TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“วัคซีน” หัวใจฟื้นเศรษฐกิจ

“วัคซีน” หัวใจฟื้นเศรษฐกิจ

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในบ้านเราจะอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างที่คาดไม่ถึง ว่าจะมีคนติดเชื้อวันละกว่าหมื่นคน และคนเสียชีวิตทะลุหลักร้อยคนสองวันติด ๆ เพราะต้องเผชิญกับกับโควิด-19 กลายพันธุ์ที่ระบาดรวดเร็ว คือ “สายพันธุ์เดลต้า” ซึ่งกำลังระบาดในหลายประเทศ ทั้งอินเดีย และล่าสุดในอินโดนิเซีย มีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้เพิ่ม 10 เท่า ภายใน 5 สัปดาห์ จนมีผู้ป่วยรายใหม่หลายหมื่นคนต่อวัน จนแซงบราซิลและอินเดียไปแล้ว

แต่วิกฤติ “วัคซีน” ในบ้านเรากำลังเป็นปัญหาใหญ่ เข้ามาซ้ำเติมให้บาดแผลจากการแพร่ระบาดโควิด- 19 กว้างและลึกยิ่งขึ้น ประเด็นวัคซีนขาดแคลนไม่พอกับความต้องการ ทั้งจำนวนยี่ห้อที่มีแค่ 2 ยี่ห้อ คือ ซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า อีกทั้งปริมาณที่สั่งเข้ามาก็มีจำกัด เพิ่งจะมีซินิโนฟาร์มเข้ามาช่วยคลี่คลายสถานการณ์ แต่ก็ยังไม่เพียงพอและไม่อาจรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบนี้ได้

การบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลและศบค.เป็นเรื่อง “คาใจ” ของสังคมอย่างมากมาย จนมีคำถามตามมาว่าเมื่อซิโนแวคเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่ำสุด ไม่อาจรับมือกับสายพันธุ์เดลต้าที่กำลังระบาดได้ เหตุไฉนรัฐบาลจึงทำทุกวิถีทางเพื่อจะสั่งวัคซีนยี่ห้อนี้เพิ่มจากเดิมมาก ทั้งที่แรก ๆ สั่งมาจำนวน 10 ล้านโดส ต่อมาสั่งเพิ่มอีก 10 ล้านโดส โดยมีเป้าหมายจะสั่งมากถึง 50 ล้านโดส เป็นเงินกว่า 6,000ล้านบาท ทั้งที่รัฐบาลเคยประกาศว่า จะใช้ซิโนแวคเป็นแค่วัคซีนเสริม โดยวางแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนหลัก

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามว่า วัคซีนซิโนแวคที่รัฐบาลไทยสั่งซื้อ ทำไมจึงแพงกว่าอินโดนีเซียถึงโดสละ 100 บาท ที่ยังเป็นปริศนาคาใจอยู่กระทั่งทุกวันนี้

ขณะที่แอสตร้าเซนเนกาที่เป็นวัคซีนหลักกลับมีปัญหาเรื่องจำนวนจำกัด และระยะที่ส่งมอบล่าช้าล่าสุด มีจดหมายลับ จากฝั่งแอสตร้าฯ ส่งถึงไทย แจงกำลังการผลิตและการแบ่งสรรปันส่วนวัคซีนดังกล่าวกับไทย และประเทศอื่น จดหมายลับดังกล่าวฉีกหน้ารัฐบาลไม่มีชิ้นดี

ขณะที่การประกาศล็อกดาวน์ของรัฐบาล แม้จะถือว่าจำเป็น แต่ก็ต้องแลกกับความยุ่งยากในการดำเนินชีวิตและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ปกติ ทำให้ต้นทุนที่จมอยู่กับโควิดสูงมาก ตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินคร่าว ๆ เดือนละเป็นแสนล้านบาท ที่ผ่านมาความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว 900,000 ล้านบาท หมายความว่ามูลค่าความเสียหายนี้ ถ้าเอามาซื้อวัคซีนฉีดให้ชาวบ้านได้หลายรอบ

คำถามคือ ทำไมรัฐบาลไม่เอาความเสียหายมาซื้อวัคซีน เพื่อให้ประเทศพร้อมรับมือกับโควิดกลายพันธุ์ระลอกใหม่ได้ดีขึ้น

ฟันธงว่า “วัคซีน” เป็นปัจจัยเดียวในการนำพาประเทศออกจากวิกฤติครั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้การส่งออกที่ฟุบมานานกำลังฟื้นตัวขึ้นมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ คือ มีการระบาดในโรงงานอย่างหนัก ซึ่งกระทบภาคส่งออกและกระทบเศรษฐกิจ อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจปีนี้จะไม่ขยายตัวหรืออาจจะถึงขั้นติดลบเลยก็ได้

ส่วนในฝั่งของภาคการท่องเที่ยวที่ในระยะหลัง ๆ เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว ขณะที่เศรษฐกิจไทยพึ่งการท่องเที่ยวมีสัดส่วน 15% ของจีดีพี และจ้างงานถึง 10 ล้านคน การที่ภาคการท่องเที่ยวปิดเกือบหมด หมายความว่าคนเกือบ 10 ล้านคน ตกงานไม่มีรายได้ และกระทบการใช้จ่ายของประชาชนมาก

จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมรัฐบาลจึงต้องเร่งฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป และบุคคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นด่านหน้าให้เร็วที่สุด และต้องเร่งรัดการจัดหา และนำเข้าวัคซีนทางเลือกให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด โดยเรื่องนี้รัฐบาลและเอกชนควรร่วมมือกันทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดหาวัคซีนทางเลือกหลายยี่ห้อเข้ามา 

ทั้งนี้ วิธีการก็มีหลายรูปแบบ อาจจะใช้รูปแบบให้เอกชนเป็นคนที่ติดต่อและรัฐบาลค้ำประกัน เหมือนอย่างกรณี “ไต้หวัน” ที่ให้บริษัทเอกชนอย่างบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) และบริษัททีเอสเอ็มซี (TSMC) เจรจาซื้อวัคซีนแทนรัฐบาล 10 ล้านโดส หรืออาจจะใช้โมเดลที่นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มมา แล้วให้เอกชนมาซื้อต่อ เพื่อไปฉีดให้พนักงาน ทำให้ธุรกิจกลับมาดำเนินกิจกรรมต่อได้ เพราะหากยิ่งช้าเศรษฐกิจยิ่งเสียหาย

ที่สำคัญการบริหารจัดการวัคซีนต้อง “ยิงตรงเป้า” ต้องจัดสรรวัคซีนลงไปในพื้นที่ที่สำคัญ ในจุดพื้นที่อ่อนไหวต่อการระบาด ในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ รวมทั้งพื้นที่แออัดมีผู้คนจำนวนมาก และเสี่ยงติดต่อกันง่าย พื้นที่เหล่านี้มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด

หัวใจการฟื้นเศรษฐกิจ จึงอยู่ที่ “วัคซีน” ตัวเดียวเท่านั้น หากจัดการได้ดี เศรษฐกิจก็จะกลับมาฟื้นได้เร็ว และการใช้ชีวิตประจำวันก็จะกลับมาเป็นปกติ

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ