครงการปลูกป่ามาแล้วถึง 470000 ไร่ และจะมีโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ร่วมกับพันธมิตร ภายใน 10 ปี (2565-2574) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเรื่อง Carbon Capture Storage เพื่อนำมาใช้ดำเนินการในอนาคต

Support Measure Mechanism การรณรงค์ประหยัดพลังงาน ทำยังไงให้คนใช้ไฟฟ้าน้อยลงโดยฉลากไฟฟ้าเบอร์ 5 ส่งเสริมเรื่องทัศนคติของเด็กรุ่นใหม่ๆ เกี่ยวกับพลังงานสีเขียวหรือการประหยัดพลังงาน

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นหนึ่งในองค์กรภาคเอกชนซึ่งทำงานกับชุนชนและป่าที่มีมายาวนานกว่า 30 ปีหม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกเล่าถึงความเป็นมาการทำงานของมูลนิธิว่า

“มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เริ่มต้นเป็นที่รู้จักกันในเรื่องการแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น เพราะในอดีตที่ผ่านมา ฝิ่นกับการตัดไม้ทำลายป่ามันเป็นของคู่กัน เรานำพาคนที่ปลูกฝิ่นมาเป็นคนที่ปลูกป่า พยายามพัฒนาเรื่องของหลักการสร้างงานสร้างอาชีพ สมัยนั้นเราแก้ปัญหา 3 เรื่อง คือเรื่องของความเจ็บ ก็คือ เรื่องโรคภัยต่างๆ ความ จนคือเรื่องการสร้างรายได้ ความ ไม่รู้ ติดอาวุธทางปัญญาเพื่อคนในชุมชนสามารถที่จะดูแลตัวเอง ดูแลชุมชน และดูแลธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน” 

30 กว่าปีของประสบการณ์ในเรื่องการทำเกี่ยวกับป่า ทางมูลนิธิมีพื้นที่โครงการปลูกป่าในรูปแบบต่างๆ หลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น โครงการพัฒนาดอยตุงฯ โครงการปลูกป่าแบบปลูกเสริมที่บ้านมะหัน โครงการปลูกป่าแบบไม่ปลูก บ้านปูนะ และโครงการปลูกป่าที่จังหวัดน่าน ใน 3 อำเภอ   บรรลุผลทั้งในด้านการสร้างพื้นที่ป่า กว่า 4 แสนไร่ องค์ความรู้ในการศึกษาพรรณไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ การป้องกันไฟป่า การหยุดการบุกรุกเพื่อให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง ซึ่งจากการติดตามอย่างต่อเนื่อง ไม่พบปัญหาการบุกรุกที่มีนัยสำคัญ

“สิ่งที่เราค้นพบคือ คนหิว ป่าหาย ตราบใดก็ตามที่คนในพื้นที่ไม่สามารถที่จะมีรายได้อย่างยั่งยืนได้ ก็ต้องบุกรุกทำลายป่าเพื่อทำเกษตรเชิงเดี่ยว ทำต่อไปเรื่อยๆ เราต้องสมการจาก คนหิว ป่าหาย ให้กลายเป็น คนอยู่ได้ และ ป่ายั่งยืน ซึ่งคาร์บอนเครดิต เป็นหนึ่งในหลักการหลักที่ทำให้เราสามารถเปลี่ยนสมการตัวนี้ได้” 

โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คือโครงการล่าสุดที่ทางมูลนิธิฯ ดำเนินโครงการนำร่อง ใน 10 จังหวัด รวมพื้นที่ประมาณ 1 แสนไร่ และมีแผนในการขยายพื้นที่อีก 1 แสนไร่ ปีถัดไป 1.5 แสนไร่ แล้วขยับขยายไปให้ถึง 5 แสนไร่ต่อปี

อย่างไรก็ตาม ยิ่งพื้นที่มากขึ้นเท่าไหร่ ก็เป็นเหตุผลที่เทคโนโลยีมีความสำคัญมากๆ ต่อการเติบโตและความสำเร็จของโครงการทั้งในแง่การวางแผนงานและการประเมินตรวจวัด ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้รับข้อมูลตั้งต้นจากทาง GISTDA ในส่วนของระบบติดตามและป้องกันไฟป่า

หลักการสามเหลี่ยมความร่วมมือ ที่ประกอบไปด้วย หนึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯที่ทำหน้าที่คัดกรองป่า ประสานงานกับชุมชน วางแปลง และขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต สองผู้สนับสนุนโครงการ กำหนดระยะเวลา 3 ปี และ สามคือชุมชนมีภารกิจในการดูแลรักษาป่า ป้องกันไฟป่า โดยได้รับทุนสนับสนุน 500 บาทต่อไร่ นำมาตั้งเป็นกองทุน ในการดูแลบริหารป่า และต่อยอดสร้างรายได้เสริมจากการหาของป่า

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ในฐานะประธานคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก (CEOS) กล่าวว่า ความก้าวหน้าในการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ และข้อมูลจากดาวเทียมสามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายทั้งในด้านการจัดการเมือง การทำแผนที่ ภัยพิบัติ การเกษตร การจัดการน้ำ รวมทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศเพื่อการสำรวจการกักเก็บปริมาณคาร์บอนในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร และพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่เป็นมาตรฐานในการกักเก็บคาร์บอน และประเทศไทยก็มีความพร้อมที่จะใช้เทคโนโลยีอวกาศ เพื่อจัดการคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนและประเทศ

“ในความเป็นจริง การสำรวจพื้นที่ภาคสนามเราไม่สามารถใช้แรงงานคนวัดต้นไม้ได้ทุกต้น ดังนั้น การนำเทคโนโลยีจากดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศเข้ามาสนับสนุน จะทำให้สามารถจำแนกประเภทป่าไม้ และประเมินความหนาแน่นชั้นเรือนยอดต้นไม้จากแบบจำลองเชิงพื้นที่ เพื่อประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าฯ ได้อย่างถูกต้องเพียงพอกับการใช้งาน ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ อีกทั้งยังประหยัดเวลา แรงงานคนที่ต้องใช้ในการสำรวจภาคสนามและลดความผิดพลาดจากการสำรวจอีกด้วย” 

จากการใช้เทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียมประเมินข้อมูลพื้นที่สีเขียวจากต้นไม้ การจำแนกชนิดพืช พื้นที่เพาะปลูก และพื้นที่สีเขียว การตรวจวัดและติดตามก๊าซเรือนกระจก จากดาวเทียมโดยตรง เทียบกับภาคพื้นดิน ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจและวิเคราะห์เหล่านี้จะถูกรวบรวมเพื่อนำไปสู่การจัดทำ “บัญชีคาร์บอนให้กับประเทศไทย” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศได้แก่ หน่วยงานด้านพลังงาน หน่วยงานภาคกระบวนการอุตสาหกรรม หน่วยงานด้านการจัดการของเสีย หน่วยงานด้านการเกษตร หน่วยงานด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นต้น ต่อไป

ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญและใช้เทคโนโลยีจากดาวเทียมเพื่อสำรวจการกักเก็บคาร์บอนมานานแล้ว และมีการปรับปรุงพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ให้มีมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง การจัดทำบัญชีคาร์บอนให้กับประเทศไทย ถือเป็นความท้าทายไปอีกขั้นในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อการเฝ้าระวังและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับโลกใบนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและระบบเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

กลุ่ม TCP – พันธมิตร สร้างนวัตกรรม รวมพลัง ขับเคลื่อนความยั่งยืน

ปศุสัตว์ไทยเตรียมพร้อมสู่เกษตรกรยั่งยืน ลดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่การผลิต

มุ่งสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero GHG Emission

เมื่อถามถึงวิสัยทัศน์การดำเนินงานในอนาคตของแต่ละหน่วยงาน ว่ามีนโยบายในการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร ทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ให้ข้อมูลว่า 

“ในการประเมิน Carbon Credit ภาคป่าไม้ ในปัจจุบัน ได้เปิดเป็นทางเลือกให้สามารถนำเอาเทคโนโลยีขั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมหลาย ๆ แบบ มาร่วมใช้ประเมินเนื้อไม้ที่เพิ่ม เปรียบเทียบกับ Baseline เดิมได้อย่างถูกต้องแม่นยำและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ขนาดใหญ่และมีรูปแบบของต้นไม้ใกล้เคียงกัน ที่สำคัญก่อนที่มีการเสนอใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการประเมินมีความจำเป็นที่ต้องสอบเทียบความถูกต้องกับวิธีมาตรฐานกลางตามวิธีการคำนวณตามมาตรฐานประเมิน Carbon Credit โดยใช้จำนวนตัวอย่างที่น่าเชื่อถือ และผ่านการเห็นชอบตามขั้นตอนที่กำหนดด้วย”

ส่วนทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตระบุว่า วิธีการในการตรวจวัดคาร์บอนเครดิตล้วนแล้วต้องใช้ทั้งทรัพยากรบุคคล ความร่วมมือ และงบประมาณ ก็ฝากความหวังในอนาคตไว้กับเทคโนโลยีจาก GISTDA  ในปัจจุบัน กฟผ.เอง ได้ใช้ข้อมูลดาวเทียมร่วมกับ AI, LiDAR (Light detection and ranging) และ Eddy Covariance ในการหาปริมาณคาร์บอนจากโครงการปลูกป่า โดยได้ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัย 4 แห่ง ในการทดลองใช้ตัวระบบดังกล่าว กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปางก่อนเป็นแห่งแรก

นอกจากนี้สิ่งที่ทาง กฟผ.จะให้ความสำคัญมากขึ้นในอนาคตได้แก่ ยุทธศาสตร์ Sources Transformation ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยขยายโครงการ Floating Solar ซึ่งที่ผ่านมาทาง กฟผ.ได้บุกเบิกนำร่องไปแล้วในเขื่อนขนาดใหญ่ 9 แห่ง ซึ่งโดยใช้พื้นที่ผิวน้ำประมาณ 1% ในการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ในช่วงกลางวัน 5-6 ชั่วโมง สามารถผลิตไฟฟ้าได้เท่ากับปริมาณไฟฟ้าจากพลังน้ำที่มีอยู่เดิม จึงเป็นไอเดียในอนาคต ในการเพิ่มพื้นที่โซลาร์ฟาร์มขึ้นอีก 5 เท่า ผลิตไฟฟ้าเก็บไว้ในแบตเตอรี่ ก็จะทำให้มีฟลังงานไฟฟ้าสะอาดใช้ได้ 24 ชั่วโมง 7 วัน แต่ยังต้องรอให้ราคาแบตเตอรี่ถูกลงกว่านี้ก่อน จึงจะคุ้มค่ากับต้นทุนการผลิต

หม่อมหลวงดิศปนัดดา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ฝากประเด็นเน้นย้ำ ถึงมาตรฐานในการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ว่าควรเป็นมาตรฐานที่เทียบเคียงใช้กับต่างประเทศได้ และที่สำคัญกระบวนการต้องมีความน่าเชื่อถือ ป้องกันไม่ให้เกิดประเด็น Green Washing คือ ปัญหาของกระบวนการในการสอบทอนไม่ครบถ้วน ไม่โปร่งใส ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตแล้วไม่ตรงกับความเป็นจริง และที่สำคัญต้องตอกย้ำด้วยว่า คาร์บอนเครดิตเป็นแค่การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ priority สำคัญคือการอนุรักษ์ป่าที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพที่การปลูกป่าไม่สามารถสร้างได้ในเวลาอันสั้น 

ส่วนในด้านเทคโนโลยีนอกจากเทคโนโลยีในด้านการตรวจวัดแล้ว เป็นสิ่งที่น่าสนใจหากจะนำ Machine Learning  เข้ามาใช้ในการเก็บข้อมูล รวมไปถึงการบริหารจัดการฐานข้อมูล ให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้นเช่น แตกคาร์บอนเครดิต จากหน่วยตัน เป็นหน่วยกิโล เพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น ให้คนธรรมดาเข้ามาซื้อขายได้ สนับสนุนการรองรับใน Secondary market หรือแม้กระทั่งว่าฐานข้อมูลที่จะต้องรองรับตันคาร์บอนหลักสิบล้านตันในอนาคต 

ดร.ปกรณ์ ทิ้งท้ายตอกย้ำถึงหน้าที่ GISTDA ในการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์กับประเทศให้มากที่สุด  การตรวจวัดโดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียม ก็เป็นระบบวิธีการที่เป็นมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับได้ในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ GISTDA ยังมีพันธกิจในการนำข้อมูลดาวเทียมที่ได้มาไปสู่มือของประชาชนให้มากที่สุด เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของคาร์บอนของมีเทนที่มากขึ้นหรือลดลงแต่ละเดือน 

10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับที่มา และ ตลาดคาร์บอนเครดิต

COP 27 กับการหารือกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต

“ผมมองว่าข้อมูลไม่ใช่ของ GISTDA แต่คือ ข้อมูลของประเทศ และควรเข้าถึงได้ ได้ใช้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น ข้อมูลใดก็ตามของ GISTDA มีนโยบาย GI for All เราให้ประชาชนเข้าถึงได้ใช้ฟรี และไม่ใช่แค่ประชาชนเข้าถึงข้อมูล แต่เราต้องนำพาข้อมูลต้องเข้าถึงประชาชนให้ได้ ตอนนี้เรากำลังจะมีการเปิดตัว Web Portal ที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Carbon Emission และการเปลี่ยนแปลงคาร์บอนทั่วประเทศไทย และมั่นใจในความถูกต้องด้วยว่าคลาดเคลื่อนต่ำกว่า 30% ตามที่มาตรฐานยอมรับ

ที่ผ่านมา 4 หน่วยงาน เราร่วมมือกันมาตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า อยากให้พี่น้องประชาชนได้เห็น และเราให้คำมั่นว่า เราพร้อมที่จะทำงานร่วมกับภาคประชาชน เพื่อจะทำงานส่งเสริมการลดคาร์บอน เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้กระทบต่อชีวิตพวกเราหรืออนาคตน้อยที่สุดหากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ในการทำโครงการ ช่วยกันลดการปล่อยคาร์บอน ลดปัญหา climate change ให้ได้มากที่สุด เราพร้อมที่จะให้บริการ และทำงานร่วมกันทุกคน ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเรา หรือธุรกิจของเรา แต่เพื่อโลก เพื่อคนรุ่นลูก รุ่นหลานของเราทุกคนด้วย”

“กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย” ต้นน้ำนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของ ‘พลาสติก’

“ดิทโต้” ลุยปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิตกว่า 1 หมื่นไร่ เผยสัญญายาว 30 ปี ได้รับจัดสรรคาร์บอนเครดิต 90%

“กสิกรไทย” วาง 6 ยุทธศาสตร์ด้าน ESG มุ่งสู่เป้าหมายธนาคารแห่งความยั่งยืน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ