TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewคิม - กวิน นิทัศนจารุกุล ฝันสร้าง สังคมสุขภาพดี ด้วยบริการ ร้านสะดวกซัก Otteri Wash & Dry

คิม – กวิน นิทัศนจารุกุล ฝันสร้าง สังคมสุขภาพดี ด้วยบริการ ร้านสะดวกซัก Otteri Wash & Dry

ช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา ร้านสะดวกซัก หรือ Laundromat เป็นธุรกิจที่เติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจ แม้ประเทศไทยจะเผชิญวิกฤติโควิด-19 ระบาดต่อเนื่องมากว่าสองปี บริการนี้ก็ยังคงขยายจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีทีท่าจะสะดุดลง การที่ บมจ.ปตท. น้ำมันและค้าปลีก หรือ โออาร์ (OR) ตัดสินใจซื้อหุ้น 40 เปอร์เซ็นต์ ของ บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เจ้าของแบรนด์ร้านสะดวกซัก “อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย” (Otteri Wash & Dry) เพื่อเป็นจิ๊กซอว์หนึ่งในการเสริมศักยภาพธุรกิจของตน ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าบริการร้านสะดวกซักเป็นตลาด blue ocean ที่ยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก การลงทุนนี้ไม่เพียงเป็นแรงหนุนในแผนขยายสาขาของ Otteri เท่านั้น หากยังช่วยส่งเสริมให้บริการซักอบผ้ายุคใหม่เป็นส่วนหนึ่งของ “การสร้างสรรค์สังคมที่มีสุขภาพดี“ ตามความฝันของเจ้าของธุรกิจนี้ด้วย

บริการซักผ้าหยอดเหรียญแนวคิดใหม่

“คิม” กวิน นิทัศนจารุกุล ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวกับ The Story Thailand ว่า เขาเริ่มเปิดสาขาต้นแบบ Otteri Wash & Dry เมื่อปี พ.ศ.2561 ธุรกิจประสบความสำเร็จด้วยดีมีการเติบโตรวดเร็วจนปัจจุบันมีร้านสะดวกซักภายใต้แบรนด์ Otteri ทั้งที่ลงทุนเองและร้านแฟรนไชส์รวมไม่น้อยกว่า 700 แห่ง โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2565 ตั้งเป้าหมายจะขยายเพิ่มขึ้น 380 แห่ง ตามวิสัยทัศน์ Creating Healthy Lifestyle Community ด้วยแนวคิดที่ว่า “การเข้าถึงบริการซักอบรีดในราคาประหยัด ควรจะเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนในทุกชุมชน” 

“เราต้องการสร้างสรรค์สังคมที่มีสุขภาพดี โดยเริ่มต้นจากการสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด จึงมีความคิดว่าต้องทำให้การบริการสะดวกซักเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ” เจ้าของแบรนด์ร้านซักผ้าแบบหยอดเหรียญที่มีสาขามากที่สุดในเมืองไทยบอกว่าจะทำความฝันนี้ให้เป็นความจริงได้ต้องขยายบริการร้าน Otteri ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ที่ผ่านมา เขามองเห็นว่าการซักผ้าเป็นปัญหาสำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ดังนั้น การเข้าถึงเสื้อผ้าสะอาดไม่ควรมีราคาแพง ร้านสะดวกซัก Otteri จึงกำหนดค่าบริการซักผ้าราคาต่ำสุดครั้งละ 40 บาท สามารถซักผ้าได้ประมาณ 30 ตัว และคิดค่าบริการอบผ้า 40 บาท

แม้ไม่ใช่ค่าบริการที่ถูกที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับบริการซักผ้าหยอดเหรียญแบบเดิม แต่บริการของ Otteri มีจุดขายชัดเจนตรงที่ใช้เวลาซักและอบผ้าเสร็จได้ภายในไม่เกิน 1 ชั่วโมง ตามคำโฆษณาที่ว่า “ผ้ากองโตแค่ไหน ก็ซักอบจบใน 1 ชั่วโมง” ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงใจ

และด้วยกลยุทธ์โปรซักหลังเที่ยงคืนลด 20 บาท ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนถึง 6 โมงเช้า กับโปรซักสุดคุ้มลด 20 บาททุกการซักของทุกวันพุธ “ทำให้เฉลี่ยค่าบริการตกชิ้นละ 2-3 บาทเท่านั้น” ลดลงจนลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

แต่จากประสบการณ์ที่ทำธุรกิจบริการซักผ้าแบบหยอดเหรียญมานานกว่า 5 ปี กวินสรุปว่า สิ่งสำคัญที่ลูกค้าต้องการ คือเรื่องเวลาที่ใช้ในการซักและเรื่องความสะดวก การเลือกใช้เครื่องซักผ้าอุตสาหกรรมที่ซักผ้าได้รวดเร็วเสร็จภายในครึ่งชั่วโมง พร้อมกับมีบริการเครื่องอบผ้าอุตสาหกรรมที่ช่วยให้ผ้าแห้งได้ภายในครึ่งชั่วโมง ลูกค้าไม่ต้องเสียเวลานำผ้ากลับไปตากอีก เป็นโซลูชันที่ตอบโจทย์นี้ได้ดีที่สุด

ร้านสะดวกซัก Otteri เปิดบริการ 24 ชั่วโมง ด้วยการบริการแบบ self-service ให้ลูกค้าทำทุกอย่างด้วยตัวเอง การออกแบบร้านเน้นความสะดวกในการซักด้วยเครื่องซักและเครื่องอบผ้าแบบอุตสาหกรรมจำนวนหลายเครื่อง หลายขนาดเพื่อรองรับความต้องการที่แตกต่างกันได้อย่างเพียงพอ พร้อมบริการเครื่องแลกเหรียญและเครื่องจำหน่ายน้ำยาซักผ้าแบบอัตโนมัติ ส่วนสถานที่ก็ออกแบบให้สะดวกสบายในการนั่งรอ มีบริการ Free WIFI และกล้องวงจรปิดเพื่อความปลอดภัย

“เรามีเครื่องซักผ้าที่มีความจุถังซักหลายขนาด เริ่มต้นจากเครื่องขนาด 10 กก. คิดค่าบริการซักน้ำธรรมดา 40 บาท น้ำอุ่น 50 บาท น้ำร้อน 60 บาท เครื่องขนาด 13-14 กก. ซักน้ำธรรมดา 50 บาท น้ำอุ่น 60 บาท น้ำร้อน 70 บาท และเครื่องขนาดใหญ่สุด 17-18 กก. ซักน้ำธรรมดา 60 บาท น้ำอุ่น 70 บาท น้ำร้อน 80 บาท ส่วนเครื่องอบผ้าขนาด 15 กก. ค่าบริการ 40 บาท”

เหนืออื่นใด คือการบริหารจัดการที่อาศัยเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาเสริมให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น ด้วยแอป Otteri ที่ลูกค้าสามารถตรวจสอบจุดบริการใกล้บ้านได้ว่าที่ไหนมีเครื่องซักว่างช่วงเวลาใด ลูกค้าสามารถจองเวลาซักผ่านทางแอปพลิเคชันได้ล่วงหน้า รวมทั้งชำระค่าบริการผ่านออนไลน์ได้ด้วย

“ความฉลาดของระบบอยู่ที่การออกแบบระบบหลังบ้าน ทันทีที่มีการใช้บริการเราจะรู้ว่าลูกค้านั้นเป็นใคร เพราะลูกค้าต้องมีการลงทะเบียนไว้ก่อน ระบบจะบันทึกการใช้บริการของลูกค้าทุกราย ข้อมูลจะถูกนำมาวิเคราะห์ทำให้รู้จักลูกค้าและพฤติกรรมการใช้บริการของลูกค้ามากขึ้น เช่น จากสถิติมีลูกค้าที่มาใช้บริการยอดเงินสูงสุดประมาณ 4 หมื่นบาทต่อเดือน ทำให้รู้ว่าไม่ใช่ลูกค้าที่มาซักเสื้อผ้าของตัวเอง แต่เป็นลูกค้าที่ให้บริการอื่น ๆ เช่น โรงแรม ร้านนวดหรือร้านสปา”

จุดบริการหลายแห่งจึงติดตั้งเครื่องซักผ้าใหญ่ขึ้นไปถึงขนาด 28 กก. และเครื่องอบผ้าขนาด 25 กก. สำหรับรองรับความต้องการการซักเครื่องนอน เช่น ผ้าห่ม หมอน หรือท็อปเปอร์ที่นอน ตามความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี

“อีกกลุ่มที่ชอบบริการของเรามากคือร้านบริการซักอบรีด ถ้าร้านเหล่านี้จะใช้เครื่องซักแบบอุตสาหกรรมต้องลงทุนค่อนข้างสูง อย่างการซักผ้านวม เราพบว่าเขามาซักด้วยเครื่องของเราแล้วไปคิดค่าบริการลูกค้าผืนละ 200-250 บาท แถมนัดเวลารับกับลูกค้าได้ง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลาตากผ้า เราจึงเป็นส่วนเสริมที่ดีของร้านซักอบรีดทั่วไป”

เริ่มธุรกิจจาก B2B ก่อนปรับเป็น B2C

บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เริ่มต้นจากทำธุรกิจนำเข้าเครื่องซักผ้าอุตสาหกรรมจากประเทศจีนมาขายแบบ B2B ให้โรงแรม โรงพยาบาล และโรงงานอุตสาหกรรม เป็นหลัก ตั้งแต่ปี 2555 ต่อมาเริ่มทำธุรกิจ B2C โดยเปิดร้านสะดวกซัก Otteri สาขาแรกปี 2560 ปีนั้นธุรกิจมียอดรายได้ทั้งหมดเพียง 33 ล้านบาท แต่หลังจากเปิดขายแฟรนไชส์ปี 2561 ยอดรายได้รวมเพิ่มขึ้นมาเป็น 180 ล้านบาท เป็นรายได้จากธุรกิจขายเครื่องซักผ้าร้อยละ 30 ธุรกิจแฟรนไชส์ร้อยละ 70

“เราเริ่มต้นธุรกิจจากการ OEM เครื่องซักผ้าจากประเทศจีนมากขายในแบรนด์ K-Nex แต่ตอนนั้นการเติบโตอย่างรวดเร็วของอินเทอร์เน็ตทำให้การเข้าถึง Alibaba เป็นเรื่องง่าย ลูกค้าสามารถสั่งซื้อตรงจากผู้ผลิตได้ เราคิดว่าถ้าไปเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจเราจะถูก disrupt อย่างแน่นอน จึงตัดสินใจเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจาก B2B มาทำ B2C”

เมื่อได้เห็นโมเดลธุรกิจร้านสะดวกซักจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ณ วันนั้น เขาเชื่อว่าต่อไปจะต้องเกิดขึ้นในเมืองไทยอย่างแน่นอน หากใครลงมือทำก่อนก็จะได้ส่วนแบ่งตลาดก่อน เขาจึงตัดสินใจทำทันทีเพื่อต้องการเป็น first mover

“พอลงมือทำก็เจ๊งเลย เพราะเริ่มต้นเราทำด้วย ego จากความเชื่อมั่นที่สามารถสร้างธุรกิจด้วยตัวคนเดียวเติบโตมาได้ระดับหลายสิบล้าน คิดว่าตัวเองเก่ง ดังนั้นร้านสะดวกซักไม่ยากหรอก ยังไงก็ทำได้อยู่แล้ว”

กวินเปิดสาขาแรกติดกับนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร เพราะอยู่ใกล้โกดังเครื่องซักผ้าของบริษัท และคิดว่ามีแต่คนที่มีรายได้น้อยเท่านั้นที่จะมาใช้บริการซักเสื้อผ้าแบบหยอดเหรียญ โดยไม่ได้ศึกษาวิจัยตลาด สุดท้ายพบว่าคนแถวนั้นส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ มีรายได้น้อยต้องประหยัดมากด้วยการซักมือ เปิดร้านได้ 3-4 เดือนก็รู้ว่าลงทุนผิดพลาด ต้องปิดกิจการไป

เขากลับมาศึกษาข้อมูลจากธุรกิจต่างประเทศและเข้าอบรมหลักสูตร B2B Franchise เพื่อเรียนรู้การต่อยอดธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำความรู้มาปรับโมเดลธุรกิจใหม่ 

เมื่อสรุปบทเรียนและศึกษาข้อมูล จนรู้ว่ากลุ่มคนที่ใช้บริการซักผ้าแบบหยอดเหรียญส่วนใหญ่เป็นประชากรแฝง ที่อาศัยอยู่ตามหอพักหรืออพาร์ตเมนต์ ซึ่งมีพื้นที่จำกัดไม่สามารถวางเครื่องซักผ้าได้ จึงย้ายร้านไปตั้งอยู่แถวมหาวิทยาลัยรามคำแหง ย่านที่มีทั้งพนักงานออฟฟิศ พนักงานห้าง นักศึกษา และประชากรแฝงอาศัยอยู่หนาแน่น

“pain point ของกลุ่มนี้อยู่ที่ต้องใช้เวลานาน 1 ชั่วโมงในการซักผ้า และการซักด้วยเครื่องฝาบนทำให้ซักไม่ค่อยสะอาด แล้วยังต้องแบกผ้าหมาดกลับไปตากบนห้องพักซึ่งมีพื้นที่เล็กทำให้ผ้าแห้งช้าด้วย เมื่อเราเสนอบริการซักผ้าและอบผ้าจบใน 1 ชั่วโมง ลูกค้าให้การต้อนรับดีมาก” 

กวินเผยให้เห็นปัญหาของกลุ่มลูกค้าที่เคยใช้บริการเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญรูปแบบเดิม ที่เป็นเครื่องซักฝาบนเหมือนที่ใช้ตามบ้าน เมื่อเขาเสนอการบริการด้วยเครื่องซักแบบอุตสาหกรรม ปรากฏว่าสาขาใหม่ใช้เวลาดำเนินการเพียง 3 เดือน ก็รู้ผลว่าเดินมาถูกทาง ที่นี่จึงกลายเป็นสาขาต้นแบบร้าน Otteri Wash & Dry หลังจากนั้นเขาขยายร้านออกไปอย่างรวดเร็ว ภายในปีเดียวมีจำนวน 20 แห่ง เป็นร้านสาขา 2 แห่ง และร้านแฟรนไชส์ 18 แห่ง

การเริ่มต้นธุรกิจจากเงินทุนจำนวนไม่มากนักทำให้การขยายกิจการเน้นไปที่การขายสิทธิ์แฟรนไชส์เป็นสำคัญ จากนั้นจึงนำรายได้มาลงทุนเปิดร้านสาขาของตนเอง โดยมีร้านแฟรนไชส์ให้เลือกลงทุน 2 ขนาด ได้แก่คือ ไซส์ M ขนาดพื้นที่ 40 – 50 ตร.ม. มีเครื่องซักผ้า 5 เครื่อง และเครื่องอบ 4 เครื่อง ลงทุน 2.3 ล้านบาท และ ไซส์ L ขนาดพื้นที่ 60 – 90 ตร.ม. เครื่องซักผ้า 7 เครื่อง และเครื่องอบ 6 เครื่อง ลงทุน 2.9 ล้านบาท วางเป้าหมายที่การขยายแฟรนไชส์เป็นหลักร้อยละ 95 ที่เหลือเปิดสาขาของตัวเอง ดังนั้นในปลายปี 2561 จึงจดทะเบียนบริษัท อ๊อตเทริ วอชแอนด์ ดราย จำกัด เพื่อเน้นการดำเนินธุรกิจร้านสะดวกโดยเฉพาะ

ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนส่งตลาดเติบโต

กวินบอกว่าเขาใช้เวลาเพียง 2 ปี ก็สามารถเปลี่ยนธุรกิจใหม่เป็นธุรกิจหลักของบริษัทได้ด้วยจำนวนร้านสะดวกซักมากกว่า 200 แห่ง เข้าปีที่ 3 เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 400 แห่ง โดยปัจจุบันทั่วประเทศมีร้านบริการสะดวกซัก Otteri ทั้งหมดกว่า 700 แห่ง

สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นศักยภาพของตลาดร้านสะดวกซักก็คือแม้จะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2563 และต่อเนื่องมากว่าสองปี ธุรกิจร้านสะดวกซักยังคงมีการเติบโตได้ดีสวนกระแสธุรกิจอื่น ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจนี้ไม่ได้ถูกสั่งปิดบริการเหมือนธุรกิจหลายประเภท แต่ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนผลักดันธุรกิจร้านสะดวกซักมาจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปเป็นสำคัญ ประกอบกับเทคโนโลยี และโมเดลธุรกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ทำให้ตลาดมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก

ซึ่งผู้บริหารหนุ่มชี้ชัดว่า ตลาดที่กำลังเติบโตมาจากความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้าน ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมเมืองมากขึ้น แต่ละครอบครัวมีขนาดเล็กลง ส่วนใหญ่มีเพียงพ่อแม่กับลูกรวมกัน 3-4 คน พ่อกับแม่ต้องทำงานทั้งคู่ ดังนั้น เสื้อผ้าจะเก็บกองไว้ซักในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทำให้วันหยุดกลายเป็นวันที่ต้องทำงานบ้านสารพัดรวมทั้งการซักผ้าด้วย

“ในหนึ่งสัปดาห์คนทั้งครอบครัวมีกองเสื้อผ้ารวมกันราว 40 กก.ที่จะต้องซักหลายรอบ เพราะต้องมีการแยกผ้าซักหลายแบบ เช่น แยกผ้าสี แยกชุดระหว่างของพ่อแม่กับของลูก บางบ้านมีแยกซักชุดชั้นใน กลายเป็นภาระงานที่ต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันในการซักและตากผ้าจนแห้ง แทนที่จะได้พักผ่อนกลับต้องมาทำงานบ้านจนไม่มีเวลาทำกิจกรรมอะไร“

ดังนั้น เมื่อมีบริการร้านสะดวกซักที่ตอบโจทย์ความต้องการที่เป็น pain point ของกลุ่มครอบครัว พวกเขาจึงเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 กลุ่มคนที่ใช้บริการซักผ้าแบบหยอดเหรียญส่วนใหญ่เป็นประชากรแฝง มีทั้งนักศึกษา คนทำงานออฟฟิศ ที่อาศัยอยู่ตามหอพักหรืออพาร์ตเมนต์ ซึ่งมีพื้นที่จำกัดไม่สามารถวางเครื่องซักผ้าได้ แต่หลังโควิด-19 ผู้ประกอบการหันมาจับตลาดกลุ่มที่เป็นหมู่บ้านซึ่งเป็นกลุ่มผู้พักถาวรมากขึ้น 

“เมื่อมาใช้บริการของเรา เขาเสียเวลารอแค่ชั่วโมงเดียวได้ทั้งซักและอบผ้าจนแห้ง จะแยกซักยังไงก็ได้เพราะมีเครื่องทั้งซักและอบผ้าอยู่หลายเครื่อง แถมเปิดบริการ 24 ชั่วโมง ลูกค้าจะมาซักเวลาไหนก็ได้ที่สะดวก”

บริการร้านสะดวกซักจึงช่วยทำให้วันหยุดสุดสัปดาห์เป็นวันหยุดจริง ๆ ช่วยทำให้ลูกค้ามีเวลาไปทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือไปเที่ยวพักผ่อนได้ตามที่ต้องการ “ดังนั้นจะบอกว่าคุณค่าธุรกิจที่เราให้กับลูกค้าจริง ๆ คือเวลาก็ได้” กวินกล่าวสรุปว่า “การใช้บริการร้านสะดวกซักของเราคือการจ่ายเงินซื้อเวลาให้ตัวเอง ลูกค้าจ่าย 60-80 บาท ทำให้ตัวเองได้เวลาเพิ่มขึ้นตั้งหลายชั่วโมง” 

“ที่จริงเราขายเวลา เราไม่ได้ขายแค่บริการซักอบผ้า” นี่คือเบื้องหลังของความสำเร็จที่หลายคนคิดไม่ถึง

“ชูมณี” ไอเดียทำธุรกิจคู่ช่วยเหลือสังคม

ขณะที่ธุรกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เขามีความคิดว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจมีความยั่งยืนมากกว่าแค่การสร้างผลกำไรให้ผู้ลงทุน การทำโครงการตอบแทนสังคมเป็นหนทางหนึ่งที่เจ้าของร้านสะดวกซัก Otteri เลือกใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมพัฒนาสังคม โดยเริ่มจากโครงการชูมณี 

“ผมมีความเชื่อว่าเราทุกคนสามารถมีส่วนในการพัฒนาประเทศได้โดยไม่ต้องไปรอว่าให้ใครทำ ในภาคเอกชนเราสามารถเป็น active citizen ได้ เราลงมือทำเองก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรอใคร ก็เลยอยากทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับการซักผ้า เพราะเป็นสิ่งที่เราทำอยู่และมันเชื่อมโยงได้ง่ายสำหรับเรา ทำให้คนอื่นเข้าใจได้ง่ายกว่าไปทำอย่างอื่น”

กว่า 1 ปีที่ผ่านมา กวินทำโครงการ CSR ในชื่อ “โครงการชูมณี” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยเปิดรับเข้ามาทำงานเป็นพนักงานประจำร้านในสาขาที่ลงทุนเอง เพื่อช่วยผู้สูงอายุให้มีงานทำสาขาละ 1 คน ทำหน้าที่ดูแลเครื่องซักและเครื่องอบผ้าจำนวน 13 เครื่อง และให้คำแนะนำแก่ลูกค้า โดยมีผลตอบแทนเป็นรายได้ประจำประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน พร้อมสวัสดิการประกันสังคม ซึ่งทำเลส่วนใหญ่ตั้งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์ 

“เรารับสมัครเพศหญิงอายุตั้งแต่อายุ 55 ปีขึ้นไป เน้นผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้จุดบริการ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของสถานที่อยากให้ลูกค้ามาวางผ้าที่ต้องการซักไว้ แล้วเอาเวลาไปช้อปปิ้ง กลับมาก็ได้ผ้าที่ซักเสร็จเรียบร้อยนำกลับบ้านได้เลย”

“ปัจจุบันโครงการชูมณีจัดตั้งเป็นบริษัทย่อย ดำเนินการแล้ว 11 สาขา โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก Otteri แต่เราไม่อยากทำแบบนั้นในระยะยาว เพราะจะเป็นแค่ CSR เราอยากให้ชูมณีเลี้ยงตัวเองได้ และมีความสามารถจะสร้าง impact ในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปได้ จะมีความยั่งยืนในระยะยาวกว่า”

เขาจึงมีโครงการสนับสนุนมูลนิธิที่ทำงานเพื่อสังคม ด้วยการลงทุนทำร้านสะดวกซักให้มูลนิธิไปบริหารจัดการภายใต้ชื่อ Otteri และนำผลกำไรจากธุรกิจไปใช้ในกิจกรรมช่วยเหลือสังคม เพราะมองเห็นปัญหาว่ามูลนิธิต่าง ๆ มักจะทำของออกมาขายหารายได้ แต่สินค้านั้นส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นที่ต้องการ ผู้ซื้ออุดหนุนด้วยความสงสารมากกว่า 

“เรามีความคิดว่าจะลงทุนทำร้านให้มูลนิธิไปบริหารจัดการเลย ใครอยากช่วยเหลือก็ไม่ต้องบริจาคเงิน เข้ามาใช้บริการที่ร้านนี้ เงินทุกบาทก็จะเข้ามูลนิธิ เมื่อมูลนิธิเลี้ยงตัวได้สุดท้ายก็จะยั่งยืนกว่า”

นี่เป็นการบริจาคธุรกิจให้พร้อมแบรนด์ธุรกิจ โดยมูลนิธิไม่ต้องแบ่งรายได้กลับมาที่บริษัทเลย ซึ่งเริ่มต้นแห่งแรกที่จังหวัดหนองคาย มอบร้านสะดวกซักให้กับมูลนิธิสหไทยที่ทำงานดูแลคนพิการ ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 2.5 ล้านบาท มีเครื่องซักผ้า 7 เครื่อง เครื่องอบผ้า 6 เครื่อง รวมจำนวน 13 เครื่อง 

แนวคิดในการทำธุรกิจควบคู่กับการทำงานเพื่อสังคม กวินบอกว่า “ธุรกิจของเราจะอยู่ได้อย่างมั่นคงเพราะการสนับสนุนจากคนในสังคม สิ่งที่เราทำถือเป็นการตอบแทนสังคม ซึ่งเป็นความแตกต่างระหว่างแบรนด์ของเรากับแบรนด์อื่น ๆ ทำให้เราบอกได้เต็มปากว่ามาซักผ้ากับเราสังคมไทยได้ประโยชน์ เราจึงตั้งใจว่าจะทำสิ่งนี้ต่อไปเรื่อย ๆ“

สร้างรถซักผ้าเคลื่อนที่เพื่อคนไร้บ้าน

โครงการ “รถซักผ้า” เป็นอีกหนึ่งผลงานที่มุ่งเน้นเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม ไอเดียนี้เกิดขึ้นหลังจากกวินได้บริจาคเครื่องซักและเครื่องอบผ้าอุตสาหกรรมอย่างละ 1 เครื่อง ให้แก่คนไร้บ้านในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) การได้เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับคนไร้บ้านในครั้งนั้น ทำให้เขาเกิดความคิดว่าน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ จึงติดต่อมูลนิธิกระจกเงาขอคำแนะนำเกี่ยวกับคนไร้บ้าน จนได้รับรู้ว่าในกรุงเทพมหานครมีคนไร้บ้านจำนวนหลายพันคน พวกเขาล้วนมีปัญหาเกี่ยวกับสุขอนามัย เช่น ต้องอาบน้ำพร้อมกับซักผ้าในคลองที่สภาพน้ำไม่สะอาด ไม่มีที่ตากผ้าจึงต้องสวมใส่ชุดเปียกนั้นจนแห้งบนร่างกาย ทำให้มีกลื่นเหม็นติดตัว

ในเดือนกรกฎาคม ปี 2564 เขาจึงเริ่มโครงการให้บริการซักผ้าฟรีแก่คนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนแถวหัวลำโพง และมีที่อาบน้ำอยู่หลังร้าน Otteri สาขาแถวนั้น อย่างไรก็ดีเขาพบว่าการให้คนไร้บ้านเดินทางมาใช้บริการที่ร้านสาขาเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควร จึงเกิดความคิดทำรถซักผ้าและอาบน้ำแบบเคลื่อนที่สำหรับการให้บริการถึงที่เพื่อความสะดวกมากขึ้น

“เราสังเกตว่าคนไร้บ้านมักจะอยู่รวมกลุ่มกันเป็นชุมชน มีเป็นกลุ่มอยู่แถวสนามหลวง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพื้นที่หาทำเลเปิดร้านยากมาก จึงคิดทำรถบริการซักผ้าและอาบน้ำเพื่อเข้าไปให้บริการแก่คนไร้บ้านในพื้นที่ได้เหมือนที่ในต่างประเทศทำ”

รถพ่วงบริการดังกล่าวจะติดตั้งเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าขนาด 10 กก. อย่างละ 4 เครื่อง และมีห้องอาบน้ำสำเร็จรูป 1 ห้อง ด้วยเงินลงทุนประมาณ 1.5 ล้านบาทต่อดัน

“เรามีความคิดว่าถ้าต้องการแก้ปัญหาสังคมอย่างหนึ่ง ไม่ควรก่อปัญหาทางสังคมอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้น ภายในรถจึงติดตั้งแทงค์และระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อทำให้น้ำที่ใช้แล้วมีค่ามาตรฐานที่สามารถปล่อยลงสู่ลำน้ำสาธารณะได้”

วันที่ 8 มิถุนายน 2565 เขานำรถซักผ้าและอาบน้ำออกให้บริการคนไร้บ้านในพื้นที่แถวถนนราชดำเนินเป็นครั้งแรก โดยมีมูลนิธิกระจกเงาเป็นผู้วางแผนและกำหนดเส้นทางของการออกไปให้บริการ ถือเป็นโครงการนำร่องเพื่อหาบทเรียนสำหรับการดำเนินการครั้งต่อไป

ประสบการณ์ครั้งแรกเขาพบว่า การบริการแบบรถเคลื่อนที่มีข้อจำกัดตรงที่ต้องจอดรถบริการในพื้นที่สาธารณะที่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานราชการ บางครั้งสถานที่นี้ก็ต้องใช้ประโยชน์อย่างอื่น ทำให้ไม่สามารถให้บริการคนไร้บ้านได้ทุกวัน

“ความตั้งใจอยากให้บริการคนไร้บ้านได้ทุกวัน ใจจริงเราคาดหวังอยากมีพื้นที่ที่เปิดร้านถาวรได้ และใช้ระบบการทำงานแบบ social enterprise ด้วยการเปิดให้บริการปกติกับคนทั่วไป แล้วนำกำไรจากการประกอบการมาช่วยเหลือให้บริการฟรีกับคนไร้บ้าน แต่พื้นที่ย่านนี้หาทำเลได้ยากมากจึงต้องทำเป็นรถบริการเคลื่อนที่”

เขาอธิบายเบื้องหลังความตั้งใจในการออกให้บริการแบบนี้ว่า “การได้อาบน้ำทุกวัน ซักผ้าทุกวันจะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านดีขึ้น”

“ธุรกิจบริการซักอบรีดเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทุกคนจะต้องใช้ ทำนองเดียวกันผมเชื่อว่าคนไทยใจบุญ และยินดีช่วยเหลือ แทนที่จะมาบริจาคเงินให้โครงการของเรา ก็แค่นำผ้ามาซักที่ร้าน Otteri ก็พอ เราก็จะมีเงินมาสร้างร้านแบบชูมณี หรือสร้างรถซักผ้าอาบน้ำคันที่ 2 หรือ 3 ได้อีก”

ซึ่งการลงทุนเขายึดหลักการ social enterprise คือนอกจากให้บริการทางสังคมแล้วยังต้องมีความสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ด้วย “ในอนาคตเราจะนำรถซักผ้าและอาบน้ำไปจอดให้บริการตามงานแสดงดนตรีตามต่างจังหวัด หรือตามหมู่บ้าน รวมถึงการให้บริการฟรีหลังเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ เช่นหลังเหตุการณ์น้ำท่วม”

ธุรกิจดาวรุ่งที่ยังเติบโตได้อีกมาก

เมื่อถามถึงเรื่องแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจร้านสะดวกซัก กวินยืนยันว่ายังจะเติบโตได้อีกมาก โดยเปรียบเทียบประเทศมาเลเซียและญี่ปุ่นซึ่งมีอัตราส่วนประชากร 6,000 – 6,500 คนต่อการบริการร้านสะดวกซัก 1 แห่ง หากใช้สัดส่วนนี้มาคำนวณกับประชากรของไทย พบว่าสามารถเปิดบริการได้ทั่วประเทศประมาณ 10,000 แห่ง โดยยังไม่รวมประชากรแฝงที่เป็นแรงงานข้ามชาติและนักท่องเที่ยวที่เคยมีปีละหลายสิบล้านคน 

“ตอนนี้รวมทุกร้านทั่วประเทศมีมากกว่า 2,000 แห่ง แสดงว่าตลาดยังสามารถเติบโตได้อีกหลายเท่าตัว โดย Otteri มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดประมาณ 32 เปอร์เซ็นต์”

เขากล่าวว่าเฉพาะปี 2565 ทางบริษัทตั้งเป้าหมายจะเปิดเพิ่มอีก 380 แห่งทั่วประเทศ หากเป็นไปตามแผนถึงสิ้นปี 2565 ร้านสะดวกซัก Otteri จะมีจำนวนเกือบ 1,000 แห่ง โดยจะลงทุนเปิดร้านสาขาให้มีสัดส่วนมากขึ้นเป็นจำนวน 130 สาขา

“การเข้ามาถือหุ้นของโออาร์จะช่วยทำให้เราไปถึงเป้าหมายนี้ได้เร็วขึ้น” กวินตอบคำถามถึงข้อดีของการที่ บมจ.ปตท. น้ำมันและค้าปลีก หรือ โออาร์ (OR) ลงทุนวงเงิน 1,105 ล้านบาท ซื้อหุ้นร้อยละ 40 ของบริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผ่านบริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของโออาร์

โดยบอกว่าเงินลงทุนจากโออาร์ “หลัก ๆ จะใช้ในการปรับปรุงอินฟราสตรัคเจอร์ภายในบริษัท การขยายทีมงานต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ทีมช่างที่จะต้องขยายเพิ่มขึ้นตามจำนานร้านสะดวกซักที่มากขึ้น ปรับปรุงระบบบัญชี รวมถึงการลงทุนขยายร้านสาขาของตัวเอง”

ดีลนี้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจบริการซักอบผ้าแบบหยอดเหรียญ Otteri Wash & Dry มีศักยภาพเหมาะที่จะเป็นจิ๊กซอว์หนึ่งในแพลตฟอร์ม PTT Station ของโออาร์ ด้านหนึ่งเพราะเป็นธุรกิจที่มีลักษณะเป็นตัวช่วยดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ของ PTT Station ได้นานนับชั่วโมง สร้างโอกาสที่ลูกค้าจะไปใช้บริการธุรกิจอื่น ๆ เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร หรือช้อปปิ้งในระหว่างที่รอการซักผ้า

“เรามองร่วมกันว่าร้านสะดวกซักช่วยสร้างมูลค่าให้กับเจ้าของพื้นที่ เรานำพาลูกค้าเข้าไปอยู่ในที่นั้น 1 ชั่วโมง เพราะต้องรอการซักและอบผ้าจนเสร็จ ทางปตท.ก็ต้องการที่จะเพิ่มยอดขาย เราเชื่อว่าถ้าลูกค้ามา spending time เดี๋ยวการ spending money ก็จะตามมา”

อีกด้านหนึ่งเพราะธุรกิจนี้มีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก และมีศักยภาพจะขยายการลงทุนไปต่างประเทศได้ โดยมีเป้าหมายจะขยายการลงทุนออกไปประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เป้าหมายสูงสุดเพื่อยกระดับบริษัทให้กลายเป็นบริษัทระดับภูมิภาคที่สามารถออกไปลงทุนภายนอกเพื่อหาเงินกลับเข้าประเทศได้ โดยประมาณปี 2566-2567 เราจะขยายตลาดเข้าไปใน emerging market ที่เปิดรับกับธุรกิจร้านสะดวกซัก อย่างกลุ่มประเทศ CLMV ส่วนในประเทศตั้งเป้าการขยายให้ได้ 3,000 แห่งภายในเวลา 10 ปี”

การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจร้านสะดวกซัก ซึ่งประเมินกันว่าจะมีมูลค่าตลาดรวมถึงระดับ 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2565 ด้วยจำนวนร้านบริการมากถึง 3,500 แห่ง กับแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ทำให้ธุรกิจนี้เป็นดาวรุ่งที่น่าจับตามองเพราะจะสร้างการเปลี่ยนแปลงตามมาได้อีกไม่น้อย ดังที่กวินสรุปทิ้งท้ายกับ The Story Thailand ว่า

“ความจริงเรามองตัวเองเป็นแพลตฟอร์มมากกว่า ถ้าพูดในลักษณะที่จะมีใครมาต่อยอดจากธุรกิจที่เราสร้างไว้ก็ฝากไว้ให้ไปคิดต่อ เพราะเราสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการซักผ้าไว้แล้ว เฉพาะเวลานี้เราเจอลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่เป็นเจ้าของร้านซักอบรีด บอกว่าต่อไปนี้พวกเขาสบายไม่ต้องซักผ้า ไม่ต้องซื้อเครื่องแล้ว มีแค่เตารีดพวกเขาก็ทำงานได้แล้ว”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์ 
สมชัย อักษรารักษ์ – เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เปิดบ้าน Terosoft Capital Group สตาร์ตอัพน้องใหม่ กับเป้าหมายที่เป็นมากกว่า ยูนิคอร์น

2 ทศวรรษ ดิทโต้ (ประเทศไทย) ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง “ข้อมูล” กับ New S-Curve ในน่านน้ำใหม่

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ