TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainability“กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย” ต้นน้ำนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของ 'พลาสติก'

“กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย” ต้นน้ำนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของ ‘พลาสติก’

ชื่อของ ‘กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย’ อาจไม่เป็นที่คุ้นหูของคนทั่วไปมากนัก แต่แท้จริงแล้วเป็น ‘ดาว’ เป็นบริษัทด้านวัสุดศาสตร์ชั้นนำของโลก ผู้อยู่เบื้องหลังบริษัทผลิตภัณฑ์คอนซูเมอร์ในหลาย ๆ อุตสาหกรรม อาทิ ก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ภายในบ้าน สกินแคร์ และบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ผลิตจากพลาสติก

ภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า ดาวมีเป้าหมายด้านความยั่งยืนมา 30 ปี ตั้งแต่ยูเอ็นจัดตั้งเรื่องความยั่งยืนเป็นเป้าหมายแรกของโลก โดยมีการจัดตั้งเป้าหมายความยั่งยืนออกเป็น 3 ชุด ๆ ละ 10 ปี ใน 10 ปีแรกเน้นการพัฒนาโรงงานของดาว กระบวนการทำงานเน้นเรื่องความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม โดยใน 10 ปีแรกสามารถลดคาร์บอนฟุตปริ้นซ์จากในโรงงานได้ เมื่อชุดนี้ทำได้ดีแล้ว โดยไม่ว่าจะขยายโรงงานไปมากเท่าใดก็ตาม คาร์บอนฟุตปริ้นซ์ต้องยึดอยู่บนฐานเดียวกันของปี 2006 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการสิ้นสุดโครงการของเฟส 10 ปีแรก  

ต่อมาเข้าสู่ 10 ปีที่สอง เริ่มตั้งแต่ 2006-2015 ดาวเรียกนโยบายความยั่งยืนในช่วงเวลานี้ว่า นโยบายความยั่งยืนชุดที่ 2 จะเน้นไปที่ตัวสินค้า โดยสินค้าที่ดาวผลิตให้ลูกค้าสามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าเพื่อความยั่งยืนได้

ภรณี ฉายภาพด้วยการยกตัวอย่าง สินค้าในกลุ่มของสีทาบ้านว่า “สีทาบ้านสมัยก่อน เมื่อทาเสร็จยังเข้าอยู่ไม่ได้ แต่สำหรับสมัยนี้ด้วยเป้าหมายความยั่งยืน วัตถุดิบที่เข้าไปเป็นส่วนประกอบของสีทาบ้าน ทำให้ลูกค้าสามารถผลิตสีทาบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ มีความปลอดภัยกับผู้ใช้ หรือแม้แต่กลุ่มผลิตภัณฑ์ในหมวด Consumer Care ล่าสุดจะมีวัตถุดิบที่ใส่เข้าไปในครีมกันแดดทำมาจากพืช สามารถละลายในสิ่งแวดล้อมได้ เวลาไปเล่นน้ำทะเล สารนี้ก็จะไม่ไปทำลายปะการัง ดังนั้น เป้าหมายในขั้นที่ 2 ของดาวคือทำอย่างไรให้สินค้าของเรา เมื่อลูกค้านำไปผลิตต่อแล้วเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นความยั่งยืนได้ด้วย”

ต่อมาเป้าหมายที่ 3 เริ่มตั้งตั้ง 2016-2025 เน้นจับมือกับพันธมิตร เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนโลก ไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไรบ้าง โดยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาทางกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้ประกาศเป้าหมายความยั่งยืนเพิ่มอีก 2 ข้อ ข้อที่ 1 ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยภายใต้หัวข้อนี้ ดาวตั้งใจจะเป็นองค์กร carbon neutral (ความเป็นกลางทางคาร์บอน) ภายในปี 2050 หรือ พ.ศ. 2593 และดาวตั้งเป้าหมายว่าจะลดคาร์บอนใน Mind Zone ที่ 1 ให้ได้ 15% ภายในปี 2030 หรือ พ.ศ. 2573

“ส่วนเป้าหมายข้อที่ 2 คือเรื่องของการ Close Lope เนื่องจากสินค้าของเราส่วนใหญ่เป็นพลาสติกที่เข้าไปอยู่ในกลุ่มของบรรจุภัณฑ์ โดยตั้งเป้าไว้ว่าสินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์ จะต้อง Recycle หรือใช้ซ้ำได้ 100% และตั้งเป้าเก็บขยะพลาสติกออกไปใช้ใหม่ให้ได้ 1 ล้านตัน” ภรณีกล่าว พร้อมกับย้ำว่า

โรงงานดาวประเทศไทยเป็นศูนย์กลางที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย สินค้าทุกตัวของที่นี่จะเน้นเรื่องความยั่งยืน เน้นเรื่องความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม และช่วยให้ลูกค้าพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนด้วย

กลยุทธ์สู่ความยั่งยืน

กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของดาวในเป้าหมายช่วงที่ 3 ที่เน้นการเป็นหุ้นส่วนกับพันธมิตร มีเป้าหมายเดียวกันในการขับเคลื่อนสังคมและโลกไปสู่ความยั่งยืน ดังนั้น กลยุทธ์หลัก ๆ ของดาวคือความร่วมมือและนวัตกรรม

ดาวจะใช้นวัตกรรมของดาวแล้วนำไปร่วมมือกับคนที่คิดเหมือนกัน มีเป้าหมายเหมือนกันในการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน แล้วทำงานด้วยกัน

ภรณีบอกว่า “จะเห็นว่าการทำงานตั้งแต่ 2016-2025 นั้น ดาวร่วมกับภาคีเครือข่ายเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งภาคีพลาสติกในการขับเคลื่อน Plastics  Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียนพลาสติก) ได้ร่วมมือกับหลายบริษัท องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อจัดการคัดแยกขยะต้นทางได้อย่างไร แล้วนำขยะพลาสติกมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร และนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร กลยุทธ์หลักคือนำนวัตกรรมไปขับเคลื่อนสังคมผ่านความร่วมมือกับคนอื่น ๆ ด้วย”

“สำหรับลูกค้า ดาวมีนวัตกรรมหลายอย่าง แต่นวัตกรรมของดาวส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบต้นทาง เช่น การจะกักเก็บคาร์บอนไม่ให้ไปเป็นก๊าซเรือนกระจกในสิ่งแวดล้อม ดาวมีการจับมือเป็นส่วนหนึ่งของลูกค้าในการถ่ายทอดเทคโนโลยีส่วนนี้ให้กับลูกค้า ทำให้ลูกค้าสามารถป้องกันไม่ให้มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งในเมืองไทยมีบริษัทที่ทำสำเร็จและเป็นพาร์ตเนอร์กับดาวคือ IRPC

หรือในกรณีของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกทั้งหลายนำไป recycle หรือ reuse ไม่ได้ ดาวก็ใช้นวัตกรรมของดาวไปช่วยลูกค้าสามารถนำบรรจุภัณฑ์ของเขาไป Recycle ได้ 100% หรือนำไป reuse ก่อนค่อยนำไป recycle เช่น ถุงข้าวตราฉัตร ตัวซองที่เป็นตัวเติมของสบู่เหลว ในเครือของเบบี้มายด์ ของบริษัท ไลอ้อน เราทำงานร่วมกัน เกิดจากความร่วมมือผสมผสานกับนวัตกรรม นี่คือกลยุทธ์หลักที่ใช้ขับเคลื่อนเป้าหมายความยั่งยืน”ภรณีอธิบายให้เห็นภาพ

นวัตกรรมเพื่อลดคาร์บอน ตอบสนองต่อความยั่งยืน

ภรณีเล่าถึงแนวทาง ในการนำนวัตกรรมมาช่วยลดคาร์บอนว่า “เครือบริษัทดาวมีนโยบายการลดคาร์บอนเริ่มต้นจากตัวเรา โรงงานของดาวทุกโรงงานจะดีไซน์ตั้งแต่ต้นว่า โรงงานนั้น ๆ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างทางได้อย่างไร เพราะมีเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่า ไม่ว่าจะสร้างโรงงานมากขึ้นเท่าไหร่ ขอบเขตการปล่อยคาร์บอนต้องไม่เกินไปกว่าปี 2006 นั่นหมายความว่าต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ด้านการดำเนินการที่มีอยู่ลด 15% ภายในปี 2030 และต้องเป็น carbon neutral ในที่สุด ดังนั้นโรงงานหลัก ๆ ของดาวจะเป็นโรงงานที่คาร์บอนเป็น “ศูนย์” หรือลดคาร์บอนลง ตรงตามเป้าหมายของเรา”

นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่างโรงงานที่ผลิตเม็ดพลาสติกในต่างประเทศของดาว ที่แคนาดาสามารถผลิตเม็ดพลาสติกโดยไม่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย เพราะทางรัฐบาลแคนาดาร่วมกันกับภาคเอกชน จัดทำ carbon storage (ตัวกักเก็บคาร์บอน- CCUS) จะทำให้สามารถดึงคาร์บอนกลับไปกักเก็บหรือใช้ประโยชน์ได้

ในส่วนของการทำงานในโรงงานของเมืองไทยเน้นการควบคุมความสูญเสียในกระบวนการผลิต การทำให้โรงงานเป็น Circular Economy เช่น โรงงานผลิตพลาสติก specialty elastomer เริ่มต้นตั้งแต่ต้นทางในการจัดหาวัตถุดิบสามารถที่จะนำ by product นำกลับมาผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ได้ การทำงานของโรงงานเป็น Close Lope operation กระบวนการผลิตตลอดเส้นทางไม่มีการปลดปล่อยของเสีย และสามารถนำของเสียกลับมาเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ได้ กระบวนการของการลดใช้พลังงาน ลดใช้ทรัพยากร พวกนี้สามารถลด Carbon Footprint ได้ สิ่งเหล่านี้สำคัญมากในการลดคาร์บอนอย่างมีนัยยะสำคัญ

Dow-4I1A8866

ภรณีเล่าให้ฟังว่า นวัตกรรมที่สำคัญอีกหมวดหนึ่งคือหมวดของยานยนต์ ดาวมีหลายโซลูชันที่เข้าไปอยู่ในรถ EV ได้ ดาวเป็นต้นน้ำ ตัวอย่างเช่น การจะผลิตแบตเตอรี ดาวมีโซลูชันที่จะเข้าไปสู่กระบวนการผลิตของรถ EV หรือว่า เบาะที่นั่ง แต่ก่อนเป็นเบาะฉีดและเป็นก้อนโฟม นวัตกรรมของดาวสามารถนำมาทำเป็นเบาะรถยนต์หรือที่นอนผืนใหญ่ และสามารถ recycle 100% สิ่งนี้ก็ถือเป็นนวัตกรรมของดาว ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปี 2564 เป็นตัวที่นำพลาสติก PE นำไปขึ้นรูป และสามารถ recycleได้ หรือในกรณีของถังรถยนต์ในสมัยก่อนใช้เหล็ก พอเป็นรถ EV จำเป็นต้องใช้พลังงานน้อย เพราะฉะนั้นวัสดุหลักของดาว พวกผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดพิเศษของดาว  สามารถนำเข้าไปอยู่ในตัวโครงสร้างของตัวรถ เพื่อให้รถมีความแข็งแรงเหมือนเหล็ก มีขีดความสามารถในการใช้งานเหมือนเดิม แต่มีน้ำหนักที่เบาขึ้น ทำให้ใช้พลังงานน้อยลง พวกนี้ล้วนเป็นนวัตกรรม

“อีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจ คือสารที่อยู่ในน้ำยาซักผ้า โดยพฤติกรรมคนยังชอบฟองอยู่ แต่ฟองใช้น้ำล้างเยอะกว่าจะออก ดาวมีสารตัวหนึ่งที่ใส่ลงไปได้ฟองเหมือนเดิม แต่ลดการใช้น้ำเพื่อซักออกได้ครึ่งหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ช่วยลดการใช้น้ำ ลดการสูญเสีย ช่วยสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้กลุ่มวัสดุเพื่อการก่อสร้างตึก ตัวซีแลนด์ ซีลิโคน ที่สุวรรณภูมิก็ใช้ซิลิโคนของดาว ช่วยทำให้สร้างอาคารที่เป็นสีเขียวได้ง่ายขึ้น ทำในลักษณะของกระจก ทำให้สามารถใช้แสงธรรมชาติได้ง่ายขึ้น แต่ต้องมีซีแลนด์ที่ดี ไม่เช่นนั้นจะเอาไม่อยู่ ซึ่งผลิตภัณฑ์ในวงการก่อสร้างของดาวจะเป็น carbon neutral ทุกตัว นอกจากนี้ยังมีสารที่เป็นส่วนประกอบของซีเมนต์ที่ช่วยล่นระยะเวลาในการเซ็ตตัว ช่วยล่นระยะเวลาในการก่อสร้าง หรือแม้แต่ส่วนประกอบที่อยู่ในฉนวนผนังหรือหลังคา ทั้งหมดนี้ช่วยลดความร้อน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ภรณีบอกว่า ดาวเองมีนวัตกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย แต่เนื่องจากเป็นนวัตกรรมต้นทุนการผลิตจะอยู่ในราคาที่สูง ก็ต้องคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายของผู้บริโภค และความตระหนักรู้ของผู้บริโภคด้วย

“ในโซนยุโรปผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก พร้อมที่จะจ่าย ดังนั้น นวัตกรรมเกี่ยวกับวัสดุของพลาสติกที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็จะมีมากกว่าไทย แต่ถ้าหากในอนาคตคนไทยเห็นความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้นวัตกรรมก็จะไหลบ่าเข้ามาในประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคคนไทย ทำให้เกิดวิถีชีวิตที่มีความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน”

ลำดับต่อไปเป็นเรื่องของการจัดซื้อ มีความพยายามที่จะรณรงค์ให้ซัพพลายเออร์ลดคาร์บอน ที่สำคัญคือผลิตภัณฑ์ของดาวก็สามารถไปลดคาร์บอนให้คนอื่นด้วย ดาวมีเทคโนโลยีในการกักเก็บคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม มีเม็ดพลาสติกบางตัวที่มี Carbon Footprint ต่ำ เพราะฉะนั้นเวลาลูกค้านำไปใช้ก็ช่วยในการลดการปลดปล่อยก๊าซ นวัตกรรมของดาวยังทำให้ลูกค้าใช้เม็ดพลาสติกน้อยลง แต่ได้ผลิตภัณฑ์ที่แข็งแรงขึ้น เท่ากับเป็นการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปในตัว

ส่วนการทำงานด้าน CSR ดาวทำเรื่องการปลูกป่า ดาวปลูกป่าโครงการมาแล้ว 11 ปี ตลอด 11 ปี พนักงานมีโครงการช่วยกันปลูกป่าเสื่อมโทรม และขยายพื้นที่มาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันพัฒนาเป็นโครงการที่จะนำป่ามาเป็นคาร์บอนเครดิต นอกเหนือจากให้ประโยชน์แก่บริษัทอย่างเดียว แต่ยังให้ประโยชน์กับชุมชน ทำอย่างไรให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลป่า ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่า และตอบโจทย์เรื่องการปกป้องชั้นบรรยากาศ จริง ๆ การบริหารจัดการของดาวไม่จำเป็นต้องซื้อคาร์บอนเครดิตมาก เพราะได้มีการบริหารตั้งแต่ต้นทางแล้ว แต่ก็ยังทำโครงการปลูกป่าเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน  

การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก

ภรณีบอกว่า ขยะพลาสติกเป็นเรื่องที่ทางเครือบริษัท ดาว ประเทศไทย ไม่ทอดทิ้ง ดาวเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจที่มีฐานของพลาสติกเป็นหลัก ดังนั้น จึงให้ความสำคัญเกี่ยวกับขยะพลาสติก ซึ่งที่จริงแล้วขยะพลาสติกมีมูลค่า สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือบางส่วนหากใช้ใหม่ไม่ได้ก็ย้อนกลับไปเป็นพลังงานเพราะมาจากปิโตรเลียม แต่ต่อไปในอนาคตอาจจะมาจากสารชีวภาพมากขึ้น เช่น ในต่างประเทศ ดาวสามารถนำยางของสนที่เหลือทิ้งจากการผลิตกระดาษมาทำเป็นเม็ดพลาสติก เป็นต้น

“พลาสติกสามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการจัดเก็บต้นทาง ในประเทศไทยคนไทยยังไม่ค่อยมีการคัดแยกขยะได้ดีเท่าที่ควร เส้นทางของพลาสติกสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้หมด ส่วนพลาสติกของดาวที่ออกไปส่วนใหญ่รีไซเคิลได้หมด ตลาดพลาสติกส่วนใหญ่ของไทยเป็น PE ได้แก่ ฟิล์มยืดที่แพ็คสินค้า ถุงข้าว ถุงแชมพู สบู่ ทั้งหมดรีไซเคิลได้ แต่พอไม่แยก เส้นทางที่จะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลก็ไม่เกิดขึ้น ทั้ง ๆ  ที่โรงงานรีไซเคิลในประเทศไทยมีมาก”

“ประเทศไทยมีกระบวนการซาเล้งจัดเก็บ แต่ส่วนใหญ่จะจัดเก็บของที่มีมูลค่าสูง ๆ ก่อน เช่น ขวด PET ถูกเก็บหมดจากตลาด ส่วนขวดพลาสติก แชมพู สบู่ พวกนี้รีไซเคิลได้ ดังนั้นดาวจึงร่วมกับเพื่อน ๆ ในอุตสาหกรรมด้วยกัน อาทิ SCG  GC สภาอุตสาหกรรม สถาบันสิ่งแวดล้อม สถาบันพลาสติก สถาบันบรรจุภัณฑ์ ทำโครงการ PPP Plastic เป็นโครงการภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ในการจัดการพลาสติก เข้าไปทำงานร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยกันดูว่าจะวาง Road Map ของประเทศไทยในการจัดการขยะพลาสติกตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนจะทำได้อย่างไร

ดูตั้งแต่ต้นทาง โดยทำเป็นโครงการนำร่องก่อน ทำที่คลองเตย ปทุมวัน จังหวัดระยอง ที่จังหวัดระยองมีคู่มือสำหรับโรงเรียน ชุมชน ถ้าต้องการเป็นโรงเรียน ชุมชนที่ปลอดขยะควรทำอย่างไร มีคู่มือสำหรับตึก ว่าตึกถ้าต้องการเป็นตึกปลอดขยะจะต้องดำเนินการอย่างไร มีการจัดทำ Application Recycle Market Place เพื่อให้เกิดการจัดการซื้อขายขยะพลาสติก หรือขยะรีไซเคิลอื่น ๆ ที่กำลังจะเปิดตัวในไม่ช้า ตัวนี้จะทำให้ดึงของที่รีไซเคิลได้เข้าสู่ระบบได้มากขึ้น” ภารดีเสริม

นอกจากนี้โครงการที่ดาวทำเอง เช่น การจัดการขยะชายหาดทำมาเกือบ 20 ปีแล้ว แรก ๆ ที่เริ่มโครงการมีบริษัทเข้าร่วมไม่กี่บริษัท แต่ตอนนี้มีองค์กรเข้าร่วมมากกว่า 40-50 แห่ง วันที่เป็นอีเว้นท์จะตรงกับวันเก็บขยะชายหาดโลก แต่ระหว่างปีก็มีการเก็บเป็นระยะ ๆ มีโครงการการให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะชุมชน มีอยู่หลายชุมชน เช่น เกาะกลาง ระยอง กรุงเทพฯ ปัจจุบันทุกเขตในกรุงเทพมหานครเป็นจุด Drop point ขยะพลาสติก

ดาวมีส่วนร่วมเข้าไปทำหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการสอนให้ผู้ประกอบการนิสิต นักศึกษา เข้าใจว่าถ้าจะทำธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียนจะทำอย่างไร การจัดการการสูญเสียตั้งแต่ต้นทาง ทำอย่างไรบ้าง

ภรณีกล่าวกับ The Story Thailand ก่อนที่เราจะจบบทสนทนาในครั้งนี้ว่า “พลาสติกมีคุณค่า มีมูลค่า กลับมาเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้ ขอให้เราแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ใช้อย่างถูกต้อง ลดการใช้ที่ไม่จำเป็น นำเขาไปสู่ระบบรีไซเคิล ป้องกันไม่ให้ไปเป็นขยะของสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นประโยชน์ในอนาคตของสังคมและสิ่งแวดล้อม”

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Taxonomy กับการพัฒนาการเงินเพื่อความยั่งยืน

SCGC ซื้อกิจการ Kras บริษัทรีไซเคิลรายใหญ่ของเนเธอร์แลนด์ เร่งลุยตลาดยุโรปด้วย GREEN POLYMER

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ