TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview“เมื่อคน (ไม่) กินผัก อยากปลูกผัก” ออร์แกนิกแท้แบบ Wenzel ของ กัญภัส ศรีณรงค์ ชยานุวัฒน์

“เมื่อคน (ไม่) กินผัก อยากปลูกผัก” ออร์แกนิกแท้แบบ Wenzel ของ กัญภัส ศรีณรงค์ ชยานุวัฒน์

ชีวิตที่ต้องเว้นวรรคเพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ ป่าน-กัญภัส ศรีณรงค์ ชยานุวัฒน์ สมาชิกวงวีทรีโอ (Vietrio) หนึ่งในเจ้าของธุรกิจโรงเรียนดนตรีวีมุส (VIEMUS) และครอบครัว ตัดสินใจใช้ช่วงเวลาที่ว่างไปพำนักที่เขาใหญ่

กิจกรรมเรียนออนไลน์ของลูก จากการเพาะ “ถั่วงอก” เป็นการบ้านส่งคุณครู สู่ความสุขเรียบง่ายจากการปลูกผักปลอดภัยไว้กินเอง จน แชมป์-นพพล ชยานุวัฒน์ (สามี) เกิดไอเดียริเริ่มปลูกผักออร์แกนิกอย่างจริงจังบนที่ดิน 9 ไร่ ที่ซื้อไว้นานนับ 10 ปี จนเติบโตเป็นฟาร์มเกษตรรักษ์สุขภาพ Wenzel Organic Farm เขาใหญ่ ในปัจจุบัน  

ฟาร์มเกษตรรักษ์สุขภาพ Wenzel Organic Farm

ป่าน เล่าว่า จากเดิมที่คิดทำกันเล็กในครอบครัว ส่งให้พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ผู้ปกครองเด็ก ๆ ที่วีมุสบ้าง ทำการตลาดกันแบบปากต่อปาก แต่พอทำใหญ่ขึ้น ค่าใช้จ่ายมากขึ้น ก็เริ่มคิดว่าต้องทำเป็นการค้า จึงขยับขยายมาประกาศขายออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก แต่ไม่ได้ทำโฆษณาเป็นพิเศษ เพราะสินค้าขายดีมาก ๆ เนื่องจากสถานการณ์โควิด ทำให้คนไม่ออกไปทานอาหารนอกบ้าน โดยในแต่ละอาทิตย์มียอดสั่งซื้อเฉลี่ยกว่า 200 ราย 

วิถีออร์แกนิกแท้ของคน (ไม่) กินผัก

“ป่านเป็นคนไม่กินผัก แต่เมื่อทำ Wenzel เลยต้องกิน ต้องชิมรสชาติของผักที่ปลูกว่าเป็นอย่างไร ทำให้รู้ว่า ถ้าปลูกแบบออร์แกนิกแท้ 100% ข้อแรก เมื่อล้างทำความสะอาดแล้วเก็บใส่กล่องแช่ตู้เย็น ผักจะเก็บได้นานเป็นอาทิตย์โดยยังสดกรอบอยู่ ข้อสอง สุขภาพของเราดีขึ้น ปลอดภัยทั้งกับลูกและพนักงาน”

เมื่อตระหนักว่า “เกษตรออร์แกนิกเป็นวิถีที่ยั่งยืน” ดังนั้น เวลาลงมือทำ จึงอยากทำให้ถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่เป็นออร์แกนิกแท้ เพราะ “ออร์แกนิก” มีหลายแบบ เช่น ออร์แกนิกแบบผักปลอดภัยที่หยุดใส่สารเคมีก่อนเก็บเกี่ยว เพื่อให้เคมีหายไปแต่ไม่ใช่อินทรีย์จริง หรือ เป็นออร์แกนิกตามมาตรฐาน Organic Thailand ที่รับรองโดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างที่ Wenzel ทำอยู่ ซึ่งจะมีหน่วยงานมาตรวจสอบคุณภาพดินทุก ๆ 2 ปีว่า สะอาดปราศจากเคมีหรือไม่ ปลูกพืชผักอะไรบ้าง เพราะผืนดินที่เคยถูกสารเคมี จะต้องรอเป็น 10 ปีกว่าดินจะฟื้นฟูตัวเองจนกลับมาสะอาดเหมือนเดิม

เพราะคุณภาพดินที่ฟาร์มไม่เคยสัมผัสสารเคมีใด ๆ จึงเหมาะกับการปลูกอะไรก็ได้ที่เป็นออร์แกนิก 100% อย่างที่ตั้งใจ แต่เมื่อยังขาดองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรม หัวเรือใหญ่อย่างคุณแชมป์จึงรับหน้าที่ค้นคว้าข้อมูล ค้นหาโนว์ฮาวต่าง ๆ ทั้งจากอินเทอร์เน็ต การสอบถามผู้รู้ การเข้ารับการฝึกอบรมเกษตรทฤษฎีใหม่ 1 ไร่ 1 แสน ตลอดจนการศึกษาสภาพอากาศและฤดูกาลของเขาใหญ่อย่างถ่องแท้ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ การวางผังจัดแบ่งพื้นที่ให้สวยงามและใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการขุดบ่อพักน้ำ เจาะน้ำบาดาล การทำแปลงปลูกผักโดยจ้างพนักงาน 1 คน ที่มีความรู้มากกว่ามาช่วยเรื่องการปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ออร์แกนิก การแบ่งพื้นที่ไว้ปลูกกล้วย มะละกอ มะม่วงบางส่วน การสร้างบ้านเลี้ยงไก่เพื่อให้ได้ไข่ออร์แกนิก ด้วยองค์ความรู้จากญี่ปุ่น

ป่าน กล่าวว่า Wenzel เน้นการใช้ประโยชน์จากทุกอย่างที่มีอยู่ในฟาร์มเพื่อให้มีของเสียเหลือทิ้งน้อยที่สุด และคงความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด อาทิ การทำน้ำหมักรดแปลงผักจากหน่อกล้วย มะละกอ น้ำซาวข้าว กากน้ำตาล กากกาแฟ ไข่ไก่ที่มีขนาดเล็กมากจนขายไม่ได้ ขยะอาหารจากร้าน การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อเอามูลทำปุ๋ยรดผัก การนำใบตองจากต้นกล้วยมาบรรจุสินค้าบางส่วนทดแทนการใช้กล่องกระดาษที่ย่อยสลายได้ การเอากาบกล้วยมาเลี้ยงไก่ควบคู่ไปกับการให้อาหารไก่และวิตามิน เพื่อให้ได้ไข่ออร์แกนิกที่มีไข่แดงมีสีส้มสด มีรสชาติเค็มมัน และไม่คาว หรือ การติดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อลดต้นทุนการใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

Wenzel-Organic-Farm Product

จากการเริ่มต้นปลูกผักออร์แกนิกเพียง 3-4 ชนิด อย่างกุยช่าย กะเพรา กวางตุ้งใบ และผักสลัด ปัจจุบัน Wenzel  มีพันธุ์ผักปลูกหมุนเวียนตามฤดูกาลราว 20 ชนิด ทั้งผักไทยและผักฝรั่ง ได้แก่ คะน้า กวางตุ้งใบ พริก เบบี้แครอท หัวไช้เท้า บรอกโคลี ยอดชะอม ผักสลัด เช่น เคล ร็อกเก็ต ผลิตภัณฑ์ไข่ออร์แกนิก จากไก่ไข่เลี้ยงรวมกว่า 500 ตัว เพิ่มเติมด้วยผลิตภัณฑ์ไส้กรอก น้ำส้มออร์แกนิกจากส้มสองสายพันธุ์ที่คัดเกรดมาเป็นอย่างดี ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้งและส้มเขียวหวาน นอกจากนี้ ยังเปิดร้านอาหารไทยฟิวชัน ภายใต้แนวคิด Farm to Table ซึ่งใช้ผลผลิตจากฟาร์มที่ปลูกเอง

“ฟาร์มที่นี่มีวิวสวย จึงคิดกันว่าถ้าถมที่ทำร้านให้เห็นวิวสูง ๆ สวย ๆ น่าจะดี เราตั้งใจใช้ชื่อร้านนี้ว่า SKOG (สกูจ) เป็นภาษานอร์เวย์แปลว่า ป่า แต่ดูเหมือนลูกค้าจดจำชื่อ Wenzel ได้มากกว่า ซึ่งภายในร้านมีบริการแค่ 5 โต๊ะ ตามความต้องการของคุณแชมป์ ส่วนอาหารมีทั้งที่ทำจากพืช (Plant Based) อาหารไทยอย่างผัดกะเพรา ชะอมผัดไข่ อาหารฝรั่ง เช่น สเต็กเนื้อวากิวจากญี่ปุ่นเสิร์ฟคู่ผักสลัดที่เราปลูก เพราะคนที่เขาใหญ่ชอบทานเนื้อ”

4 ปี บนเส้นทางสายออร์แกนิกไม่ง่ายดังคิด

“เราเข้ามาแบบคนไม่มีความรู้อะไรเลย ผักอะไรบ้างที่ปลูกขึ้นหรือไม่ขึ้น เป็นเพราะหน้าร้อนหรือเพราะอะไร เราเคยปลูกผักหน้าฝนแล้วผักขึ้นราทั้งแปลง ส่งลูกค้าไม่ได้ก็มี ลูกค้าได้สินค้าไม่ครบตามที่สั่งเพราะเราทำคนเดียวเลยไม่ละเอียดพอ ส่งสินค้าโดยใช้ Grab แต่ไปส่งผิดบ้านก็มี ปัญหาเกิดขึ้นแทบทุกอาทิตย์แต่ก็ได้กำลังใจจากครอบครัว ตอนหลังถึงเรียนรู้ว่า ปัญหาเป็นเรื่องธรรมดา ผิดก็แก้ไข เจออุปสรรคอะไรก็ทำก็ปรับกันไป”

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา Wenzel เติบโตไปตามวัฏจักรธุรกิจที่มีขึ้นมีลง ผักบางอย่างที่ปลูกแล้วขายไม่ค่อยได้ เช่น ถั่วฝักยาว ก็ต้องตัดใจปลูกเฉพาะที่ทำไหว เพราะการปลูกแบบออร์แกนิกทำให้ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ เช่น ปลูก 100 อาจขึ้นสัก 70 อีก 10 ขายไม่ได้

ป่าน กล่าวว่า ต้นที่เป็นออร์แกนิกแท้ต้องแข็งแรงจริงจึงจะปลูกขึ้น เพราะที่นี่ปลูกแบบแปลงเปิด ไม่ได้ปลูกในโรงเรือน ไม่ได้ใช้สารเร่งอะไร ผักจึงมีทั้งต้นใหญ่บ้าง เล็กบ้าง และบางครั้งไม่สวยพอ ซึ่งต้องคัดเลือกผักที่สมบูรณ์ และตัดส่งให้ลูกค้าทันที

เมื่อการขายออนไลน์ในปัจจุบันไม่ได้ดีเหมือนช่วงโควิด จึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีมาเป็นการปลูกผักตามฤดูกาล ปลูกผักเพื่อส่งร้านอาหารในฟาร์มเป็นหลัก ซึ่งเชฟจะส่งรายการผักและผลิตผลที่ต้องการมาให้ ขณะที่บางส่วนแบ่งขายให้ลูกค้า โดยประกาศขายผ่านเฟซบุ๊กและสั่งจองผ่าน Line @wanzelfarm เนื่องจากไม่มีหน้าร้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำกันมาตั้งแต่ช่วงโควิด โดยผักจะถูกตัดทุกวันอังคารเช้า ส่งเข้ากรุงเทพฯ ในช่วงบ่าย และกระจายส่งให้ลูกค้าผ่านบริการ Grab ถือเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งของ Wenzel ตรงที่ผักจะถูกส่งถึงลูกค้า ณ วันแรกที่ถูกตัดจากต้น ไม่ได้นำมาวางขายโดยไม่รู้ว่าตัดมาตั้งแต่วันไหน ส่วนการประชาสัมพันธ์ร้านอาหารได้ใช้ Google Ad มาช่วยในการสืบค้นร้านอาหารเขาใหญ่ หรือ ร้านอาหารใกล้ฉัน เพื่อให้คนรู้จักและมาแวะพักรับประทานอาหารที่ฟาร์มมากขึ้น

หากสิ่งสำคัญ คือ “ต้องมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาให้ลูกค้าอยู่เสมอ และต้องขยันเรียนรู้ที่จะลองผิดลองถูก”

ป่าน กล่าวว่า ข้อดีอย่างหนึ่งของ Wenzel คือ การไม่ได้เริ่มต้นทำฟาร์มให้เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ ที่ต้องใช้พนักงานมาก และอาจทำไม่ไหว อีกทั้งพื้นที่หลักในการทำฟาร์มจริง ๆ มีเพียง 7 ไร่ ส่วนอีก 2 ไร่ที่เหลือ คือ สวนมะม่วงที่ปลูกทิ้งไว้นานแล้ว จึงสามารถดูแลคุณภาพผลผลิตได้ทั่วถึงทุกต้น สามารถเก็บรายละเอียดได้ครบถ้วน อย่างผักสลัดเมื่อลงเมล็ดแล้ว จะเก็บได้เมื่อครบ 35 วัน หากจดไม่ละเอียดว่าลงเมล็ดวันไหน ผักจะแก่เกินและมีรสขม แสดงว่าเก็บเกินเวลาที่กำหนด หรือ ผักจะมีต้นใหญ่ในหน้าหนาว ต้นจะเล็กจิ๋วในหน้าฝน ไข่ไก่ออร์แกนิกที่มีขนาดไม่เท่ากันอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ซึ่งต้องอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจว่า ทำไมถึงขายโดยการชั่งน้ำหนักแทนการคัดขนาด เป็นต้น

นอกจากนี้ ความเข้าใจที่มากขึ้นในเรื่องวงจรของผลผลิต สภาพอากาศและฤดูกาลของเขาใหญ่ รวมถึงเทศกาลท่องเที่ยวของคนเขาใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่าง ๆ เช่น เขาใหญ่จะเงียบไม่ค่อยมีคนในช่วงที่อากาศร้อนมาก ๆ หรือในระหว่างวันพุธ-พฤหัสบดี มีส่วนช่วยในการวางกลยุทธ์การตลาดว่า จะโปรโมตฟาร์มอย่างไร จะขยายธุรกิจไปทางไหน ส่วนภาพรวมของตลาดผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกมองว่า เติบโตขึ้นมาก ตามกระแสของคนในสังคมที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสังคมสูงวัย

Wenzel-Organic-Farm Product

“ธุรกิจตอนนี้ถือว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ ตัวป่านเองยังสอนดนตรีอยู่ที่วีมุส มีแชมป์เป็นเรี่ยวแรงหลักอยู่ดูแลร้านร้านและฟาร์มที่เขาใหญ่ มีฝ่ายปลูก ฝ่ายร้านอาหาร เป็นสามส่วนเล็ก ๆ ที่ยังทำกันเองไหวอยู่ ยังไม่ได้มีคนมาช่วยเต็มตัว แต่ถ้าทิศทางดีขึ้น ก็อยากเน้นส่งเสริมด้านร้านอาหาร ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่นำวัตถุดิบจากฟาร์มมาทำได้เลย เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเป้าหมายอย่างกลุ่มครอบครัวที่มีเด็กมาด้วย และกลุ่มผู้ใหญ่รักสุขภาพ” 

มองอนาคต Wenzel

“ใจเราทั้งคู่อยากทำเล็กเพื่อที่จะควบคุมได้ แต่ถ้าธุรกิจใหญ่ขึ้น ก็ต้องมีคนช่วย ถึงตอนนั้นต้องถามตัวเองว่า พร้อมไหมในการควบคุมคุณภาพหากสเกลของธุรกิจใหญ่ขึ้น”

แผนระยะสั้นที่วางไว้ คือ ทำอย่างไรจะเพิ่มรอบการส่งสินค้ามากขึ้น เพราะฟาร์มเปิดทำการ 5 วันต่อสัปดาห์ อย่างการจ้างบริษัทรับส่งสินค้าเพิ่มเติมจากรถส่งของสดแช่เย็นของเราเอง ส่วนแผนระยะยาว คือ การมีร้านอาหารแบบ Pop Up Restaurant ที่กรุงเทพฯ เพื่อให้บริการอาหารที่มีรสชาติเดียวกับร้านอาหารในฟาร์ม และเป็นหน้าร้านในการขายผลิตภัณฑ์ไปด้วยในตัว นอกเหนือจากช่องทางออนไลน์ที่ตอนนี้มีสินค้ามากถึง 179 SKU แล้ว เพื่อให้พอสู้กับค่าขนส่งไหว รวมถึงสามารถให้บริการลูกค้าได้ถี่และรวดเร็วขึ้น ซึ่งคงเป็นการมองหาความรวมมือ เพราะไม่ได้มีทุนสร้างได้ด้วยตัวเอง

“เพนพอยต์ตัวโต ๆ ตอนนี้ น่าจะเป็นเรื่องการทำตลาด เพราะเราค่อนข้างมั่นใจว่า สามารถผลิตสินค้าคุณภาพระดับนี้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งลูกค้าที่อยากรับประทานผักอินทรีย์แท้ ถึงอย่างไรเขาก็ซื้อ การส่งเสริมการขายจึงอาจต้องทำบ้าง แต่ไม่มีผลมากเท่ากับทำอย่างไรที่จะส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะตัวของลูกค้าได้มากขึ้น”

สำหรับพนักงานของ Wenzel ประกอบด้วยพนักงานหน้าฟาร์ม 3 คน พนักงานร้านอาหารราว 10 คน จะเน้นสื่อสารเพื่อย้ำถึงความสำคัญในการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ อย่างพนักงานเลี้ยงไก่หน้าฟาร์ม เมื่อพบไก่ป่วยต้องรีบแยกออกมา หรือต้องระมัดระวังไม่ให้มีไก่ตัวผู้นอกฟาร์มหลุดเข้ามาผสมจนไข่เป็นสีดำและโดนลูกค้าตำหนิ ส่วนพนักงานร้านอาหารต้องควบคุมความสะอาดภายในร้านทุกจุด เพราะเป็นครัวเปิดที่ลูกค้าสามารถมองเห็นการทำอาหารของเชฟทุกขั้นตอน รวมถึงต้องหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ซึ่งเป็นความโชคดีที่ได้พนักงานที่รักในการทำเกษตรอินทรีย์จริง ๆ

“เขาใหญ่มีฟาร์มผักเยอะ แต่ที่เป็นอินทรีย์มีน้อยมาก และ Wenzel เป็นฟาร์มเดียวบนถนนเส้นนี้ (ถนนผ่านศึก-กุดคล้า) ที่เป็นอินทรีย์ จึงมีคนมาสมัครงานพอสมควรเพราะไม่อยากสูดดมสารเคมี แต่เรารับได้ไม่หมด พอโควิดผ่านไป ยอดขายออนไลน์ลดลง ก็ต้องพยายามประคับประคองธุรกิจเพื่อเลี้ยงพนักงานให้พอมีรายได้ คิดเสียว่า เป็นการสร้างอาชีพให้คนในชุมชนและทำให้คนมีสุขภาพดี จะได้มากหรือน้อยก็สู้ไปด้วยกัน” 

เมื่อถามถึงความชอบระหว่างอาชีพนักดนตรีและครูสอนดนตรี กับการทำเกษตรออร์แกนิก ป่าน กล่าวว่า ชอบทั้งคู่เพราะสิ่งที่เหมือนกัน คือ “ความอดทน” การเล่นดนตรีต้องใช้เวลาฝึกฝน การปลูกผักต้องใช้เวลารอผักเติบโต เมื่อเข้าใจก็จะไม่ใจร้อนและรอเป็น ซึ่งหากถึงเวลาเกษียณจากการเป็นครู คงไปอยู่ฟาร์มที่เขาใหญ่เพราะมีความสุขทุกครั้งที่ไป ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ ขึ้นอยู่ว่า ธุรกิจยังพอเลี้ยงตัวอยู่ได้หรือไม่ หากยังไปได้ดีคงเป็นสุขในวันเกษียณจริง ๆ  

 “อยากฝากว่า Wenzel Organic Farm เขาใหญ่ เป็นฟาร์มออร์แกนิกแท้ที่เราใช้ใจทำ และเรารักที่จะให้ทุกคนมีสุขภาพดี ซึ่งสุขภาพดีเริ่มต้นจากการรับประทานผลผลิตที่มีคุณภาพ ที่เราพร้อมใส่ใจในรายละเอียดและดูแลอย่างทั่วถึงแน่นอน“ ป่าน กล่าวทิ้งท้าย

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA- เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ทาเลนต์ไทยคืนถิ่นที่ Looloo Technology ผู้เชี่ยวชาญตัวจริงด้าน AI

“ตะวัน จิตรถเวช” CTO ยุคดิสรัปชัน แห่ง KBTG

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง พร้อมนำ NIA ปักธงรุกสร้างไทยให้เป็นชาตินวัตกรรม

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ