TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewDEPA หนุนอุตสาหกรรม "เกม-คอนเทนต์" ไทย ปั้น New Wave สร้างเศรษฐกิจใหม่

DEPA หนุนอุตสาหกรรม “เกม-คอนเทนต์” ไทย ปั้น New Wave สร้างเศรษฐกิจใหม่

ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ทำให้มีการแตกช่องทางการสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นนอกเหนือจากอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมอย่าง อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม

โดยหนึ่งอุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ระบุว่าเป็นอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่สามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มหลักด้วยกัน ไล่เรียงตั้งแต่ 1) กลุ่มฮาร์ดแวร์ที่แปรสภาพเป็น smart device 2) บริการดิจิทัล (Digital Service) หรือ การใช้ซอฟท์แวร์ในฐานะงานด้านบริการ 3) Software Package 4) Telecommunication หรือเทคโนโลยีโทรคมนาคมสารสนเทศ และ 5) ดิจิทัล คอนเทนต์ (Digital Content)

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์นี้เป็นอุตสาหกรรมที่ทางดีป้าให้การส่งเสริมสนับสนุนมานานหลายปีแล้ว ซึ่งในอุตสาหกรรมนี้ ประกอบด้วยหน่วยธุรกิจย่อยมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เกม, อนิเมชั่น, บิ๊กดาต้า, บริการdata analytic และคอนเทนต์อื่นๆ อีกมากมาย โดยในหน่วยย่อยนี้ ธุรกิจเกม ถือเป็นคอนเทนต์ที่ทางดีป้าจัดความสำคัญไว้ลำดับแรกสุด

“อุตสาหกรรมเกมไทยมีมูลค่าประมาณ 30,000 กว่าล้านบาท มีการเติบโตเฉลี่ย 10% ไม่เกิน 15% ต่อปีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นับว่ามีการเติบโตที่ค่อนข้างดี”

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเติบโตที่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ดร.ณัฐพล มองว่า ความสามารถของอุตสาหกรรมเกมไทยสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่ประเทศไทยยังขาดกลไก และทรัพยากรบุคคลที่จะช่วยผลักดันให้บรรดาผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเกมไทยสร้างรากฐานจุดยืนของตนเองในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างชัดเจนมั่นคง เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมเกมของไทยสามารถเติบโตจากมูลค่าหมื่นล้านเป็นแสนล้านได้ในอนาคต 

ทั้งนี้ ในอุตสาหกรรมเกมคอนเทนต์นี้ จะมีผู้ที่มีบทบาทสำคัญอยู่ทั้งหมด 3 ส่วนคือ นักพัฒนาเกม (Game Developer), ผู้ถือลิขสิทธิ์เกม (Game Licenser) และ ผู้เผยแพร่เกม (Game Publisher)

โดยเมื่อนักพัฒนาเกมพัฒนาเกมขึ้นมาตัวหนึ่งแล้วทำการส่งออกไปต้องผ่าน Game Licenser ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการขายอีกที ก่อนที่ Game Publisher จะเป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่จะเป็นคนเอาเกมที่คิดขึ้นมานี้ไปใช้ในเครื่องเกมปกติ หรือตามโทรศัพท์สมาร์ทโฟน 

“วิธีการที่ดีป้าทำงานมันก็เหมือนกับการก่อร่างสร้างธุรกิจทั่วไป มีตั้งแต่เริ่มจากความคิดที่อยากจะเป็นผู้ผลิตเกม และสามารถเปิดตัวเกมที่ผลิตออกมาจนกลายเป็นธุรกิจที่จัดตั้งได้ ก่อนส่งออกไป โดยเรานั่งคุยกับน้อง ๆ ในสมาคมเกม แล้ววาดเป็น life cycle ของธุรกิจเกม”

เปิดพื้นที่เชื่อมโยงคนมีไอเดียกับคนมีประสบการณ์ 

ดร.ณัฐพล ชี้แจงว่า การตั้งต้นของอุตสาหกรรมเกมจะแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ ตรงที่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมอื่นเมื่อมีไอเดียแล้วก็จะมีการ pitching หรือการนำเสนอแนวคิดในการทำธุรกิจของสตาร์ทอัพเพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุน แต่สำหรับอุตสาหกรรมเกมจะเป็นคนละแบบ เพราะเมื่อได้ไอเดียการทำเกมแล้ว ต้องมีพี่เลี้ยงหรือโค้ช คอยชี้แนะเพื่อสร้างประวัติเรื่องราว (story) วางแผนพัฒนาและช่องทางสร้างรายได้หรือช่องทางขายต่อไป

“เรามองว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เริ่มมีไอเดียทำธุรกิจเกม แต่ยังไปต่อไม่ถูก เราก็จัดโครงการเช่น accelerator program ที่จะเอาคนมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเกม แต่ไม่ใช่ incubator คืออาจเป็นคนที่เคยทำเกมแล้วล้มมาก่อน แต่รู้วิธีการขาย รู้วิธีหาช่องทาง เพื่อเอามาสอนคนที่สนใจอีกทีหนึ่งว่า ถ้าคุณจะกลายเป็นผู้ผลิตเกมในไทย คุณควรจะมีช่องทางอย่างไรบ้าง”

ความเคลื่อนไหวข้างต้นทำให้เกิดการ cluster ระหว่างพี่สอนน้อง รวมกันมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อช่วยสร้างไอเดียที่มีอยู่ให้กลายเป็นธุรกิจเกมที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยเมื่อสามารถจดจัดตั้งเป็นธุรกิจที่เป็นรูปเป็นร่างได้แล้ว ไม่เป็นฟรีแลนซ์แอบทำอยู่เบื้องหลังอีกต่อไป ทางดีป้าก็ผลักดันธุรกิจเหล่านี้ให้เข้าสู่กระบวนการในขั้นที่ 2 ที่เรียกว่า Growth Stage

“Growth Stage ของอุตสาหกรรมเกม ก็มี accelerator program เหมือนกัน โดยจะมาดูกันว่าต้องมีการระดมทุน หรือเอาเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเพื่อให้ความคิดเหล่านั้นในระดับเริ่มต้นสามารถเติบโตต่อไปได้ และในขณะเดียวกันก็เริ่มการจับคู่กับตลาดทั้งในและต่างประเทศ”

สร้างเครือข่าย ยกระดับศักยภาพเกมไทย

ทั้งนี้ เพื่อให้ธุรกิจเกมไทยได้มีโอกาสแจ้งเกิดและจัดจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ ทาง ดีป้า ยังได้มีความพยายามพูดคุยกับ Game Licenser และ Game Publisher ต่างชาติเพื่อสร้างเครือข่ายสายสัมพันธ์ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เหล่า Publisher ในตลาดต่างประเทศถือครองอยู่ โดยดีป้าวางแผนและลงมือนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาจับคู่กับนักพัฒนาเกมของไทยได้ลองพัฒนาเกมให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่มีในอนาคต 

“สถานการณ์ตอนนี้อาจติดโควิด แต่เมื่อเรามีความสัมพันธ์อันดีกับเกม Publisher เยอะ ๆ แล้ว เราก็สามารถที่จะจับ matching กับเขาได้ ทำให้เกิดการเจรจาทางธุรกิจ ซึ่งทางดีป้าจะช่วยประสานงานในสิ่งนี้ต่อ”

ยิ่งไปกว่านั้น การสร้างสายสัมพันธ์ ยังมีส่วนช่วยนักพัฒนาเกมของไทยได้ประโยชน์ในการแข่งขันมากที่สุด

“ดีป้ามาช่วยเรื่องความเสี่ยง อย่างเมื่อเริ่มทำเกมในฐานะฟรีแลนซ์ แล้วเริ่มคิด เริ่มทำ เริ่มขาย ดีป้าก็มีกระบวนการให้เขาเข้าสู่รูปธุรกิจจริง พอเป็นธุรกิจจริงก็ต้องมีเงินลงไปเติมเต็มเพื่อแปลงความคิด แต่ไม่ใช่ให้เป็นทุนให้เปล่า (grant) คือ เหมือนกับกรณีของสตาร์ทอัพที่เป็นการเข้าไปลงทุนในฐานะ angel fund คือ นางฟ้าเอาเงินไปให้คือต้องคืนนะ แต่คืนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือให้เราเข้าไปถือหุ้น เพื่อให้เรารู้ว่า เกมของคุณมีการพัฒนาสตอรี หรือฟีเจอร์สต่างๆ ขึ้นมาสอดคล้องกับตลาด ให้คนไม่เบื่อ และก็สร้างความมั่นใจให้กับทาง Publisher ได้” 

ดร.ณัฐพล กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวของดีป้าได้สร้างความประทับใจให้กับ Publisher ยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นรายหนึ่ง จนยินยอมมอบเทคโนโลยีเกมให้กับนักพัฒนาเกมของไทยนำมาทดลองใช้ 

“ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่จะส่งตัวเทคโนโลยีนั้นเข้ามา เป็นอุปกรณ์เพื่อให้น้อง ๆ ในระดับ early idea หรือ early growth สามารถทดลองกับเทคโนโลยีเหล่านั้นได้ ต้องคอยติดตามข่าวต่อไปว่าเทคโนโลยีที่นำเข้าผ่านการบริจาคจะมาในรูปแบบไหน ซึ่งดีป้าได้ประสานงานทำงานกับทางสมาคมเกมแล้ว”

ดันอุตสาหกรรมเกมไทยแจ้งเกิดเวทีโลก

ทั้งนี้ ในมุมมองของผู้อำนวยการดีป้า นักพัฒนาเกมและอุตสาหกรรมเกมของไทย หากได้รับการสนับสนุนส่งเสริมที่มากพอ ย่อมมีศักยภาพและขีดความสามารถที่จะเข้าร่วมตลาดเกมระดับโลกต่อไปได้ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำตั้งแต่แรกเริ่มก็คือการผลักดันให้บริษัทเกมสัญชาติไทยหรือบุคลากรในวงการเกมของไทย มองตลาดในระดับโลกให้ได้  

“การมองต้องไม่ได้มองแค่คนไทย มันต้องมองระดับ globalize คือต้องทำให้คนในตลาดไม่ได้มีแค่คนไทย มันน้อยเกินไป แม้จำนวนคนเล่นเกมจะเอยะ แต่ว่าเราต้องมองตลาดให้กว้างขึ้น คิดว่าสิ่งที่ผลิตออกไปไม่ใช่การผลิตแบบระยะสั้น มันต้องมีการผลิตและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ผลิตออกมาเพื่อให้เห็นว่ามีเกมสนุก ๆ แต่ต้องเป็นการผลิตเกมและการพัฒนา” 

โดยแน่นอนว่า การเปิดตัวย่อมต้องมาจากการเกิดภายในตลาดในประเทศให้ได้ก่อน ก่อนขยายเข้าสู่ระดับภูมิภาค (regional) แล้วค่อยเติบโตขยายออกไปสู่ตลาดทั่วโลก ขณะเดียวกัน ก็ต้องมองว่าในระยะยาว การเติบโตของตนเองจะพัฒนาเกมที่คิดค้นขึ้นมาให้อยู่ในระดับสุดยอดได้อย่างไร

“บางเกมออกไปใหม่ ๆ อาจจะหวือหวา แต่ถ้าไม่มีการพัฒนาเกมใหม่ๆ หรือออกฟีเจอร์สใหม่ ๆ หรือสร้างสตอรีต่อ มันก็จะไม่ตามติด ต้องรู้ว่า เดี๋ยวนี้เวลาคนเล่มเกม เขาจะดูว่า เกมนั้นมันมีการพัฒนาอะไรบ้าง นั่นคือ ประเด็นที่ต้องแผนธุรกิจเป็นอย่างดี”

นอกจากนี้ ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว นั่นคือไม่ได้มองว่า เกมเป็นสิ่งบันเทิงเพื่อความสนุกสนานแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป โดยพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนหนึ่งในวัยทำงานทำให้เกิดเกมเพื่อสร้างกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ หรือแม้แต่กลุ่มผู้บริโภคแบบครอบครัว ที่คุณพ่อคุณแม่ เริ่มเอาเกมเข้ามาทำงานกับชีวิตของตนเองกับลูก จนถือได้ว่า เป็นการสร้างวิถีชีวิตแบบใหม่ขึ้นมา 

“เกมเหล่านี้ คือ เกมสร้างสรรค์ทางความคิด เช่น เกมค้นหาของ เกมฝึกเส้นทาง หรือเกมแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นการฝึกความคิดทางสมองรูปแบบหนึ่ง ซึ่งคนไทยค่อนข้างเก่งพอสมควร” 

ตั้งเป้าสร้าง 100 บริษัทเกมไทย

เพื่อให้อุตสาหกรรมเกมไทยเกิดเป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ทางดีป้าได้พูดคุยกับทางสมาคมอุตสาหกรรมเกมไทย ชงเรื่องของบประมาณเข้าไปในปี 2565 เพื่อขยายผลกระบวนการของดีป้าจากจุดเล็กๆ ในช่วง 2-3 ปี ขึ้นสู่ระดับประเทศ ควบคู่กับการทำ โครงการเร่งรัดการเติบโต ทำให้เกิดอุตสาหกรรมเกมอย่างจริงจัง

“น้อง ๆ รุ่นใหม่ เราคงไปห้ามไม่ให้เขาทำไม่ได้ เพราะเขาชอบด้วยใจ และถ้าเขาชอบด้วยใจก็ให้เขาโตด้วยดีใจดีกว่าไหม ให้เขาได้เติบโตในมิติที่ดี ซึ่งเราตั้งใจว่าเราจะทำสัก 100 ผู้ประกอบการภายในปี 2565 ในขณะเดียวกัน เราจะสร้างบริษัทตัวกลาง ซึ่งเป็น Game Licenser หมายความว่า แทนที่เราจะผลิตออกมาในมูลค่า 100 บาท แล้วให้น้อง ๆ ได้แค่ 30 บาท 35 บาทให้Game Licenser และอีก 35 บาทให้ Game Publisher ทำให้ส่วนของกำไรเหลือน้อย เพราะฉะนั้นการเติบโตของเราก็จะเสียเปรียบในการแข่งขัน” 

ในมุมมองของดีป้า เมื่อสร้างคนในอุตสาหกรรมเกมขึ้นมาแล้ว ก็จะเป็นต้องมีบริษัทเกมที่เป็น Game Licenser ใหญ่ ๆ ของคนไทยเมื่อสร้างอำนาจต่อรองในตลาดโลกได้ และจะช่วยดึงเม็ดเงินเข้ามาในอุตสาหกรรมเกมในประเทศไทยต่อไป โดยดีป้าตั้งเป้าที่จะสร้างบริษัทขนาดใหญ่ขึ้นมาบริษัทหนึ่งที่รวม Game Developer มาทำงานร่วมกันเป็น Game Licenser สัญชาติไทย 

“เรามีกระบวนการที่เป็น acceleration program เพื่อช่วยให้กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้น แล้วสุดท้ายก็มีการขยายตัวสู่ตลาดโลก ซึ่งในปีแรกเราของบประมาณไปสัก 300 ล้านบาท เพื่อเอาไปทำงาน อย่าง 300 ล้านนี้ ตั้งเป้า 100 ราย ให้รายละ 5 ล้านในการเริ่มต้นชีวิต มันคือการ spin off ธุรกิจใหม่ อย่างน้อยเราก็ได้ 100 ผู้ประกอบการใหม่ ที่เราเรียกว่า New Wave”

ดร.ณัฐพล มองว่า คลื่นลูกใหม่ หรือ New Wave จะเป็นการช่วยเติมเต็มอุตสาหกรรมดั้งเดิมอย่าง เกษตร ยานยนต์ และสิ่งทอ ซึ่งมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นอย่างมาก เป็นการแจ้งเกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในเมืองไทย ที่มูลค่าของอุตสาหกรรมใหม่จะทอนกลับมาเป็นได้ของรัฐ

“อีกหน่อยถ้าเขาโตต่อ สามารถขายได้ สามารถเอาตลาดโลกเข้ามาเป็นลูกค้าได้ มันก็จะมีรายได้หวนกลับมา”

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการดีป้ายังเห็นว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ อย่างอุตสาหกรรมเกม ยังช่วยขยายให้ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเติบโตตามมา เช่น ธุรกิจออแกไนเซอร์ เครื่องแต่งกายเสื้อผ้า ช่างแต่งหน้า ช่างทำผม หรือ content creator

เรียกได้ว่า คนที่ได้รับประโยชน์จากอุตสาหกรรมเกมไม่ได้มีเพียงแค่ นักพัฒนาเกม และ Game Licenser แต่เพียงอย่างเดียว แต่ทำให้คนในแวดวงอาชีพอื่นได้มีช่องทางสร้างรายได้

“นี่คือมิติใหม่ของอุตสาหกรรมเกม โดยอุตสาหกรรมต่อเนื่องยังมีทั้งร้านอาหาร ทั้งเรื่องของการแข่งขัน มีผลกระทบ มีงานธุรกิจอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับเกมตัวหนึ่งที่มีการเปิดตัวออกมา หรือมีการแข่งขันเกิดขึ้น หรือแม้แต่อุตสาหกรรมที่เรียกว่า game arena ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหนึ่ง”

สำหรับทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ดร.ณัฐพล แสดงความเห็นว่า จะต้องมองในมิติใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม โดยขณะที่ เดินหน้าสนับสนุนให้อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมสามารถอยู่รอด ขยายผลสร้างมูลค่าเพิ่มและเติบโตต่อไปได้ รัฐบาลไทยก็ควรจะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิติใหม่ ๆ ขึ้นมาเสริมเหมือนเช่นที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกสร้างโอกาสในอุตสาหกรรมใหม่ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่

“เราเป็นคนที่ยื่นโอกาสเพื่อให้เขากลายเป็นกำลังสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ มันคงจะบอกว่าอย่าทำไม่ได้ เพราะถ้าเขาไม่ทำที่เมืองไทยก็ไปทำที่อื่น เราก็เสียบุคลากรเหล่านั้นไป แต่ถ้ามีโอกาสเมืองไทยก็มีศักยภาพ เราเชื่อว่ามันจะกลายเป็น new wave industry ที่จะดันมูลค่าหมื่นล้านให้เป็นขยายตัวเป็นมูลค่าแสนล้านได้ และมูลค่าเหล่านี้ก็จะเป็นตัวเพิ่มให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวมากขึ้น และสุดท้ายแล้ว การเติบโตเหล่านั้นก็คือการนำมาซึ่งรายได้ที่ทำให้รัฐมีเงินในการจัดเก็บมาใช้จ่าย”

มันคือการใช้ความสามารถของคนไทยในการหารายได้เข้าประเทศเพื่อการพัฒนาประเทศและเป็นการให้ความคาดหวังเหล่านี้กับคนรุ่นใหม่ครับ

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ