TH | EN
TH | EN
spot_imgspot_imgspot_img
หน้าแรกSustainabilityอาร์เอส กรุ๊ป ตั้งเป้าลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ ผลิตกระเป๋าผ้ารีไซเคิล นำรายได้ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก

อาร์เอส กรุ๊ป ตั้งเป้าลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ ผลิตกระเป๋าผ้ารีไซเคิล นำรายได้ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก

บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ริเริ่มโครงการ #RSNETZERO จุดเริ่มต้นสู่การลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ในองค์กร โดยหนึ่งในกิจกรรมใหญ่ที่ได้เริ่มต้นไปแล้ว คือ การแยกขยะขวดพลาสติกประเภท PET 1 ภายในองค์กรเพื่อนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิล พร้อมใส่ไอเดียสร้างสรรค์ให้กับขยะพลาสติกเหล่านี้ จนเกิดเป็นกระเป๋า #RSNETZERO ที่ทำจากเส้นใยรีไซเคิล 100% จำหน่ายใบละ 350 บาท ในงาน RS MEETING CONCERT 2022 ที่ผ่านมา โดยนำรายได้ไม่หักค่าใช้จ่าย มอบสมทบทุนการทำงานให้กับโครงการสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก สถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เผยว่า “อาร์เอส กรุ๊ป ให้ความสำคัญกับการทำงานด้านความยั่งยืนโดยใส่ใจและมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการเติบโตทางธุรกิจ พร้อมทั้งสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามนโยบายขององค์การสหประชาชาติ สำหรับแคมเปญ “RS Net Zero” เป็นโครงการที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงภายในปี 2568 ด้วยการชักชวนพนักงานในองค์กรให้เห็นความสำคัญของการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งปัญหาขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญของปัญหาโลกร้อน และเราหวังว่าการนำพลาสติกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดจำนวนขยะพลาสติกที่หลุดลอยปะปนสู่ธรรมชาติ โดยเริ่มจากการแยกขวดพลาสติกที่พนักงานใช้ดื่มทุกวัน พร้อมใส่ไอเดียสร้างสรรค์ให้กับขยะพลาสติกเหล่านี้ จนเกิดเป็นกระเป๋า #RSNETZERO 

กระเป๋า #RSNETZERO ใช้เส้นใยพลาสติกที่สะสมจากการแยกขวดของชาวอาร์เอสมาตลอดทั้งปี โดยกระเป๋า 1 ใบ ผลิตจากขวดพลาสติกขนาด 600 มล.จำนวน 20 ขวด ในขณะที่การดีไซน์มาในธีม RS MEETING CONCERT 2022 ซึ่งรายได้จากการขายกระเป๋าโดยไม่หักค่าใช้จ่าย จะมอบสมทบทุนการทำงานให้กับโครงการสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก สถานีวิจัยอันดามัน คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์”

ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ทำงานอยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังงานอนุรักษ์ท้องทะเลไทยและสัตว์ทะเลหายาก มากว่า 40 ปี กล่าวว่า “ที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินข่าวรายงานการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากอยู่เป็นประจำ ซึ่งสาเหตุเกิดจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างการประมง และปัจจัยทางอ้อม เช่น ขยะทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติก คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้จัดตั้งโครงการสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก สถานีวิจัยอันดามันขึ้น เพื่อทำหน้าที่ดูแลรักษาสัตว์ทะเลหายาก 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ พะยูน โลมา วาฬ และเต่าทะเล ยังรวมถึงปลาชนิดต่าง ๆ เช่น ฉลาม กระเบน ฯลฯ เน้นพื้นที่เขตอันดามันเหนือ ครอบคลุมจังหวัดระนองและพังงา ซึ่งเป็นการทำงานเสริมทัพให้กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

สำหรับโครงการ #RSNETZERO ที่ทางอาร์เอส กรุ๊ป จัดทำกระเป๋าขึ้นมาจากขวดพลาสติกรีไซเคิล หลายคนอาจเกิดคำถามว่ากระเป๋าผ้าเพียงไม่กี่ใบ จะช่วยได้สักเท่าไหร่? สำหรับนักอนุรักษ์แบบผม แค่ได้เห็นกิจกรรมดีๆ เพื่อทะเล ก็จะช่วยทำให้หลาย ๆ คนได้ฉุกคิด เริ่มเอาถุงผ้าที่มีออกมาใช้ มาช่วยกันลดขยะ

ผมเชื่อว่าทุกครั้งที่มีโครงการแบบนี้เกิดขึ้น จะทำให้เกิดการตระหนักรู้ ซึ่งก็เป็นกำลังใจ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ให้คนทำงานด้านอนุรักษ์ที่อยู่บนเส้นทางเดียวกัน โดยเงินสมทบที่ได้มาจากการขายกระเป๋าทั้งหมด จะนำมาใช้เพื่อปรับปรุงสถานที่และการทำงานของเจ้าหน้าที่ อาทิ การปรับปรุงบ่อเลี้ยงเต่า และเพิ่มเติมเรื่องการอบรมให้เจ้าหน้าที่ได้มีความรู้เรื่องการอนุบาลเต่าชั่วคราวระยะสั้น หากพบว่าป่วยหนัก ทางสถานีจะส่งต่อไปยังศูนย์ภูเก็ต เรียกได้ว่าทุกคนที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนกระเป๋าใบนี้ ได้มีส่วนช่วยโรงพยาบาลขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับสัตว์ทะเลหายากที่เจ็บป่วย”

กระเป๋า #RSNETZERO ทำจากเส้นใยรีไซเคิล 100% เป็น Limited Edition ได้จำหน่ายหมดตามโควต้าภายในไม่กี่ชั่วโมง ในงาน RS MEETING CONCERT 2022 ที่ผ่านมา และจากการประมูลกระเป๋าผ้าสุดเอ็กซ์คลูซีฟที่มีลายเซ็นของแต่ละศิลปินจาก RS MEETING CONCERT 2022 ซึ่งมีเพียง 16 ใบ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 155,000 บาท  

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

มาสเตอร์การ์ด จับมือ แคร์ไมล์ เปิดตัวแคมเปญ Priceless Planet Coalition Reforestation

ซุปเปอร์แนป เปิดตัวแผงพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรก เร่งนำพลังงานสะอาดมาใช้ในศูนย์ข้อมูล

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ