TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewAMED Telehealth ขยายการดูแลจากรพ.สนามสู่ Home Isolation

AMED Telehealth ขยายการดูแลจากรพ.สนามสู่ Home Isolation

เพื่อสนับสนุนให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ตั้งแต่การตรวจคัดกรอง เยียวยารักษา และพยาบาลฟื้นฟู สามารถเข้าถึงผู้ที่ต้องการการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลอย่างใกล้ชิด ท่ามกลางการระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้ศักยภาพในการรับรองผู้ป่วยของโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศอยู่ในสภาพเกินขีดจำกัด ระบบ AMED Telehealth จึงได้รับการคิดค้นพัฒนาขึ้น ทำให้คนผู้ป่วยทั้งหลายได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง แม้ว่าอาจจะไม่สามารถพบปะพูดคุยกับหมอและพยาบาลได้โดยตรง แต่ระบบ AMED Telehealth ก็ช่วยให้คนไข้ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมและเพียงพอ 

งานนี้ ดร. กิตติวงศ์ ถาวราวัฒน์ หัวหน้าทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ (HII) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) ในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล่าถึงที่มาที่ไปของระบบแพทย์ทางไกลหรือ AMED Telehealth ให้ The Story Thailand ฟังว่าได้แนวคิดริเริ่มในการลงมือทำตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อช่วงต้นปี 2020 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อใช้ในการคัดกรองและตรวจเฝ้าระวังอาการสำหรับผู้ที่ต้องเข้ารับการกักตัว (state quarantine) หลังเดินทางกลับจากต่างประเทศเข้ามายังไทย

กระนั้น น่าเสียดายว่ากว่าระบบจะคิดค้นเสร็จสิ้น การระบาดก็บรรเทาลงทำให้ต้องพับเก็บโครงการดังกล่าวไป แต่ก็ยังดำเนินการปรับปรุงระบบเรื่อย ๆ และมีโอกาสจะได้นำมาใช้หลายครั้งกับโรงพยาบาลสนาม ตั้งแต่เกิดการระบาดระลอก 2 และ ระลอก 3 ทว่าจังหวะเวลากลับไม่เอื้ออำนวย กล่าวคือระบบมีฟีเจอร์พร้อมใช้งานไม่ทันกับความต้องการใช้งานเร่งด่วนของโรงพยาบาลสนามในหลายพื้นที่ แต่ก็มีการทดสอบใช้งานหลายครั้ง ทั้งที่โรงพยาบาลสนามในเชียงใหม่ และโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์

“ทุก ๆ ครั้งที่เราผ่านกระบวนการเหล่านี้จะมีการปรับปรุงพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ มี input จากคุณหมอ จากพยาบาล ก่อนที่ระบบจะครบสมบูรณ์ มีฟีเจอร์ที่พร้อมใช้งานและตอบโจทย์โรงพยาบาลสนาม” ดร.กิตติวงศ์ กล่าว

ระบบ AMED Telehealth ที่เสร็จสมบูรณ์ได้เริ่มดำเนินการใช้งานเป็นที่แรกที่โรงพยาบาลสนามเพื่อคนพิการ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ของทางสวทช.

ซึ่งทีมแพทย์และคนไข้ให้เสียงตอบรับทางบวก เนื่องจากเป็นระบบที่ใช้งานได้ง่าย และตอบโจทย์การดูแลได้อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ ดร.กิตติ อธิบาย ระบบ AMED Telehealth คือ ระบบหลังบ้านสำหรับบริหารจัดการดูแลคนไข้ของโรงพยาบาล ทำหน้าที่คล้ายกับระบบบริหารจัดการข้อมูลคนไข้ อย่าง HIS (Hospital Information System) ที่โรงพยาบาลรัฐหลายแห่งทั่วไปใช้งานสำหรับผู้ป่วยในอยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่ ระบบ AMED Telehealth จะเป็นแพลตฟอร์มการบริหารจัดการโรงพยาบาลที่ทำให้เรียบง่ายขึ้น ใช้งานง่ายขึ้น มุ่งเน้นไปที่กระบวนการรักษา ทำให้ดูแลผู้ป่วยได้ง่าย ไม่มีหลุดรอดสำหรับโรงพยาบาลสนามผู้ป่วยโรคโควิค-19 โดยเฉพาะ

สำหรับจุดเด่นของระบบหลังบ้านตัวนี้ ดร.กิตติ ระบุว่า ต้องยกให้เป็นเรื่องการสื่อสารและการบันทึกข้อมูลผ่านระบบวิดีโอคอล (VDO Call) ที่ทำให้แพทย์กับพยาบาล และคนไข้ สามารถมองเห็นกันได้ ทำให้รู้สึกอุ่นใจ 

ในส่วนของข้อมูลสุขภาพที่คนไข้ต้องบันทึกเพื่อรายงานข้อมูลสัญญาณชีพทางไกล (Tele-vital Sign Monitor) ให้กับทางแพทย์ผู้รักษา ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิร่างกาย อัตราการเต้นหัวใจ ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด ความดันโลหิต รวมถึงอาการผิดแผกต่างๆ ที่สำคัญ ก็ทำได้ง่าย ผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนในทุกวันผ่านแอปพลิเคชั่น LINE OA (Line Official) ทำให้แพทย์สามารถสั่งการการรักษาทางไกล ลดความเสี่ยงการติดเชื้อและยกระดับการรักษาผู้ป่วยได้ทุกที่ทุกเวลา และได้ทันท่วงที 

ขณะที่ในฝั่งของผู้ให้บริการรักษาพยาบาล นอกจากเฝ้าระวังอาการแล้ว ระบบ  AMED Telehealth ยังมีประโยชน์ต่อการลงทะเบียนผู้ป่วย และบันทึกรายงานให้แก่ผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ แพทย์สามารถสั่งการรักษา สั่งยา X-Ray พร้อมบันทึก SOAP ได้ ตลอดจนมีระบบ Dashboard ใช้งานการบริหารจัดการข้อมูลเตียงผู้ป่วย ระบบค้นหา กรองข้อมูลสำคัญที่สามารถกำหนดเงื่อนไขการค้นหาต่าง ๆ ได้ 

“เราพยายามตอบโจทย์โรงพยาบาลสนาม คือให้ใช้งานได้ง่าย ได้สะดวก มองเห็นภาพรวมของการดูแลคนไข้ได้ ขณะที่ฝั่งของคนไข้มีหน้าที่อย่างเดียว คือ รายงานผลบันทึกสุขภาพและอาการให้แพทย์พยาบาลรับรู้” ดร.กิตติวงศ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเกินขีดความสามารถในการรองรับของโรงพยาบาลสนาม ทำให้สาธารณสุขไทยต้องแบ่งผู้ติดเชื้อออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่  ๆ คือ กลุ่มจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล กับกลุ่มที่ไม่แสดงอาการ มีอาการเล็กน้อย แต่จำเป็นต้องกักตัวเพื่อสังเกตอาการ 

ดร.กิตติ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มที่ไม่แสดงอาการที่ไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาลสนามนี้ มีลักษณะสอดคล้องสอดรับกับระบบ AMED Telehealth ที่แพทย์และพยายาลให้การดูแลรักษาติดตามอย่างใกล้ชิดจากระยะทางไกลโดยที่ผู้ติดเชื้อใช้บ้านและที่อยู่อาศัยเป็นสถานที่พักฟื้นและกักตัวของตนเอง 

ดังนั้น การใช้งานระบบ AMED Telehealth จึงได้รับการขยายต่อยอดจากโรงพยาบาลสนามมาสู่ระบบกักตัวตัวจากที่บ้าน หรือ Home Isolation ไปโดยปริยาย 

“หนึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสนามหรือผู้ป่วยกักตัวที่บ้านจำเป็นต้องรายงานสุขภาพประจำวันให้ทีมแพทย์รับทราบ สองในการติดตามดูแลคนไข้ หมอที่มาดูแลที่โรงพยาบาลสนาม กับหมอที่มาดูแล home isolation จะมีวิธีการในการบริหารจัดการเหมือนกันเลย ก็เลยเป็นที่มาของการนำระบบเข้าใช้กับ Home Isolation โดยที่แรกที่ทำก็คือโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ในวันที่ 1 กรกฎาคม” ดร.กิตติวงศ์ กล่าว

แน่นอนว่า การทำงานของระบบเป็นไปด้วยดี เพียงแต่จะมีลักษณะการทำงานที่ต่างจากโรงพยาบาลสนามไปบ้าง เพราะจำนวนคนในการดูแลที่มากขึ้น และมีเงื่อนไขเรื่องของการส่งยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เทอร์โมมิเตอร์ และอาหารไปตามบ้านที่เพิ่มเข้ามา 

ขณะเดียวกัน ด้วยประสิทธิภาพการทำงานของระบบ AMED Telehealth ทางกรมการแพทย์จึงได้ติดต่อเข้ามาขอใช้กับโรงพยาบาลในสังกัดได้แล้วกว่า 80 แห่งทั่วประเทศทันที จากนั้นไม่นาน ทางสำนักอนามัยกทม. ที่ดูแลศูนย์อนามัย คลีนิก และโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานาคร ได้ติดต่อเข้ามาขอใช้ระบบ AMED Telehealth สำหรับการกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolaton เช่นกัน เพียงแต่เวลาเอาระบบไปใช้ แต่ละหน่วยงานนำไปใช้จะเปลี่ยนชื่อ เรียกระบบ AMED Telehealth ให้สอดคล้องกับหน่วยงานต้นสังกัด เช่น DMS Home Isolation หรือ BBK H-iCare เป็นต้น

ขณะที่ ดร.กิตติ เปิดเผยว่า มีจำนวนคนไข้ในการดูแลในระบบ Home Isolation ราว 75,000 คน โดยตัวเลขยังคงเพิ่มขึ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีข้อมูลเก็บที่ศูนย์ข้อมูลกลางให้แพทย์เข้ามาดู ลักษณะของส่วนเก็บข้อมูลจะมีลักษณะโรงพยาบาลเสมือน ที่มีเตียงเสมือน ให้คนไข้มารอแล้วหมอเข้าไปตรวจ โทรคุย บันทึกการรักษา สั่งยา จัดยา และติดตามคำสั่งแพทย์ 

“วิธีการเปิดโรงพยาบาลเสมือนจึงง่ายมาก เพียงเข้ามาแจ้งความจำนง ระบุความต้องการขนาดเตียง หรือขนาดพร้อมรองรับคนไข้ จากนั้นก็ใช้เวลา 2 วันในการสร้าง คือวันแรกติดตั้งระบบ วันที่สองอบรมการใช้งาน ส่วนวันที่สามก็พร้อมให้บริการ เริ่มงานได้เลย ทำได้เร็ว ก็เลยทันเหตุการณ์ เรียกได้ว่าโชคดีที่มีระบบเตรียมพร้อมอยู่แล้ว” ดร.กิตติวงศ์ กล่าว

ด้วยจำนวนคนไข้ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดประเด็นเรื่องความสามารถในการรองรับการใช้งานคนจำนวนมากของตัวระบบ ซึ่งดร.กิตติยอมรับว่า ระบบขณะนี้ที่มีผู้ป่วยในการดูแลอยู่ที่มากกว่า 70,000 คนแล้วยังคงทำงานได้ตามปกติ ซึ่งทีมนักพัฒนามั่นใจว่าระบบจะสามารถรองรับจำนวนคนได้อีกหลายแสนคน 

“เพราะเราใช้ระบบคลาวด์ส่วนกลางของ NT เป็นคลาวด์ของภาครัฐ ซึ่งสามารถอัพเกรดระบบให้ใหญ่ขึ้น เราก็มองว่ามันสามารถรองรับได้หลายแสน สามารถไปต่อได้สบาย” ดร.กิตติวงศ์ กล่าว

ดร.กิตติ ย้ำว่า ด้วยการทำงานของระบบ AMED Telehealth ประโยชน์หลัก ๆ คือ การช่วยคุณหมอในการจัดการดูแลคนไข้จำนวนมาก ที่สถานพยาบาลบางแห่ง คุณหมอ 1 คนดูแลคนไข้มากกว่า 6,000 คน ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะให้การดูแลคนไข้ทั้งหมด 6,000 คน โดยไม่หลุดแม้แต่คนเดียว คำตอบคือ ระบบ AMED Telehealth ที่ช่วยให้คนไข้ได้รับการติดตามโดยไม่หลุด เพราะการหลุดอาจหมายถึงลมหายใจที่ถูกพรากไปตลอดกาล

ยิ่งไปกว่านั้น ระบบ AMED Telehealth ยังทำหน้าที่เป็นเสมือนศูนย์กลางในการช่วยดูแลคนไข้ Home Isolation ที่เปิดให้ทีมแพทย์อาสาจากทั่วโลกเข้ามาช่วยดูแลได้ทั่วถึงเต็มที่ ช่วยอำนวยความสะดวกการทำงานของคุณหมอและพยาบาล ส่วนแผนการในอนาคตขณะนี้ยังคงมุ่งเน้นบริการไปที่กลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 เป็นหลัก ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์การทำงานให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น 

“เรามีการปรับปรุงระบบมาเรื่อย ๆ ตอนนี้เป็นเวอร์ชันที่ 79 แล้ว คาดหวังว่าพ้นโควิด คงจะมีการปรับไปแล้วกว่า 100 รอบ เหมือน 100 เวอร์ชัน จะมีความต้องการแต่ละช่วงที่ต่างกันเพิ่มเข้ามา เช่น ช่วงนี้ที่การระบาดเริ่มลด จะมีงานในส่วนแอดมินเข้ามา คือ ขอใบรับรองแพทย์ ระบบสามารถสร้างขึ้นมาได้ ซึ่งอนาคตคิดว่าน่าจะต่อยอดจนเป็นระบบที่ทำให้คุณหมอสามารถดูแลคนไข้ได้อย่างง่าย ๆ ถ้าเป็นระบบเดิมของโรงพยาบาลจะค่อนข้างหนัก ข้อมูลเยอะ เป็นส่วนต่อขยาย HIS แบบ Lite และคาดหวังให้เป็นระบบมาตรฐานของ telehealth ของโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศต่อไป” ดร.กิตติวงศ์ กล่าว

ยังไม่นับรวมความสามารถของระบบหลังบ้านของ AMED Telehealth ที่ครอบคลุมถึงการดูแลเรื่องงบประมาณและการสั่งจ่าย มีระบบตรวจสอบที่น่าเชื่อถือทำให้ลดขั้นตอนการทดสอบ ตอนนี้ระบบเชื่อมกับหน่วยบริการ และส่วนที่สองที่กำลังทำอยู่ คือ เชื่อมกับสปสช. เพื่อทำการเบิกจ่าย โดยมีข้อมูลให้ตรวจสอบตรงความเป็นจริง จ่ายตามจริง ขณะเดียวกัน และกำลังเชื่อมกับระบบ CoLink ขอเตียงสำหรับคนไข้สีแดงที่จำเป็นต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยเป็นระบบออโตเมติก ทำให้ระบบลื่นไหลได้ง่ายขึ้น 

“จริง ๆ ระบบก็ครอบคลุมครบ 99% แล้วะ แต่ว่าจะมีรายละเอียดปลีกย่อยให้ปรับปรุงอยู่เรื่อย ๆ มีข้อติดขัดไม่สะดวก ตรงนั้นใช้ง่าย ใช้ยาก กระนั้น ทางเราจะยังไม่หยุดที่จะเดินหน้าพัฒนาระบบต่อไป” ดร.กิตติวงศ์ กล่าว

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ