ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีที่แล้วที่กระแสอาหารเพื่อสุขภาพในไทยเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเพียงแต่ยังจำกัดอยู่ในวงเล็ก ๆ ของคนไม่กี่กลุ่มในสังคม ซึ่งส่วนใหญ่ คือ คนที่อยู่อาศัยในเขตเมือง
อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ศึกษาด้าน Food Science มาโดยตรง และสั่งสมประสบการณ์การบริหารในวงการต่าง ๆ มานานหลายสิบปี ได้เกิดประกายความคิดในการที่จะริเริ่มทำธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ที่เข้าถึงได้ง่ายและใคร ๆ ก็ทานได้ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการส่งเสริมกิจการธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตอาหารอย่างเกษตรกร บริษัทด้านการวิจัยพัฒนา และนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์
หลังผ่านการศึกษา ค้นคว้า ค้นหา และสำรวจตลาดมาสักระยะหนึ่ง ในที่สุดก็ได้ผลิตภัณฑ์ตัวแรกของบริษัท วีฟู้ดส์ ประเทศไทย นั่นคือ ข้าวโพดต้มสุกพร้อมรับประทาน เพราะมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ ที่ยืนยันว่า ข้าวโพดต้มสุกมีสารต้านมะเร็ง ซึ่งข้าวโพดที่บริษัทนำมาใช้ผ่านการคัดสรรสายพันธุ์มาอย่างดี คือ Golden Sweet Corn และปลูกโดยเกษตรกรที่เข้าร่วมเงื่อนไขของบริษัทเพื่อให้ได้วัตถุดิบคุณภาพที่ดีต่อผู้บริโภคในตลาดอย่างแท้จริง
จากข้าวโพดฝักต้มสุกพร้อมรับประทาน แตกไลน์สู่ข้าวโพดแกะเมล็ด ข้าวโพดถ้วยปรุงรส และน้ำนมข้าวโพด วางจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศ
วีฟู้ดส์กำลังขยับก้าวไปอีกขั้นสู่การเป็นบริษัทผลิตอาหารจากพืช ปราศจากเนื้อสัตว์ หรือ plant-based food ผ่านการจับมือเป็นพันธมิตรกับ More Food Inno Tech ผู้ผลิตแบรนด์ More Meat สตาร์ตอัพผู้คิดค้นพัฒนาเพาะสกัดโปรตีนจากเห็ดแครงของไทย เพื่อออกผลิตภัณฑ์ plant-based products เมดอินไทยแลนด์ ในราคาที่เข้าถึงได้ให้กับผู้บริโภคในเมืองไทย ที่ยังมีทางเลือกจำกัดอยู่แค่โปรตีนจากพืชที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งยังมีราคาแพง
“บริษัทตั้งใจใช้งานวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนาสินค้า บริการและบรรจุภัณฑ์ อยู่เสมอ” อภิรักษ์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารวีฟู้ดส์ เอ่ยถึงที่มาที่ไปของการต่อยอดผลิตภัณฑ์ของบริษัท ซึ่งแต่เดิมมีอยู่ 3 กลุ่มหลัก คือ ผลิตภัณฑ์ข้าวโพด เครื่องดื่ม และ อาหารสุขภาพพร้อมรับประทาน (Healthy Meal) อย่างชุดรวมนึ่ง คือ ข้าวโพด มันม่วง ฟักทอง ก่อนขยายเข้าสู่ plant-based food เมื่อช่วงปลายปี 2019 ที่ผลิตสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพที่เป็นโปรตีนพืชออกจำหน่ายผ่านช่อง V Farm Delivery แอปพลิเคชันส่งสินค้าถึงบ้านของบริษัท
การพบกับทีมผู้บริหารของ More Meat ที่มีเป้าหมายวิสัยทัศน์เหมือนกันคือ อยากผลิตอาหารคุณภาพดีราคาเอื้อมถึงให้กับคนไทย ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างธุรกิจที่ส่งเสริมทั้งระบบ value chain ที่เกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบต้องได้รับประโยชน์ด้วย โดยกรณีของวีฟู้ดส์ คือ ส่งเสริมเกษตรปลูกข้าวโพด ส่วน More Meat ส่งเสริมเกษตรกรชุมชนเพาะเห็ดแครง แหล่งโปรตีนหลักที่นำมาสกัดทำ Plant-based food
อภิรักษ์ ระบุว่า วีฟู้ดส์ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทรานส์ฟอร์มบริษัทจากที่ขายข้าวโพดพร้อมทานเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้า plant-based Food เป็นหลัก ภายใต้แบรนด์ V Farm (วีฟาร์ม)
Plant-based food โจทย์รักษ์สุขภาพและสิ่งแวดล้อม
Plant-based food อาจจะเป็นคำศัพท์ใหม่ที่เริ่มคุ้นหูใครหลาย ๆ คนบ้างแล้วในเวลานี้ แต่เมื่อย้อนกลับไปในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้า ถือเป็นศัพท์ใหม่ในฐานะ Global Mega Trend ที่เรียกความสนใจจากคนไทยได้ไม่น้อย อีกทั้งยังเป็นกระแสที่เปิดรับได้ไม่ยากเมื่อสังคมไทยคุ้นเคยกับเทศกาลกินผักในช่วงเดือนตุลาคมอย่างเทศกาลกินเจ
แต่ทว่า อาหารเจไม่ได้หมายถึงอาหารสุขภาพเสมอไป บวกกับมีเงื่อนไขด้านศาสนาและความเชื่อ ทำให้การทานเจสำหรับคนส่วนใหญ่ไม่สามารถปฎิบัติได้ตลอดทั้งปี
กระนั้น ความสนใจของคนในการมองหาอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพยังคงมีอยู่ไม่หายไป ยิ่งเมื่อเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้คนมองหาอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ อภิรักษ์ เล่าว่า สิ่งที่มองเห็นก็คือการเกิดกลุ่มเล็ก ๆ อย่าง วีแกน หรือ Flexitarian ที่มีการพูดถึง Plant-based food ว่าเป็นโปรตีนทดแทนจากพืช ซึ่ง Flexitarian คือ เป้าหมายหลักของวีฟู้ดส์ในปัจจุบัน เป็นกลุ่มที่เน้นทานผักเป็นหลัก แต่ยังทานเนื้อสัตว์อยู่บ้างแต่กินอาหารสุขภาพจากผักผลไม้ในสัดส่วนที่มากกว่าเนื้อสัตว์

ทั้งนี้ กล่าวได้ว่า Plant-based food เป็นกระแสที่คนพูดถึง เพราะ 1) ตอบโจทย์ความต้องการใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกายของตนเอง 2) ผลิตภัณฑ์ Plant-based products เริ่มมีความหลากหลายหาซื้อได้ง่ายขึ้น ร้านอาหารชั้นนำนำไปบรรจุลงไปในเมนูเพื่อเป็นทางเลือกให้คนได้ลิ้มลอง 3) สภาพสังคมที่มีโรคอุบัติใหม่ในหมู่สัตว์เลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร เช่น ไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู และ 4) ความเอาใจใส่รักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน
“โดยส่วนตัวผมมองว่า เทรนด์รักสุขภาพ จะครอบคลุมถึงการลดปริมาณการบริโภคเนื้อ โดยเฉพาะเนื้อแดง แล้วก็ไปทานปลา หรือทานไก่แทน และการรักสุขภาพทำให้คนมองหาโปรตีนทางเลือก เป็นทางเลือกของโปรตีนที่ไม่ได้มาจากเนื้อสัตว์ แต่มาจากพืช”
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือสิ่งที่มองว่า เทรนด์ Plant-based food จะยังคงอยู่คู่กับสังคมไทยไปได้อีกนาน แม้จะยังเล็กแต่ก็มีกำลังซื้อ มีศักยภาพในการเติบโตได้ดี ยังไม่นับรวมถึงกระแสตอบรับในตลาดที่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตมีการแบ่งพื้นที่แสดงผลิตภัณฑ์ที่เป็น Plant-based products ให้เลือกซื้อโดยเฉพาะ และกลุ่มลูกค้าที่ได้มีโอกาสลองรับประทาน plant-based product จากการที่บริษัทร่วมมือกับร้านอาหารในการใช้ผลิตภัณฑ์ More Meat ไปปรุงเป็นอาหารเสิร์ฟขายในร้าน เช่น ร้านต้นกล้า ฟ้าใส หรือ ร้าน Veganary
“เมื่อได้ลองทานแล้วอร่อย คนก็ไปหาซื้อมาทานกันที่บ้าน”
โดดเด่นในรายละเอียดใส่ใจในความต่าง
การมีคู่แข่งอยู่ในตลาด ทำให้ VFarm จำเป็นต้องมองหาจุดเด่นของตนเอง ซึ่งจุดเด่นของบริษัทมาจากการให้ความสำคัญกับรายละเอียด เช่น การลดปริมาณโซเดียม น้ำตาล และเพิ่มสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ทำให้มีอาหารplant-based food ที่เป็นทั้ง ready to eat กับ ready to cook
ยิ่งไปกว่านั้น ความใส่ใจของ V Farm ยังลงลึกไปถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่เน้นเป็นวัตถุดิบที่ผลิตได้ภายในประเทศ เพื่อสนับสนุนชุมชนผู้ผลิต โดยที่ V Farm ดำเนินการทำ contract farming กับเกษตรกร เข้าไปให้ความรู้ นำเทคโนโลยีไปต่อยอดแนะนำในการผลิตเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่รู้แหล่งที่มาและมีคุณภาพ
ทั้งนี้ ประเภทสินค้า Plant-based food มี 3 กลุ่มหลักคือ 1)โปรตีนจากพืช 2)เครื่องดื่มจากพืช อย่างนมอัลมอนด์ หรือนมถั่วพิตาชิโอ้ และ3)อาหารพร้อมปรุงและอาหารพร้อมรับประทานจาก Plant-based products ซึ่งสินค้าในกลุ่มหลังสุดก็คือสินค้าที่ทาง V Farm กำลังเดินหน้าผลักดันอยู่ในขณะนี้
เทคโนโลยีเพิ่มทางเลือกมูลค่าและคุณค่า
โปรตีนจากพืช ถือเป็นเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ที่ทางสตาร์ตอัพด้าน Food Tech อย่าง More Meat ใช้เวลาพัฒนา ภายใต้ความร่วมมือกับวีฟู้ดส์ นานร่วมปี เป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแปรรูปวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งในที่นี้ก็คือ โปรตีนจากพืช ทำให้ผู้บริโภคมีอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพในตลาด ราคาไม่แพง
ยิ่งไปกว่านั้น การนำเทคโนโลยีมาใช้กับวงการอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรเป็นสิ่งที่มีมาอย่างยาวนานหลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อเก็บข้อมูลสภาพดินฟ้าอากาศ คัดกรองสายพันธุ์พืช เพิ่มผลผลิต และแปรรูปวัตถุดิบ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์

“ผมถือว่าการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาจะช่วยทำให้สินค้าอาหาร เครื่องดื่ม มีมูลค่ามากขึ้น แล้วก็ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย” ก่อนยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ Plant-based food ที่มีการออกวางจำหน่ายตามท้องตลาดแล้ว อย่าง Plant-based meat ball หรือ Plant-based ready meal อย่างลาบก้อนทอด ซึ่งสินค้าแทบทั้งหมดได้รับการตอบรับอย่างดี
ทั้งนี้ ในส่วนของ V Farm นอกจากใช้นวัตกรรมในการแปรรูปวัตถุดิบให้ได้โปรตีนจากพืชแล้ว ยังใช้เทคโนโลยีในการช่วยผลิตวัตถุดิบ โดยทางบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการทำฟาร์มต้นแบบ V Farm Agro Lab ซึ่งเป็นฟาร์มนำร่องที่สร้างขึ้นเพื่อริเริ่มทดลองปลูกสายพันธุ์ข้าวโพดและวัตถุดิบทางการเกษตรต่าง ๆ ส่วน More Meat ก็เข้าไปร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรกรชุมชนที่จังหวัดสงขลา ส่งเสริมการเพาะปลูกเห็ดแครง คอยช่วยเหลือดูแลในเรื่องดีมานต์ของวัตถุดิบ
การเข้าไปช่วยเหลือดูแลในด้านการผลิตถึงแหล่งเพาะปลูกวัตถุดิบ คือการประกันปริมาณวัตถุดิบที่ทางบริษัทจะได้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง หลังประสบปัญหาวัตถุดิขาดแคลนหลายครั้ง อีกทั้งบริษัทยังมีแผนที่จะดำเนินการทำ micro factory โรงงานผลิตขนาดเล็กใกล้ ๆ แหล่งวัตถุดิบเพื่อลดต้นทุนการเดินทาง
เป้าหมายก้าวต่อไปคือ Thai Global Brand
การทำงานในแวดวงที่แตกต่างหลากหลายในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าเป็นวงการอาหารฟาสต์ฟู้ด ขนมขบเคี้ยว ธุรกิจบันเทิง เทคโนโลยีสารสนเทศ ไปจนถึงการรับบทบาทตำแหน่งทางการเมืองอย่างผู้ว่ากรุงเทพมหานคร นอกจากความรู้ที่ได้สั่งสมมากขึ้นและมุมมองการทำงานที่ลุ่มลึกมากขึ้นแล้ว ประสบการณ์ทำงานทั้งหมดได้สะท้อนตัวตนของคุณอภิรักษ์ ในแง่ที่เจ้าตัวกล่าวว่า สามารถนิยมออกได้ 3 ด้านหลักคือ New way, New Trend และ New generation
โดย New Way ก็คือ ความชอบความสนใจที่จะสำรวจแสวงหาในสิ่งใหม่ ๆ New Trend ก็คือสิ่งใหม่ที่พบเจอนั้นคือกระแสหรือแนวโน้มของกระแสที่ผู้คนในสังคมจะให้ความสนใจ เป็นส่งที่รวมสมัยในยุคนั้น ๆ และสุดท้าย คือ New Generation ก็คือสิ่งใหม่และกระแสใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเพื่อตอบรับกับคนรุ่นใหม่
เมื่อพิจารณาจากปัจจัยทั้ง 3 ประการข้างต้น ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ อภิรักษ์ จะหันมาสนใจการทำธุรกิจอาหารอย่าง Plan-based food
สำหรับเป้าหมายของ V Farm ก็คือการก้าวจากการเป็นผู้เล่นภายในบ้าน ไปเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาคในปีนี้ ก่อนต่อยอดไปสู่การเป็น Thai Global Brand ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด
ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งพันธกิจสำคัญที่ อภิรักษ์ได้ให้คำมั่นกับตนเองตั้งแต่แรกเริ่มของการทำบริษัทวีฟู้ดส์ ก็คือ การสร้างธุรกิจที่จะทำให้เกิดผลกระทบทางบวกต่อสังคมในวงกว้าง เป็นมุมมองที่มากกว่าในเชิงธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงรายได้และผลกำไร
“ถ้าเป็นศัพท์รุ่นใหม่ก็คือเป็น Social Entrepreneur ผมเชื่อในการทำธุรกิจที่เกิดผลทางบวกต่อสังคมซึ่งผมคาดหวังให้ V Farm เป็นสินค้าลดปัญหาสุขภาพเสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแร่งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของทุกช่วงวัยเป็นแบรนด์ที่คนจะพูดถึงเมื่อนึกถึงสินค้าสุขภาพ ……เป็นทั้งพันธกิจหลักของบริษัทและพันธกิจส่วนตัวคือทำธุรกิจและบทบาทของตนเองให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือได้ social impact บางอย่าง”