TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเก็บ “ภาษีหุ้น” ได้-ไม่คุ้มเสีย !!!

เก็บ “ภาษีหุ้น” ได้-ไม่คุ้มเสีย !!!

เงื้อง่าราคาแพงมากว่า 30 ปีสำหรับนโยบายเรียกเก็บ ”ภาษีหุ้น” กระทั่งเมื่อปีที่แล้วเริ่มส่งสัญญาณว่าจะอาจริงแล้วนะ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของชาวบ้านว่า ”รัฐบาลถังแตก” เพราะเอาเงินไปถลุงกับนโยบายประชานิยมและแก้ปัญหาโควิด-19 ระบาดจนกระเป๋าฉีก 

ในที่สุดเมื่อสัปดาห์ก่อนครม.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีมติเห็นชอบพระราชกฤษฎีกาเก็บภาษีขายหุ้นร้อยละ 0.1 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้เวลาเตรียมตัว 90 วัน ในปีแรก 2566 จะเก็บภาษีเพียงครึ่งเดียว 0.055% (รวมภาษีท้องถิ่น) นับตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไปจะเก็บเต็มอัตรา 0.11% (รวมภาษีท้องถิ่น)

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้อรรถาธิบายเหตุผลในที่ประชุมครม.ว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยเติบโตขึ้นมาก มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด เพิ่มขึ้นถึง 22 เท่าจากเมื่อ 30 ปีก่อน กล่าวคือจากช่วงปี 2534 อยู่ที่ 900,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 20 ล้านล้านบาท สูงกว่ามูลค่าจีดีพีของประเทศเสียอีก ดังนั้น จึงเป็นเวลาที่เหมาะสม ควรจะมีการจัดเก็บภาษีขายหุ้นให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล การเก็บภาษีขายหุ้นจะเพิ่มความเป็นธรรมในการเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้

ข้อมูลล่าสุด ปัจจุบันตลาดหุ้นไทย มีบัญชีซื้อขายหุ้นอยู่ที่ 4.74 ล้านบัญชี แต่ถ้านับบัญชีที่ไม่ซ้ำกันมี 2.32 ล้านบัญชี แต่บัญชีซื้อขายหุ้นที่มีการเคลื่อนไหวหรือ ”แอคทีฟ” จริง ๆ มีเพียงวันละหลักแสนบัญชีเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อย 

ส่วนกรณีการซื้อขายหุ้นผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม อาคมบอกว่า จะได้รับการยกเว้น เนื่องจากเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่ช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับตลาดหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรคาดว่าจะมีรายได้จากภาษีขายหุ้นปีละ 16,000 ล้านบาท แต่ปีแรกจะเก็บได้เพียง 8,000 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ก็ได้ 

สำหรับการจัดเก็บภาษีหุ้นมี 2 รูปแบบ ภาษีประเภทแรก เรียกว่า “Capital Gain Tax” เป็น ”ภาษีกำไร” จากเงินลงทุน หรือภาษีเงินได้จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่เกิดจากส่วนต่างของราคาหุ้น ซึ่งในหลายประเทศมีการเรียกเก็บภาษีนี้ แต่ประเทศไทยยังไม่มีการเรียกเก็บ ประเภทที่สองเรียกว่า “Financial Transaction tax” หรือ ”ภาษีขายหุ้น” ที่กระทรวงคลังกำลังจะนำออกมาใช้ คือ การเก็บภาษีจาก ”การขายหุ้น” ในตลาดหลักทรัพย์ คือ คิดจากรายได้การขาย ไม่ได้คิดเฉพาะกำไร

แม้กระทรวงคลังจะออกมาปฏิเสธว่า จะไม่กระทบรายย่อย แต่ในความเป็นจริงการเก็บภาษีครั้งนี้จะส่งผลกระทบรายย่อยเต็ม ๆ เพราะมาตรการเก็บภาษีหุ้นที่มีมูลค่าเกิน 1 ล้านบาทนั้น เป็นการคิดภาษีจากมูลค่าฐานการลงทุนรวมกับส่วนต่างกำไรราคาหุ้น 

นั่นเท่ากับมีการคิดภาษีส่วน ”ต้นทุนหุ้น” ด้วย หากนักลงทุนซื้อหุ้นที่มีต้นทุนแพงมาก อาทิ ต้นทุนต่อหุ้นหลัก 100 บาท แต่มีส่วนต่างกำไรต่อหุ้นเพียงหลักสิบบาท ก็จะกำไรส่วนต่างราคาหุ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แถมยังโดนหักภาษีอีก แทนที่จะได้กำไรการลงทุนหุ้น อาจจะขาดทุนจากที่โดนหักภาษีได้ ฟันธงเลยว่า ในช่วงระยะสั้นจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นแน่นอน

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว อาจทำให้นักลงทุนตีความไปในด้านลบว่าตลาดหุ้นไทยไม่เป็นมิตรกับนักลงทุน จะทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศตื่นตระหนกตกใจหอบเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นที่ไม่มีนโยบายเก็บภาษีหุ้นแทน ซึ่งตลาดเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียก็ไม่เก็บภาษีในตลาดหุ้นแต่อย่างใด

นอกจากนี้ จะทำให้นักลงทุนวิตกกังวลหรืออาจตีความไปว่าในอนาคตจะมีมาตรการการเก็บภาษี ”กำไรหุ้น” ออกมาอีก มาตรการเก็บภาษีหุ้นที่ออกมาในจังหวะเวลานี้ จึงเป็นสัญญาณอันตรายอย่างยิ่ง ที่สำคัญการเก็บภาษีขายหุ้น 0.1% ที่กระทรวงคลังคาดว่าจะมีรายได้เข้ารัฐ หลักหมื่นล้านนั้น หากมาตรการนี้ออกมาขอฟันธงว่ามูลค่าการซื้อขายจะหายไปแน่นอน เก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าแน่ ๆ

น่าสนใจว่า การเรียกเก็บภาษีหุ้นในห้วงเวลานี้ ถูกที่ถูกเวลาหรือไม่ ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่ตลาดผันผวนค่อนข้างมาก และสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง การเก็บภาษีเท่ากับเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้ทรุดหนักเข้าไปอีก

ทุกวันนี้ตลาดหุ้นไทย ยังไม่พร้อมที่จะใช้มาตรการดังกล่าว จะนำไปเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ อิตาลี ฝรั่งเศส สิงคโปร์ ไม่ได้ ประเด็นสำคัญ คือ ตลาดหุ้นที่อยู่ใน Emerging Market (ระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่) ที่จะเป็นคู่แข่งแย่งลูกค้าเราไป ยังไม่มีประเทศไหนในกลุ่มนี้เขาจัดเก็บภาษีขายหุ้นแม้แต่ประเทศเดียว ดังนั้นเวลาจะออกมาตรการต่าง ๆ อย่าดูเฉพาะประเทศที่พัฒนาว่าเขาทำอย่างไร แต่ควรดูคู่แข่งในอนาคตด้วย  

เท่าที่ดูทิศทางลมแล้ว การเก็บภาษีหุ้นอาจจะต้องเลื่อนออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนดแม้จะผ่านมติครม.แล้วก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่ประกาศราชกิจจานุเบกษา ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้หมด ยิ่งใกล้เลือกตั้งยิ่งต้องระวัง 

อย่าลืมว่า อิทธิฤทธิ์ของนักลงทุนในตลาดหุ้น เคยแสดงอภินิหารเขย่ารัฐบาลมาหลาย ๆ ต่อหลายครั้ง ลองพลิกประวัติศาสตร์ดูได้

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ