TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeความสุขคาร์บอนต่ำ หาได้ที่ "บ้านริมคลองโฮมสเตย์"

ความสุขคาร์บอนต่ำ หาได้ที่ “บ้านริมคลองโฮมสเตย์”

ก้าวแรกที่ย่างเข้าสู่ที่พักแบบโฮมสเตย์แห่งนี้ ก็สัมผัสได้ถึงความสงบ ร่มรื่น และสบายปอด พอได้พบกับหญิงร่างเล็กผมสีดอกเลาเจ้าของบ้านที่ให้การต้อนรับด้วยน้ำอัญชัญ-มะนาวสีเขียว (เขียวจากใบเตย) หอมชื่นใจ

ด้วยความที่ถึงที่พักเช้าและก่อนถึงเวลาเข้าพักราว 2 ชั่วโมง ป้าเล็กจึงชวนทานข้าวต้มกุ้ง โดยหยิบชามและช้อนส่งให้นักท่องเที่ยวตักทานเอง ข้าวต้มกุ้งร้อน ๆ ส่งกลิ่นหอมฉุย ยั่วยวนกระเพาะอาหารยามเช้าอย่างมาก หลังจากเติมพลังจนเต็มแล้วก็ได้เวลาพูดคุยกับป้าเล็ก ถามไถ่ถึงความเป็นมาและความเป็นไปของที่พักแห่งนี้ “บ้านริมคลองโฮมสเตย์”

ถิรดา เอกแก้วนำชัย หรือ ป้าเล็ก บอกเล่าให้ The Story Thailand ฟังด้วยรอยยิ้มและดวงตาสดใสถึงการงานอันเป็นที่รัก ที่นำพาให้ตนเองในวัย 67 ปี ได้ร่วมกับเพื่อนบ้าน ดูแลธุรกิจชุมชน “บ้านริมคลองโฮมสเตย์” ที่ทำให้เธอได้เรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อประชาสัมพันธ์ธุรกิจ สื่อสารกับนักท่องเที่ยว และยังกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเธอ ที่ช่วยเปิดโลกกว้างและพบเพื่อนใหม่ในโลกโซเชียล ให้คลายเหงาในวัยเกษียณ

จากมาตรฐานฟาร์มเสตย์สู่ Low Carbon Tourism 

บ้านริมคลองโฮมสเตย์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร หรือฟาร์มเสตย์ ที่สมาชิกชาวชุมชนคลองผีหลอกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมกันริเริ่มและพัฒนามาเป็นระยะเวลา 20 ปี ป้าเล็กเล่าให้ The Story Thailand ฟังว่า การเริ่มต้นมาจากกลุ่มเล็ก ๆ ที่บุกเบิกกันจนเติบโตอย่างช้า ๆ และมีการจดทะเบียนขึ้นเป็นวิสาหกิจชุมชน ในปี 2549 นับเป็นรายแรก ๆ ของสมุทรสงคราม ที่ชุมชนร่วมกันบริหารจัดการธุรกิจการท่องเที่ยว ที่มีบ้านพักริมคลอง กิจกรรมท่องเที่ยวชมธรรมชาติที่เป็นเรือกสวนและสายน้ำ บริการอาหารเมนูท้องถิ่น กิจกรรมฐานการเรียนรู้วิถีชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการตักบาตรริมคลอง การทำน้ำตาลมะพร้าว การทำขนมไทย การจักสานจากใบมะพร้าว แปรรูปเปลือกมะพร้าวเป็นกระถางต้นไม้ และการมัดย้อมผ้าด้วยสีจากพืชพรรณธรรมชาติ ที่ป้าเล็กเรียกกิจกรรมเหล่านี้ว่า กิจกรรม DIY 

ป้าเล็กอธิบายว่า กิจกรรรมการท่องเที่ยว ถือว่าเป็นเพียงอาชีพเสริม อาชีพหลักของสมาชิกทุกคน คือการทำสวนมะพร้าวและทำน้ำตาลมะพร้าวด้วยกรรมวิธีดั้งเดิม ซึ่งทางกลุ่มวิสาหกิจได้ให้ความสำคัญกับจุดนี้เท่า ๆ กับการท่องเที่ยว ต่อยอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็น น้ำหวานดอกมะพร้าว น้ำตาลมะพร้าวผง น้ำตาลมะพร้าวเกล็ด และรับเอาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการนำน้ำตาลที่เป็นของเหลือจากการทำน้ำตาลมะพร้าว หรือน้ำตาลที่ค้างข้ามวันเพราะเก็บไม่ทัน มาผลิตเป็นน้ำส้มไซเดอร์จากน้ำตาลมะพร้าว เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคสายคีโตจีนิค ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก และกลายเป็นรายได้ที่ช่วยหล่อเลี้ยงสมาชิกกลุ่ม ในช่วงสถานการณ์โควิด ที่กิจการการท่องเที่ยวไม่สามารถเปิดให้บริการได้

การเติบโตของวิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมเสตย์ ในวัย 20 ปี ป้าเล็กในฐานะประธาน ให้นิยามความสำเร็จ ว่าคือการที่คนในชุมชนร่วมกันพัฒนาชุมชน รักษาอาชีพอันเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรษ อนุรักษ์ธรรมชาติระบบนิเวศท้องถิ่น เพื่อที่จะได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจชุมชน และความภาคภูมิใจของสมาชิกทุกคน โดยมีรางวัลการันตีความมุ่งมั่น ได้รับการประกาศจากกรมการท่องเที่ยว ให้เป็นหนึ่งในต้นแบบที่พักเพื่อการท่องเที่ยวฟาร์มสเตย์เชิงสุขภาพ ปี 2565 และก่อนหน้านี้ยังมี รางวัลที่พักมาตรฐานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย 5 ปีซ้อน และที่พักมาตรฐานโฮมสเตย์ 6 ปีซ้อน 

กิจกรรมใหม่ล่าสุดที่ตอบสนองกระแสความห่วงใยในสิ่งแวดล้อม คือ การเข้าร่วมแคมเปญ การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ หรือ  Low Carbon Tourism ซึ่งป้าเล็กบอกว่า ความจริงแล้ว บ้านริมคลองโฮมเสตย์ทำมานมนานแล้ว เพราะกิจกรรมของที่นี่ล้วนแต่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยมาก เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สอดคล้องกับธรรมชาติและชุมชนท้องถิ่น มีการคัดแยกขยะ และเน้นการรีไซเคิลมาโดยตลอด ที่สำคัญยังมีกิจกรรมชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วย อย่างการปลูกต้นไม้ ซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่มลูกค้าบริษัทในการจัดกิจกรรม Meeting, Outing หรือกิจกรรม CSR เป็นอย่างมาก

จากปากต่อปากสู่สื่อโซเชียลมีเดีย

ป้าเล็กเล่าว่า เมื่อแรกเปิดทำการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ในปี 2545 แทบไม่มีลูกค้าเลย และมีเพียงช่องทางประชาสัมพันธ์โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่เป็นร้านอาหารท้องถิ่นช่วยบอกต่อ กับทำโบรชัวร์แจกซึ่งก็ไม่ค่อยได้ผลเท่าไรนัก จนเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามา บ้านริมคลองโฮมเสตย์จึงได้แจ้งเกิดจากแห่งพลังในการบอกต่อ ความประทับใจที่บอกเล่ากันปากต่อปาก ทำให้มีนักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อย ๆ จากนั้นมาเกือบ 10 ปี ทางกลุ่มจึงมีการทำเว็บไซต์ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ในปี 2555 ทยอยตามมาด้วยเพจ Facebook ที่ลูก ๆ ของป้าเล็กช่วยทำให้

ทุกวันนี้ ป้าเล็ก ที่เรียกตัวเองว่าเป็นคนโบราณ ได้สนุกกับการทำเพจ ตอบข้อความลูกค้า โพสต์กิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงแชร์คลิปหรือคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่มีนักท่องเที่ยว หรือยูทูบเบอร์สายท่องเที่ยวมาสัมผัสกิจกรรมของบ้านริมคลองและเก็บความประทับใจไปถ่ายทอด 

ป้าเล็ก ยืนยันว่า ในปัจจุบัน การรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ของนักท่องเที่ยว ล้วนมาจากสื่อสังคมออนไลน์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Facebook Instagram หรือสื่อใหม่ล่าสุดที่ป้าเล็กกำลังเรียนรู้ก็คือสื่อยอดฮิต อย่าง TikTok

“ป้าเล็ก อายุ 67 แล้วนะคะ แต่พอดีโชคดี ที่ได้มาอยู่จุดตรงนี้ เราก็ได้เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ แต่จริง ๆ แล้วคนสูงอายุคนอื่น สามารถมาทำกิจกรรมอันนี้ได้ด้วย การที่เราได้คุยกับเพื่อนผ่าน Line มันก็เป็นสิ่งที่ดีอีกสิ่งหนึ่ง เพราะว่า หนึ่ง เราได้ข่าวสารจากรอบตัวเรา ภายในประเทศ หรือรอบประเทศเรา สอง เราได้รู้ ได้เห็น สิ่งที่เราไม่เคยเห็นไกล ๆ อย่างบางที แหล่งท่องเที่ยวแต่ละแหล่ง เขาโพสต์หรือเขาไลน์มา หรือเราไปดูทางเพจเขา แต่ละวันเราอาจจะมีเวลาสักชั่วโมงมานั่งทำกิจกรรมเหล่านี้ และการที่มีโทรศัพท์สักเครื่องนึง แล้วสามารถไลน์คุยกันได้ ถึงจะอยู่ไกลกันสุดเหนือสุดใต้ก็สามารถคุยกันได้ แล้วทำให้ชีวิตเรา หายเหงา หายเครียด ไม่ซึมเศร้า ปลอดโรคปลอดภัยไปอีกแบบนึงด้วย”

ป้าเล็กทิ้งท้าย ฝากเชิญชวนทุกท่านที่สนใจ อยากมาท่องเที่ยว พักผ่อนในบรรยากาศริมน้ำ กับบ้านริมคลองท่ามกลางธรรมชาติ เงียบสงบ เรียบง่าย สบาย ๆ มีอาหารอร่อยจากวัตถุดิบขึ้นชื่อในท้องถิ่น กิจกรรมหลากหลายสำหรับทุกเพศทุกวัย รวมทั้งยินดีต้อนรับกลุ่มคนที่สนใจมาศึกษาดูงานด้านการท่องเที่ยวชุมชน สามารถติดต่อจองห้องพักและดูภาพบรรยากาศและรายละเอียดกิจกรรม ได้ที่เพจ บ้านริมคลองโฮมเสตย์ Baanrimklong Homestay 

“สามารถทักใน Messenger หรือทาง LINE Official หรือหากอยากโทรไปพูดคุยหรือสอบถามข้อมูลกับป้าเล็ก สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร 089 1702 904 มาเช็คอินที่นี่ บ้านริมคลองโฮมเสตย์ ยินดีต้อนรับทุกท่าน” ป้าเล็กกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
น้ำผึ้ง หัสถีธรรม – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ