TH | EN
TH | EN
spot_imgspot_imgspot_img
หน้าแรกColumnistขาดสภาพคล่อง !!

ขาดสภาพคล่อง !!

ณ เวลานี้ ความเหือดแห้งของจำนวนเงินในกระเป๋าของคนไทยเริ่มส่งผลกระทบ จากจังหวะของเสียงร้องที่ไม่รุนแรง กลับทวีความรุนแรง และร้อนแรงจนไม่อยากคิดถึงจุดจบของเรื่อง “หนี้ของคนไทย”

ตอนนี้คนไทยเราขาด “สภาพคล่องอย่างหนัก”

ไม่ต้องดูอื่นไกลมีรายงานออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าสิ้นสุดไตรมาส 1/2567 ก็เหมือนกับคนไทยพาลจะสิ้นใจไปตาม ๆ กันเมื่อ เครดิตบูโรเปิดเผยหนี้ครัวเรือนไทยปัจจุบันอยู่ที่ 91.3% (มาตรฐานสากลกำหนดไว้ที่ 80%) โดยตัวเลขหนี้NPLsคนไทยวันนี้แตะอยู่ที่ 1.09 ล้านล้านบาท แยกเป็นตัวเลขสำคัญ ๆ ได้แก่

  • หนี้รถยนต์ประมาณ 2.38 แสนล้านบาท
  • หนี้บ้านประมาณ 2 แสนล้านบาท (ไม่รวมหนี้จับตาเป็นพิเศษเป็นหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วันที่เรียกว่า Special Mention Loan : SM 640,000 ล้านบาท)
  • หนี้บัตรเครดิตประมาณ 6.3 หมื่นล้านาท (หนี้บัตรที่ดำเนินคดีอีกประมาณ 1 ล้านสัญญา)

สะท้อนความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ ที่พร้อมจะล้มละลายในทุกขณะ โดยในไตรมาสแรกนี้ มีคดีความที่เกี่ยวข้องกับหนี้เสียถูกฟ้องร้องถึง 650,000 คดี โดยเป็นคดีแพ่งถึง 450,000 คดี บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเป็นประเภทหนี้ที่ถูกฟ้องร้องสูงสุด

มีการเปิดเผยถึงหนี้กยศ. หรือหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ เนื่องจากเกิดการผิดนัดชำระหนี้กว่า 97,110 ล้านบาท ทั้งที่มีการปรับเกณฑ์ ลดเบี้ยปรับไปก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อกระตุ้นให้มีการเร่งชำระหนี้ แต่ก็ยังมีการเบี้ยวชำระ ขณะที่ทางกองทุนฯของบสนับสนุนจากรัฐบาลในปีงบประมาณ2567 จำนวน 5,000 ล้านบาท ไม่ได้รับการอนุมัติ ขณะที่ในปีงบ 2568 ได้ขอไป 19,000 ล้านบาท แต่มีแนวโน้มว่าจะได้รับการจัดสรรประมาณพันล้านเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีตัวเลขที่น่าสนใจได้แก่หนี้ที่ปล่อยกู้โดยสหกรณ์ทรัพย์ให้กับสมาชิกโตถึง 2.3 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นการให้กู้กับกลุ่มอาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่ 8 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่รู้ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร

การที่เราไม่สามารถผ่อนชำระ จนสะสมเป็นหนี้ได้นั้น เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนไทยเราไม่สามารถวางแผนการเงินได้เลย

อาการหนี้เรื้อรังของคนไทย ที่ยังไม่นับรวมหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมนอกระบบ ซึ่งนับไม่ได้ชัด ๆ แม้ว่ารัฐบาลพยายามเอาหนี้นอกระบบขึ้นมาวางบนโต๊ะ ด้วยการเรียกมานั่งคุยกันเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา ว่ากันว่าจำนวนของคนที่มาลงทะเบียนทั้งฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ยังมีจำนวนไม่มากนัก

สาเหตุของการเป็นหนี้ อาจจะมีสาเหตุได้หลายทาง แต่โดยรวมคิดว่าน่าจะมาจากอาการ”หน้ามืด” ไม่ว่าหน้ามืดเพราะการขาดสภาพคล่อง เนื่องจากมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ รวม ๆ ก็คือมีรายรับน้อยลง หรือมือเติบ ที่มีพฤติกรรมใช้เงินตามใจตัวเอง จนเอาเงินอนาคตมาใช้ก่อน เพราะคิดว่าจำนวนไม่มาก และสามารถหาคืนได้ (อันนี้น่ากลัว! เพราะไม่รู้ตัว)

พฤติกรรมมือเติบของคนไทยวันนี้ มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย เหมือนดั่งที่คุณสุรพล โอภาสเสถียรแห่งเครดิตบูโร พูดเปรียบเปรยไว้ว่า “มีรายได้ 2-30,000 – แต่ซื้อมือถือเครื่องละ 40,000- เดินตามท้องถนนมีป้ายบอกให้เก็บตังค์ออมไว้ไหม “ไม่เลย” มีแต่ป้ายบอก “ใช้สิ ใช้สิ!!”

อาการหน้ามืด ได้สร้างรูปแบบการกระตุ้นอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริการ BNPL  ซื้อก่อนจ่ายทีหลังโดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต ไปจนถึงการให้บริการจำนำ i-CLOUD โดยที่ยังสามารถใช้รถใช้มอเตอร์ไซด์ ได้เหมือนกับการจำนำรถ เหล่านี้ล้วนเป็นการกระตุ้นให้ใช้เงินได้มากขึ้น และผลที่ตามมาคือหนี้สินที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อมองมายังรัฐบาล ผู้บริหารประเทศ ก็อยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างกันมากนัก คือขาดสภาพคล่องที่หนักหน่วงจนต้องพยายามหาแหล่งเงินกู้ หาวิธีการกู้ เพื่อเอามา”แจก” โดยเชื่อว่าการแจกเป็นการกระตุ้นสร้างความเคลื่อนไหว ให้เกิดการหมุนเวียน จะได้มีเงินมาใช้หนี้ได้ แต่จนวันนี้แล้ว 8-9 เดือน รัฐบาลก็ยังมืดมนคลำหาทางเอาหยิบยืมเงินก้อนมหาศาลออกมาใช้ได้เลย

วันนี้คงได้แต่รอชะตากรรมว่าผลจากการสร้างหนี้ ส่งผลบั้นปลายต่อประเทศและตัวบุคคลในวันพรุ่งนี้อย่างไร พูดได้ว่าแล้วแต่บุญแต่กรรมของแต่ละคน “ตัวใครตัวมัน” แล้วล่ะญาติโยม

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

“อาการหน้ามืด”

ไม่หยุดหนี้ ไม่สร้างชีวิตใหม่

หาเป็น สู้ใช้เป็นไม่ได้!!

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ