TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyบันทึกประวัติสุขภาพครอบครัว FFC กุญแจสำคัญสู่คุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน

บันทึกประวัติสุขภาพครอบครัว FFC กุญแจสำคัญสู่คุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน

หนึ่งในพื้นฐานที่ชี้วัดการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็คือร่างกายที่แข็งแรง แต่เพราะความเจ็บป่วยและโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น การมีระบบสาธารณสุขที่ดีที่ผสมผสานให้เกิดมิติของการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การบำบัดรักษาโรค และการซ่อมแซมฟื้นฟูสมรรถภาพให้ดี จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ 

ในฐานะแพทย์ผู้ทำหน้าที่ดูแลและตรวจรักษาความเจ็บป่วยให้แก่ผู้ป่วยโดยตรง พญ.ฐิตินันท์ นาคผู้ แพทย์ประจำ ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ กล่าวว่า การมีข้อมูลและประวัติการรักษาของผู้ป่วยอย่างละเอียด คือ กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้การทำหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในแง่ของการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การบำบัดรักษาโรค และการซ่อมแซมฟื้นฟูสมรรถภาพ

ดังนั้น การบันทึกและเก็บบันทึกประวัติสุขภาพของผู้ป่วย จึงเป็นประโยชน์อย่างมากในการที่จะทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการของโรคได้อย่างตรงจุด ในระยะเวลาอันรวดเร็ว และลดทอน หรือหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ป่วยได้ 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา แม้โรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ จะมีโปรแกรมบันทึกประวัติสุขภาพของผู้ป่วยและประชากรแต่ละกลุ่มวัยที่อยู่อาศัยในพื้นที่อยู่แล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดในการจัดเก็บข้อมูล โดยเฉพาะการที่ต้องบันทึกข้อมูลด้วยมือก่อนนำมาคีย์ลงระบบหลังจากออกตรวจเยี่ยมผู้ป่วยในพื้นที่ ทำให้การบันทึกข้อมูลสุขภาพกลายเป็นงานซ้ำซ้อน และเป็นภาระหนักของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง 

ดังนั้น การมีโปรแกรมบันทึกข้อสุขภาพครอบครัวแบบพกพา หรือ Family Folder Collector (FFC) จึงตอบโจทย์โดนใจบุคลากรทางการแพทย์อย่าง พญ.ฐิตินันท์ อย่างแท้จริง และได้นำมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ซึ่งตัวโปรแกรมสามารถประมวลผลทางสถิติทำให้ทราบข้อมูลปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ 

บันทึกประวัติสุขภาพครอบครัว FFC กุญแจสำคัญสู่คุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน

โดยพบว่าผู้ป่วยที่มารับการรักษาและใช้บริการที่ศูนย์ฯ ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง เบาหวาน และภาวะโรคไตเรื้อรัง ซึ่งพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ที่ยังไม่สามารถควบคุมสภาวะการเจ็บป่วยได้ดีเท่าที่ควร และมีความจำเป็นต้องลงพื้นที่ไปเยี่ยมถึงบ้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สหวิชาชีพจะได้ช่วยประเมินอาการและภาวะแทรกซ้อน และหาแนวทางการดูแลรักษา รวมทั้งให้ข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ทางสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ข้อแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย ทั้งสุขภาพกาย จิตใจ และสังคมต่อไป 

ทั้งนี้โปรแกรม FFC มีประโยชน์อย่างยิ่งในกิจกรรมดังกล่าว คือ โปรแกรมถูกออกแบบมาในรูปของแอปพลิเคชัน ซึ่งสามารถดาวน์โหลดติดตั้งในสมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์แท็บเล็ต ทำให้สะดวกต่อการพกพาลงพื้นที่ และสามารถนำไปบันทึกประวัติแบบเรียลไทม์หน้างานได้เลย โดยไม่ต้องยุ่งยากอย่างการบันทึกแบบใช้กระดาษอีก

นอกจากนี้ ยังสามารถนำ FFC ไปใช้ในโปรแกรมของผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการทุพพลภาพ หรือกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะบกพร่องทางสมองที่อยู่ในระยะพึ่งพิงอีกด้วย 

FFC เครื่องมือสำคัญทางการแพทย์

ในมุมมองของ พญ.ฐิตินันท์ โปรแกรมบันทึกข้อมูลสุขภาพครอบครัวแบบพกพา (FFC) จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญทางการแพทย์ที่มีประโยชน์มหาศาล การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกในการทำงาน สามารถช่วยลดทอนแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้

“หลังการทดลองใช้งานไประยะหนึ่ง คือนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 พบว่า FFC เป็นโปรแกรมที่ไม่ซับซ้อน และใช้งานได้ง่ายจริง ๆ”

FFC ได้รับการออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย ทำให้การลงบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องยาก สะดวกต่อการบันทึกจัดเก็บข้อมูล ช่วยลดขั้นตอนการทำงาน จากเดิมที่การลงพื้นที่ต้องบันทึกข้อมูลที่ได้จากการลงเยี่ยมบ้านผู้ป่วยด้วยมือแล้วนำกลับมาคีย์เข้าระบบอีกในที่ทำงาน ก็สามารถบันทึกผ่านแอปพลิเคชัน FFC บนแท็บเล็ตที่จะส่งข้อมูลเข้าฐานข้อมูลจัดเก็บไว้ที่คลาวด์ (Cloud) แล้วเชื่อมโยงกับระบบ JHCIS ได้โดยตรง นอกจากนี้ ข้อมูลที่บันทึกใน FFC บุคลากรทางการแพทย์ยังสามารถเปิดดูได้ย้อนหลังอีกด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการประเมินสภาพการเปลี่ยนแปลงและติดตามผลการดูแลผู้ป่วยในแต่ละครั้งที่ลงเยี่ยม เป็นเสมือนการเก็บรวบรวมข้อมูลความเป็นไปทางสุขภาพ และประวัติการรับการดูแลที่บ้านของผู้ป่วยที่มีการจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชันการใช้งานที่ครอบคลุมและคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นหลัก ช่วยทำให้บุคลากรทางการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพ ซึ่งอาจจะไม่เชี่ยวชาญหรือมีทักษะในการใช้อุปกรณ์ไอทีมากนัก ก็ยังสามารถทำความเข้าใจและเรียนรู้การใช้งานได้ไม่ยาก

“อีกหนึ่งจุดเด่นที่สำคัญของ FFC คือ การที่ตัวโปรแกรมสามารถที่จะวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงสถิติออกมาได้ หรือวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ในเชิงสุขภาพโดยรวมของพื้นที่ให้เราได้เห็น ซึ่งก็เป็นประโยชน์ในการที่เราจะพัฒนารูปแบบโปรแกรม กิจกรรม หรืองานวิจัยอื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้ในการแก้ปัญหาทางสุขภาพให้กับคนในพื้นที่ได้ต่อไป”

เพราะประโยชน์และความสะดวกสบายที่ได้รับทำให้ พญ.ฐิตินันท์ มีแผนที่จะขยายต่อยอดการใช้งาน FFC เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่เริ่มนำร่องใช้งานบันทึกข้อมูลในกลุ่มผู้ป่วยที่ลงเยี่ยมบ้านโดยทีมสหวิชาชีพ คือ งานคลินิกหมอครอบครัว โดยมีกิจกรรมการลงเยี่ยมผู้ป่วยกลุ่มโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และภาวะโรคไตเรื้อรัง ซึ่งเริ่มทดลองนำโปรแกรมลงใช้งานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 รวมทั้งเริ่มมีการใช้งานไปยังกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลระยะยาวที่บ้านในงาน LTC ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงในช่วงเวลาเดียวกัน 

โดยภายใน 2 ปีนับจากนี้ ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ ตั้งเป้าที่จะนำโปรแกรมลงไปใช้งานในกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในฐานทะเบียนงานเยี่ยมบ้าน ให้ครอบคลุมถึง 80% และขยายฐานจำนวนเจ้าหน้าที่ใช้งานโปรแกรม FFC จากปัจจุบันที่จำกัดอยู่เฉพาะเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพบางกลุ่ม ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข และนักกายภาพบำบัด ไปสู่กลุ่มสหวิชาชีพอื่น ๆ ที่ดำเนินงานลงเยี่ยมบ้านร่วมกัน ได้แก่ ทันตแพทย์ แพทย์แผนไทย นักสังคมสงเคราะห์หรือนักจิตวิทยาคลินิกอีกด้วย

ขณะเดียวกัน จากการที่สามารถบันทึกข้อมูลในพื้นที่ได้มากขึ้นและสมบูรณ์ขึ้น ทางศูนย์ฯ มีแผนที่จะขยายรูปแบบกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุข จากสถิติข้อมูลใหม่ ๆ ที่ได้จากการบันทึกเหล่านี้ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดระบบหรืองานวิจัยต่อยอดที่เป็นรูปแบบเฉพาะของพื้นที่ในอนาคตต่อไป

FFC…บันทึกสุขภาพประจำตัวส่วนบุคคล

เนื่องจาก FFC เปรียบเสมือนบันทึกสุขภาพประจำตัวส่วนบุคคล ที่บ่งบอกถึงข้อมูลประวัติความเจ็บป่วยและประวัติการรักษา ตลอดจนพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ลงลึกถึงระดับครอบครัวเครือญาติ ซึ่งสามารถนำมาใช้พิจารณาความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือเจ็บป่วยในระดับพันธุกรรมได้ กลายเป็นตัวสะท้อนให้เห็นภาพรวมสภาวะสุขภาพ รวมทั้งบ่งชี้ให้เห็นการดูแลตนเองและพฤติกรรมสุขภาพที่ผ่านมา ดังนั้น จึงเป็นประโยชน์โดยตรงต่อตัวบุคคลที่จะได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวของตนเอง ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการวางแผนในการดูแลตนเองให้ดียิ่งขึ้นต่อไป 

นอกจากนี้ การที่โปรแกรม สามารถเก็บบันทึกและรวบรวมได้อย่างละเอียดสมบูรณ์ ย่อมเป็นประโยชน์โดยตรงต่อทั้งบุคลากรทางการแพทย์และองค์กรด้านสาธารณสุขในการนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ เพื่อดูบริบทและสภาพปัญหาด้านสุขภาพและสาธารณสุขในพื้นที่นั้น ๆ ว่า คืออะไร เห็นปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถให้การดูแลสุขภาพโดยบูรณาการแบบองค์รวมแก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  

“หากยิ่งสามารถบันทึกเชื่อมโยงข้อมูลทางสุขภาพของประชาชนกันได้มากขึ้นเท่าใดในระดับประเทศ จะมีบุคลากรทางการแพทย์อีกจำนวนมากที่จะเข้าใจในมิติปัญหาสุขภาพในพื้นที่ของตน รวมทั้งปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อสุขภาพ  เช่น โรคประจำถิ่น วัฒนธรรมและความเชื่อ หรือวิธีการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งจะสามารถสะท้อนมุมมองวิเคราะห์ออกมาในเชิงการพัฒนากิจกรรม รูปแบบ หรือโปรแกรมด้านการดูแลสุขภาพของประชาชนที่มีความเฉพาะของแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมต่อไป” 

ทั้งนี้ พญ.ฐิตินันท์ มองว่า ความโดดเด่นของ โปรแกรม FFC คือ การเป็นเครื่องมือที่นำไปใช้งานในพื้นที่โดยจะช่วยอำนวยความสะดวกในการบันทึกข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ได้ง่ายขึ้น โดยเป็นการนำระบบไอทีมาใช้แทนที่ระบบแมนนวล (Manual) อีกทั้งโปรแกรมสามารถประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลออกมาในเชิงสถิติซึ่งเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์ 

“และที่สำคัญที่สุด คือ การที่ทีมนักวิจัยผู้พัฒนาโปรแกรมสามารถมองเห็นข้อจำกัด หรือได้ยินอุปสรรคปัญหาของบุคลากรทางการแพทย์ จนพัฒนาโปรแกรม FFC ออกมาให้มีฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์ และยังใช้งานได้ง่ายและสะดวก เรียกได้ว่าสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง สามารถใช้งานในเชิงการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของระบบได้ต่อไปด้วย ดังนั้นจึงต้องขอบคุณในส่วนของผู้พัฒนาโปรแกรมที่ให้โอกาสได้ทดลองใช้งานโปรแกรมนี้”

กว่าจะมาเป็น Family Folder Collector (FFC)

ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของการคิดค้นพัฒนาโปรแกรมบันทึกข้อมูลสุขภาพครอบครัวแบบพกพา หรือ FCC เกิดขึ้นจากการที่ทีมนักวิจัยของศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) ภายใต้สังกัด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับโจทย์จากผู้บริหารให้ไปดูงานวิจัยการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งหลังจากลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลในหลายจังหวัดนานร่วม 6 เดือนก็พบว่า งานที่โรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ทุกแห่งใช้เหมือนกัน คือ “งานการอนามัยครัวเรือน” ซึ่งเป็นงานด้านเอกสารที่บันทึกประวัติของครัวเรือน เป็นข้อมูลสำคัญที่บันทึกประวัติของเครือญาติ ประวัติการรักษา และที่อยู่ 

“การเป็นข้อมูลในกระดาษ ถือเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะหนึ่ง คือ ขาดการปรับปรุง สองคือ ปัญหาในการอ่านลายมือมนุษย์นั้นอ่านยาก ใช้ประโยชน์ได้ยาก กลายเป็นแนวคิดว่า ถ้าสามารถทำให้อัปเดตข้อมูลได้ง่าย บันทึกได้ง่าย อ่านได้ง่าย ไม่ต้องใช้กระดาษเยอะ ไม่ต้องเสียพื้นที่จัดเก็บมาก น่าจะทำแอปพลิเคชันหนึ่งออกมาจัดการในส่วนนี้ได้” วัชรากร หนูทอง นักวิจัยทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED)  ผู้พัฒนาโปรแกรม FCC เล่าถึงที่มาที่ไปของโปรแกรม FFC ต้องเป็นแอปพลิเคชัน เพื่อให้สามารถใช้งานบนแท็บเล็ต ซึ่งมีขนาดใหญ่พอที่จะให้ผู้ใช้งานบันทึกข้อมูลไม่ว่าจะอยู่ในสภาพพื้นที่แบบไหนได้อย่างสะดวก โดยที่ตัวแท็บเล็ตมีน้ำหนักไม่มาก และพกพาได้ และมี GPS รวมถึงเชื่อมสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทำให้การบันทึกข้อมูลสามารถเชื่อมโยงส่งตรงถึงฐานข้อมูลในระบบของโรงพยาบาลส่วนตำบล (รพสต.) ได้

“ความท้าทายสำคัญในการพัฒนาแอปพลิเคชัน คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมความเคยชินของบุคลากรที่คุ้นเคยกับการจดบันทึกด้วยกระดาษมากกว่า”

บันทึกประวัติสุขภาพครอบครัว FFC กุญแจสำคัญสู่คุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน

ทางทีมได้ให้ผู้ใช้งานได้ทดลองใช้ แล้วรับฟังข้อติดขัดต่าง ๆ นำมาพัฒนาต่อยอดต่อ อาทิ ฟังก์ชันไหนไม่ค่อยได้ใช้ก็ตัดออก ฟังก์ชันไหนใช้บ่อย ก็ทำให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นสะดวก จนได้มาเป็น FCC เวอร์ชัน 4.0 ในปัจจุบัน ที่หลายพื้นที่นำมาใช้งาน โดยประเมินจากจำนวนหน่วยงานที่ลงทะเบียนเข้าใช้อยู่ที่ราว 300 แห่งทั่วประเทศ แต่ในส่วนของจำนวนผู้ใช้งานมีมากกว่านั้น 

“ตัว FFC ออกแบบมาเพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่ในการเยี่ยมบ้านเชิงรุก ซึ่งจะมีในเรื่องของการเก็บพิกัดครัวเรือนด้วย GPS เรื่องบันทึกการรักษา ที่ต้องมีเรื่องการปรับยา การเปลี่ยนพฤติกรรม การสำรวจ ส่วนตัวที่เป็นไฮไลท์ของ FFC คือ การสร้างผังเครือญาติจากข้อมูลที่เป็นฐานข้อมูล ว่าในครัวเรือนนั้น มีคนอยู่กันอย่างไร ซึ่งรวมถึงการดูประวัติโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้”

ทั้งนี้ รูปแบบการทำงานของโปรแกรม FFC ไม่ต่างอะไรกับแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนทั่วไป ที่ดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลของโรงพยาบาลซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลกับฐานข้อมูล JHCIS ที่โรงพยาบาลรัฐและศูนย์อนามัยใช้กันอยู่ทั่วประเทศในขณะนี้ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะถูกดึงขึ้นมาไว้ในระบบคลาวด์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์เรื่องการบันทึกให้ชาญฉลาดขึ้นพร้อม ๆ กับ การใส่ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้าไปเพื่อไปวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพของแต่ละบุคคล 

ขณะที่ในอนาคต ทางทีมงานมีแผนที่จะพัฒนาในส่วนของความสามารถในการคาดการณ์ว่า คนหนึ่งคนจะมีโอกาสในการพัฒนาเป็นโรคใด หรือมีปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยที่น่าเป็นกังวลตรงไหน ต้องดูแลรักษา เอาใจใส่หรือระมัดระวังตนองในส่วนใดบ้าง โดยเฉพาะในโรคในกลุ่ม NCD (โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง)

สำหรับในส่วนของความคาดหวัง คุณวัชรากร กล่าวว่า ต้องการให้โปรแกรม FFC เป็นเพื่อนคู่คิดของบุคลากรทางสาธารณสุข ช่วยให้มองเห็นปัญหา วิเคราะห์ปัญหา และวางแผนหาแนวทางแก้ไขต่อไปในอนาคต รวมถึงทำให้การบริการของหมอหรือพยาบาลรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับเสียงตอบรับที่ดี แต่ในฐานะนักพัฒนา คุณวัชรากร มองว่า ยังจำเป็นต้องต่อยอดพัฒนาโปรแกรม FFC ต่อไปเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการด้านการสาธารณสุขที่มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับโรคอุบัติใหม่กับการเปลียนแปลงด้านบริบททางสังคม ซึ่งขณะนี้ ทางทีมได้เดินหน้าหาทางเชื่อม FFC กับ IoT เพื่อให้ทำการบันทึกข้อมูลจากอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เครื่องวัดความดัน หรือ เครื่องวัดน้ำตาลในกระแสเลือดโดยตรง เพื่อลดข้อผิดพลาดเพิ่มความแม่นยำในการบันทึกข้อมูลที่จะทำให้แพทย์ประเมินวิธีการและปรับเปลี่ยนแนวทางในการดูแลรักษาพยาบาล รวมถึงตัวยาที่จะต้องใช้ได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น 

ในมุมมองของคุณวัชรากร เชื่อมั่นว่า การใช้งานโปรแกรม FFC อย่างแพร่หลาย เปรียบเสมือนการดูแลรักษาในเชิงรุกที่จะมีส่วนสำคัญในการช่วยจำนวนผู้ป่วย ดังนั้น งบประมาณของประเทศที่ต้องใช้ในเรื่องยาและการรักษาที่นับวันจะแพงขึ้นก็จะลดลงไปด้วย ซึ่งการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมย่อมมีส่วนช่วยให้คนมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ทำให้ในระยะยาวจะช่วยให้รัฐลดงบประมาณในการดูแลสุขภาพของคนไทยได้ ขณะที่ประโยชน์อีกทางหนึ่ง ก็คือ การที่คนมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงก็จะเอื้อต่อการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะมีแรงงานที่ดีที่เป็นกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

“เมื่อคนแข็งแรง ก็ทำงานได้ ทำงานได้ก็มีรายได้ มีรายได้ก็หมุนเวียนให้เศรษฐกิจเดินต่อไปข้างหน้า” 

ทั้งนี้ หน่วยงานที่สนใจสามารถติดต่อเข้ามาขอใช้งานแอปพลิเคชันได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยที่ทางทีมจะรับผิดชอบดูแล ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาทางเทคนิกต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวกับระบบ ในขณะที่ทางหน่วยงานจัดการในส่วนของงบประมาณด้านอุปกรณ์ อย่าง แท็บเล็ตและบุคลากรที่จะต้องใช้งานเท่านั้น 

ตอบโจทย์เป้าหมายดูแลคนในพื้นที่ด้วย FFC

เพื่อให้การบริการด้านการอนามัยและสาธารณสุขแก่ผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานีรวมประชากรในพื้นที่กว่า 80,000 คน ให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขวัญใจ แจ่มทิม ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองบึงยี่โถ กล่าวว่า ทางเทศบาลได้มีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบึงยี่โถหรือเรียกสั้น ๆ ว่าอนามัยเดิมของกระทรวงสาธารณสุข มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเทศบาล ซึ่งมีส่วนอย่างยิ่งที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด จากเดิมที่หน่วยบริการมีเพียงบุคลากรคือ พยาบาลและนักวิชาการสาธารณสุข 

บันทึกประวัติสุขภาพครอบครัว FFC กุญแจสำคัญสู่คุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันภายใต้การดำเนินงานอยู่ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ” ปัจจุบันมีบุคลากรหลากหลายสาขาวิชาชีพ อาทิ นายแพทย์ประจำ 5 คน ทันตแพทย์ 3 คน เภสัชกร 2 คน นักกายภาพบำบัด 7 คน ฯลฯ และรองรับการรักษาพยาบาลคนไข้ ไม่ต่ำกว่า 200-300 คนต่อวัน 

อย่างไรก็ตาม แม้ศูนย์ฯ จะยกระดับมารับหน้าที่ในส่วนของการดูแลรักษาให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ในลักษณะการให้บริการเชิงรับ แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ลืมพื้นฐานของงานอนามัยและสาธารณสุขในส่วนของการดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ ซึ่งยังมุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานลงเยี่ยมบ้านโดยทีมสหวิชาชีพ ร่วมไปกับการดึงความมีส่วนร่วมในส่วนของจิตอาสาหรือกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ให้เข้ามามีบทบาทร่วมกัน ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้ นับว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเข้าถึงกลุ่มผู้ป่วยในทะเบียนงานเยี่ยมบ้าน รวมถึงช่วยประสานการดูแลผู้ป่วยร่วมกับเจ้าหน้าที่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับประชาชนในพื้นที่มากกว่าบุคลากรทางการแพทย์ กล่าวคือ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่วมกันดูแลลูกบ้านหรือผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงวัยชรา และสิ้นชีวิต 

ทั้งนี้ หนึ่งในงานสำคัญของการลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนในพื้นที่ ก็คือ การบันทึกข้อมูลที่จะใช้เป็นประวัติด้านสุขภาพและความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของผู้ป่วยในแต่ละครั้งที่ลงเยี่ยมเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปดำเนินการในการจัดวางแนวทางรักษาและการดูแลที่เหมาะสมต่อไป ยกตัวอย่างเช่น กรณีของผู้ป่วยที่มีปัญหาจากการประเมินสุขภาพและจำเป็นต้องทำกายภาพ ก็ช่วยให้นักกายภาพบำบัดสามารถออกแบบโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพที่เหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้น ๆ รวมทั้งเมื่อมีการลงเยี่ยมบ้านในครั้งต่อไปก็สามารถเปิดดูข้อมูลย้อนหลัง เพื่อเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงและวางแผนการดูแลรักษาต่อเนื่องได้ เป็นต้น 

ที่ผ่านมา ทางศูนย์ฯ มีการจดบันทึก แล้วนำมาคีย์ลงบนฐานข้อมูลระบบ JHCIS โดยตลอด แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้บริหาร สิ่งหนึ่งที่เห็นและเริ่มรู้สึกว่า เป็นปัญหา คือ การบันทึกข้อมูลเหล่านี้กลายเป็นภาระที่เพิ่มงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้แทนที่การลงพื้นที่จะมีเวลาในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ กลับต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่งมานั่งเขียนบันทึกและกลับมาคีย์ข้อมูลลงระบบ ซึ่งในระหว่างที่กำลังหาทางแก้ไขปัญหานี้ ก็ได้รับการแนะนำจากทีม A-MED ให้รู้จักระบบ FFC

“ในอดีตเราเป็นระบบ Family Folder แบบ Manual ซึ่งถ้ามีระบบบันทึกข้อมูลสุขภาพครอบครัวแบบพกพาที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งาน มันก็จะสะดวกมากและทำให้เราใช้เวลาน้อยในการลงเยี่ยม” 

โดย ผอ.ขวัญใจ อธิบายเพิ่มเติมว่า จากที่เมื่อก่อนเมื่อเยี่ยมเสร็จก็ต้องหาเวลามานั่งเขียนบันทึก แล้วลงบันทึกเข้าฐานข้อมูล JHCIS แต่ถ้าใช้ FFC ก็ไม่ต้องมาลงบันทึกให้ยุ่งยากอีกต่อไป ช่วยลดความซ้ำซ้อนของการบันทึกข้อมูล ทำให้สะดวกง่ายดายขึ้น 

โดยความสะดวกนี้ ยังหมายรวมถึงเรื่องการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ที่ลงตรวจเยี่ยม สามารถค้นประวัติของลูกบ้านนั้น ๆ ในการเยี่ยมครั้งก่อนขึ้นมาเปรียบเทียบกับปัจจุบัน และดูประวัติครอบครัว ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการให้คำแนะนำ รวมถึงแนวทางในการดูแลรักษา ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ให้สอดคล้องเหมาะสมในการที่จะเอื้อต่อการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายของลูกบ้านแต่ละคนให้แข็งแรง 

หลังจากเริ่มทดลองใช้โปรแกรม FFC เวอร์ชัน 4.0 มาได้กว่า 4 เดือน ผอ.ขวัญใจ กล่าวว่า ผลตอบรับค่อนข้างดี โดยเฉพาะในเรื่องของความสะดวกในการใช้งาน รวมถึงการช่วยย่นระยะเวลาในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งยังสะดวกในแง่ของการติดตามความก้าวหน้าของการรักษาพยาบาล เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มีอาการอัมพฤกษ์แขนขาอ่อนแรง ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ต้องดูความก้าวหน้าอย่างละเอียด แทบทุกวัน เพื่อให้การฟื้นฟูกลับสู่สภาพเดิม 

“เรามีแผนว่า หากการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์มีประโยชน์และเกิดประสิทธิภาพสูงในการทำงาน อนาคตจะมีการร่วมมือกับทาง A-MED ในการนำโปรแกรมอื่น ๆ ที่ขยายกลุ่มการใช้งานไปยังกลุ่ม Care giver ซึ่งเป็นกลุ่มจิตอาสาซึ่งผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุทำหน้าที่ลงเยี่ยมบ้านดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ และอยู่ในการดูแลของเรา จำนวน 27 คน เข้ามาเรียนรู้การนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ ซึ่งจะทำให้การทำงานสะดวกยิ่งขึ้น และหากโปรแกรมสามารถตรวจสอบได้ว่า Care giver ไปลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจริงหรือไม่ เยี่ยมเมื่อไร กี่โมง ไปเยี่ยมตามเวลาที่กำหนดไหม ซึ่งในกรณีของการเขียนบันทึกเราอาจไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ทั้งหมด แต่หากเป็นการบันทึกผ่านโปรแกรมและแสดงผลได้แบบเรียลไทม์ส จะที่ทำให้สามารถตรวจสอบรู้ได้ทันทีว่ามีการไปลงพื้นที่จริงหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่ มีผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายการดูแลของ Care giver ประมาณ 120 คน ”

นอกจากนี้ ผอ.ขวัญใจ ยังเสริมว่า มีแผนที่จะขยายการใช้เทคโนโลยีในกิจกรรมการลงเยี่ยมบ้านไปยังกลุ่ม อสม. ซึ่งมีอยู่ราว 200 คน ซึ่งหากอสม.มีทักษะที่ดีในการใช้งานเทคโนโลยี ได้อย่างชำนาญก็จะเป็นประโยชน์ต่อเทศบาลโดยรวมอย่างมาก เช่น ในกรณีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ อสม.สามารถเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ ให้ความรู้ และตรวจสอบสอดส่องครัวเรือน ใครเข้า-ออก และ ประสานงานติดต่อขอความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ป้องกันจำเป็นต่าง ๆ เช่น หน้ากากอนามัย เป็นต้น 

ทั้งนี้ การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในช่วงสถานการณ์ดังกล่าวจะมีทุกวัน วันละประมาณเกือบ 10 ครัวเรือน ซึ่งหากมีระบบเทคโนโลยีที่ช่วยประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่และ อสม. รวมถึงมีระบบการบันทึกข้อมูลที่ใช้งานได้สะดวก รวดเร็ว จะยิ่งทำให้การดำเนินการของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ในสถานการณ์วิกฤติต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ในอนาคตในส่วนของเทศบาล ก็คาดหวังว่าจะมีการขยายการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพิ่มอีกในส่วนงานอื่น ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของ “Health Tech” เช่น การรับคำปรึกษาทางการแพทย์ ด้วยระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine), ระบบ Touchless Society ซึ่งจะนำมาประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ในศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ, การเซตระบบโปรแกรมบันทึกข้อมูลการดูแลผู้สูงอายุแบบเช้าไปเย็นกลับในศูนย์สันทนาการและฟื้นฟูผู้สูงอายุ (ศูนย์ Day care) หรือการบันทึกข้อมูลผ่านระบบ Smart Function ในงานเยี่ยมบ้านแม่หลังคลอด เป็นต้น 

ท้ายสุด ผอ.ขวัญใจ ย้ำว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้ทำให้เกิดมีระบบที่สามารถบันทึกข้อมูล จัดเก็บให้เป็นระบบ และสามารถประมวลวิเคราะห์ เพื่อดึงเอาข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด 

และที่สำคัญที่สุด คือ การตอบโจทย์เป้าหมายของทางศูนย์ฯ ที่ต้องการดูแลเอาใจสุขภาพแบบองค์รวมของประชาชนในพื้นที่ ทั้งในแง่ของการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การบำบัดรักษาโรค และการซ่อมแซมฟื้นฟูสมรรถภาพให้ดีที่สุด  

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ