TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเคลิ้มไปกับเฮมพ์ สร้างธุรกิจใหม่แสนล้าน

เคลิ้มไปกับเฮมพ์ สร้างธุรกิจใหม่แสนล้าน

ณ เวลานี้เทรนด์ธุรกิจใหม่ที่กำลังถูกจับตามองเป็นพิเศษ คงหนีไม่พ้น “เฮมพ์ หรือกัญชง” หลังราชกิจจานุเบกษา อนุญาตให้นำกัญชงใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2563 และมีผลตามประกาศคือวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งคนทั่วไป ต่างให้ความสนใจจนเป็นกระแสต่อเนื่อง

กัญชง เป็นพืชที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้ง ลำต้น แกน ใบ เมล็ด ดอก และเป็นพืชที่มีบทบาทต่อการดำรงชีวิต และวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง โดยเชื่อว่าเป็นพืชที่เย่อโซ๊ะ (เทพเจ้า) ประทานให้มนุษย์ ชาวม้งจึงลอกเส้นใยจากเปลือกกัญชง มาทำเป็นสายสิญจน์ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีอัวเน้งหรือพิธีเข้าทรง นำมาผูกข้อมือให้กับเด็กที่เกิดใหม่ นอกจากนั้นยังเอาเส้นใยมาทอเป็นเสื้อผ้าใส่ในงานมงคลและวันปีใหม่ รวมทั้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย รองเท้าของชาวม้งที่เสียชีวิตด้วย

ในขณะที่คนญี่ปุ่น เชื่อว่าเส้นใยกัญชงเป็นเส้นใยมงคล มีความทนทานเป็น 100 ปี จึงนิยมนำมาตัดชุดกิโมโน และกระดาษญี่ปุ่น ที่เรียกว่า วาชิ (和紙)  ซึ่งผลิตจากพืช 4 ชนิดเท่านั้น 1 ในนั้น คือ อะสะ หรือกัญชง ซึ่งให้กระดาษลักษณะหนา มีน้ำหนัก เห็นได้จากบันทึกในสมัยนาราในช่วงปี ค.ศ. 700 ที่ปัจจุบันยังอยู่ในสภาพที่ดี แม้จะผ่านมา 1,320 ปีก็ตาม 

สำหรับประเทศไทย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาปลูกเฮมพ์ เพื่อสร้างรายได้จากงานหัตถกรรม โดยมีเฮมพ์ที่ขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์ จำนวน 4 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์วี 50 พันธุ์ปางอุ๋ง พันธุ์แม่สาใหม่ และพันธุ์ห้วยหอย เท่ากับว่า ความจริงประเทศไทยมีการปลูกกัญชงมานานแต่ ในพื้นที่จำกัด 

เมื่อมีการปลดล็อกกัญชง ทำให้หลายฝ่ายพยายามสนับสนุน เพราะมองว่ามีโอกาสทางธุรกิจอีกจำนวนมากที่สามารถสร้างเศรษฐกิจของประเทศหลังจากซบเซาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย พรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชงอย่างเป็นระบบ เผยตัวเลขมูลค่ากัญชงในตลาดโลก เมื่อปี พ.ศ. 2561 มีมูลค่าสูงถึง 120,000 ล้านบาท โดยมูลค่าสูงที่สุดในจีน 33% ในสหรัฐอเมริกา 28% และยังพบว่า ในปี 2563 มีเงินหมุนเวียนจากกัญชง ในสหรัฐอเมริกาถึง 55,000 ล้านบาท โดยมีมูลค่า CBD บริสุทธิ์สูงถึง  145,000 บาทต่อกิโลกรัม

ด้าน สุชาติ ไตรแสงรุจิระ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่า ในปี 2562 กัญชงมีมูลค่าการตลาดอยู่ที่ 4.6 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือ ราว 124.6 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2568 มูลค่าการตลาดจะโตถึง 26.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ราว 824.6 ล้านบาท ถือเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นกว่า 34%  จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยในการเข้าถึงส่วนแบ่งทางการตลาดนี้ 

การปลดล็อก กัญชงในครั้งนี้ตามมาด้วยกระแสข่าว ผู้ประกอบการภาคเอชนก็ตบเท้าเข้าร่วมในตลาดนี้เช่นกัน

จุลภาส (ทอม) เครือโสภณ ผู้ก่อตั้งบริษัท (Founder) บริษัท GTH “Golden triangle health” จำกัด เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับพันธมิตรผลิตมาจากกลิ่นกัญชงและสารสกัดกัญชง Smooth E , Dentiste , Pepermint field , Divana โดยคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค สามารถครองตลาดในไทยได้และปีแรกตั้งเป้าหมายของรายได้ไว้ที่ 500 ล้านบาท นอกจากนี้ทางองค์การอาหารและยา (อย.) ยังให้เอกชนที่สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อขอปลูกกัญชงในพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อธุรกิจได้ ส่วนประเภทเครื่องดื่มและอาหารอาหารเสริม เครื่องสำอาง ฯลฯ จะมีการทยอยออกกฎหมายมารองรับภายใน 4 เดือน ซึ่งจะอยู่ในช่วงพฤษภาคม พ.ศ.2564

ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิปโก้ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทิปโก้ได้ร่วมมือพัฒนาสายพันธุ์ที่มีคุณภาพร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ตั้งแต่ปี 2562 ต่อยอดเมนูอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาและกัญชงให้ผู้บริโภคได้สัมผัสประสบการณ์ รสชาติ และประโยชน์ต่อสุขภาพ

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)บริษัท ไลฟ์สตาร์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของอาร์เอส กรุ๊ป มีความสนใจและมีการศึกษาเรื่องของงานวิจัยมาอยู่ตลอด ผลิตภัณฑ์สุขภาพเช่น ช่อดอกนำไปผลิตยา สารสกัดจากกัญชง ใบนำไปผลิตอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง น้ำมันจากเมล็ดกัญชงนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง สารสกัดจาก กัญชงนำไปผลิตเป็นเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพ

ด้าน รังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เปิดเผยถึง ปลายไตรมาส 2 หรือต้นไตรมาส 3 ปี 2564  โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะถูกนำไปวางจำหน่ายในร้านค้าในเครือของบริษัท ทั้งร้านค้าปลีก ร้านอาหาร และร้านเครื่องดื่ม เช่น MAX Mart , ร้านกาแฟพันธุ์ไทย ร้านคอฟฟี่เวิลด์ เป็นต้น ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ

ผู้ประกอบอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม หลายรายให้ความสนใจ นำ cannabidiol เป็นสารสกัดจากกัญชง มาผสมในเครื่องดื่ม ทั้งบริษัท โอสถสภา จำกัด(มหาชน) บริษัท ที เอ ซี คอนซูเมอร์ จำกัด(มหาชน) บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด(มหาชน) ต่างพากันยอมรับว่า อยู่ในระหว่างการศึกษา ค้นคว้า เพื่ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ 

แต่เสือปืนไวอย่าง อิชิตัน กรุ๊ป เตรียมวางจำหน่ายสินค้าใหม่ “อิชิตัน กรีน แลป” เครื่องดื่มเทอร์พีน สารสกัดธรรมชาติที่มีกลิ่นชนิดเดียวกับ CBD ในกัญชง เทอร์พีนทำหน้าที่ช่วยรีแลกซ์และบรรเทาอาการนอนไม่หลับ โดยจะวางจำหน่ายในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ และได้ศึกษาเฮมพ์เพิ่มเติมไม่จำกัดแค่เพียงเครื่องดื่มเท่านั้น แต่เป็นสินค้าด้านสมุนไพรเพื่อสุขภาพ หรือเครื่องสำอาง 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายธุรกิจที่ให้ความสนใจกับ การนำเส้นใยกัญชงมาผลิตสิ่งทอ เสื้อเกราะกันกระสุน อิฐมวลเบากันความร้อน กันเสียง ทนไฟ ตัวถังรถจาก Fiber Glass เส้นใยกัญชงทดแทนเหล็ก และอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นแสนล้าน

ในขณะที่กัญชงมีความต้องการในส่วนธุรกิจปลายน้ำจำนวนสูงมาก ในส่วนของธุรกิจต้นน้ำ (ผู้ปลูก) นั้น มีเกษตรกร ยื่นคำขออนุญาตปลูกกัญชง ต่อ คณะกรรมการอาหารและยา จำนวนมากทั่วประเทศ โดยต้องแนบเอกสารแสดงสิทธิ์การครอบครองหรือใช้ประโยชน์ที่ดินที่ใช้ประกอบการยื่นคำขอด้วย ซึ่ง อย. จะใช้ระยะเวลาในการพิจารณา ประมาณไม่เกิน 135 วัน ในกรณีขอปลูกกัญชง และ ใช้เวลาไม่เกิน 75 วันสำหรับผู้มราตองการนำเข้า เมล็ดพันธุ์กัญชง และ อย. จะช่วยประสานกับผู้รับซื้อ เช่น โรงสกัด โรงงานแปรรูป ให้ด้วย

กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าในปี 2563 มีจำนวนผู้ประกอบการเข้ามายื่นคำขอ 21 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 56 ล้านบาท ล่าสุดเดือนมกราคม 2564 มีผู้ประกอบการเข้ามายื่นขอ 3 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาทการปลูกพืชชนิดนี้จะใช้ในการผลิตน้ำหอม ใช้ในทางเภสัชภัณฑ์ หรือใช้ในการป้องกันแมลงและกำจัดเชื้อรา หรือวัตถุประสงค์ที่คล้ายกัน และสมุนไพร

วันนี้ต้องบอกว่า กัญชง-กัญชา ที่เคยถูกจัดเป็นยาเสพติดประเภท 5 กำลังจะเปลี่ยนเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ที่รัฐบาลพยายามผลักดันเป็นนโยบายเร่งด่วน เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อยอดทางธุรกิจได้มากมาย เรามาจับตาดู เฮมพ์อีโคโนมี พืชเศรษฐกิจแสนล้านของไทย ว่าจะไปได้ไกลเหมือนที่รัฐบาลวาดฝันอยากให้ ไทย เป็นฮับกัญชงของอาเซียนไหม

ภาพประกอบจาก th.wikipedia.org

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ