TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ กับ บทบาทของ “สถาบันไทยพัฒน์” เรื่อง “ความยั่งยืน”

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ กับ บทบาทของ “สถาบันไทยพัฒน์” เรื่อง “ความยั่งยืน”

หากเอ่ยถึงความยั่งยืนเชื่อแน่ว่าไม่มีใครไม่รู้จักสถาบันไทยพัฒน์ องค์กรสาธารณะประโยชน์ ที่ขับเคลื่อนความยั่งยืนผ่านงานวิชาการ ที่ชื่อ “สถาบันไทยพัฒน์” 

สถาบันไทยพัฒน์เกิดมาด้วยการทำวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10-20 ปีก่อน จะพบว่านึกว่าคำนี้ยังเป็นคำที่สดใหม่อยู่ ถ้าเทียบกับปัจจุบันนี้ อาจจะมีการรับรู้ไปในระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นการที่จะหยิบคำว่า CSR มาพูดในสมัยปัจจุบัน จะคล้าย ๆ กับเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมในสมัยก่อน ที่รู้สึกว่าพูดไปเข้าใจ แต่พอเป็นนามธรรม จะหยิบฉวยมาปฏิบัติเป็นรูปธรรมได้ ต้องอาศัยโมเดลอะไรบางอย่างที่ทำให้เกิดการแปรสภาพให้มันจับต้องได้ 

สถาบันไทยพัฒน์เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ เป็นองค์กรที่ค่อนข้างจะขับเน้นทางด้านวิชาการ พยายามสร้างความยั่งยืนในลักษณะเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกับภาคเอกชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของสถาบัน ในการที่จะช่วยเติมในเรื่องของความรู้ความเข้าใจเครื่องไม้เครื่องมือ และในเรื่องของตัวอย่างกรณีศึกษาที่สามารถจะทำให้เขาลงมือปฏิบัติได้โดยที่ไม่ต้องไปลองผิดลองถูก เสียเวลา เสียงบประมาณ โดยเปล่าประโยชน์

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ความยั่งยืนเป็นผลจากการดำเนินการอะไรบางอย่างซึ่งอาจจะต้องมีเหตุ เช่น เรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม การคำนึงถึงการประกอบการทางธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แล้วทำให้เกิดผลบางอย่าง ทั้งสิ่งแวดล้อมอยู่ได้ สังคมมีความอยู่ดีมีสุข ในขณะที่องค์กรซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมสามารถที่จะดำเนินธุรกิจไปได้อย่างราบรื่น ทุก ๆ องคาพยพ ในระบบนิเวศเป็นไปอย่างมีปกติสุข โดยทำให้สามารถที่จะคงสภาพสิ่งนี้ เคลื่อนจากอดีต ปัจจุบัน และไปถึงอนาคต

“พอเรามาทำเรื่องความยั่งยืน เราก็ต้องยืนตรงนั้นจริง ๆ จุดยืน คือ เราต้องการทำให้ธุรกิจ สร้างผลกระทบให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมในลักษณะที่เป็นไปด้วยความยั่งยืนจริง ๆ” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

สถาบันไทยพัฒน์จำแนกเรื่องการขับเคลื่อนความยั่งยืนออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ การการขับเคลื่อนที่อยู่นอกกระบวนการ (CSR after-process)  ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการทำธุรกิจไปแล้ว กับการขับเคลื่อนที่ฝังตัวอยู่ในกระบวนการ (CSR in-process) ถ้าพูดในแง่ของพนักงานหรือ ปัจเจกบุคคล คือเป็นการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนในหน้าที่ เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องไปอาศัยเวลานอกเวลางานทำ ไม่ต้องไปอาศัยงบประมาณอื่นนอกเหนือจากงบประมาณที่ใช้ในการทำงาน 

สิ่งที่สถาบันไทยพัฒน์เน้น คือ ทำอย่างไรถึงทำให้เกิด CSR in-process เกิดขึ้นในกระบวนการธุรกิจโดยไม่ได้มองเรื่องของ CSR after-process เป็นสรณะ พูดง่าย ๆ คือ ไม่ได้ให้องค์กรไปยึดว่า การบริจาค คือ สุดท้ายหลักของเรื่องของการสร้างประโยชน์ให้กับสังคม 

“เพราะก็รู้อยู่ว่าหลาย ๆ ครั้งการบริจาคด้วยตัวเงิน ด้วยสิ่งของ มันอาจจะช่วยแก้ปัญหาระยะสั้น เฉพาะหน้า แต่ระยะยาวอาจจะส่งผลในทางตรงกันข้าม คืออาจจะทำให้คนที่ได้รับตรงนั้น อาจจะมีความคิดอีกแบบหนึ่ง ว่าฉันก็รอรับความช่วยเหลืออยู่ตลอด มีคนมาช่วยอยู่ตลอด ก็อาจจะไม่ได้ทำให้เกิดความเข้มแข็งระยะยาว เพราะฉะนั้นบทบาทของเราคือพยายามจะเน้นในจุดที่ทำยังไงถึงให้ธุรกิจมีการสร้างให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคม หรือการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน อยู่ในกระบวนการธุรกิจเลย”  ดร.พิพัฒน์ กล่าว

CSR กับ ESG

ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า CSR ประกอบด้วยคำว่า Corporate, Social Responsibility คือ บทบาทของภาคธุรกิจหรือองค์กรอื่นใดที่จะมีหน้าที่รับผิดชอบกับสังคม คำว่า สังคมในที่นี้ ในมิติของ CSR หมายถึง ผู้มีส่วนได้เสียที่องค์กรเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพนักงานของตัวเอง ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนที่อยู่รายรอบสถานประกอบการ มีส่วนได้เสีย (stakeholder) เหล่านี้ มีส่วนในการที่จะส่งผลได้ผลเสียต่อองค์กร ทั้งในเชิงที่เป็น active และ passive คือ ตัวเองส่งผลด้วย ขณะเดียวกันคนอื่นก็ส่งผลกับตัวเองด้วย ไป-กลับ เพราะฉะนั้น CSR จึงเป็นมิติ ในเรื่องของการปฏิบัติที่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียทุก ๆ ที่องค์กรเข้าไปเกี่ยวข้อง 

ในขณะที่ ESG ซึ่งเป็นคำที่เกิดขึ้นมาระยะหลังจาก CSR ไม่นาน มันถูกบัญญัติขึ้นมาโดยสังคมของผู้ลงทุน investment community ที่ย่อมาจาก Environmental Social Governance คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล  คือ สิ่งที่ผู้ลงทุนต้องการ จากการเข้าไปลงทุนในบริษัทต่าง ๆ  คาดหวังว่าต้องการให้บริษัทดำเนินธุรกิจไปได้โดยคำนึงถึงประเด็น สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพราะว่านักลงทุนกลุ่มนี้มีความเชื่อว่า ธุรกิจอาจจะไม่ยั่งยืน ถ้าคำนึงถึงแต่การเติบโต หรือเรื่อง bottom line ที่เป็น profit อย่างเดียว โดยไปเอาเปรียบลูกค้า ไม่ดูแลคู่ค้าของตัวเองให้ดี ท้ายที่สุด องค์กรก็จะอยู่ไม่ได้ ธุรกิจก็จะอยู่ไม่ได้ 

คำว่า ESG จึงเป็นคำที่ถูกบัญญัติขึ้นมาโดยกลุ่มผู้ลงทุนที่ต้องการจะดูผลของการดำเนินงานว่าองค์กรธุรกิจทำธุรกิจได้กำไร และดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อย่างดีด้วยหรือไม่ 

“ถ้าจะให้สรุปคำว่า CSR คือ ภาคปฏิบัติ ESG คือ ภาคข้อมูล ที่เป็นผลจากการปฏิบัติเรื่อง CSR สำหรับผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม เพราะฉะนั้นเวลาที่เราคุยกัน ภาษา ESG หมายความว่าเป็นการสื่อสารระหว่างผู้ลงทุนกับองค์กร องค์กรต้องให้ข้อมูลบางอย่างในมิติของ ESG ให้กับผู้ลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนควรจะได้เอามาใช้เป็นข้อมูลการใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน ซึ่งข้อมูล ESG เหล่านั้นมาจากผลการดำเนินงาน ให้ชัดลงไปก็คือผลการดำเนินงาน CSR in process เพราะว่าผู้ลงทุนอาจจะไม่ได้ไปสนใจว่าบริษัทจะไปบริจาคที่ไหน หรือเอากำไรที่ตัวเองได้ไปให้ชุมชนใด เพราะว่าอันนั้นน่าจะมีผลที่ทำให้กำไรของผู้ลงทุนลดลงด้วยซ้ำจากการที่บริษัทจัดสรรไปให้กับชุมชนด้วย” ดร.พิพัฒน์ อธิบาย

หากเป็น  CSR in process หมายความว่า องค์กรสามารถสร้างผลกระทบให้กับสังคม ในขณะเดียวกันก็เปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นให้มาเป็นผลการดำเนินงานหรือผลประกอบการองค์กรที่ผู้ลงทุนต้องการด้วย 

“เพราะฉะนั้นคำว่า CSR กับ ESG คือคำที่มันอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน แต่ว่าการหยิบคำขึ้นมาสื่อสารมันอาจจะมองที่ผู้มีส่วนได้เสีย ว่ากำลังสื่อสารกับใคร เพราะฉะนั้น ถ้าเราพูดถึง CSR ก็จะหมายถึง เราสื่อสารกับทุกกลุ่มขององค์กร ชุมชน ลูกค้า พนักงาน แต่พอเรามีคำว่า ESG ขึ้นมาก็อาจจะมองว่าเป็นการสื่อสาร สื่อความ ถึงผลการดำเนินงาน ระหว่างองค์กรที่ยังมีต่อนักลงทุน” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

ภูมิทัศน์ ESG ในประเทศไทย

ณ วันนี้ภูมิทัศน์การตื่นรู้และลงมือทำเรื่องความยั่งยืน ซึ่งควบรวมทั้ง CSR และ ESG ของประเทศไทยยังอยู่ในสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มหนึ่งทำเพื่อต้องการเสริมสร้างภาพลักษณ์ โดยอาจจะไม่ได้เน้นเรื่องการลงมือปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลกระทบทางบวกหรือลดผลกระทบทางลบต่อสังคมอย่างจริงจังเท่าใดนัก อาจจะเป็นลักษณะลูบหน้าปะจมูก ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งลงมือปฏิบัติจริง ๆ  อาจจะไม่ต้องสนใจเรื่องภาพลักษณ์มาก แต่เน้นว่าทำแล้วสังคมก็จะ รับรู้เอง 

เทรนด์ของ COP26 หรือ Climate Change หรือ Net Zero เป็น factor ที่จะทำให้องค์กรใน ทั่วโลกและเมืองไทยตื่นตัวกับการทำ ESG มากขึ้นมากน้อยแค่ไหน ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า ต้องแยกกันระหว่างที่เป็นปรากฏการณ์จริง ๆ ที่โลกได้รับผลกระทบจากการประกอบธุรกิจหรือการทำอุตสาหกรรม หรือผลกระทบทางสภาวะแวดล้อมที่มาจากภาคอื่น ๆ เช่น ภาคเกษตรกรรม เป็นต้น ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่ถ้ามองในมุมของการตอบสนองต่อภาวะเหล่านี้ ในความเป็นจริง คือ กลุ่มหนึ่งทำจริง อีกกลุ่มก็น่าจะทำเพื่อให้ได้ภาพว่าทำ 

แต่ทว่าเทรนด์ใหญ่ที่เป็นเทรนด์รวมไปในทิศทางที่มีส่วนในการร่วมแก้ปัญหามากขึ้น จากเดิมที่หลายองค์กรธุรกิจแบบไม่ได้สนใจหรือตระหนักในปัญหาเหล่านี้ ก็เริ่มที่จะมีส่วนรับรู้ และมีส่วนที่รู้สึกว่าตัวเองจะต้องมีหน้าที่ มี obligation ในการเข้าไปแก้ไขปัญหาตรงนี้ มากกว่าที่เป็นอยู่เดิม 

“แต่จากประสบการณ์ที่อยู่ในแวดวงเรื่องความยั่งยืน ผมก็เห็นว่า เนื่องจากธุรกิจก็คือธุรกิจ อาจจะมีการทำ business as usual ตราบใดก็ตามที่การเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่ไปกระทบกับ bottom line ก็คงไม่ขัดข้อง แต่เมื่อใดก็ตามที่ที่การเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม แล้วไปมีผลกระทบกับกำไร หรือทำให้บริษัทอาจจะมีความสั่นคลอนในเรื่องของการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ผมคิดว่าธุรกิจก็ต้องเลือกอันหลังก่อน ก็เป็นธรรมชาติที่ว่า เนื่องจากตัวเองสวมหมวกในการดำเนินธุรกิจ เป็นภาคเอกชน” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

เพราะฉะนั้นผลประโยชน์หลักของภาคเอกชน คือเรื่องของกระแสของกำไร วันนี้จึงเกิดแนวคิดที่ว่า ทำอย่างไรให้การแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันกับเรื่องของการเติบโตและการแสวงหากำไร แนวทางนี้จึงเกิดเป็นแนวทางที่สร้างให้เกิดการยอมรับของธุรกิจมากขึ้นจากเดิม ที่ว่าจะต้องมีการ trade-off ระหว่างเลือกที่จะโต เลือกที่จะมีกำไร กับเรื่องที่จะใช้ งบประมาณในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม 

สมดุลระหว่างความยั่งยืนและการเติบโตทางธุรกิจ

ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า แนวคิดที่ว่าการที่เราจะดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กับการสร้างการเติบโต และการแสวงหาผลกำไร มันสามารถทำได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรจะต้องทำ ไม่ใช่การไปบอกองค์กรธุรกิจว่า เปลี่ยนจากการไม่ทำกำไรเป็นการดูแลสังคม แต่จะต้องไปโน้มน้าวเขาว่าจะทำอย่างไรถึงทำให้เขามีกำไรที่ดีที่สุด ไม่ใช่สูงที่สุด ดีที่สุด สำหรับการที่เขาจะใช้องค์กรธุรกิจของเขา ในการที่จะร่วมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน 

“เพราะฉะนั้น ด้วยวิธีนี้มันจะทำให้เขาไม่เกิดการ de-coupling หรือ trade-off ที่ต้องเลือกว่า ฉันจะทำธุรกิจมากกว่าสังคม อันนี้คือเขาสามารถดูแลสังคมไปพร้อม ๆ กับการทำธุรกิจ ผมว่าแนวทางนี้จะเป็นแนวทางที่จะเป็นที่ยอมรับมากกว่า ในมุมของธุรกิจส่วนใหญ่ อันนี้เราไม่ได้พูดถึงธุรกิจที่ว่าเขามีความมุ่งมั่น หรือความมุ่งหวังทางสังคม ความมุ่งประสงค์ทางสังคม หรือ social purpose ที่แรงกล้าอยู่แล้ว  เป็นองค์กรธุรกิจลักษณะพิเศษที่เราเรียกว่า social enterprise ซึ่งก็มีอยู่ในสังคมเหมือนกัน แต่อาจจะมีจำนวนไม่มาก” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

บทบาทของความยั่งยืนต่อโลกนี้ มันเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นหรือเป็นสิ่งที่จำเป็น ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า ถ้าถามคำถามนี้ ตอนที่ยังอยู่ในยุคเกษตรกรรม คนคงไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน ก็ในเมื่อมีทรัพยากรให้ใช้อย่างมากมายเหลือเฟือ มลภาวะก็ไม่ได้เกิดขึ้นในขณะนั้น การที่จะมีผู้คนลุกขึ้นมาเพื่อทวงถามความรับผิดชอบต่อสังคมหรือการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น คงเป็นเรื่องที่แปลกเหมือนกัน 

แต่ปัจจุบัน โลกได้มีพัฒนาการตั้งแต่ยุคเกษตรกรรมอุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ จนมาถึงยุคที่ทุกอย่างมันฉับพลันทันด่วนและพลวัตมาก ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สะสมมานานจนถึงจุดที่มันเผยตัวเองขึ้นมาสร้างผลกระทบต่อผู้คนกลับแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจะลุกขึ้นมาบอกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ เพราะไม่เช่นนั้นคนรุ่นหลังก็จะอยู่บนโลกใบนี้ไม่ได้ 

“ผมยังจินตนาการเหมือนในหนังบางเรื่องด้วยซ้ำว่า อนาคตอาจจะช่วง 20- 30 ปีหน้า เราอาจจะต้องไปอยู่ใต้ดิน ไม่สามารถจะอยู่บนดิน เพราะด้วยฝุ่น ด้วยแดดที่แรง วันนี้เราก็เหมือนกับอยู่ใต้ดินส่วนหนึ่ง เวลาที่เราไปขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือห้างสรรพสินค้า หรือมอลล์ที่ไปสร้างอยู่ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ก็เป็นการทดลองจำลองสภาพของการเป็นอยู่ในอนาคตก็เป็นได้” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

เพราะฉะนั้น ความยั่งยืนเป็นสิ่งจำเป็น แต่จะทำได้แค่ไหน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขึ้นอยู่กับความตระหนักของผู้คนในยุคนี้ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ควรเอาโลกและสิ่งแวดล้อมมเป็นศูนย์กลาง หลายภาคส่วนเริ่มตระหนักแล้วว่าถ้าโลกอยู่ไม่ได้ ไม่มีโลกสำรอง เพราะฉะนั้นการที่จะเอาคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา อาจจะไม่ใช่ประเด็นหลัก ต้องมองว่าทำอย่างไรถึงทำให้ระบบนิเวศอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข โดยมนุษย์หรือคนเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล 

สำนึกเรื่องความยั่งยืนสร้างได้ไหมนั้นขึ้นอยู่กับว่าคน ๆ นั้นอยู่ในสภาพแวดล้อมไหน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความกดดันหรือความไม่กดดันมากน้อยต่างกันอย่างไร 

เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรถึงจะปลูกฝังความคิดให้เป็นเรื่องที่ต้องตระหนักว่า ถ้าไม่ทำเรื่องความยั่งยืนตั้งแต่วันนี้ แม้กระทั่งในช่วงชีวิตนี้ก็จะอยู่ไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่าวันนี้มีทั้งไวรัสระบาด มีทั้งฝุ่นที่กลับมาอีกแล้ว มีทั้งเรื่องของหมอกควันพิษ มีทั้งเรื่องของน้ำที่ปนเปื้อน

“ถ้าทุกคนลุกขึ้นมาทำด้วยกันหมด พร้อมกันหมด ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ปัญหาในขณะนี้คือว่า คนบางกลุ่ม บางพวกเขาจะรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ถึงจุดที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงก็เลยทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเปลี่ยนแปลง เกิดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาอยู่ เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

ความอิ่ม (ใจ) ในการทำงานด้านความยั่งยืน

เนื่องจากความมุ่งมั่นที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคม คือ จุดเริ่มต้นที่ดร.พิพัฒน์ ทำงานเรื่องของความยั่งยืนผ่านสถาบันไทยพัฒน์ คือความอยากจะมีวิธีในการทำธุรกิจที่ไม่แปลกแยกไปจากการทำให้สังคมเป็นปกติสุข ดูรู้สึกอุดมคติก้อนใหญ่ แต่เขาหมายความเช่นนั้นจริง ๆ 

“มีอยู่ช่วงหนึ่งในวัยทำงานของผมเองที่รู้สึกว่า ถ้าเราเลือกที่จะต้องทำธุรกิจ ทำหน้าที่ ทำอาชีพเราให้ดี เงินเดือนสูง ๆ เราต้องสละหรือขจัดอะไรบางอย่างไปในชีวิต ทั้งความอบอุ่นใจของเพื่อนร่วมงาน การที่เราจะต้องมีการแข่งขันกันเพื่อจะชนะอะไรบางอย่าง อาจจะทำให้ในช่วงหนึ่งเราเกิดความแห้งแล้งในจิตใจ รู้สึกว่ามันไม่ใช่คำตอบของชีวิตจริง ๆ”

“เราอยากจะมีองค์กรที่เราสามารถที่จะปลุกปั้นแล้วทำเรื่องนี้ได้จริง ทำให้ทั้งตัวเองมีความสุข และสามารถที่จะสร้างประโยชน์สุขให้กับคนอื่นรอบข้างด้วย เป็นความภาคภูมิใจเล็ก ๆ ที่แม้สถาบันไทยพัฒน์เป็นองค์กรขนาดเล็กประมาณ 10 กว่าคน แต่สามารถเข้าไปช่วยมีส่วนในผลักดันให้องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีพนักงานเป็นหมื่นเป็นแสนคน ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่สังคมได้ประโยชน์ หรือสิ่งแวดล้อมได้รับการดูแล ถือเป็นบทบาทของสถานบันไทยพัฒน์ต่อการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในสังคม” ดร.พิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

“พชร อารยะการกุล” CEO รุ่นใหม่ บนภารกิจปั้น “บลูบิค กรุ๊ป” ขึ้นแท่นบริษัทไทยระดับโลก

“นิพนธ์ บุญเดชานันทน์” ซีอีโอ WHAUP ตั้งเป้ายืนหนึ่งผู้นำตลาดพลังงานสะอาดแห่งภูมิภาคเอเชีย

‘มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ’ กับเป้าหมาย ทำให้ชีวิตคนไทยดีขึ้นด้วยแพลตฟอร์ม

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ