TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“มรดกบาป” ที่ถูกลืม

“มรดกบาป” ที่ถูกลืม

ขณะที่สังคมกำลังถกเถียงกันถึงกรณีการนั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าครบวาระหรือไม่ จะเริ่มนับตั้งแต่ปีไหน แต่ที่แน่ ๆ หลายคนอาจจะลืมไปว่า มีมรดก 2 ชุดที่ถูกเนรมิตขึ้นโดย “ลุงตู่” เมื่อครั้งนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตีในรัฐบาลคสช.ซึ่งมีวาระ 5 ปีจะครบกำหนดในปีนี้ คณะกรรมการทั้ง 2 ชุดที่กล่าวถึง คือ คณะกรรมการแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 

สำหรับคณะกรรมการแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีทำหน้าที่วางกรอบครอบคลุมตั้งแต่ปี 2560-2579 ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เป้าหมายคือ ในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยต้องหลุดพ้นจากประเทศติดกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งปัจจุบันรายได้คนไทยต่อหัวอยู่ที่ 6,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยตั้งเป้าว่าคนไทยจะต้องมีรายได้ต่อหัว 15,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า “เรื่องนี้ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ” แต่อย่างใด

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีทั้งหมด 6 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านความมั่นคง 2) ด้านความสามารถในการแข่งขัน 3) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ 4) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5) ด้านการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6) ด้านการปรับสมดุลการพัฒนาระบบบริหารการจัดการภาครัฐ มีทั้งหมด 28 คน มีทั้งข้าราชการการเมือง ประกอบด้วย นายกฯ และรองนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทน ประธานวุฒิสภา 

ผู้แทนจากข้าราชการส่วนใหญ่เป็นทหารทหาร มีทั้งตัวแทนเหล่าทัพและตัวแทนจากฝ่ายความมั่นคง นอกจากนี้ มีตัวแทนองค์กรเศรษฐกิจต่าง ๆ และมีโควตาลุงตู่อีก 12 คน ทั้งนักธุรกิจใหญ่ นายแบงก์ นักบริหารระดับสูง และนักวิชาการ มากันเพียบ ตอนแรก ๆ ก็ประชุมกันคึกคัก ช่วยกันระดมสมองว่าอนาคตว่าประเทศไทยจะไปทางไหน

ทันทีที่มีการประกาศนโยบายกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ไม่เห็นด้วยตามมามากมาย ส่วนใหญ่เห็นว่าแผนระยะยาวสมัยนี้ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยเฉพาะในเรื่องเทคโนโลยี ทำให้การคาดเดาอนาคตเป็นเรื่องยาก แม้แต่ภาคธุรกิจเอกชนยังกลับมาวางแผนปีต่อปี แต่ก็มีบางคนเมื่อเห็นรายชื่อคณะกรรมการ ฟันธงว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนมากกว่าชาวบ้าน เพราะมีแต่ตัวแทนกลุ่มทุนที่เข้าไปร่างแผน ไม่มีตัวแทนชาวบ้านเลย

ในช่วงแรก ๆ การประชุมบรรยากาศค่อนข้างคึกคัก โดยเฉพาะ “พลเอกประยุทธ์” นั่งหัวโต๊ะในการประชุม แต่ละคนล้วนเป็นกูรูในสาขาต่าง ๆ ต่อมาไปเริ่มมีคนถอนตัวขอลาออกจากการเป็นกรรมการ และยิ่งนานไปข่าวความเคลื่อนไหวในเรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็เงียบหายไปกับสายลม แต่ในที่สุดก็มีแผนนี้ออกมาเป็น “คัมภีร์” ในการบริหารประเทศในการอีก 20 ปี ที่สำคัญบังคับให้ทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติตาม หากข้าราชการคนใดไม่ปฏิบัติตามถือว่า “มีความผิด” และมีโทษร้ายแรง 

แต่จนถึงวันนี้ เป็นวันที่ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” ไม่รู้ว่ายังเหลืออีกกี่คน ไม่รู้ว่ายังมีการประชุมกันอยู่หรือไม่ จะครบวาระปีนี้ ต้องลุ้นว่าจะมีการต่ออายุหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ถึงวันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกและในประเทศไทย ล้วนเป็นสิ่งที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทำนายผิดทั้งหมด และ “ไม่ได้กำหนดไว้ในแผน”

ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และความเสียหายด้านเศรษฐกิจมหาศาล วิกฤติจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลก มีปัญหาราคาพลังงาน และปัญหาเงินเฟ้อ รวมถึงเศรษฐกิจโลกถดถอย แม้กระทั่งปัจจัยจากวิกฤติเศรษฐกิจของจีน ที่กำลังจะเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ของระบบเศรษฐกิจโลก

ปัจจัยเหล่านี้ล้วน “ไม่มีอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ทั้งสิ้น 

อีกคณะหนึ่งที่ทำหน้าที่คล้าย ๆ กัน ได้หมดวาระลงเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่ยังคงทำหน้าที่ต่อจนถึงสิ้นปี เพื่อรายงานการประชุม นั่นคือ “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ” ทำหน้าที่วางแผนกำหนดบทบาทของรัฐในการดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ มีคณะกรรมการทั้งหมด 13 ชุด ประกอบด้วย ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ และด้านอื่น ๆ ตอนแรกดูเหมือนให้ความหวังไว้อย่างสวยหรูว่า เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ นับแต่การแต่งตั้ง 11 คณะชุดแรก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2560 หลังจากนั้นมีการยกเลิกทั้งหมด และตั้งคณะกรรมการชุดใหม่จำนวน 13 คณะ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2563 โดยคณะกรรมการต้องรายงานความคืบหน้าในการทำงานด้านปฏิรูปด้านต่าง ๆ ต่อรัฐสภาทุกสามเดือน โดยให้วุฒิสภามีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ 

ปรากฏว่ารายงานดังกล่าวสร้างภาระต่อหน่วยราชการในการจัดทำผ่านการรวบรวมกลั่นกรองและนำเสนอเป็นวาระเพื่อทราบในคณะรัฐมนตรี ก่อนส่งต่อมายังรัฐสภาเพื่อทราบทุกสามเดือน หรือเมื่อครบปีก็จัดทำเป็นรูปเล่มดูสวยงามแต่ในความเป็นจริงแทบไม่มีความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศแต่อย่างใด 

หากรวมคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดมีจำนวนกว่า 300 คน แต่ละคนมีเบี้ยประชุม มีเงินเดือนประจำที่มาจากภาษีประชาชน แต่จนถึงบัดนี้ไม่รู้ว่าสิ่งคณะกรรมการดังกล่าววาดฝันไว้ทำได้หรือไม่ ได้มีการทำตามหรือไม่ แต่เท่าที่ทราบยังไม่เห็นว่ามีหน่วยงานไหนที่นำแผนทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไปปฏิบัติ ทั้งที่กำหนดเป็นข้อบังคับ และยังไม่เห็นข้าราชการคนใดถูกลงโทษ โทษฐานที่ไม่ปฏิบัติตามแผน 

น่าเสียดายภาษีประชาชนที่จ่ายไปกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ ไม่รู้ว่ากี่พันล้านบาท กลับได้แค่เอกสารไม่กี่ชุด ซึ่งคงปล่อยทิ้งให้เสื่อมสลายไปกับกาลเวลา

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

SCBX หัก Bitkub ใครได้ ใครเสีย ใครเจ็บ

8 ปี เศรษฐกิจไทย ในกำมือ “รัฐบาลลุงตู่”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ