TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessภาษี e-service ดีเดย์ ​1 ก.ย. 64 ก้าวแรกของความเท่าเทียม

ภาษี e-service ดีเดย์ ​1 ก.ย. 64 ก้าวแรกของความเท่าเทียม

ภาษี e-service คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้บริษัทต่างชาติที่ให้บริการแพลตฟอร์มแก่ผู้บริโภคในไทยและมียอดขายบริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องมาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากรเหมือนกับผู้ประกอบการไทยที่ให้บริการประเภทเดียวกัน กฎหมายฉบับนี้ทำให้เกิดความเป็นธรรม ผู้ประกอบการไทยกับต่างประเทศมีต้นทุนเท่ากัน

ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์  อาจารย์กฎหมายภาษีอากร ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง iTAX กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ภาษี e-service จะทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้น ปัญหาที่ผ่านมา บริการที่ผู้ประกอบการไทย กับต่างชาติมีลูกค้าในไทยกลุ่มเดียวกัน แต่ผู้ให้บริการต่างชาติไม่ต้องคิดค่าบริการที่รวมภาษีบริโภค (VAT 7%) ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยต้องมีต้นทุนภาษีบริโภค ซึ่งต่างชาติจะได้เปรียบเพราะมีราคาถูกกว่า ทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบ กฎหมายฉบับนี้ทำให้เกิดความเป็นธรรม ผู้ประกอบการไทยกับต่างประเทศมีต้นทุนเท่ากัน

“ปกติเวลามีบริการเกิดขึ้นในประเทศไทย ถ้าผู้บริโภคเป็นคนไทย จะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กฎหมายบังคับผู้ประกอบการในไทยให้ไปเรียกเก็บบริการลูกค้า แต่แพลตฟอร์มต่างชาติ ผู้ประกอบการอยู่ต่างประเทศ จะให้เขามาจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มและไปเรียกเก็บเงินและภาษีมูลค่าเพิ่มกับผู้ใช้บริการ สิ่งนี้กฎหมายในไทยยังไม่เคยมี แต่มีกฎหมายหนึ่งยังมี คือ เมื่อผู้บริโภคใช้บริการของแพลตฟอร์มต่างชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ผู้บริโภคต้องเป็นคนจ่าย VAT 7% ในทางปฏิบัติเกิดขึ้นได้ยากมาก จากสองสิ่งนี้ทำให้เกิดช่องว่างของไม่ความเท่าเทียมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการในไทยกับต่างชาติ ต้นทุนของต่างชาติถูกกว่า เพราะไม่ต้องบวก 7%” ผศ.ดร.ยุทธนา

เนื่องจากภาษี e-service บังคับให้แพลตฟอร์มต่างชาติที่มีบริการในไทยมูลค่าของบริการนั้นเกิน 1.8 ล้านบาท ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ทำให้กรมสรรพากรจะได้ประโยชน์ คือ ได้เก็บภาษี ได้เงินภาษีเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือ เจ้าของแพลตฟอร์ม ซึ่งจะมีสองแบบ แบบแรกเจ้าของแพลตฟอร์มแบกรับ 7% ไว้เองโดยไม่ปรับขึ้นค่าบริการ ผู้บริโภคจ่ายเท่าเดิม เจ้าของแพลต์ฟอร์มได้เงินน้อยลง แบบที่สอง เแพลตฟอร์มผลัก 7% ให้ผู้บริโภค ซึ่งกระทบผู้บริโภคราคาค่าบริการที่เคยจ่ายจะแพงขึ้น 7%

ผศ.ดร.ยุทธนา กล่าวว่า แพลตฟอร์มที่มีอำนาจต่อรองมาก มีคู่แข่งขันน้อยจะใช้วิธีผลักภาระภาษี 7% ให้ผู้บริโภค บริการที่มีแนวโน้มผลัก 7% ให้ผู้บริโภค คือ แพลตฟอร์มโฆษณาและคลาวด์ อาทิ Google Facebook และ Amazon ทำให้ผู้ใช้บริการหากไม่ได้จดทะเบียน VAT จะโดนคิดเงินเพิ่ม 7% แต่ถ้าผู้ใช้เป็นบุคคลธรรมดาหรือผู้ประกอบการที่จดทะเบียน VAT จะต้องไปบอกแพลตฟอร์มแล้วเขาจะไม่เก็บ VAT 7% เพราะบริษัทที่จดทะเบียน VAT ไปจ่าย 7% ให้กรมสรรพากรเองเหมือนเดิม

เจ้าของแพลตฟอร์มจะต้องมาจดทะเบียนภาษี VAT ในไทยผ่านระบบออนไลน์ของกรมสรรพากรที่ VES (VAT for Electronic Service) เรียกเก็บจากผู้บริโภคและนำเงินนั้นมานำส่งกรมสรรพากร ถ้าเป็นแพลตฟอร์มที่เลือกไม่ผลักภาระให้ผู้บริโภคเพราะจะเสียความสามารถในการแข่งขัน กลุ่มนี้จะกำไรน้อยลง 

“ผู้บริโภคใช้ชีวิตเหมือนเดิม แต่ให้รับรู้ว่าต้นทุนบางอย่างในการใช้แพลตฟอร์มต่างชาติจะแพงขึ้น หรือใช้ราคาเท่าเดิมแต่ประสิทธิภาพจะไม่เท่าเดิม ซึ่งแพลตฟอร์มที่เข้าข่ายต้องขึ้นทะเบียนภาษี VAT รวมตั้งแต่แพลตฟอร์มโฆษณา เกม คอนเทนต์ หนัง เพลง เอเจนซี่ อาทิ Agoda แพลตฟอร์มคาวด์ อาทิ AWS Google และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่คิดค่าโฆษณา หรือค่าบริการ lisitng  เป็นต้น” ผศ.ดร.ยุทธนา กล่าว

ด้าน ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้กล่าวในรายการ Suthichai Live ว่า กรมสรรพากร จัดกลุ่มผู้ให้บริการแพลตฟอร์มข้ามชาติ เป็น 5 กลุ่ม คือ 1.แพลตฟอร์มขายโฆษณา 2.แพลตฟอร์มค้าขายออนไลน์ (marketplace online shopping mall) 3.เอเจนซี่ (ซื้อตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรม) 4.แพลตฟอร์ม sharing economy ที่ได้รายได้จากค่า GP และ 5.แพลตฟอร์มดูหนังฟังเพลง 

“กฎหมายนี้ทำขึ้นเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการไทย ภาษี VAT 7% นี่ คือ ก้าวแรก และเป็นครั้งแรกที่เราทำได้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป และคาดว่าได้รายได้จากภาษีนี้ 5,000 ล้านบาท” ดร.เอกนิติ

พรบ. e-serivces ให้บริษัทต่างชาติที่ให้บริการแพลตฟอร์มแก่ผู้บริโภคในไทยและมียอดขายบริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องมาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทยเหมือนกับผู้ประกอบการไทยที่ให้บริการประเภทเดียวกัน

ถ้าแพลตฟอร์มข้ามชาติไม่มาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรสามารถออกหมายเรียกทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ตามพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2564 และกรมสรรพากรเป็นภาคีสมาชิกกับสรรพากรทั่วโลก 130 ประเทศ ที่จะให้ความช่วยในการจัดเก็บภาษี 

สำหรับการจัดเก็บภาษี VAT แพลตฟอร์มข้ามชาติ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 60 ประเทศทั่วโลกที่เก็บภาษีนี้ พบว่า มี 2 กรณี กรณีแรก คือ แพลตฟอร์มดูหนังฟังเพลง ที่มักจะไม่ผลักภาระภาษี VAT 7% ให้ผู้บริโภคเพราะมีคู่แข่ง กลัวเสียความสามารถในการแข่งขัน แต่บางบริษัทที่มีอำนาจต่อรอง ที่ถึงแม้ขึ้นราคาผู้บริโภคยังต้องใช้อยู่ดี มักจะผลักภาษี VAT 7% มาให้ผู้บริโภค 

“เราเปิดระบบ VES ตั้งแต่ 16 สิงหาคม 2564 เพียง 2 สัปดาห์ (ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2564) มีผู้มาลงทะเบียนแล้ว 60 ราย ระบบ VES จะเปิดตลอด” ดร.เอกนิติ กล่าว

ในภูมิภาคนี้ ประเทศที่ใช้ภาษี e-service แล้ว คือ สิงคโปร์ (เป็นประเทศแรก) เก็บ 7% อินโดนีเซียและเวียดนามเก็บ 10% และประเทศไทย 7%

ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล ใช้แหล่งของภาษี ยึดหลักของสถานประกอบการ คือ 1 ประเทศ เก็บได้ครั้งเดียว บริษัทนั้นจดจัดตั้งอยู่ที่ประเทศไหนจ่ายภาษีประเทศนั้น แล้วให้บริการไปยังผู้บริโภคทั่วโลก แต่กลุ่มประเทศ G7 ตกลงกันเบื้องต้นว่า บริษัทแพลตฟอร์มข้ามชาติหากมีรายได้เกิน 1 ล้านยูโร แม้จะไม่ได้จดทะเบียนในประเทศอื่น ๆ แต่ต้องปันกำไรมาให้ประเทศที่แพลตฟอร์ของบริษัทนั้นเข้าไปให้บริการด้วย ตามสัดส่วนที่ได้รายได้จากการให้บริการในประเทศนั้น ๆ ใกล้บรรลุข้อตกลงแล้ว คาดว่าตุลาคม 2564 จะได้ข้อตกลงนี้ ถือเป็นการปฏิรูปภาษีโลก 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ