TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewดร.กริชผกา บุญเฟื่อง พร้อมนำ NIA ปักธงรุกสร้างไทยให้เป็นชาตินวัตกรรม

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง พร้อมนำ NIA ปักธงรุกสร้างไทยให้เป็นชาตินวัตกรรม

เมื่อ “นวัตกรรม” กลายเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาและการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน จึงเป็นความท้าทายของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ประเทศ เพื่อขับเคลื่อนความสามารถด้านนวัตกรรมสู่การเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ หากนำเกณฑ์วัดประเมินตามการจัดอับดับดัชนีนวัตกรรมโลกโดย GII หรือ การจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันประเทศโดย IMD มาอธิบายความเป็นประเทศนวัตกรรมจะพบว่า มีการจัดแบ่งตัวชี้วัดเป็นหลากหลายมิติ อาทิ จำนวนทรัพย์สินทางปัญญาที่จดทะเบียนและมีการนำไปใช้ประโยชน์ จำนวนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา จำนวนสตาร์ตอัพหรือเอสเอ็มอีด้านนวัตกรรม จำนวนงบประมาณลงทุนในระบบการศึกษาที่ส่งเสริมนวัตกรรมทั้งในระดับมัธยมศึกษา อุดมศึกษา การวัดปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ระบบกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาหรือเป็นอุปสรรค ตลอดจนเสถียรภาพความมั่นคงทางการเมือง

ในปี 2566 ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 43 ตามการประเมินของ GII ทำให้การแตะถึงเป้าหมายอันดับที่ 30 ของโลกในปี 2573 จำเป็นต้องลงรายละเอียดในมิติต่าง ๆ เป็นรายหัวข้อ อีกทั้งการเพิ่มงบประมาณด้านงานวิจัยพัฒนาเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องเพิ่มกลไกส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญานั้นด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่ส่งผลใด ๆ ต่อการยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศนวัตกรรมได้เลย  

“นิยามของนวัตกรรมต้อง “ใหม่” และ “มีคุณค่า” ซึ่งวัดจาก “การถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์” ต่อการพัฒนาด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การดำรงชีวิตของมนุษย์ และอื่น ๆ เพราะต่อให้สิ่งใหม่นั้นมีการจดสิทธิบัตร ได้รับการคุ้มครองทรัพยสินทางปัญญา แต่เมื่อไม่ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์ สิ่งนั้นไม่ใช่นวัตกรรม” ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวกับ The Story Thailand

นวัตกรผู้ผลักดันกฎหมายนวัตกรรม

ตลอดเส้นทางการศึกษาและการทำงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ดร.กริชผกา พบว่า หลายประเทศที่มีการขับเคลื่อนนโยบายด้านนวัตกรรม จะมีการออกกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ไว้เป็นบริบทพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม การส่งเสริมระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาที่ดี

“ช่วงที่เรียนปริญญาตรีด้านกฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2535 เราสนใจคำว่า ทรัพย์ไม่มีรูปร่าง ซึ่งก็คือ ทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมาก จึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโท-เอก โดยเน้นการศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ผนวกด้วยเรื่องของสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า ซึ่งทั้งหมดเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมทั้งสิ้น”

NIA โชว์ 2 นวัตกรรม “S.N.A.P – รีโคเวอรี่” ดันเชียงใหม่สู่เมืองนวัตกรรม และต้นแบบของเมืองท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและยั่งยืน

การศึกษาทำให้รู้ว่า กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา การถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมอยู่ในกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกัน ดังนั้น นวัตกรรมจึงควรได้รับการคุ้มครอง กฎหมายควรมีแนวทางส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาระบบโครงสร้างของประเทศ การนำทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น

ภายหลังเรียนจบ กลับมาทำงานที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำนักวิจัยในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การทำสัญญาอนุญาตใช้สิทธิ (Licensing) สัญญารักษาความลับในการถ่ายทอดเทคโนโลยี การร่วมวิจัยกับองค์การขนาดใหญ่ ทำให้ได้เรียนรู้เทคโนโลยีหลายด้าน พอมีการจัดตั้ง “สำนักงานจัดการสิทธิทางเทคโนโลยี” (Technology Licensing Office-TLO) จึงมีโอกาสผลักดันทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปสู่การใช้ประโยน์มากชึ้น

เมื่อมารับตำแหน่งผู้อำนวยการกองพัฒนาด้านกฎหมาย ฝ่ายพัฒนากฎหมายและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ซึ่งเน้นการทำงานเกี่ยวข้องกับชุมชน และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เช่น น้ำหมักเม่า ลำไยสีทองที่ลำพูน ปลาดุกร้าทะเลน้อย การทำงานในพื้นที่ทำให้เห็นมิติของการนำภูมิปัญญาในอดีต มาพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน อย่างปลาดุก ต้องอยู่ในอุณหภูมิแบบไหนจึงจะได้รสชาติดี ซึ่งควรได้รับการคุ้มครองเพื่อต่อยอดไปอนาคต

ยกเครื่องกฏหมาย หนุนนวัตกรรมสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ

สำหรับการทำงานในฐานะรองผู้อำนวยการ จนกระทั่งได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการ NIA ในปัจจุบัน ดร.กริชผกา กล่าวว่า หลายประเทศให้ความสำคัญกับกฎหมายด้านนวัตกรรมมาก เพราะกฎหมายเป็นเครื่องมือในการวางกรอบแนวทางพื้นฐานต่อจากนโยบาย เมื่อมีนโยบายและอยากดำเนินการให้เกิดผล ต้องมีกฎหมายบางอย่างมาช่วย อย่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ไทยเพิ่งมีเมื่อปี 2564 แต่ในสหรัฐอเมริกามีกฎหมายแนวนี้มาตั้งแต่ปี 2523 สำหรับสนับสนุนนักวิจัย หรือผู้รับทุนที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาให้สามารถนำงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งดีกว่าให้ผลงานวิจัยตกเป็นของรัฐแล้วไม่เกิดประโยชน์

ดร.กริชผกายอมรับว่า กฎหมายบางอย่างของไทยยังล้าสมัย ไม่ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะกับปัจจุบัน พอมีการออกกฎหมายส่งเสริม ทำให้งานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์มากขึ้น ขยายผลไปสู่การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมวิธีการวิจัยและพัฒนา สิทธิประโยชน์ในการวางโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม กฎหมายระหว่างประเทศ ในมิติของเทคโนโลยีเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยน และลงทุน การวางกรอบกฎหมายใหม่ ๆ ในการกำหนดทิศทางอนาคต

เช่น ทิศทางการวิจัยและพัฒนาสำหรับปัญญาประดิษฐ์ การคุ้มครองภูมิปัญญาต่าง ๆ ไว้รองรับกลุ่มซอฟต์พาวเวอร์ เพราะถึงแม้ไทยจะมีกฎหมายความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (TRIPS Agreement) มีมาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งเรื่องสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า สิ่งมีชีวิตทางภูมิศาสตร์ หรือ ลิขสิทธิ์ แต่การคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นกลับมีเฉพาะแพทย์แผนไทย ไม่มีในมิติอื่นเลย ดังนั้น หากต้องการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องคุ้มครององค์ความรู้โบราณที่ต่อยอดเข้ามา อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างและส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ด้วย

“เรามี พ.ร.บ. ส่งเสริมการนำไปใช้ประโยชน์แล้วก็จริง แต่ยังขาดแรงจูงใจด้านภาษีเมื่อมีการนำไปใช้ ทุกวันนี้เราให้ทุนผู้ประกอบการในการจ่ายค่าไลเซนซิ่งจากงานวิจัยหรือทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย โดยจ่ายเงินอุดหนุนให้ 50% หรือ ไม่เกิน 1.5 ล้านบาทของค่าไลเซนซิ่งทั้งหมด

แต่ในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี จำเป็นต้องมีกฎหมายอีกฉบับออกมารองรับ เพื่อกำหนดค่าลดหย่อนทางภาษี ตัวอย่างเช่น นอกจากผู้ทำงานด้านวิจัยและพัฒนาสามารถลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ควรจะขยายสิทธิประโยชน์ไปสู่การพัฒนานวัตกรรมด้วยหรือไม่ เพื่อจูงใจให้คนมาสนใจการทำนวัตกรรมมากขึ้น ไม่ใช่มุ่งเฉพาะแค่งานวิจัยและพัฒนาโดยไม่เกิดการใช้ประโยชน์ สุดท้ายกลายเป็นต้นทุนประเทศที่ไม่เกิดรายได้”

นอกจากนี้ ยังมีการขับเคลื่อน “พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น” หรือ “พ.ร.บ.สตาร์ตอัพ” ในการสนับสนุนกลุ่มสตาร์ตอัพให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี การระดมเงินทุนจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อเป็นการวางโครงสร้างให้มีความเข้มแข็ง สามารถผลักดันสตาร์ตอัพไทย นวัตกรรมไทยให้โตต่อได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

NIA เดินหน้าปั้น 10 สตาร์ตอัพสายอวกาศและอากาศยาน ดันสตาร์ตอัพไทย สู่อุตสาหกรรมระดับโลก

“พ.ร.บ.สตาร์ตอัพ ณ ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการร่างกฎหมายโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 6 เดือน เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและเข้าสู่สภา ซึ่งน่าจะบังคับใช้ได้ภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า ส่วนกฎหมายว่าด้วยกลไกทางภาษียังอยู่ระหว่างการหารือทำความเข้าใจกับกรมบัญชีกลางและกรมสรรพากร หากไม่สามารถออกเป็นกฎหมายได้ ก็อาจออกมาเป็นมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีกลไกช่วยส่งเสริมการตลาดผ่านแนวทงการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ประกอบการนวัตกรรม”

กลไก NIA เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมประเทศ

ด้วยพันธกิจของ NIA มุ่งเน้นการส่งเสริมงานวิจัย ทรัพย์สินทางปัญญา และนวัตกรรม ในฐานะต้นทุนที่สร้างรายได้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ ซึ่งครอบคลุมการสนับสนุนด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน อย่างการให้ทุนวิจัยและพัฒนาซึ่งให้อยู่แล้ว การสร้างกลไกการเชื่อมโยงตลาด การให้ความรู้ผู้ประกอบการเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การปรับปรุงกระบวนการจดแจ้งทรัพย์สินทางปัญญาให้รวดเร็วขึ้น การเพิ่มกลไกการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือ การส่งเสริมการลงทุน

กลไกแรก คือ “การสนับสนุนด้านการเงิน” แก่ผู้ประกอบการ 3S ได้แก่ “กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)” เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาหรือใช้นวัตกรรมมากขึ้น “กลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup)” ที่มีการพัฒนาและใช้นวัตกรรมอยู่แล้ว และ “กลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)” ซึ่งทำเรื่องนวัตกรรมเพื่อสังคมในการลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายรายได้ลงพื้นที่

NIA ปรับกลไกการสนับสนุนผู้ประกอบการ ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม 3,000 ล้านบาท

นอกจากเม็ดเงินสนับสนุน NIA ยังวางแนวทางความร่วมมือระหว่างเครือข่ายพันธมิตรการให้ทุนทั้งหมด อาทิ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ซึ่งทำงานส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (PMUC) สภาอุตสาหกรรม ซึ่งชูนโยบาย ONE FTI ในการเสริมแกร่งให้กลุ่มอุตสาหกรรมไทย สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) สมาคมเกี่ยวกับนักลงทุน VC ในการสนับสนุนมาตรการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนจากหน่วยงานภายนอก (Matching Funds) เป็นต้น เพื่อระดมเม็ดเงินจากภาครัฐและเอกชนให้สามารถสร้างการเติบโตให้ผู้ประกอบการได้มากที่สุด โดย NIA จะขยับไปสนับสนุนการให้ทุนปลายน้ำแก่กลุ่ม 3S ซึ่งเป็นตลาดค่อนข้างใหญ่ เพื่อลดความซ้ำซ้อน และทำให้ NIA สามารถใช้เม็ดเงินที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ส่วนกลไกที่นอกเหนือจากการสนับสนุนด้านการเงิน ได้แก่ “การส่งเสริมพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ” ด้วยหลักสูตรที่ได้รับการพัฒนาให้เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เช่น หลักสูตร CCIO เกี่ยวกับผู้บริหารเมืองนวัตกรรม หลักสูตร IDE to IPO เพื่อยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมของผู้ประกอบการ หลักสูตร SMEs to IBE ในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจเอสเอ็มอีไปสู่ความเป็นองค์กรนวัตกรรม เช่น ความร่วมมือกับทางธนาคารต่าง ๆ ในการยกระดับทักษะผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของทางธนาคาร ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการพัฒนาหลักสูตรส่งเสริมนวัตกรรมที่แตกต่างไปตามมิติทางธุรกิจ เช่น ความร่วมมือกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ความร่วมมือกับบริษัทพลังงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

“เรากำลังดำเนินการเกี่ยวกับ Accelerator Program ในมิติของการฝึกสอน (Coaching) การมีพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ (Mentoring) และการเชื่อมโยงปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ  เพื่อเร่งการเติบโตของสตาร์ตอัพ โดยในปี 2567 จะเห็นการจัดโปรแกรมเร่งการเติบโตในกลุ่มการเกษตร กลุ่มรถยนต์อีวี แบตเตอรี่ เทคโนโลยีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากศ และกลุ่มซอฟต์พาวเวอร์มากขึ้น”  

ต่อเนื่องด้วยกลไก “นวัตกรรมการตลาด (Marketing Innovation) และการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching)” ในการเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์และโมเดลธุรกิจใหม่ด้านนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการกระจายและจำหน่ายสินค้าออกสู่ตลาดในประเทศและต่างประเทศได้มากขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันผ่านการจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐ ซึ่งจะทำให้สินค้านวัตกรรมไทยสามารถชิงส่วนแบ่งการตลาดได้ดีกว่าเดิม

“การไปสู่เป้าหมายอันดับที่ 30 ของดัชนีนวัตกรรมโลกจะเกิดขึ้นได้ เราต้องสร้างระบบนวัตกรรมของประเทศให้มีความเข้มแข็ง ด้วยหลักการ “เอกชนนำ รัฐสนับสนุน” อย่างการเชื่อมโยงส่งเสริมเม็ดเงินลงทุนร่วมกับภาคเอกชน การสนับสนุนการนำไปใช้ประโยชน์โดยภาครัฐ การสร้างตลาดด้านนวัตกรรมไว้รองรับ โดยมี NIA เป็นเสมือน Focal Conductor ตัวกลางในการร้อยเรียงให้ทุกฝ่ายเดินไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมด้านนวัตกรรมของไทยที่แข็งแรงมากขึ้นกว่าเดิม”

ติดอาวุธซอฟต์พาวเวอร์ด้วยนวัตกรรม

ดร.กริชผกา กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีก่อน NIA ได้ให้ทุนสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับ “การนำนวัตกรรมเข้าไปสู่วัฒนธรรม (Social Innovation)” เพื่อให้ผู้ประกอบการนำสิ่งที่มีอยู่เดิมมาปรับปรุงให้ทันสมัย และเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น เช่น มวยไทย ซึ่งให้การส่งเสริมตั้งแต่การจัดกิจกรรมชกมวย กางเกงมวย การเรียนรู้ศิลปะการต่อยมวย การสนับสนุนการท่องเที่ยววิถีชุมชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับศิลปวัฒนธรรม วิถีการดำรงชีวิต อันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ โดยนวัตกรรมมีส่วนช่วยให้ซอฟต์พาวเวอร์มีพลังมากขึ้น ทันสมัยมากขึ้น และเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนในยุคสมัยปัจจุบัน ยิ่งเมื่อผสมกับนวัตกรรมสื่อสังคมออนไลน์ในการช่วยสร้างการรับรู้ ทำให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทยทรงอิทธิพลมากขึ้น และเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่แท้จริงเนื่องจากคนทั่วโลกมองเห็นและให้การยอมรับ อยากได้ อยากมี และอยากมา

“นวัตกรรมเป็นตัวเร่งให้ซอฟต์พาวเวอร์มีอิทธิพลมากขึ้น แต่การยกระดับสิ่งใดเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ต้องมีกลิ่นอายพื้นฐานที่ได้รับการยอมรับระดับหนึ่ง เช่น ซอฟต์พาวเเอร์เรื่องอาหารจะต้องมีการปูพื้นเรื่องราวมาก่อน แล้วใช้นวัตกรรมเป็นตัวช่วยให้เรื่องราวเหล่านั้นได้รับการยอมรับมากขึ้น”

การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ถือเป็น 1 ใน 5 พันธกิจของ ดร.กริชผกา ในการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ NIA นอกเหนือจากการส่งเสริมด้านเกษตรอาหาร ด้านการแพทย์ทางไกลและสังคมสูงวัย ด้านการท่องเที่ยว ด้านรถยนต์อีวี แบตเตอรี่ และเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ              

“ซอฟต์พาวเวอร์เป็นสิ่งที่เราตั้งใจทำแต่แรก ก่อนจะรู้ว่ารัฐบาลสนใจทำเรื่องนี้ ยิ่งซอฟต์พาวเวอร์ที่กระจายอยู่ในภูมิภาคแล้วสามารถสร้างผลกระทบได้ ยิ่งสามารถยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ ฉะนั้น ทำอย่างไรเราจะมาขับเคลื่อนร่วมกันให้เกิดผลทางเศรษฐกิจและสังคม คนไทยมีความสุข  มีรายได้สูงขึ้น และทำให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทยเป็นที่ยอมรับ

2 แนวทางสำคัญของ NIA ในการสนับสนุน คือ การให้ทุนเพื่อพัฒนาสินค้านวัตกรรม และการออกแบบ Accelerator Program ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ บริการ และซอฟต์พาวเวอร์ต่าง ๆ โดยจับมาแต่งตัวให้ดีขึ้น ส่งสริมภาพลักษณ์ให้ดีขึ้น เพื่อยกระดับสู่เวทีต่างชาติได้ ”

ดร.กริชผกา กล่าวเสริมว่า ซอฟต์พาวเวอร์ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม อาหาร ฯลฯ เราแค่เติมนวัตกรรมใส่ลงไปให้มีความทันสมัยมากขึ้น ส่วนซอฟต์พาวเวอร์ที่สร้างขึ้นใหม่เลยก็มีอย่างวัฒนธรรมเค-ป็อป เพียงแต่ซอฟต์พาวเวอร์เกิดใหม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ และกำลังในการผลักดันค่อนข้างสูง อย่างประเทศไทยมีพื้นฐานด้านอาหาร เมื่อปรุงนวัตกรรมเพิ่มเข้าไปก็ทำให้ซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารของไทยไปไกลขึ้น สร้างการรับรู้มากขึ้น

ผุดย่านนวัตกรรม มุ่งการพัฒนาสู่การใช้งานเชิงพื้นที่

ย่านนวัตกรรม (Innovation District) เกิดจากแนวคิดในการดึงดูดผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมในแต่ละอุตสาหกรรม มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้าง พัฒนา และใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมอย่างเข้มข้น อาทิ ที่ตั้งสำนักงาน NIA ในปัจจุบัน คือ “ย่านนวัตกรรมทางการแพทย์โยธี (YMID)” เน้นด้านการแพทย์ สาธารณสุข และสังคมสูงวัย “ย่านนวัตกรรมการเกษตรและอาหารแม่โจ้” และ “ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก” ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเน้นด้านการเกษตรและการแพทย์

“ย่านเทคโนโลยีไซเบอร์เทคปุณวิถี” ร่วมกับ ทรู ดิจิทัล พาร์ค เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับทาเลนต์ด้านดิจิทัลสู่การสร้างนวัตกรรมเชิงลึก และการพัฒนาเครือข่ายนักอนาคตศาสตร์ เพื่อรวมการศึกษาวิจัยด้านการมองอนาคต  “ย่านนวัตกรรมอารีย์” แหล่งชุมนุมนวัตกรรมที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ การพัฒนาเครื่องจักรกลชั้นสูง (Robotics) ไอโอที และเทคโนโลยีการผสมผสานโลกความจริงและความจริงเสมือน (Immersive Technology) หรือ อารีเทค (ARI Tech) การพัฒนา “พื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ย่านเจริญกรุง” ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)

ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสุรนารีพัฒนา “ย่านนวัตกรรมโคเนื้อ” เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูง รวมถึงกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา “ย่านนวัตกรรมขอนแก่น” ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ในอนาคต

“ย่านนวัตกรรมเป็นการปักธงจุดตัดที่สมดุลระหว่างการพัฒนานวัตกรรมรายสาขา (Sectorial Innovation) กับพื้นที่เฉพาะกลุ่ม (Niche) แล้วดึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมมือกัน เพราะนวัตกรรมทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีพันธมิตร มีเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชนมาร่วมด้วยจึงจะไปได้ดี ส่วนการพัฒนาย่านนวัตกรรมด้านซอฟต์พาวเวอร์เป็นสิ่งที่กำลังพิจารณา ซึ่งผู้เกี่ยวข้องคงหนีไม่พ้นคนในพื้นที่ มหาวิทยาลัยในพื้นที่ และภาคเอกชนมาช่วยยกระดับ โดยรัฐช่วยอุดหนุนเรื่องทุน”

ดร.กริชผกา กล่าวว่า นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของไทยมุ่งผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมรวม 11 สาขา ประกอบด้วย อาหาร กีฬา งานเทศกาล  ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น แต่ใช่ว่าทุกสาขาอุตสาหกรรมจะสามารถขับเคลื่อนให้เกิดเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของซอฟต์พาวเวอร์ในแต่ละสาขา

สาขาที่ NIA ให้ความสนใจ ได้แก่ เรื่องอาหารและเกม ซึ่งมีการพูดคุยกับดีป้า เรื่องของวัสดุบางตัวที่น่าสนใจในการทำงานแฟชั่น การส่งเสริมงานศิลปะแนวดิจิทัล หรือ นำศิลปะมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการจับคู่บางอุตสาหกรรม เช่น งานเทศกาลกับการท่องเที่ยว อาหารกับการเกษตร แฟชั่นกับงานศิลปะ

เอไอกับการพัฒนานวัตกรรม

“ปํญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ” เป็นเทคโนโลยีที่สร้างผลกระทบสูง เป็นวาระระดับชาติของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก หลาย ๆ รัฐบาลใช้ประโยชน์ของเอไอเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในมิติด้านความมั่นคง หรือ ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศ สำหรับประเทศไทย เทคโนโลยีเอไอเข้ามามีบทบาทสูงตั้งแต่การดำเนินธุรกิจ การวิเคราะห์ด้านการตลาด วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค หรือเสียงสะท้อนของผู้บริโภคผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ การสนับสนุนการให้บริการภาครัฐและเอกชน

มีการคาดการณ์กันว่า รูปแบบการใช้งานเอไอจะเพิ่มขึ้น และกระแสเอไอจะยังคงอยู่ไปอีกนาน เหมือนคำว่า “อินโนเวชัน” หรือ “ดิจิทัล” ซึ่งกลายเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่ทุกที่ต้องใช้ในการสนับสนุนกระบวนการทำงานให้ดีขึ้น เพื่อให้มนุษย์ยกระดับตัวเองไปสู่การทำงานอย่างอื่นที่มีประสิทธิภาพ และยกงานบางอย่างให้เอไอทำแทน

โดยที่ผ่านมา NIA ได้ให้ทุนสนับสนุนผู้ประกอบการเอไอหลายราย อาทิ “เพอร์เซปต้า (Perceptra)” ระบบเอไอในการอ่านฟิล์มเอ็กซเรย์ปอด “อัลจิบา (Algaeba)” เครื่องนับลูกสัตวน้ำด้วยเอไอ “อีซีไรซ์ (EASYRICE)” เทคโนโลยีเอไอในการตรวจสอบสายพันธุ์และคุณภาพข้าว

เปลี่ยนไทยเป็นชาตินวัตกรรม ด้วยคนไทยหัวใจนวัตกร

“ประเทศไทยจะเป็นชาตินวัตกรรมได้ คนไทยต้องมีหัวใจในการสร้างนวัตกรรมหรือใช้นวัตกรรม เพื่อทำให้ธุรกิจดีขึ้น ทำให้ชีวิตดีขึ้น”

ดร.กริชผกา กล่าวว่า นวัตกรรมเป็นเรื่องใกล้ตัว จับต้องได้ มีส่วนร่วมได้ อีกทั้งนวัตกรรมของไทยเป็นนวัตกรรมเปิดในการลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับเศรษฐกิจและสังคมให้ดีขึ้น หากศึกษาทฤษฎีการพัฒนานวัตกรรมในอดีต จะอยู่ในรูปแบบ 3 ประสานความร่วมมือ (Triple Helix) ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย ปัจจุบัน ได้เพิ่มเติมมิติของภาคประชาชนและสังคม โลกและสิ่งแวดล้อม รวมเป็น 5 ประสานความร่วมมือ ฉะนั้น นวัตกรรมจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนไทยทุกคน และคนทุกคนบนโลก

“ต่อให้ไม่ได้สร้าง เราก็เป็นผู้ใช้นวัตกรรม จึงอยากให้ทุกคนเปิดรับนวัตกรรมของคนไทย ซึ่งเก่งไม่แพ้ชาติใด และร่วมส่งเสริมการตลาดสินค้านวัตกรรมในประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการนวัตกรรมมีกำลังขับเคลื่อน และขยายสู่ตลาดต่างประเทศในแบบที่ไม่ใช่แค่สินค้าขายพ่วงไปกับการท่องเที่ยว แต่เป็นการขายความเป็นนวัตกรรมของคนในชาติ ซึ่งจะเป็นก้าวเริ่มต้นที่สำคัญในการนำไทยไปสู่ความเป็นชาตินวัตกรรมในที่สุด” ดร.กริชผกา กล่าวสรุป

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA – เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

‘ศ.ดร. พิรงรอง รามสูต’ สะท้อนมุมมองต่อบทบาทของ กสทช. บนความท้าทายในโลกยุคแพลตฟอร์มดิจิทัล

เทคสตาร์ตอัพ “โพรโตเมท” ต้นน้ำ “หมวกกันน็อคเอไออัจฉริยะ”​ สัญชาติไทย

เปิดใจ “พิมพ์พิชา อุตสาหจิต” ทายาทรุ่น 3 ขายหัวเราะ “การ์ตูนเป็น Soft Power ที่ไปอยู่กับอะไรก็ได้”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ