TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityกลไก “คาร์บอน เครดิต” ช่วยลดปัญหา “ก๊าซเรือนกระจก”

กลไก “คาร์บอน เครดิต” ช่วยลดปัญหา “ก๊าซเรือนกระจก”

เดี๋ยวนี้จะได้ยินคำว่าโลกร้อน ก๊าซเรือนกระจก หรือแม้กระทั่งคาร์บอนเครดิตกันบ่อยขึ้น สิ่งเหล่านี้มีความเชื่อมโยงและจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเรามากขึ้น ที่จริงแล้วในอีก 2-3 ปีข้างหน้า คาร์บอนเครดิตจะเป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทในการลดก๊าซเรือนกระจก มาเล่าให้ฟังว่า คาร์บอนเครดิตมีความสำคัญอย่างไร มีกลไกการทำงานอย่างไร และช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร

เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่เกิดจากการเผาฟอสซิลเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานการผลิต การอุตสาหกรรม เดินทางขนส่ง การผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 60 % กลุ่มต่อมาที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกคือการตัดไม้ทำลายป่า การทำเกษตรที่เกิดการใช้ปุ๋ย การหมักซากพืชซากสัตว์ การปศุสัตว์ที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ปัจจุบันโลกมีจำนวนก๊าซเรือนกระจกมากจนเหลือพื้นที่ในการปล่อยไม่กี่ปีก็เต็มแล้ว ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ต้องออกมาประกาศที่จะเป็นประเทศ Net Zero ภายในปี 2050 สำหรับประเทศไทยประกาศเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2065

ทุกประเทศต้องมีการตั้งเป้าและออกนโยบาย กฎหมาย เพื่อให้ไปถึงจุดที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกจนอยู่ในระดับที่ไม่ทำให้สภาพแวดล้อมเสียหาย เพื่อให้ไปถึงจุดนั้น จึงต้องมาเปลี่ยนเรื่องระบบการใช้พลังงาน จัดการกับพวกทำลายป่าอย่างจริงจัง ส่งเสริมเรื่องการปลูกป่า การจัดการขยะอย่างจริงจัง ใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธี มีการบริหารระบบปศุสัตว์อย่างถูกวิธี ทั้งหมดนี้ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร็วที่สุด เมื่อต้องการลดก๊าซเรือนกระจก องค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนต่าง ๆ จึงหาหนทางลดก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม โครงการคาร์บอนเครดิตเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้

ประเทศพัฒนาแล้วสร้างกำแพงกีดกัน

จากปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก จนส่งผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศไปยังประเทศกลุ่มพัฒนาแล้ว ทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรง สภาพอากาศรวน ส่งผลให้ประเทศพัฒนาแล้วหันมาใส่ใจเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง

จากเหตุผลดังกล่าว เพื่อไม่ให้โลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกินไปกว่านี้ ประเทศพัฒนาแล้วสร้างมาตรการกีดกันทางการค้า เพื่อให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก เห็นได้จาก มาตรการของกลุ่มประเทศใหญ่ ๆ เช่น 1. อียูก็มีมาตรการกีดกันทางการค้า มีการเรียกจ่ายค่าปรับยังผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง (CBAM) ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ในประเทศอียูได้นำมาตรการทางภาษีออกมาใช้ โดยผู้ผลิตต้องจ่ายภาษีคาร์บอน

2. ประเทศใหญ่ ๆ ก็จะไม่ไปลงทุนในประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง หากต้องการให้ไปลงทุนก็ต้องออกมาตรการต่าง ๆ ให้มั่นใจได้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การทำโครงการสีเขียวเพื่อนำไปเป็นคาร์บอนเครดิต เป็นทางออกหนึ่งที่สำคัญ

3. กดดันโดยไม่ให้เงินกู้ เร็ว ๆ นี้ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้มีมาตรการนี้เช่นกัน

4. ประเทศไหนที่ไม่มีมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกก็จะไม่ไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือใครจะไปกู้ตั๋วเงินกู้ ก็ต้องไปประเมินความเสี่ยงใหม่ ประเทศไทยถือเป็นแนวหน้าในการทำโครงการ Net Zero ของภูมิภาคนี้ ใช้หลัก BCG เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน ในสายตาของนักลงทุนตลาดทุน

คาร์บอน เครดิต

คาร์บอoนเครดิต คือ ใบรับรองในโครงการที่ทำขึ้นมาแล้วลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งการลดนั้นมีได้ 2 แบบ แบบแรกเริ่มต้นจากเดิมปล่อยอยู่จำนวนหนึ่ง เมื่อทำโครงการนี้ทำให้จำนวนของก๊าซเรือนกระจกลดลง ตามระยะเวลาเทียบระหว่างจุดแรกกับจุดหลัง วิธีนี้เป็นการลดก๊าซเรือนกระจกทางตรง และได้รับรองคาร์บอนเครดิต

ส่วนวิธีที่ 2 ไม่ลดแต่เป็นการช่วยเก็บคาร์บอน เช่น การปลูกต้นไม้ เพราะต้นไม้นำคาร์บอนไดออกไซต์มาผลิตเป็นอาหาร เป็นต้น หรือเป็นอุปกรณ์ในการเก็บคาร์บอนก็ได้ แต่ต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการได้จริง มีเจ้าของ และเป็นโครงการระยะยาวตลอดจนต้องเทียบกับพื้นฐานที่เป็นปัจจุบันด้วย และต้องได้ใบรับรองมาตรฐาน จึงมีกระบวนการวัดและการทวนสอบ มีการออกใบรับรอง

แต่การทำคาร์บอนเครดิตนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมมาก่อนเป็นคนที่ก่อก๊าซเรือนกระจกมาก บางทีไม่สามารถที่จะทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกได้ ก็สามารถนำเงินไปอุดหนุนประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นประเทศเกษตรกรรม ประเทศที่มีศักยภาพในการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกได้ดีกว่าเป็นคนทำโครงการแล้วตนเองก็ไปซื้อคาร์บอนเครดิตมาก็ได้ แต่เครดิตตัวนี้ต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานกลางที่ทำการวัดเครดิต

“เครดิตเป็นตัวช่วยที่ทำให้มีการเกิดโครงการดี ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจก ถ้าประเทศเราทำได้อย่างมีมาตรฐานที่ต่างประเทศยอมรับได้ โดยมีสถาบันที่เป็นกลางในการวัด ต่างชาติให้ความเชื่อถือ ก็จะมาซื้อเครดิตของเรา เพื่อไปเป็นเครดิตในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเขา หรือสนใจจะมาลงทุนในประเทศของเรา ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง eco system บรรยากาศด้านการลงทุนที่ดีในโลกยุคใหม่” เกียรติชายกล่าว

บทบาทของ TGO ต่อมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก

บทบาทของ TGO เป็นองค์กรมหาชน เป้าหมายสุดท้ายต้องการให้เกิดโครงการใหม่ ๆ ที่ลดก๊าซเรือนกระจก และเป็นโครงการระยะยาว ต้องการให้เกิดโครงการมาก ๆ ในผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ โดยโครงการเหล่านี้จะไม่เป็นโครงการภาคบังคับ แต่ส่งเสริมให้เขามาทำโครงการดี ๆ กัน เช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกลุ่มพลังงาน สิ่งเหล่านี้จะลดการใช้พลังงานในระบบ ลดวัตถุดิบ ลดของเสีย อยากให้มีพลังงานทดแทนมาทดแทนพลังงานฟอสซิล

“อยากเห็นป่าไม่ถูกทำลายเพิ่มเติม และมีการเพิ่มพื้นที่ป่า ปลูกพื้นที่สีเขียวไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร หรือภาคป่าไม้ หรือป่าชายเลนที่มีการเติมสีเขียวเข้าไป อยากเห็นการจัดการขยะที่ถูกต้อง ลดการเกิดมีเทน ไม่มีการเผาในที่โล่ง มีการปฏิรูปการเกษตร มีการเลี้ยงพืชพรรณหรือต้นไม้ที่ลดก๊าซเรือนกระจกสูง ต้องการส่งเสริมให้มีการค้นคิดอุปกรณ์ในการกักเก็บ ดึงก๊าซเรือนกระจกมาเก็บไว้ด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อให้ฟอสซิลสามารถใช้ได้โดยไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้องมีการเก็บ และขนส่งคาร์บอนไดออกไซด์ไปเก็บในพื้นที่ที่จัดสรรไว้ด้วย”

นอกจากนี้ TGO เป็นหน่วยงานมาตรฐาน การประเมิน การปล่อย การลดหรือกักเก็บ ดังนั้นเราจึงส่งเสริมให้ฝ่ายนโยบายกำหนดนโยบายให้ทุกภาคส่วนรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยดูตั้งแต่ระดับประเทศ ไล่ไปสู่ระดับจังหวัด ไล่ไปสู่ระดับองค์กร ระดับผลิตภัณฑ์ ไล่ไปสู่ระดับกิจกรรม อีเว้นท์ต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งระดับบุคคล ผลักดันสนับสนุนให้แต่ละส่วนเข้าสู่ Net Zero ด้วยการวัด ตั้งเป้า และลด ถ้าทำไม่ได้เต็มที่ก็เปิดโอกาสให้ระบบตลาดมาทำงาน TGO ทำหน้าที่สร้างมาตรฐานเครดิต มาตรฐาน คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ขึ้นมา ร่างระบบรายงานขึ้นมา TGO จึงเหมือนเป็นหน่วยงานสร้าง Score Card และทำให้เกิดการเปรียบเทียบ และ KPI  เรื่องนี้ก็จะนำเข้าไปใส่ในนโยบายว่า ถ้าปล่อยเท่านี้ก็จะต้องเสียเท่าไหร่ ทุกอย่างต้องมีการวัด ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขของการปล่อย การลด ต้องได้รับการตรวจสอบว่าน่าเชื่อถือ เหมือนเป็นหน่วยงานสร้างกติกา โดยการเริ่มจากการวัด เพื่อให้ทุกหน่วยงานได้ปฏิบัติ

“แผนการปฏิบัติงาน TGO ต้องสร้างมาตรฐานการวัดให้เกิดขึ้น และมาตรฐานต้องมีความเป็นสากล เป้าหมายเราต้องการสร้างให้เป็นวาระแห่งชาติ ทุกคนทำงานอยู่ในระบบ และนำระบบเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานของบริษัท ให้มีการมอร์นิเตอร์ทุกวัน ดำเนินการทุกวัน”

สถานการณ์ปัจจุบัน

ผู้อำนวยการ TGO บอกว่า ในปีนี้สถานการณ์ดีขึ้นมาก เมื่อก่อนต้องไปเกณฑ์คนมาทำ แต่ในปีนี้มีแต่คนสนใจเข้ามาทำเอง ส่วนตัวเลข Carbon footprint ขึ้นมาเป็นเท่าตัว เจ้าหน้าที่กว่า 70 คนให้บริการไม่พอ จนต้องมีการบูรณาการกับเจ้าหน้าที่ในส่วนอื่น และมีการกระจายงานไปยังหน่วยงานอื่นเข้ามาสนับสนุน ความสนใจของคนระดับ 1 หน่วยงาน ขึ้นมาเป็น 3 หน่วยงาน เรื่องของการอบรมก็เปลี่ยนไป จากเคยขอร้องให้เขามาเรียน ตอนนี้เขาขอเข้ามาเรียน คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขึ้น 3 เท่าใน 1 ปี นอกจากนี้เครือข่ายที่สร้างขึ้นมาเมื่อกลางปีที่แล้ว มี 314 องค์กรแล้วที่เข้ามาร่วม เพื่อไปเป็นเครือข่ายในการลดคาร์บอน

กระแสทุกวันนี้ทุกคนยอมรับแล้วว่าคาร์บอนเป็นตัวร้ายของสิ่งแวดล้อมที่ต้องมาช่วยกันลด และปรับปรุงพฤติกรรมทั้งหมด เป็นเรื่องที่ไม่ทำแล้วจะไม่รอด ไม่ได้เป็น CSR แต่เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องปฏิบัติ

ตอนนี้มี 66 องค์กรมาตั้งเป้าเป็น NET ZERO มีต้นทุนที่สูงขึ้น และคิดว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้ากระแสจะคูณ 2 ตอนนี้ผู้ทวนสอบไม่พอ แพลตฟอร์มก็ไม่พอ ตอนนี้ระดับจังหวัดมีการทำแผนลดก๊าซเรือนกระจก ภายใน 2 ปีให้ครบ ระดับเทศบาลมีทั้งหมด 296 แห่ง องค์กรกว่า 750 กว่าแห่ง จะเห็นว่ากระแสนี้รุนแรงมากขึ้น

คนไม่พอ จึงต้องปรับกระบวนงาน

เกียรติชาย กล่าวว่า ทุกวันนี้เมื่อคนไม่พอองค์การฯ ต้องกระจายงานออกไป มีการสร้างคนที่จะมาตรวจสอบมาตรฐานเพิ่ม โดยองค์การเป็นคนตรวจสอบให้การรับรองเข้าอีกชั้นหนึ่ง มีการออกเครื่องหมาย และถ้าใครต้องการที่จะใช้ประโยชน์ก็มาขอการรับรอง และถ้ามีคนมาขอการรับรองมากขึ้น ก็อาจสร้างหน่วยงานให้อนุญาตเพิ่มขึ้นได้ แต่ทาง TGO อยากให้ทุกคนทำการประเมินตัวเองก่อน แม้ว่ามีการขยายหน่วยงานการตรวจเพิ่มขึ้น เรื่องของการควบคุมก็ยังคงเป็นการรวมศูนย์ และทาง TGO มีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ ในการออกใบรับรอง การตรวจสอบ ตอนนี้อยู่ในระยะของการพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมาช่วยในการประเมิน ตรวจสอบ ให้ทำงานง่าย และพัฒนาจำนวนผู้ตรวจสอบขึ้นมาให้มากกว่านี้ สร้างขึ้นมาเป็นอาชีพหนึ่งขึ้นมาให้ได้ นอกจากนี้ยังต้องการสร้างผู้ประกอบการ ตลอดจนการเชื่อมโยงเทคโนโลยีต่างประเทศด้วย ซึ่งตนเองมองว่าใน 5-10 ปีข้างหน้าเป็นกระแสใหญ่

“ขณะนี้ประเทศไทยกำลังตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพยายามทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องของการเพิ่มต้นทุน มีระบบภาษีเข้ามากีดกัน การไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่เพิ่มคาร์บอน สร้างเงื่อนไขให้คนที่ปล่อยคาร์บอนต้องจ่ายเงินมากขึ้น ซึ่งประเทศต่าง ๆ กำลังแข่งกันสร้างเงื่อนไขนี้ขึ้นมาควบคุม ถ้าน้อยเกินไปโครงการลดก๊าซเรือนกระจกก็ไม่เกิด ถ้าใครไม่ใส่ Carbon Pricing ก็จะถูกปรับ ทำให้เกิดความสมดุล อนาคตเราก็ต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม Climate Change Law) เพื่อมาควบคุมโรงงานต่าง ๆ ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก แต่ยังจำเป็นต้องมีอยู่ เช่น โรงงานผลิตพลังงานถ่านหิน เป็นต้น การผลิตก๊าซธรรมชาติ ปูนซีเมนต์ต้องใส่ CCS เหมือนกฎหมายด้านความปลอดภัย แม้เป็นต้นทุนที่สูงขึ้นแต่เราต้องทำ แล้วใส่ต้นทุนนี้เข้าไปในสินค้า หรือแม้แต่พ.ร.บ.การอนุรักษ์พลังงานก็จะออกมาเพื่อกำหนดให้สถานที่และอาคารต่าง ๆ ต้องดำเนินการสิ่งเหล่านี้ ดำเนินการไปพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนสังคมไปสู่ BCG  ปฏิวัติการผลิต การเกษตร  พลังงาน ไปสู่สังคมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และจะทำให้เราเข้มแข็งกว่าการเป็นสังคมฟอสซิล และแม้แต่การผลิตในระบบฟอสซิลแล้วมีคาร์บอนออกมาก็ต้องหาทางจัดเก็บ และจำเป็นต้องประสานกับอว.ส่งเสริมให้มีการสร้างอุปกรณ์ใหม่มาจัดเก็บ สร้างเป็นแหล่งลงทุนในประเทศไทย ทั้งหมดนี้จะเป็นศักยภาพของประเทศไทยในอนาคต”

ขนาดของคาร์บอนเครดิต ณ ปัจจุบัน

ขณะนี้เนื่องจากเรามีโครงการ 141 โครงการ ดำเนินการสะสมมาแล้วกว่า 7 ปี มีคาร์บอนเครดิตอยู่ประมาณ 139 ล้านตันที่มีผู้ถืออยู่ และไม่อยากจะขาย ขณะที่เราปล่อยอยู่ปีละกว่า 350 ล้านตัน ศักยภาพการสร้างเครดิตในแต่ละปีประมาณ 4 ล้านตัน ทำได้ไม่เกิน 10% ของการปล่อย ภาคพลังงานปล่อยทั้งหมดประมาณ 250 ล้านตัน ภาคการเกษตรปล่อยประมาณ 58 ล้านตัน ภาคอื่น ๆ ปล่อย 17 ล้านตัน อุตสาหกรรม 40 ล้านตัน ตอนนี้ถึงพยายามรณรงค์ให้เกิดการปฏิรูปเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้า เปลี่ยนไฟฟ้าเป็นไฟฟ้าสะอาด และประหยัดพลังงาน สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน  

คาร์บอนเครดิตมีราคาที่ขึ้นลงได้ตามความต้องการของตลาด และคาร์บอนเครดิตแต่ละชนิดมีราคาที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความยากง่ายของการทำลายหรือกักเก็บ ซึ่งในประมาณไตรมาสแรกของปีหน้าจะเห็นเป็นตลาดการซื้อขายที่โปร่งใสในแต่ละหมวดของคาร์บอนเครดิต

แผนในปีหน้า

แผนในปีหน้าคือทำแพลตฟอร์มให้ใช้ได้สะดวก กระจายหาหน่วยงานอื่นมารองรับการทำงานของ TGO แล้วเราเป็นคนควบคุม ตรวจสอบ สร้างระบบและผู้ตรวจสอบให้เพียงพอ ซึ่งถ้าหากมีความต้องการสูงคาดว่าปีหน้าน่าจะขึ้นไปถึง 8 ล้านตันได้ แต่ศักยภาพจะหายากขึ้น ต้นทุนมาร์จินจะสูงขึ้น ของเราต้นทุน 20,000 บาทในการให้การรับรอง แต่เก็บค่าบริการเพียง 10,000 บาท และ 5,000 บาท เท่านั้น ส่วนผู้ตรวจสอบเป็นเรื่องที่ผู้พัฒนาโครงการจะไปจ่ายผู้ตรวจสอบเอง TGO ได้งบสนับสนุนจากภาครัฐประมาณ 118 ล้านบาทต่อปี ค่าเจ้าหน้าที่ก็ 40% แล้ว

กิจกรรมที่สามารถจัดซื้อคาร์บอรเครดิต ซื้อได้ทุกอย่างตั้งแต่ ฟุตพริ้นท์ขององค์กร ระดับอีเว้นท์ในการจัดประชุมต่าง ๆ การท่องเที่ยว หน่วยงานองค์กรที่จัดการประชุมระหว่างประเทศต่าง ๆ ต้องเตรียมมาตรฐานในการซื้อคาร์บอนเครดิต เพราะถ้าหากไม่จัดไว้การประชุมนานาชาติต่าง ๆ ก็จะไม่เข้ามาจัดในประเทศไทย ต่อไปสายการบินก็ต้องมีการจัดซื้อ ต่อไปก็เป็นพวกสินค้าผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก็จะมาซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อไปลบกับยอดการก่อให้เกิดของเขาได้ หรือจะเป็นบุคคลก็ได้ TGO เป็นคนตั้งตลาด ซึ่งตอนนี้เริ่มแล้ว ระบบ eco system จะเหมือนกับตลาดหลักทรัพย์ จะมีการจัดตั้งระบบโบรกเกอร์ในการซื้อขาย ฝ่ายขายก็เข้าไปขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิก ส่วนฝ่ายซื้อก็ไปเป็นสมาชิกแล้วเปิดบัญชีในระบบทะเบียนเพื่อทำการซื้อ แล้วจะแบ่งเป็นกลุ่มโครงการ เพราะแต่ละโครงการต้นทุนไม่เท่ากัน  

“คาร์บอนเครดิต” จะเป็นเทรนด์ที่สำคัญในการสร้างโครงการใหม่ ๆ บริษัทใหม่ ๆ และอาชีพใหม่ เพื่อมาช่วยกันลดโลกร้อน ซึ่งเมื่อมือมนุษย์เป็นผู้ก่อให้เกิด ก็ต้องอาศัยมือมนุษย์ในการทำให้โลกเย็นลง

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

SUSUNN กระตุ้นผู้ประกอบการพัฒนาจุดจอดรถยนต์ไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด

นวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่ Net Zero เพื่อชีวิตที่ดีในโลกใบเดิมที่น่าอยู่

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ