TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyNIA โชว์ 2 นวัตกรรม “S.N.A.P - รีโคเวอรี่” ดันเชียงใหม่สู่เมืองนวัตกรรม และต้นแบบของเมืองท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและยั่งยืน

NIA โชว์ 2 นวัตกรรม “S.N.A.P – รีโคเวอรี่” ดันเชียงใหม่สู่เมืองนวัตกรรม และต้นแบบของเมืองท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและยั่งยืน

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดตัว 2 นวัตกรรมตอบโจทย์เทศกาลท่องเที่ยวเมืองเชียงใหม่ “S.N.A.P” ใช้ AI ช่วยเฝ้าระวังอาชญากรรมและ “รีโคเวอรี่” นวัตกรรมที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุ รองรับการขยายตัวของสังคมสูงวัยในเชียงใหม่

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อํานวยการสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองอันดับสองรองจากกรุงเทพฯ ที่มีศักยภาพและความพร้อมต่อการเติบโตของนวัตกรรม โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว การอยู่อาศัย การแพทย์ การเกษตร อีกทั้งยังพร้อมต่อการรองรับกลุ่มดิจิทัลโนแมดและสตาร์ทอัพจากทั่วโลก และที่สำคัญเชียงใหม่ คือเมืองแห่งการท่องเที่ยว แต่จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศไทยยังไม่กลับมาเทียบเท่ากับช่วงก่อนการระบาดของโควิด 19 สิ่งที่จะช่วงผลักดันให้การเติบโตของนักท่องเที่ยวให้เข้ามามากขึ้นนั่นคือเรื่องความปลอดภัย

ดังนั้น NIA จึงเดินหน้าทำงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมที่จะช่วยผลักดันเชียงใหม่ให้น่าอยู่อาศัย น่าลงทุนทำธุรกิจ น่าท่องเที่ยวมากขึ้น ตลอดจนสามารถผลิตนวัตกรรมที่ตรงกับบริบท และประเด็นทางสังคม ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายคือการผลักดันให้เชียงใหม่เป็นต้นแบบของเมืองท่องเที่ยวที่ปลอดภัย จึงได้สนับสนุนโครงการ S.N.A.P Platform: ระบบรวบรวมและวิเคราะห์ภาพกล้องวงจรปิด (CCTV) ด้วย AI อัตโนมัติสำหรับเฝ้าระวังอาชญากรรมและอุบัติเหตุภายใต้กลไกของนวัตกรรมเพื่อสังคม

NIA ให้การสนับสนุนบริษัท อินฟีนิตี้ เจ็น จำกัด ผู้คิดค้นนวัตกรรม S.N.A.P Platform ซอฟต์แวร์ที่สามารถเชื่อมต่อกล้องวงจรปิดยี่ห้อต่าง ๆ จากหลายหน่วยงานให้สามารถเชื่อมต่อและแสดงผลบนแพลตฟอร์มเดียวกันได้โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งกล้องใหม่ และนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาพัฒนากล้องเดิมให้ฉลาดมากขึ้น สามารถวิเคราะห์ภาพ เช่น พฤติกรรมการเคลื่อนไหว อัตลักษณ์การแต่งกาย ประเภทและความหนาแน่นของยานพาหนะ และเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติเชิงวิเคราะห์ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ช่วยยกระดับการบริการประชาชนด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและอุบัติเหตุให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งช่วยลดงบประมาณการติดตั้งกล้องวงจรปิดใหม่เบื้องต้นลงได้มากถึง 10 เท่า ปัจจุบันนวัตกรรมดังกล่าวอยู่ในพื้นที่เขตการดูแลของตำรวจท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง (กลาง) และ พันตำรวจโท มกรา ศรีสกุลพิสุทธิ์

S.N.A.P เชื่อมกล้องวงจรปิดด้วย AI

พันตำรวจโท มกรา ศรีสกุลพิสุทธิ์ สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจท่องเที่ยวเชียงใหม่ กล่าวว่า Pain point หรือปัญหาของตำรวจท่องเที่ยวเชียงใหม่คือ กล้องวงจรปิดของแต่ละหน่วยงานใช้กันคนละยี่ห้อ จึงไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ นอกจากนี้ยังมีกล้องรุ่นเก่าที่ต้องการอัปเดตให้ใช้ AI ได้ ถ้าต้องติดตั้งกล้องใหม่ต้องใช้งบเป็นหลักร้อยล้าน ทางตำรวจท่องเที่ยวเชียงใหม่ได้ทุนจาก NIA มาพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สามารถเชื่อมต่อ รวบรวมและวิเคราะห์ภาพกล้องวงจรปิด (CCTV) ทุกรุ่นทุกยี่ห้อด้วย AI อัตโนมัติ และตอนนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เอาโมเดลนี้ไปต่อยอดทำทั้งประเทศแล้ว คาดว่าปี 67 ถึง 68 จะเริ่มขยายผลไปจังหวัดอื่นได้

พ.ต.ท. มกรา กล่าวต่อไปว่า ประโยชน์ของซอฟต์แวร์ตัวนี้ช่วยวัดความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวได้ จากที่ทุกวันนี้จะใช้การประมาณการจากเที่ยวบินที่มาลงแต่ยังไม่มีการนับในพื้นที่จริงๆ ในแง่มุมการสอบสวนของตำรวจ แพลตฟอร์มนี้ยังช่วยหาอัตลักษณ์ของบุคคลได้ด้วย แต่กล้องเทศบาลติดไว้สูงราว 3 เมตรทำให้มองเห็นใบหน้าไม่ชัด แต่ตำรวจสามารถใช้วิธีค้นหาจากสีเสื้อหรือสีกางเกงได้

S.N.A.P ยังช่วยในการวางแผนกระจายกำลังพลตำรวจท่องเที่ยวให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด ซึ่งเกิดผลลัพธ์ในการช่วยลดสถิติการก่ออาชญากรรมในพื้นที่เชียงใหม่ โดยตำรวจสามารถนั่งมอนิเตอร์กล้องจากจอที่สำนักงาน พอเห็นตรงไหนมีคนหนาแน่น ตำรวจก็กระจายกำลังพลออกตรวจตราตามจำนวนความหนาแน่นของผู้คน 

ในช่วงสงกรานต์ 2566 ทางสถานีมีการนำเทคโนโลยีไปใช้ร่วมกับรถตำรวจเคลื่อนที่บริเวณลานประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในปีก่อนๆ พื้นที่นี้จะมีการแออัด และเกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทกันในบางครั้ง แต่เมื่อใช้แพลตฟอร์มดังกล่าว ในปี 2566 นี้ ทำให้ไม่เกิดการก่อคดีทะเลาะวิวาทเลยในตลอดช่วงเทศกาลซึ่งทำให้คดีลดลงกว่าร้อยละ 100 เมื่อเทียบกับในปีก่อนการใช้แพลตฟอร์ม

ดร. ภูดินันท์ สิงห์คำฟู อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี AI และดูแลโครงการ S.N.A.P กล่าวเสริมว่า อัตราความแม่นยำของการนับจำนวนความหนาแน่นของคนอยู่ที่ 80% ซึ่งทาง NIA ให้ทุนมาต่อยอดโครงการเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ที่บันทึกภาพนักท่องเที่ยวในระดับสายตา เพื่อจะได้สามารถตรวจจับบุคคลเฝ้าระวังได้โดยมีความแม่นยำราว 60-70% แต่ต้องมี database ของบุคคลเฝ้าระวังลิงค์มาที่ระบบ

รีโคเวอรี่” ช่วยฟื้นฟูสุขภาพ

นอกจากการนำนวัตกรรมมาช่วยส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวปลอดภัยแล้ว NIA ยังสนับสนุนทุนโครงการนวัตกรรมเเบบเปิด (OPEN INNOVATION) ในปีงบประมาณ 2564 สำหรับการพัฒนาต้นเเบบที่พร้อมนำไปขยายผลเชิงพาณิชย์ ให้กับบริษัท ชีวาแคร์ จำกัด ในการพัฒนาเเพลตฟอร์ม “รีโคเวอรี่ แพลตฟอร์ม” นวัตกรรมที่จะมาช่วยออกแบบ ประเมิน วางแผน และติดตามผู้ป่วยในระยะฟื้นตัวเฉพาะรายบุคคลและเฉพาะโรค ซึ่งจะช่วยในการฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.กริชผกา กล่าวว่า  NIA เห็นศักยภาพความพร้อมของเชียงใหม่ในด้านการแพทย์และสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่อาศัย รวมถึงประเด็นท้าทายอย่างสังคมสูงวัย จึงมุ่งส่งเสริมเชียงใหม่ให้เป็นสังคมสุขภาพดีอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันเชียงใหม่มีผู้สูงอายุมากกว่า 404,000 คน (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2566) มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งจังหวัด และเป็นจังหวัดที่มีประชากรผู้สูงอายุมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวจะสำเร็จได้จำเป็นต้องมีบริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตในระยะยาว โดยเฉพาะการรับบริการด้านสุขภาพที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

ดร.กริชผกาทดลองใช้ “Balance D” เข็มขัดทดสอบการทรงตัวในท่ายืนเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการล้ม

แต่ในภาพรวมประเทศไทยยังมีปัญหาอัตราส่วนนักกายภาพบำบัดที่เชี่ยวชาญน้อยมากหรือเพียง 10 คนต่อผู้ป่วยที่ต้องการกายภาพบำบัด 1,000,000 คน ขณะที่ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะฟื้นตัวที่ต้องการทำกายภาพบำบัดมีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 ต่อปี ส่งผลให้ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะฟื้นตัวกว่าร้อยละ 50 ได้รับการฟื้นฟูที่ไม่ถูกต้อง

“รีโคเวอรี่ แพลตฟอร์ม” ถือเป็นหนึ่งผลสำเร็จของย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก โดยเป็นโปรแกรมที่ช่วยในการฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วยจากโรคหรืออุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำงานของแพลตฟอร์มนี้จะใช้หลักการ “patient-centric and holistic approach” ร่วมกัน เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยอย่างเข้าใจ ตอบสนองความต้องการและเพื่อประสิทธิภาพในการฟื้นตัวอย่างดีที่สุดทั้งร่างกายและจิตใจ ช่วยให้ผู้ป่วยหรือญาติสามารถประเมิน วางแผน และติดตามผู้ป่วยในระยะฟื้นตัวผ่านระบบที่ถูกออกแบบมาเฉพาะบุคคลและเฉพาะโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาต ภาวะหลังการผ่าตัดกระดูกและข้อ โรคสมองเสื่อม ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

ขนมไทยที่ผลิตโดย FoodPrompt

นวัตกรรมที่ทางศูนย์ชีวาแคร์นำมาช่วยฟื้นฟูผู้ป่วย อาทิ เครื่องพยุงน้ำหนักแบบเคลื่อนที่สำหรับฝึกเดิน Balance D หรืออุปกรณ์วัดค่าความเสี่ยงล้มโดยใช้ Machine learning และ  FoodPrompt ที่ใช้เทคโนโลยีสำหรับการให้โภชนบำบัดและการผลิตอาหารแบบเจาะจง 

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

สหโคเจน จำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เฟสแรกให้ไทยซัมซุง เดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตในเฟส 2 คาดเสร็จสมบูรณ์ เม.ย. 67 

ETDA ย้ำ ‘แพลตฟอร์มดิจิทัล ตาม ม.16’ เตรียมประกาศ T&C ให้ผู้ใช้บริการทราบ ตามที่กฎหมาย DPS กำหนด เริ่ม 3 ม.ค. 67 นี้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ