TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistปิดแคมป์ก่อสร้าง ... เสียหายเท่าไร

ปิดแคมป์ก่อสร้าง … เสียหายเท่าไร

เหตุการณ์ในบ่ายวันศุกร์ ที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา “รัฐบาลลุงตู่”​ มีคำสั่ง “หยุดทำงานก่อสร้าง” ในแคมป์คนงานตามมาด้วยการออกคำสั่งแบบกระทันหันในเวลาเที่ยงคืนของวันเดียวกันด้วยการสั่ง “ห้ามนั่งกินข้าว” ในร้านอาหารให้ซื้อกลับบ้านได้เท่านั้นรวมถึงงดกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีการรวมกลุ่มกัน

นั่นเท่ากับเป็นการ “ล็อกดาวน์”​ กรุงเทพฯ ปริมณฑลอีก 5 จังหวัด ระกอบด้วย นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ผนวกอีก 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปริยาย เป็นเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน – 27 กรฏาคม 2564 หลังจากปลดล็อกให้ร้านอาหารเปิดตามปกติได้เพียงไม่กี่วัน

การประกาศชักเข้าชักออกเป็นความล้มเหลวแบบซ้ำซากนับครั้งไม่ถ้วน จนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของรัฐบาลนี้ ยิ่งครั้งนี้เป็นคำสั่งที่หารือกันในแค่คณะกรรมการศบค.ไม่กี่คน แล้วก็รีบประกาศออกมาโดยไม่ได้ศึกษารายละเอียดผลได้ผลเสียตามมา

เรื่องง่าย ๆ ไม่น่าพลาดอย่างกรณีการประกาศออกมาในวันศุกร์ ที่ 25 มิถุนายน แต่มีผลในวันจันทร์ ที่ 28 มิถุนายน พอประกาศเสร็จ แรงงานกลุ่มหนึ่งตกใจก็เลยหนีกระเจิงกลับบ้านในต่างจังหวัด คืนวันศุกร์ เสาร์ และวันอาทิตย์ จึงไม่แปลกใจที่จะมีภาพปรากฎออกมาในโลกโซเชียลจะเห็น “คาราวานแรงงาน” เต็มถนนมิตรภาพ รถติดหนักทั้งวันทั้งคืน

แม้หลังจากคำสั่งออกมา “สุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีแรงงาน จะประกาศเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบ 50% โดยทุบกระปุกจาก “กองทุนประกันสังคม” จึงทำให้รู้ว่าแรงงานที่หนีกลับบ้านเหล่านั้นเป็น “แรงงานนอกระบบ” ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม แรงงานกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการเยียวยา ทำให้ต้องขาดรายได้ 30 วัน หากไม่หนีกลับบ้านก็ต้องนอนอดอยากในแคมป์สังกระสีที่อยู่กันอย่างแออัด ท่ามกลางแดดร้อนเปรี้ยงแบบไม่รู้ชะตากรรม

การหลบหนีของแรงงานทำให้สังคมรู้ว่า มีแรงงานไม่น้อยที่เป็นแรงงานนอกระบบเข้ามาทำงานในแคม์ก่อสร้าง แต่รัฐกลับเยียวยาเฉพาะแรงงานที่อยู่ “ในระบบประกันสังคม” เท่านั้น นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลและศบค.คิดไม่ถึง มิหนำซ้ำแรงงานนอกระบบเหล่านี้ จะเป็นพาหะนำเชื้อจากกรุงเทพไปแพร่ในต่างจังหวัด ว่ากันว่าแรงงานที่กลับบ้านได้กระจายไปถึง 32 จังหวัด

ความผิดพลาดครั้งนี้เกิดจาก “ศบค.” หารือกันเองไม่ยอมปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และคนที่เกี่ยวข้อง แม้แต่รัฐมนตรีแรงงาน ยังรู้เรื่องนี้ทีหลัง ทั้งที่ก่อนจะตัดสินใจอะไร ควรต้องศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงก่อน อย่างน้อย ๆ ต้องรู้โครงสร้างธุรกิจก่อสร้างเป็นอย่างไร ใครเกี่ยวข้อง สั่งปิดแล้วมีผลกระทบอย่างไร คุ้มหรือไม่คุ้ม

ความผิดพลาดครั้งนี้ เกิดจาก “การประเมินสถานการณ์ผิด” และ “ตัดสินใจพลาด” อย่างมาก กรณีในกทม.มีแคมป์ก่อสร้างเกือบ ๆ พันแห่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกแคมป์จะมีคนติดเชื้อโควิดทั้งหมด บางแคมป์สมมติมีแรงงาน 500 คนอาจจะติดโควิดอย่างมาก 100 กว่าคน บางแห่งไม่มีคนติดโควิดเลยก็มี โดยเฉพาะแคมป์ก่อสร้างขนาดเล็ก

แต่รัฐกลับใช้มาตรการแบบเหมาเข่งไม่ “แยกน้ำ แยกปลา” ออกจากกัน เช่น แยกคนป่วยมาอยู่รวมกัน และรีบรักษาด่วน ส่วนแรงงานที่ไม่ป่วย ต้องเร่งตรวจและฉีดวัคซีนป้องกัน และให้ทำงานต่อไป ธุรกิจก็เดินหน้าต่อไปได้ ส่วนคนป่วยทำงานไม่ได้ รัฐต้องเยียวยาดูแลอาหารการกิน รักษาอาการป่วยจนหายดีแล้วกลับมาทำงาน

การปิดแคมป์ก่อสร้างนานถึง 30 วัน เศรษฐกิจย่อมได้รับความเสียหายมหาศาล ลองนึกภาพดูว่าโครงการขนาดใหญ่นับสิบ ๆ แห่ง ถูกทิ้งงานกลางคัน เท่ากับงานเสร็จช้ากว่ากำหนด 1 เดือน จะได้รับความเสียหายที่ต้องเสียโอกาสจากความล่าช้ามากแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลจากวงการอสังหาริมทรัพย์ สมาคมผู้รับเหมา ได้คำนวณความเสียหายจากการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างครั้งนี้ มีมูลค่ามากถึง 8 หมื่นล้านบาท เลยทีเดียว ทั้งที่การก่อสร้างโครงการบ้านจัดสรร ทั้งประเภทบ้านเดี่ยว-ทาวน์เฮาส์ที่เป็นโครงการขนาดเล็ก ๆ ไม่พบว่ามีคนงานติดโควิด และกำลังจะส่งมอบงาน พลอยโดนหางเลขไปด้วย 

ขณะที่ผู้รับเหมาต้องหยุดก่อสร้าง 1 เดือน ซึ่งดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ได้หยุดไปด้วย หากเปิดแคมป์กลับมาเป็นปกติงานก่อสร้างที่หยุดไปต้องล่าช้า ก็ต้องจ้างโอที เพื่อให้เสร็จทันตามสัญญา ต้นทุนก็เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกัน สินเชื่อที่อนุมัติแล้วรอสร้างให้เสร็จเพื่อจะโอน ถูกสั่งให้หยุดสร้าง 30 วัน สินเชื่อหมดอายุ หากจะขอสินเชื่อใหม่ไม่รู้ว่าจะได้รับอนุมัติหรือไม่

ความเสียหายเหล่านี้รัฐจะชดเชยอย่างไร

ทั้งหมดนี้ คือ ความเสียหายที่ประเมินแบบคร่าว ๆ ยังไม่นับรวมกับร้านค้าอาหารตามสั่ง ร้านโชห่วยซึ่งเป็นธุรกิจคนตัวเล็กตัวน้อยที่อาศัยกำลังซื้อจากคนงานนับแสนคนในแคมป์ก่อสร้าง

อีกทั้งยังไม่นับรวมธุรกินร้านอาหาร เครื่องดื่ม ธุรกิจบันเทิง ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งตอนดึกในคืนวันที่ 25 มิถุนายน อีกนับแสน ๆ ราย ที่เตรียมจะเปิดบริการตามปกติ แต่ต้องหยุดขายอีก 1 เดือนเต็ม “สต็อกอาหาร” จำนวนมหาศาลที่เตรียมขายวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะมีการประกาศล็อกดาวน์ แค่นี้ความเสียหายก็มีมูลค่ามหาศาลแล้ว

ไม่นับรวมความเสียหายด้านสาธารณสุข ที่ต้องรักษาคนป่วยเพิ่มจากการแพร่กระจายจากคนงานหนีกลับต่างจังหวัด ความเสียหายด้านสังคม คนตกงานไม่มีข้าวกิน ต้องนั่งริมทางขออาหารชาวบ้านอย่างที่ปรากฎในโลกโซเชียล

ทั้งหลายทั้งปวง คือ ความเสียหายที่เกิดจากคำสั่งที่ขาดการพิจารณา ด้วยความรอบคอบ และชอบธรรรมอย่างแท้จริง

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ