TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessBitkub ปรับกลยุทธ์เน้นความยั่งยืน จัดทัพเตรียมรับการเติบโตรอบใหม่

Bitkub ปรับกลยุทธ์เน้นความยั่งยืน จัดทัพเตรียมรับการเติบโตรอบใหม่

ปี 2565 ที่ผ่านมาว่ากันว่าเป็น winter ของวงการคริปโตเคอเรนซี เมื่อต้องเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจผันผวนอันเนื่องมาจากเงินเฟ้อสูง ตามมาด้วยมาตรการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดึงเม็ดเงินออกจากระบบเศรษฐกิจ ทำให้เงินไหลออกจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจนมูลค่าปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการคริปโตฯ หลายรายต้องปิดตัวลง และข่าวร้ายที่สุดก่อนจะสิ้นสุดศักราชคือการล้มละลายของ FTX ซึ่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของวงการคริปโตเคอเรนซีเป็นอย่างมาก

ในวาระเริ่มศักราชใหม่ในปี 2566 The Story Thailand คุยกับ “ท๊อป- จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ บิทคับ (Bitkub) แพลตฟอร์มบริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอันดับหนึ่งของเมืองไทย ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นตลอดปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้บริหารบิทคับมองว่า ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นเป็น perfect storm ระยะสั้น ไม่ว่าปัญหาเงินเฟ้อ สงคราม อาหารแพง พลังงานขึ้นราคา ล้วนเป็นสิ่งที่นาน ๆ จะเกิดขึ้น โดยเชื่อว่าปี 2566 จะยังไม่จบ เป็นที่มาให้บิทคับต้องปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจครั้งใหญ่เพื่อรับมือกับอนาคตอันใกล้

Bitkub Chain ประกาศแผนเตรียมรุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2566

เน้นกลยุทธ์มุ่งสู่ความยั่งยืน

“ช่วงเวลา 4 ปี 11 เดือน ที่เปิดบริการมาเราเน้นที่ growth หรือกลยุทธ์เพื่อการเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างเดียว แต่นับจากปีนี้เป็นต้นไปเราได้ปรับกลยุทธ์ไปที่ sustainability คือเน้นเรื่องความยั่งยืนมากกว่า”

จิรายุส บอกว่าเมื่อจุดเน้นเปลี่ยนไปทำให้ทุกอย่างก็เปลี่ยนหมด ทั้งความคิด นโยบาย วิธีการทำงาน วิธีการตัดสินใจ จะมุ่งไปที่ความยั่งยืนเป็นสำคัญ ไม่ใช่เน้นการเติบโตแบบก้าวกระโดดเหมือนที่ผ่านมา โดยจะให้ความสนใจกับ ESG หรือการทำธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และการกำกับดูแล (Governance) แต่จะเน้นที่ S และ G เป็นสำคัญ

โดยตัว S (Social) คือการทำ stakeholder management บิทคับจะต้องบริหารจัดการหลาย stakeholder มากขึ้น นอกจากจะต้องไม่ละทิ้งลูกค้า ไม่ละทิ้งพนักงาน บิทคับยังต้องมองไปถึงการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศมากยิ่งขึ้น

“เมื่อเราวางบทบาทเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ จากนี้คงจะบริหาร stakeholder แบบเดียวกับสตาร์ตอัพทั่วไปไม่ได้แล้ว จะดูแลเพียงหุ้นส่วน ลูกค้า และพนักงาน แค่นี้ไม่พอ เพราะเราเป็นกลไกหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ จำเป็นต้องดูหลากหลาย stakeholder มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการกำกับดูแลของ regulator ด้านภาพลักษณ์ของรัฐบาล ด้านการศึกษาและแวดวงวิชาการ สมาคมต่าง ๆ พันธมิตรทางธุรกิจ หรือคู่ค้าต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งสื่อต่าง ๆ ที่จะต้องให้ความสำคัญและมีการบริหารจัดการ”

เขาบอกว่า “หลายอย่างที่ไม่เคยทำในอดีต จากนี้ไปต้องทำเพื่อกระจายผลประโยชน์ให้ stakeholder ได้กว้างขึ้น ซึ่งในระยะยาวก็จะสร้างคุณค่าที่ดีตอบแทนให้กับบริษัทถ้าทุก stakeholder พึงพอใจ”

โดยยืนยันว่าวันนี้บิทคับไม่ใช่บริษัทเล็ก ๆ อีกต่อไป เมื่อมี stakeholder ที่ต้องบริหารจัดการมากขึ้น ก็ต้องมีการจัดแบ่งทรัพยากรออกไปเป็นหลายๆ ทาง รวมทั้งในการทำงานก็ต้องวางแผนงานเพิ่มขึ้นเพื่อสนองความคาดหวังที่หลากหลายของ stakeholder ได้มากขึ้น

ส่วนตัว G หรือ Governance บิทคับจะต้องปรับตัวให้เป็น corporate มากยิ่งขึ้น เพราะด้วยขนาดองค์กรที่ใหญ่ขึ้น ไม่มีความคล่องตัวที่จะทำอะไรได้อย่างรวดเร็วเหมือนสตาร์ตอัพอีกต่อไป รวมทั้งมี stakeholder จำนวนมาก จึงต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ มากขึ้น

“เรื่องสำคัญของเราในปี 2566 จะไม่ใช่การโตเร็วแบบก้าวกระโดดอีกแล้ว เราจะต้องเน้นที่การบริหารความเสี่ยงที่จะได้ผลลัพธ์เป็นความยั่งยืน ซึ่งก็ต้องยอมเสียสละในเรื่องประสิทธิภาพประสิทธิผล เราอาจจะมีขนาดใหญ่เทอะทะมากขึ้น แต่มี check & balance ภายใน ทำให้เกิด good governance (ธรรมาภิบาล) มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจ สร้างการมีสวนร่วมในการออกความคิดเห็นเพื่อจะช่วยกันกลั่นกรองให้เกิดการตัดสินใจที่ดีที่สุดในทุกมิติของบริษัท”

เขากล่าวว่า บิทคับจะมีการตระเตรียมโครงสร้างองค์กรให้มีความแข็งแรงมากขึ้น โดยจะมีบอร์ดหลาย ๆ บอร์ด มีกรรมการอิสระเข้ามา มีการแบ่งอำนาจการตัดสินใจเป็นหลายระดับ 

“เป็นการ beyond founder มีการฝึกอบรมสร้างผู้บริหารในอนาคตที่จะสามารถขยับขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรในเครือบริษัทของเรา”

ทั้งนี้ ช่วงที่ 4 ที่ผ่านมา บิทคับเติบโตอย่างรวดเร็วมาก เมื่อกลับมาทบทวนก็มองเห็นหลาย ๆ ปัญหาที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น โดยมีหัวใจสำคัญคือการลดความเสี่ยง ซึ่งเชื่อมโยงกับแนวคิดความยั่งยืน ดังนั้นปี 2566 จึงเป็นปีของการจัดการภายในองค์กรเพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืนในหลาย ๆ ด้าน

“เมื่อมุ่งเน้นที่ความยั่งยืนเป็นเป้าหมายก็ต้องกลับมาจัดการกับหลาย ๆ เรื่อง เพราะช่วงที่เติบโตมาก มีรูรั่วเยอะ จากนี้เราต้องมาปะรูรั่วให้หมด เช่นเรื่องค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น”

เขากล่าวว่าในสภาพที่ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดอาจมองข้ามในบางเรื่อง เช่น วิธีการทำงาน การสื่อสารภายในองค์กร การสร้างวัฒนธรรมองค์กร “นับจากนี้ไปจะต้องมีการพัฒนาด้าน soft skill, mindset, core believe, core value หรือการสร้างให้ทุกคนมีวัฒนธรรมองค์กรอย่างเดียวกัน”

“ในอนาคตเราต้องสร้างโอกาสให้เท่าเทียมกัน ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาทในการเป็นผู้นำองค์กรให้มากขึ้น

มี diversity หรือความหลากหลายด้านความคิดมากขึ้น หลายมุมมองในการทำงานมากยิ่งขึ้น ต้องมี inclusion มากขึ้น เพื่อสร้างความยั่งยืน ซึ่งการทำ sustainability เป็นสิ่งที่เราคงต้องทำอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ในแบบเดียวกับที่บริษัทใหญ่ ๆ ทำกัน”

Bitkub Ventures ประกาศเข้าลงทุนใน KillSwitch แพลตฟอร์ม Yield Farming

เตรียมพร้อมรับการเติบโตรอบใหม่

ในขณะที่บางคนมองว่าปี 2567 สถานการณ์เศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ผู้บริหารบิทคับกลับมองว่าทั่วโลกยังจะดึงดอกเบี้ยให้ขึ้นไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่เงินเฟ้อยังไม่ลดลงในระดับที่น่าพอใจ 

“ก่อนนี้มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบจำนวนมาก ทำให้การเข้าถึงเงินทำได้ง่าย ใช้จ่ายง่าย ธุรกิจต่าง ๆ ก็เติบโต จนเกิดภาวะเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบ 40 ปี แต่ตอนนี้กลับตรงกันข้าม มีการดึงเงินออกจากตลาดทั่วโลกทำให้เงินหายไป เงินลงทุนในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีลดไปประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย ส่งผลให้พนักงานถูกออกจากงานรวมกันนับแสนคนในปี 2565 สถานการณ์จะไม่ดีขึ้นจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงมาอยู่ที่ไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์” 

ซึ่งเขาคาดว่าปี 2566 เงินเฟ้อจะยังไม่ลงมาอยู่ที่ระดับ 2 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ต้องมองในกรณีที่เลวร้ายที่สุดเผื่อไว้ก่อน โดยเชื่อว่าปี 2566 เศรษฐกิจจะถดถอย จึงเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนควรจะได้พักหายใจ กลับมาปัดกวาดบ้าน เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการบุกตลาดใหม่อีกครั้งในปี 2567

“เราคาดการณ์ว่าน้ำจะขึ้นอีกทีในปี 2567 ปีนี้จึงเป็นการเตรียมขันให้พร้อมสำหรับตักน้ำที่เชื่อว่าจะใหญ่กว่าเดิม การเตรียมขันก็คือการ clean up ในทุก ๆ เรื่อง เราจะต้องทำการปรับปรุงทั้งวิธีการทำงาน ปรับปรุงเทคโนโลยี วัฒนธรรมองค์กร และการสื่อสาร ทำให้บริษัทมีความมั่นคงแข็งแรงขึ้น”

ทั้งนี้ เขาอธิบายว่าโดยภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ทุก 4 ปีจะเป็นปีทอง กล่าวคือปี 2564 เป็นปีทอง ถอยไปเป็นปี 2560 ก่อนหน้านั้นก็เป็นปี 2556 

“ครั้งต่อไปปี 2567 จะเป็นปีที่อัตราเงินเฟ้อลดลงมาเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ตามที่การประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอสได้กำหนดไว้ หมายความว่าการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจก็คงจะกลับมาใหม่ในปีหน้า”

เขาย้อนประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า เนื่องจากบิทคับอยู่ในโมเดลธุรกิจที่เป็นแบบ winner take all ดังนั้นช่วง 4 ปีแรกจึงต้องเร่งทำทุกอย่างเพื่อให้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะเกมส์ธุรกิจแบบนี้ผู้ที่ถึงเส้นชัยก่อนจะเป็นผู้ชนะขาด

“ในแง่กลยุทธ์ช่วงแรกจึงเน้นที่ sustainability ไม่ได้ เพราะถ้ายังไม่เข้าเส้นชัยก็อาจถูกคนอื่นชิงเข้าไปก่อน แต่วันนี้ถือได้ว่าเราเป็น the winner ในเมืองไทยแล้ว”

“มาถึงตอนนี้เราจะทำให้เหมือนวิ่งมาราธอน ทำอย่างไรให้เรายั่งยืน ถ้าไม่เลือกทางนี้ก็ต้องไปบุกตลาดต่างประเทศซึ่งก็ต้องวิ่ง sprint คือต้องเน้นการเติบโตเร็วเช่นกัน”

ซึ่งในการขยายไปตลาดต่างประเทศ เขาเห็นว่าบิทคับก็จำเป็นต้องเตรียมตัว มองหาตลาด วิจัยตลาด และยังต้องเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรให้พร้อมรองรับด้วย “ถ้าออกไปในสภาพที่ยังไม่พร้อมทุกอย่างก็ยุ่งเหยิงไปหมด แค่เฉพาะตลาดในเมืองไทยตอนนี้เรามีอยู่ 9 บริษัทแล้ว จึงต้องวางโครงสร้างองค์กรให้ถูกต้องก่อน จากนั้นจึงค่อยขยายออกไป”

ปี 2566 จึงเป็นจังหวะเวลาที่บิทคับจะจัดวางโครงสร้างองค์กรให้ใหญ่ขึ้นเพื่อสร้างความพร้อมสำหรับออกไปบุกต่างประเทศ โดยเขาเรียกกระบวนการนี้ว่า structure reengineering โดยเปรียบเหมือนการปรับฐานโครงสร้างของตึกให้ใหญ่ก่อนจะต่อเติมอาคารให้สูงขึ้นไป

เขาคาดหวังว่าหลังจากปรับฐานโครงสร้าง สร้างความพร้อมให้กับกลุ่มบริษัทในปีนี้แล้ว ปี 2567 บิทคับจะสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่าตัว

“ตามหลักยิ่งฐานใหญ่การเติบโตก็ยิ่งช้าลง ที่ผ่านมาเราเคยเติบโตระดับ 1,000 เปอร์เซ็นต์ทุกปี โดยเฉพาะปี 2564 เติบโตมากขึ้น 2,000 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะเติบโตระดับ 1,000 เปอร์เซ็นต์จากจากฐานที่ใหญ่ขนาดนี้”

เมื่อยุคของ Web 3.0 มาถึง โลกเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คุณคิด

เติบโตบนฐานที่แข็งแรง

จิรายุสเปิดเผยว่า ปัจจุบันบิทคับมีการจดทะเบียนบริษัททั้งหมด 12 บริษัท แต่มีการดำเนินการแล้ว 9 บริษัทโดยยังคงเป็นกลุ่มบริษัทที่เน้นทำ ecosystem ของเทคโนโลยีบล็อกเชน และสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทยเป็นสำคัญ

“เราทำเรื่องบล็อกเชน และดิจิทัลแอสเซทตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำที่มี synergy ระหว่างกัน ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เปรียบเหมือน CP ทำ ecosystem ของธุรกิจอาหารตั้งแต่ผลิตวัตถุดิบ ผลิตอาหาร ไปจนถึงช่องทางจำหน่าย”

“เราไม่ใช่มีเฉพาะ บิทคับ ออนไลน์ ที่ให้บริการ digital currency exchange อย่างที่หลายคนเข้าใจ”

จิรายุสย้ำข้อมูลให้เห็นภาพรวมว่า บิทคับมีธุรกิจที่แตกออกไปหลายอย่าง ได้แก่ บิทคับ แล็บ ที่รู้จักกันในชื่อ Bitkub Academy เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชน, บิทคับ เอ็ม ที่ร่วมลงทุนกับเดอะมอลล์ กรุ๊ป สร้างพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้และสัมมนา มีทั้ง co-working space มี NFT gallery และมีการร่วมลงทุนกับกิจการ SME ต่าง ๆ

บิทคับ เวนเจอร์ส เน้นการลงทุนในสตาร์ตอัพเพื่อสร้าง startup ecosystem สร้าง startup accelerator ของประเทศ ซึ่งปี 2565 ที่ผ่านมา มีการลงทุนไป 100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ลงทุนไป 10 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมี บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี ให้บริการด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน, บิทคับ เวิลด์เทค ที่ร่วมลงทุนกับกลุ่มทองแตงเพื่อเป็นศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านการศึกษาเทคโนโลยีดิจิทัลและ re-skill สำหรับเยาวชน, บิทคับ เพลย์ พัฒนาเกมส์แห่งอนาคต, บิทคับ อินฟินิตี บริการจัดการด้านกองทุนดิจิทัล ซึ่งอยู่ระหว่างขอใบอนุญาตจาก กลต. และบริการล่าสุด บิทคับ เมตาเวิร์ส ที่จะเปิดตัวในเดือนมกราคม 2566 นี้

ขณะที่ธุรกิจกำลังขยายตัว แต่ในปี 2565 การเติบโตของบิทคับกลับหดหายไปถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์และตราสารหนี้ต่าง ๆ ด้วยเหตุว่า “ทุกตลาดตกลงหมดเพราะมีการดึงเงินออกจากระบบทั่วโลก”

แม้ต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่ผู้บริหารบิทคับยืนยันว่ากลุ่มธุรกิจของเขายังมีความแข็งแรงจากการมีความสามารถทำเงินได้จริงในช่วงที่ผ่านมาโดยไม่ต้องระดมทุนเพิ่ม

“บิทคับเป็นยูนิคอร์นแบบมี performance เพราะเราทำเงินได้จริง ๆ มี net profit 3,000 กว่าล้านบาทต่อปี จะเห็นว่าขณะที่หลายบริษัทต้องลดจำนวนคนทำงาน แต่บิทคับกลับมีพนักงานเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี 2565 จำนวน 200 คน ปัจจุบันมีราว 1,000 คน”

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าสภาพที่เกิดขึ้นกับตลาดคริปโตเคอเรนซีในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาพลักษณ์ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ แต่เชื่อว่าจะเป็นผลระยะสั้นเท่านั้น

“สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะเป็นการกรองตัวปลอมออกจากระบบไป” เขาแสดงความเห็น โดยยกคำกล่าวของ วอร์เรน บัฟเฟด ที่ว่า “เวลาน้ำขึ้นทุกคนก็ดูดีไปหมด แต่พอน้ำลงจะรู้ว่าใครแก้ผ้าอยู่” มาอธิบาย

อนาคตเน้นที่เว็บ 3.0 

“โลกเรากำลังขับเคลื่อนจากฟิสิกคัลไปเป็นดิจิทัล ยังไงเว็บ 3.0 ก็ต้องมา เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง AI, AR/VR, Metaverse, Blockchain, Crypto currency ที่กำลังเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ซึ่งเราก็อยากเป็นกลุ่มที่ทำสิ่งใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทย เพื่อสร้างให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัล”

จิรายุสตอกย้ำถึงเป้าหมายในอนาคตที่เป็นวิสัยทัศน์ของบิทคับตั้งแต่เริ่มต้นเปิดบริษัท โดยเขาคาดหวังว่ายุคเว็บ 3.0 จะเป็นอนาคตของคนไทย จึงมุ่งสร้างระบบนิเวศของคนไทยขึ้นมา

“เราต้องการจะเติบโตจากภายในออกไป จึงต้องปรับฐานใหม่ ซึ่งจะไม่ช้าอย่างตอนเริ่มต้นสร้างบริษัท”

“เราคาดหวังว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับบิทคับจะมีส่วนช่วยเกื้อให้เกิดสตาร์ตอัพอื่น ๆ ของไทย เหมือนที่ Paypal mafia ส่งผลให้เกิดบรรดาบริการใหม่อย่าง Youtube, Linkedin, Yeip หรือ Tesla ซึ่งแต่ละคนต่างเติบโตขึ้นกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมดิจิทัล ทำให้เกิด angle investor ขึ้นมา มีการลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพใหม่ ๆ จนในที่สุดกลายเป็นซิลิกอน วัลเล่ย์ขึ้นมา”

เขาคาดหวังว่าความสำเร็จของบิทคับจะมีส่วนช่วยดึงดูดให้นักลงทุนสนใจประเทศไทยมากขึ้น ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกันบิทคับเองก็ลงทุนในสตาร์ตอัพแบบรุ่นพี่ส่งต่อโอกาสให้รุ่นน้อง ซึ่งจะช่วยให้เกิดสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ขึ้นมา 

“เราหวังว่าจะช่วยอุตสาหกรรมสตาร์ตอัพของไทยให้เติบโตขึ้น โดยการเติมเต็มในส่วนที่ ecosystem ของสตาร์ตอัพยังไม่พร้อม หรือพยายามช่วยปิดช่องว่างส่วนที่คนอื่นไม่ทำกัน ถ้าบิทคับเติบโตไปได้ไกลกว่านี้ก็จะช่วยดึงให้วงการสตาร์ตอัพไทยไปได้ไกลขึ้น”

ทั้งนี้ที่ผ่านมา บิทคับจะลงทุนในสตาร์ตอัพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีบล็อกเชน หรือเว็บ 3.0 ตามแนวคิดที่ต้องการสร้างยุคเว็บ 3.0 ให้อยู่ที่เมืองไทย

“ตอนนี้การลงทุนยังเน้นอยู่ที่เว็บ 3.0 แต่ต่อไปคงขยายการลงทุนออกไปยังบริษัทที่ทำสิ่งใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทย” เขากล่าวทิ้งท้าย

………

คำแนะนำต่อนักลงทุน

ผู้บริหารบิทคับมีคำแนะนำสำหรับนักลงทุนว่า “ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยต้องเก็บเงินสดไว้ให้มากที่สุด อย่าใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น อะไรที่อยากจะซื้อก้อนใหญ่ ๆ ให้เลื่อนไปใช้จ่ายในปี 2567 หลังจากมีการอัดฉีดเงิน (Helicopter Money) กลับเข้ามาในตลาดอีกครั้ง”

“ที่สำคัญอย่าก่อหนี้เพิ่ม” เขาชี้ให้เห็นว่าเวลานี้ประเทศไทยมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อันตรายมากเพราะเศรษฐกิจอาจจะถดถอยไปยาวนานหากหนี้ครัวเรือนถึงจุดระเบิด ดังนั้นในระยะสั้นจำเป็นต้องเก็บเงินสดไว้ให้มากที่สุด

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สมชัย อักษรารักษ์ – เรียบเรียง

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Bitkub Series ที่เป็นความร่วมมือด้าน content ระหว่าง The Story Thailand และ BitKub

EP 4 “บิทคับ เวนเจอร์ส” เพาะพันธุ์กล้าสตาร์ตอัพไทย

EP 3 ‘Bitkub Chain’ กับเป้าหมายสร้าง ‘บล็อกเชน’ เป็น ‘ฐานรากเศรษฐกิจ’ ของประเทศไทย

EP 2 กลยุทธ์การสื่อสาร 360 องศา กับ การสร้างแบรนด์ ‘Bitkub’ สู่ Great Company

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ