TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistระบบราชการ "น้ำลด ตอผุด"

ระบบราชการ “น้ำลด ตอผุด”

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในบ้านเราเวลานี้อาจเรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤติอย่างสมบูรณ์แบบไปแล้ว ต้องบอกว่ามี “ปัจจัยลบ” หลาย ๆ ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะวิกฤติเช่นนี้ หนึ่งในนั้น คือ “ความล่าช้าของระบบราชการ” ที่มีกฎระเบียบและขั้นตอนต่าง ๆ มากมายยุบยับ จะทำอะไรติดขัดไปหมด ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และหยั่งรากลึกมานาน

ปัญหานี้ถูกจุดพลุขึ้นจากความอัดอั้นตันใจของผู้ว่าฯ “ปู-วีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี” ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครที่เขียนลงเฟซบุ๊กเมื่อสัปดาห์ก่อนถึงการรับมือกับวิกฤติโควิด-19 แต่ต้องประสบปัญหาในเรื่องกฎระเบียบและขั้นตอนของระบบราชการต่าง ๆ มากมาย

ผู้ว่าฯ ปู ระบายออกมาว่า “ถ้าระเบียบทำให้ประชาชนต้องตาย เพราะไม่มีที่กักตัว โปรดจงก้าวข้ามระเบียบนั้น แล้วบอกว่า ต้องทำ เพราะผมเป็นคนสั่งเอง ให้มันรู้ไปว่าระเบียบกับความตาย อะไรสำคัญกว่า”

ข้อความระบายความรู้สึกของผู้ว่าฯปู ในอาการที่ทนไม่ไหว สะท้อนถึง “ความแข็งตัวของระบบราชการ” จนกลายเป็นปัญหาและอุปสรรคในการทำงานอย่างใหญ่หลวง ในขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังรุนแรงขึ้นทุกวันแต่การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็มีกรณีการใช้ “สายด่วน 1668” ที่ ผู้ใช้เบอร์นี้โทรขอความช่วยเหลือจากกระทรวงสาธารณสุขต้องเสียค่าโทรศัพท์ ต่อมาจึงทราบว่า หมายเลขสายด่วน 1668 เป็นหมายเลขสายด่วนที่กรมการแพทย์ได้ขอใช้งาน เนื่องจากเป็นหน่วยงานรัฐ จึงได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม

แต่ประชาชนที่โทรเข้าเลขหมายดังกล่าวยังต้องเสียค่าใช้จ่ายตามปกติ กระทั่งมีการร้องเรียนจึงได้มีหนังสือขอให้หมายเลขโทรศัพท์ที่ให้บริการเกี่ยวกับโควิด-19 ยกเว้นค่าบริการทั้งหมด อันที่จริงในยามวิกฤติเช่นนี้ ไม่ควรที่จะให้ผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการต้องรับภาระแต่อย่างใด

นอกจากนี้ วิกฤติครั้งนี้ยังสะท้อนภาพ “การรวมศูนย์อำนาจ”​ ของระบบราชการอย่างเต็มรูปแบบ ดังกรณีที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จะขอจองวัคซีนมาฉีดให้กับสมาชิกในชุมชน ปรากฏว่าทำไม่ได้ เพราะติดระเบียบของกระทรวงมหาดไทยในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

แม้แต่กรณีการเบิกจ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลกู้มาสำหรับรับมือวิกฤติโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว เฉพาะในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ได้รับจัดสรรงบฯ 5 หมื่นล้านบาท ผ่านไป 1 ปีมีการเบิกจ่ายแค่ 30% เท่านั้น โรงพยาบาลต่าง ๆ ต้องแก้ขัดด้วยการขอรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา เพื่อมาซื้ออุปกรณ์การแพทย์แทน

น่าแปลก เงินมีเต็มกระเป๋า แต่เกิดกรณี “ท่อตัน” เบิกมาใช้ไม่ได้ เพราะติดระเบียบราชการที่มีขั้นตอนมากมาย คนที่รับผิดชอบก็ไม่กล้าดำเนินการ หากทำไปโดยพลการ อาจผิดระเบียบ จะถูกลงโทษได้ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย

หรือกรณีที่โรงพยาบาลเอกชนสั่งจองวัคซีนผ่านองค์การเภสัชกรรม แต่ไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่ยื่นเรื่องไปหลายเดือนจนหลายฝ่ายออกมาตั้งคำถามว่าติดขัดตรงไหน ในเรื่องความล่าช้าของการจัดหาวัคซีนนั้นผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาอธิบายว่า

 “แม้หลายฝ่ายจะเป็นผู้จัดหาวัคซีนร่วมกัน แต่การตัดสินใจต้องนำเข้าสู่การประชุมคณะทำงานและคณะกรรมการแต่ละชุดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการพิจารณาอย่างรอบคอบ อีกทั้งก่อนการลงนามส่วนใดจะส่งปรึกษาหน่วยงานด้านกฏหมายของประเทศเพื่อพิจารณาก่อน”

พร้อมกับบอกอีกว่า “ในการดำเนินการของภาครัฐ ที่จำเป็นต้องมีระบบระเบียบที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เป็นที่มาที่เกิดความรับรู้ว่า การดำเนินการจัดหาวัคซีนอาจจะไม่ทันตามจำนวนที่คิดว่าควรจะเป็นได้ ทั้งหมดเป็นเรื่องของข้อจำกัด …..”

จะเห็นว่านอกจากจะมีข้อระเบียบต่าง ๆ มากมายจนทำให้เกิดความล่าช้าแล้ว ผู้รับผิดชอบเองไม่กล้าตัดสินใจ ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม เรียกว่าทำงานแบบ “ปลอดภัยไว้ก่อน” ดีที่สุด

นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19ระบาดมาปีกว่า จะเห็นว่ามีปัญหาติดขัดจากระเบียบราชการและวิธีการทำงานแบบข้าราชการค่อย ๆ โผล่มาเรื่อย ๆ เข้าตำรา “น้ำลด ตอผุด”​ จนกลายเป็นการขัดขวางไม่ให้การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่น ทั้งที่เป็นการทำงานในสถานการณ์วิกฤติอย่างแท้จริง

น่าเศร้าอย่างยิ่งที่ชะตากรรมของคนไทย ต้องมาฝากไว้กับ “ระบบราชการ” ตราบใดที่ยัง “ไม่ปลดล็อก” หรือ “รื้อระบบ” ครั้งใหญ่ เราคงจะฝ่าวิกฤติครั้งนี้ลำบาก

 สรุปว่าที่คนไทยได้รับวัคซีนที่ดีและปลอดภัยช้า สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะระบบราชการ

เคยมีการบอกกล่าวกับประชาชนว่า รัฐบาลไม่สามารถจะจัดสรรงบประมาณไปขอซื้อวัคซีนที่เราอยากได้เหมือนบางประเทศ ก็เพราะระเบียบการใช้งบประมาณนั้น. ถ้าจะมีการใช้เงินก็ต้องมี “ของ” ที่จับต้องได้เสียก่อน

การจะไปลงทุนร่วมวิจัยกับใครเพื่อเป็นหุ้นส่วนในการศึกษาหาวัคซีนนั้นทำไม่ได้ นักการเมืองหรือข้าราชการคนไหนทำเช่นนั้นมีสิทธิ์ถูกตั้งกรรมการสอบได้

นอกจากนั้น คณะกรรมการต่าง ๆ ก็เป็นข้าราชการเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้จะเผชิญกับวิกฤติระดับโลกอย่างโควิด-19 ก็ยัง “รักษาตัวรอด” ไว้ก่อนดีกว่า

การไม่ตัดสินใจและการอ้างระเบียบราชการ เป็นการรักษาตัวเองให้อยู่ใน “เขตปลอดภัย” ไว้ก่อน ที่เรียกว่า play safe หรือ “นโยบายปลอดภัยไว้ก่อน ไม่ทำก็ไม่ผิด ถ้าทำก็เสี่ยงจะผิดได้ตลอดเวลา” นั่นแหละ

ภาพ: ThaiGov.go.th

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ