TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเศรษฐกิจปีฉลู ... ยังไร้แสงสว่างปลายอุโมงค์

เศรษฐกิจปีฉลู … ยังไร้แสงสว่างปลายอุโมงค์

สวัสดีปีใหม่แฟนนานุแฟน “เดอะสตอรี่ ไทยแลนด์” ทุกคน ขอให้มีความสุขมีสุขภาพแข็งแรง พร้อมรับมือวิกฤติรอบใหม่ในปี 2564 สำหรับบรรยากาศการเฉลิมฉลองปีใหม่ดูจะกร่อยกว่าทุกปี และวันนี้เป็นวันแรกของการทำงาน อาจจะดูซึม ๆ ไม่กระชุ่มกระชวย เพราะเริ่มศักราชใหม่ในภาวะ “ล็อกดาวน์แบบอ่อน ๆ

การระบาดรอบนี้ แนวโน้มน่าจะรุนแรงกว่าครั้งก่อน แต่ด้านหนึ่งคนไทยก็มีประสบการณ์จากการระบาดรอบที่แล้วมาพอสมควร ทั้งความรู้ความเข้าใจและการปรับตัวรับมือ

แต่ที่น่ากลัวกว่านั่นคือ “การระบาดของความทุกข์ยาก” อันเนื่องมาจากพิษเศรษฐกิจที่มีผลจากมาตรการ “ล็อกดาวน์” ของรัฐบาล ซึ่งวันนี้น่าจะรู้ว่าศบค.จะมีมติออกมาอย่างไร จะล็อกดาวน์แบบอ่อน ๆ เจ็บน้อย ๆ แต่เจ็บนาน หรือจะล็อกดาวน์แบบเข้มข้นเจ็บแล้วจบ

อย่างไรเสีย ก็ต้องฝากให้ศบค.เรียนรู้บทเรียนรอบที่แล้ว ว่าผลจากการใช้มาตรการแบบเข้มข้นสุดโต่งส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านหาเช้ากินค่ำอย่างไร

พ่อค้าแม่ขายผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย ที่พอจะลืมตาอ้าปากได้จาก “มาตรการคนละครึ่ง” หากล็อกดาวน์เที่ยวนี้ มาตรการรัฐทั้ง “คนละครึ่ง” และ “เราเที่ยวด้วยกัน” ก็ต้องพับไปโดยปริยาย

จึงต้องพิจารณาอย่าง “รอบคอบ” และ “ชอบธรรม” จะ “บริหารความสุมดุล” ระหว่าง “เศรษฐกิจ” กับ “สุขภาพ”​ ไม่ให้สุดโต่งข้างใดข้างหนึ่งอย่างไร

ก่อนที่จะมีการระบาดใหม่รอบนี้ หลายสำนักก็คาดแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 น่าจะโงหัวดีขึ้นกว่าปี 2563 ด้วย 3 ปัจจัย

  1. คาดว่าวัคซีนอย่างน้อย 2 บริษัท คือ บริษัท Pfizer และ Moderna จะเริ่มผลิตและใช้ได้ในไตรมาส 1 ปีหน้า และจะสามารถกระจายกว้างขวางไปประเทศต่าง ๆ ในปลายปี 2021 และทั่วถึงมากขึ้นในปี 2022 ส่งผลความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของโลกดีขึ้น
  2. การฟื้นตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐฯ จีนซึ่งเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 1 และ 2 ของโลก มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของโลก และ
  3. นโยบายการเงิน การคลัง ที่ผ่อนปรนต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในโลกและรวมทั้งของไทย

ปัจจัยบวกดังกล่าว น่าจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกในปี 2564 แต่สำหรับประเทศไทยเมื่อเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ปัจจัยดังกล่าวอาจไม่มีกำลังพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เห็น “แสงสว่างปลายอุโมงค์” ได้เมื่อยังมีปัจจัยลบมากมายเข้ามาเป็นตัวถ่วง โดยเฉพาะ “หนี้ครัวเรือน” ที่พุ่งสูงแตะ ๆ 90% สูงสุดในรอบ 18 ปี ส่งผลกระทบกำลังซื้อในประเทศอย่างมาก

ด้านการคลังยังต้องลุ้นวงในแอบกระซิบว่า “ช่อง” ในการกู้ชดเชยขาดดุลที่เหลือแค่กว่า 1 แสนล้านบาทเท่านั้น อาจจะไม่เพียงพอ ขณะที่รายได้จากการเก็บภาษี 2.8 ล้านบาท ก็อาจไม่เป็นไปตามเป้า เพราะในปีที่ผ่านมาธุรกิจประสบกับการขาดทุน และปิดกิจการจำนวนมาก รายได้จากการท่องเที่ยวปีนี้ก็คงไม่เป็นไปตามเป้า แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังเข้ามาไม่ได้ ส่วนนักท่องเที่ยวในประเทศ สถานการณ์อย่างนี้ก็คงไม่มีใครอยากเที่ยว

ส่วนรายได้จากการส่งออก แม้ว่าในไตรมาส 3 ปีที่แล้วจะทำท่าดีขึ้น แต่ก็มีปัญหาตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าขาดแคลนทั่วโลก ต้องแย่งกันทำให้ราคาค่าเช่าแพงและผันผวน ประกอบกับเงินบาทแข็งค่า ผู้ส่งออกต้องปวดหัวกับการตั้งราคาสินค้า ส่งผลให้ปีนี้การส่งออกจึงค่อนข้างลำบาก

ด้านการลงทุน รายงานจาก Doing Business 2020 ที่จัดทำโดยธนาคารโลก พบว่า Top 20 ประเทศที่ง่ายต่อการเข้ามาทำธุรกิจนั้น ไม่มีไทย มีเพียงสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่ติดอันดับ 2 และ 12 ตามลำดับ ส่วนไทยติดอันดับที่ 21 ความหวังที่จะให้มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงเป็นสิ่งที่ออกจะเพ้อฝัน

จะเห็นได้จากจากรณีของ “นายเศรษฐา ทวีสิน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ ว่า “เมื่อวานได้คุยกับเพื่อนที่อยู่อเมริกาและเป็นหุ้นส่วนบริษัท Peloton เป็นสตาร์ตอัพด้านการออกกำลังกายที่มีชื่อเสียงในสหรัฐฯ ปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ราว 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ฐานผลิตที่ไต้หวันทำไม่ทัน ผมพยายามโน้มน้าวให้มาตั้งโรงผลิตที่เมืองไทย แต่เขาปฏิเสธครับ บอกไต้หวันดีกว่าเยอะ ทั้งกฎหมาย วินัยการทำงาน โครงสร้างการทำธุรกิจฟังแล้วเศร้า”

นี่คือ ปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ยังไม่รวมปัจจัยเสี่ยงด้านการเมือง ทั้งวิกฤติการเมืองในสภาฯ และการประท้วงนอกสภาฯ วิกฤติจากประสิทธิภาพของระบบราชการ รวมถึงการทุจริตคอรัปชั่น และวิกฤติผู้นำ

ถ้าจะมีการประกาศล็อกดาวน์เที่ยวนี้ รัฐบาลจะต้องออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจรายย่อย และSMEs ในพื้นที่ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงทางเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน อาจจะใช้มาตรการพักชำระหนี้ 3-6 เดือน

โดยรัฐควรรับภาระดอกเบี้ยและช่วยจ่ายเงินเดือนคนงานบางส่วนแลกกับเงื่อนไข ผู้ประกอบการจะต้องไม่ไล่คนออก และจ่ายเงินชดเชยรายได้ สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ต้องกักตัว เป็นต้น

เหนือสิ่งอื่นใด รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่น โดยเร่งจัดซื้อวัคซีนให้เร็วที่สุด เพื่อใช้สำหรับแพทย์ พยาบาล บุคคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และคนทำงานบริการสาธารณะ ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และเกี่ยวพันกับผู้คนก่อน อย่างน้อย ๆ เพื่อให้ประชาชนอุ่นใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ