TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview“ตะวัน จิตรถเวช” CTO ยุคดิสรัปชัน แห่ง KBTG

“ตะวัน จิตรถเวช” CTO ยุคดิสรัปชัน แห่ง KBTG

เมื่อโลก วิถีชีวิตผู้คน และธุรกิจถูกดิสรัปด้วยเทคโนโลยี จนถึงวันที่เทคโนโลยีเริ่มย้อนกลับมาดิสรัปตัวมันเอง ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะนี้ จำต้องอาศัยความรู้รอบ รู้ลึก และรู้ไกลของผู้บริหารด้านไอที หรือ CTO ขององค์กรซึ่งต้องครบเครื่องทั้งจินตนาการ วิสัยทัศน์ และประสบการณ์ในการยกระดับขีดความสามารถไอทีเพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ 

“บิล เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ เคยกล่าวว่า When you dream, you need to dream like an optimist but when you plan, you need to plan like a pessimist ผู้บริหารสามารถฝันใหญ่ซึ่งโดยนัยยะหมายถึงมีจินตนาการที่กว้างไกล แต่ต้องอยู่กับความจริงที่ว่า สิ่งที่แย่ที่สุดอาจเกิดขึ้นได้ จึงต้องมีวิสัยทัศน์ในการกำหนดแผน และต้องมีประสบการณ์การทำงานที่มากพอในการหยั่งรู้อนาคต เดินหน้าได้ ถอยหลังเป็น เพื่อนำธุรกิจและเทคโนโลยีก้าวไปอย่างมีเสถียรภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วทั้งองค์กร” ตะวัน จิตรถเวช Chief Technology Officer หรือ ซีทีโอแห่ง KBTG บริษัทด้านเทคโนโลยีในเครือธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับ The Story Thailand

ประสบการณ์พลิกผัน

ตะวัน เล่าว่า ตนเองจบวิศวกรรมโลหการ ที่จุฬาฯ จากนั้นจึงไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านอุตสาหการที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2535 แต่งานแรกในชีวิตที่ทำกลับเป็นการเขียนแบบโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ CAD/CAM อย่าง AutoCAD หรือ CADAM ซึ่งทำงานบนเครื่องซัน ไมโครซิสเต็มส์ฯ ทั้งยังได้รับมอบหมายให้จับงานไอทีในการดูแลเครื่องนี้ไปด้วย “กลายเป็นจุดพลิกผันให้ไปทำงานด้านไอทีโดยไม่ได้กลับไปทำงานด้านวิศวะฯ ที่ร่ำเรียนมาอีกเลย” เพราะหลังจากนั้นก็มีบริษัทที่รู้จักมาเสนอการสนับสนุนให้เรียนและสอบประเมินความรู้ความสามารถด้านไอทีต่าง ๆ อาทิ ไมโครซอฟท์ ไอบีเอ็ม ออราเคิล เพื่อมาจับงานให้คำปรึกษาด้านไอทีทั้งการสร้างคน ส่งคนไปช่วยงาน หรือประจำที่ไซต์งานลูกค้า ซึ่งเป็นธุรกิจกำลังบูมมากที่อเมริกาช่วงปี 2539-2540 กระทั่งเจ้านายส่งไปเป็นที่ปรึกษาให้บริษัท ฮอนด้า อเมริกา ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่แคลิฟอร์เนียจนเป็นที่ถูกใจและได้รับการว่าจ้างให้มาทำงานประจำที่ฮอนด้าเป็นการถาวร

การทำงานที่ฮอนด้าซึ่งเริ่มต้นจากการดูแลระบบเมล วินโดว์ ไปเป็นแอดมินให้กับระบบยูนิกซ์ และเวียนไปอีกหลายส่วนงานด้านไอที เช่น งานฐานข้อมูล สถาปัตยกรรมระบบ มิดเดิลแวร์ อินทริเกชัน การดูแลเครื่องเมนเฟรม เอเอส/400 เรื่อยมาจนถึงงานไอทีที่เห็นทุกวันนี้ เช่น ดาต้าเลค บิ๊กดาต้า ก็เคยทำที่ฮอนด้ามาก่อน รวมถึงการลงไปคลุกคลีลงมือทำงานด้วยตัวเอง ตั้งแต่เป็นแอดมิน ทำคอนฟิกูเรชันเอง ดูแลเอง กระทั่งการเป็นทีมลีดช่วยวิศวกรในการออกแบบและจัดวางสถาปัตยกรรมจนถ่องแท้เรื่องการทำงานของระบบไอทีแบบองค์รวม นับเป็นการสั่งสมประสบการณ์ทำงานไอทีแทบทุกด้านที่ยาวนานเกินกว่า 20 ปี

ปี 2562 เขาตัดสินใจกลับเมืองไทย อยากนำความรู้จากอเมริกากลับมาทำอะไรเล็ก ๆ ที่ประเทศไทย และ KBTG คือการทำงานที่บริษัทไทยครั้งแรกในชีวิตเนื่องจากเห็นว่า ความรู้ความสามารถบวกประสบการณ์ที่ฮอนด้าสามารถนำมาใช้ได้ในทันที

ซีทีโอในโลกที่ผันผวน

จากการที่เทคโนโลยีไอทีเข้ามาบทบาทสำคัญเบื้องหลังในแทบทุกธุรกิจ อาทิ ธุรกิจการเงิน อุตสาหกรรมการผลิต และบริการ การทำความเข้าใจในเทคโนโลยีและประยุกต์ต่อยอดเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้าและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันจึงเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงต้องมีทักษะในการส่งมอบเพื่อให้องค์กรเกิดความเข้าใจไปพร้อมกัน

“การก้าวมาเป็นซีทีโอ จำเป็นที่เราต้องเข้าใจกระบวนการดำเนินธุรกิจทั้งหมด อะไรคือระบบหลักของธุรกิจของธนาคาร อะไรคือระบบที่สำคัญ เชื่อมโยงถึงกันแบบไหน และเรามีหน้าที่ทำให้ระบบงานเหล่านั้นเกิดเสถียรภาพ และถ้ารักจะเป็นไอที ต้องไม่หยุดเรียนรู้ในการติดตามโลกไอทีเพราะถ้าไม่ตาม 1 ปีเท่ากับล้าหลังไปแล้ว 5 ปี”  

ด้วยเหตุนี้ คุณตะวันจึงมองว่า เทคโนโลยีไม่ควรเป็น Afterthought หรือเป็นเรื่องที่เอาไว้ค่อยคิดทีหลังอีกต่อไป แต่ควรนำเทคโนโลยีมาเป็นพาร์ทเนอร์เชิงกลยุทธ์ในการผลักดันธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น ซีทีโอจึงต้องมีวิสัยทัศน์ในการมองเห็นหรือคาดการณ์ภูมิทัศน์ด้านเทคโนโลยีที่ไกลไม่ใช่แค่ 3-5 ปี แต่ต้องมองไปถึง 10 ปีข้างหน้าว่า จะมีปัจจัยใดที่เข้ามาแทรกแซงความเป็นไปทางธุรกิจหรือเทคโนโลยี หรือสิ่งที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันจะมีการจัดการอย่างไรต่อไปในอนาคต

อีกทั้งไม่ลืมว่า Exit Strategy เป็นสิ่งที่องค์กรต้องมีเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกใช้ไอที ต้องรู้วิธีเดินหน้าและถอยหลังให้เป็น ยกตัวอย่าง ถ้าเราเดินหน้าธุรกิจไปกับเทคโนโลยีนี้แล้วในอนาคตไปต่อไม่ได้หรือต้องพับฐานไป จะมีวิธีถอยหรือออกจากเทคโนโลยีนี้โดยกระทบกับธุรกิจให้น้อยที่สุดได้อย่างไร ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ด้านไอทีที่ยาวนานพอสมควรในการเข้าใจบริบทที่ประกอบขึ้นเป็นระบบไอทีเพื่อหยิบมาใช้กับองค์กรได้อย่างถูกต้อง

“KBTG เลือกทำทุกอย่างให้เป็นระบบเปิดมากพอสมควร เราทำงานร่วมกับทั้งไมโครซอฟท์ กูเกิล และเอดับบลิวเอส ศัพท์หรู ๆ ก็คือ ไฮบริด มัลติคลาวด์ เพื่อให้มี Exit Strategy ว่า ถ้าต้องออกจากเทคโนโลยีหนึ่งจะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ จะไปต่อกันยังไง คือในชีวิตจริงก็ไม่มีใครอยากย้ายเข้าย้ายออกหรอก แต่การเป็นซีทีโอที่ดีคุณต้องคิดเรื่องนี้ ต้องจัดสมดุลให้ได้ว่า ระบบใดเหมาะจะอยู่ต่อโดยดึงจุดแข็งของเทคโนโลยีมาใช้ให้เต็มที่ ระบบไหนที่เวลาเอาออกต้องง่ายและมีทางเลือกว่าจะไปท่าอื่นต่ออย่างไร”

ส่วน 3 สิ่งสำคัญด้านไอที คือ อินฟราสตรัคเจอร์ ระบบความปลอดภัย และข้อมูล ต้องนำมาต่อยอดให้เป็นประโยชน์กับธุรกิจให้ได้ อินฟราสตรัคเจอร์จะต้อง resilience พร้อมทำงานตลอด 24×7 และ 365 วันต่อปี เวลาที่ระบบหยุดชะงัก หรือ Downtime ต้องเหลือให้น้อยที่สุด กลไกในการรักษาความปลอดภัยต้องมีและดีเพื่อป้องกันการถูกโจมตี โดยเฉพาะการโดน compromise ที่ทำให้เกิดการละเมิดข้อมูลของลูกค้าหรือบริษัท และสุดท้ายคือ ข้อมูลซึ่งมีอยู่เยอะมากก็ต้องพัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถดึงข้อมูลในองค์กรหรือที่เกิดจากการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์เชิงลึก เพื่อให้เราเข้าใจลูกค้าและธุรกิจมากขึ้น 

“ยกตัวอย่าง K PLUS ถ้าระบบล่มแค่ 5 นาที 10 นาที ลูกค้าจะเริ่มบ่นล่ะ เราก็ต้องพัฒนาให้ระบบแทบไม่มีการหยุดชะงัก อย่างปี ๆ หนึ่ง เราเอาระบบงานที่เป็นหัวใจหลักของธนาคาร (Core Banking) ลงได้แค่ 4 ชั่วโมงเพื่อซ่อมบำรุง ให้ระบบได้เพิ่มเติมฟังก์ชันการทำงานใหม่ มีศักยภาพในการป้องกันภัยคุกคามใหม่ ๆ หรือการถูก compromise ได้ดีขึ้น แต่ในอนาคตก็ต้องทำให้เวลาลดลงไปอีก” 

“อีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า ภูมิทัศน์ด้านเทคโนโลยีอาจเปลี่ยนโฉมไปเลย เอไอก็อาจเปลี่ยนไปอีก ซีทีโอจึงต้องพร้อมเรียนรู้ลึกและรู้จริงในเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อแยกแยะให้ได้ว่า เทคโนโลยีไหนคือตัวจริง คือสัญญาณของแท้ (Signal) ที่ต้องจับให้มั่นเพื่อนำมาตระเตรียมไปข้างหน้า ไม่ใช่คลื่นรบกวน (Noise) ที่มาเดี๋ยวเดียวก็ตายไป ซีทีโอต้องอ่านขาดว่าสิ่งไหนมีผลกระทบกับธุรกิจหรือระบบงานของเราในอนาคตเพราะโลกของไอทีมี Noise เยอะมาก” 

เทคโนโลยีตัวตึง ปี 67

หากสำรวจเทคโนโลยีที่น่าจะมีบทบาทต่อภาคอุตสาหกรรมทั่วไป และโดยเฉพาะภาคธุรกิจการเงินปี 2567 ในมุมมองของคุณตะวัน เทคโนโลยีที่ชนะ คือ เทคโนโลยีที่สามารถจัดเก็บ-จัดการกับข้อมูลได้มากและรวดเร็ว ตลอดจนนำข้อมูลมาวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ได้ทันต่อเหตุการณ์ เพราะระบบไอทีในภาคธุรกิจการเงินการธนาคารเองทุกวันนี้ ยังทำงานกันเป็น Batch โดยเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูล ณ ช่วงเวลาหนึ่งแล้วจึงจะนำมาประมวลผลแบบกลุ่ม ข้อมูลที่ได้จึงเป็นข้อมูลของเมื่อวาน (Day-1) หรือวันก่อน (Day-2) เนื่องด้วยระบบงานมีขีดความสามารถประมาณนี้ ดังนั้น บริษัทที่สามารถนำข้อมูลแบบเรียลไทม์มาวิเคราะห์และเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการได้ ณ วินาทีที่ลูกค้ากำลังคิดและตัดสินใจจะมีความได้เปรียบมากทีเดียว

ส่วนเทคโนโลยีที่จะถามโถมเข้ามาในไม่ช้า คือ ไอโอที และ เทเลเมติกส์ ในการตรวจติดตามตำแหน่งและการขับขี่ยานพาหนะจากการที่เรามีอุปกรณ์เอนด์พอยต์ เทคโนโลยีเอดจ์ เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งในอุปกรณ์ต่าง  ๆ เช่น โทรศัพท์ รถยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน ทำให้มีอินพุตของข้อมูลถูกเก็บและส่งขึ้นมาเรื่อย ๆ เพื่อรอการแยกแยะ กลั่นกรอง และทำความสะอาดข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์หรือต่อยอดให้เกิดเอาท์พุตบางอย่าง เช่น สร้างการเรียนรู้ของเทคโนโลยีอย่างแมชชีน เลิร์นนิ่งและเอไอให้เก่งขึ้นเพื่อไปสู่การวิเคราะห์ที่ลงลึกกว่าเดิม ทำให้เจเนอเรทีฟ เอไอ มีข้อมูลที่มากขึ้นในการสืบค้น สรุปผล หรือช่วยในการเขียนโค้ด เช่น เจมินายของกูเกิลซึ่งอ้างว่าเก่งในระดับที่สืบค้นลงลึกในคลิ๊ปวิดีโอหรือคลิ๊ปเสียง สามารถนำข้อมูลนั้นมาผสมรวมกับไฟล์ข้อความและสรุปรวมเป็นข้อมูลให้คนเข้าใจได้ง่ายขึ้น หรือการยกระดับอีกขั้นของระบบคอมพิวเตอร์ให้คิดได้เหมือนมนุษย์

“เทคโนโลยีที่เรานำมาปรับใช้แล้ว เช่น การพัฒนาระบบผู้ช่วยเสมือน (Virtual assistant) ตอนนี้เรามีแชตบอตแล้ว เราก็เติมด้วยเอไอในเรื่อง NLP ทำให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษาธรรมชาติของมนุษย์ เช่น ลูกค้าแจ้งความต้องการเปิดบัญชีด้วยเสียง คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจและสืบค้นข้อมูลขั้นตอนการเปิดบัญชีส่งให้ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น”

ยุทธศาตร์ไอที KBTG

ปี 2567 เป็นปีที่ KBTG วางเป้าหมายไว้หลายอย่างแน่นอนว่าหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ คือ การวางมาตรฐานการจัดการด้านข้อมูล คุณตะวันเล่าว่า ข้อมูลส่วนใหญ่ในองค์กรทุกวันนี้เป็นการจัดเก็บแบบมีโครงสร้าง จัดแบ่งเป็นคอลัมน์ ขณะที่ข้อมูลนอกองค์กรมักเป็นข้อมูลแบบกึ่งมีโครงสร้างหรือไม่มีโครงสร้าง เช่น หน้าเฟซบุ๊คที่ข้อความถูกจัดวางแบบอิสระ คลิปวิดีโอบนติ๊กต็อก ซึ่งจำต้องมีเอไอหรือเจเนอเรทีฟ เอไอเข้าไปกวาดข้อมูล นำกลับมาวิเคราะห์ให้ได้ผลลัพธ์เชิงลึกบางอย่าง แต่ปัญหาสำคัญ คือ ข้อมูลหนักและมักอยู่กระจัดกระจายทำให้การย้ายข้อมูลจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ต้องใช้ทรัพยากรมาก มีค่าใช้จ่ายสูง

สิ่งที่ KBTG ทำไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่รวมถึงเครือข่ายในอีก 7 ประเทศ เช่น จีน กัมพูชา อินโดนีเซีย ฮ่องกง เป็นต้น คือ การพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลในลักษณะ Data Lakehouse ให้เกิดจัดการข้อมูลแบบรวมศูนย์เข้ามาไว้ในที่ ๆ เดียวบนคลาวด์ ทำให้สามารถมองหาความความสัมพันธ์หรือบูรณาการข้อมูลให้เกิดการใช้งานได้รวดเร็ว นอกจากนี้ ยังเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารระบบจัดเก็บข้อมูลแยกออกเป็นเทียร์ต่าง ๆ ตามความสำคัญและความถี่ในการเรียกใช้งาน เช่น ข้อมูลที่ถูกเรียกใช้งานบ่อยหรือตลอดเวลา สามารถเลือกจัดเก็บในสตอเรจที่มีประสิทธิภาพถึงจะมีราคาสูงไปบ้าง แต่ข้อมูลที่ไม่ค่อยได้ใช้ ข้อมูลที่ต้องเก็บตามกฎหมายหรือข้อบังคับต่าง ๆ หรือเก็บไปตลอดจนกว่าลูกค้าจะยุติการทำธุรกรรมใด ๆ กับธนาคารก็สามารถเก็บในสตอเรจที่มีราคาถูกลง และถูกลงไปได้เรื่อย ๆ ในอนาคต

“ตอนนี้เราเริ่มคัดแยกว่า งานอะไรที่ต้องใช้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เช่น ข้อมูลที่ใช้ในการตรวจจับกรณีการฉ้อโกงหรือมีเหตุต้องโทษบางอย่างซึ่งต้องป้องกันแบบฉับพลันทันที ขณะที่ข้อมูลบางประเภทยอมให้เป็น Day-1 หรือ Day-2 ได้ เป็นความพยายามดึงข้อมูลไปใช้งานภายใต้ Latency หรือเวลาในการตอบสนองที่เหมาะสม”

สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีอยู่ 2 แห่ง เราได้ออกแบบระบบหลักที่เป็นเทียร์ศูนย์ เช่น เน็ตเวิร์ค ให้ทำงานคู่ขนานกันไปแบบ Highly Redundant ขณะเดียวกัน ภายในแต่ละดาต้าเซ็นเตอร์ก็ออกแบบให้พร้อมใช้งานตลอดเวลาด้วย 2 Available Zone ที่ทำงานทดแทนกันได้เวลาที่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งเกิดปัญหาซึ่งป้องกันระบบงานล่มได้ดียิ่งขึ้นไปอีก ตลอดจน การพัฒนาระบบสำรองข้อมูล หรือ DR ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดต้นทุน เช่น การแบ่งการใช้งานแอปพลิเคชันออกเป็น 4 เทียร์ ได้แก่ พรีเมียม แพลทินัม โกลด์ ซิลเวอร์ ซึ่งตอนนี้การทำ DR กับพรีเมียมและแพลทินัมนับว่าเรียบร้อยแล้ว ส่วนโกลด์กับซิลเวอร์ใช้วิธีการทำ DR-as-a-Service เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการ คือ ต้องสามารถกู้การทำงานของแอปพลิเคชันทั้ง 4 เทียร์กลับขึ้นมาได้เหมือนเดิม และลดระยะเวลาในการกู้คืนฟื้นฟูให้เหลือน้อยที่สุดในทุกเทียร์  เพราะโดยมุมของไอทีที่มีต่อการบริหารจัดการ BCM หรือ Business Continuity Management ต้องสร้างความมั่นใจว่า ทุกระบบจะกลับมาทำงานเพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทุกระบบที่ว่านั้นเป็นสิ่งที่ฝ่ายธุรกิจจะต้องบอกฝ่ายไอทีว่า อะไรคือเทียร์ที่สำคัญ อะไรคือระบบหลักที่สำคัญ

“You don’t know what you don’t know ในโลกไอทียังมีอะไรอีกมากที่คุณมองไม่เห็นและคาดเดาไม่ได้ เราจึงพยายามจับทุกจุด ทุกระบบที่สำคัญแล้วหมั่นฝึกฝนในการรับมือสิ่งต่าง ๆ ด้วยการกำหนดกรอบการทำงานและขั้นตอนอย่างเป็นระบบ ยกตัวอย่าง K PLUS ซึ่งแตะไปแทบทุกระบบตั้งแต่การฝาก ถอน โอน จ่าย ซึ่งล่มไม่ได้ ดังนั้น ระบบ DR ต้องแข็งแรงและต้องหมั่นทดสอบบ่อยๆ เหมือนนักดับเพลิงที่ถึงไฟยังไม่ไหม้ก็ต้องไปหัดดับไฟ” 

สุดท้าย ตะวันมองว่า KBTG มีจุดแข็งที่โดดเด่น 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ นวัตกรรม ซึ่งถือว่ายืนอยู่แถวหน้า เช่น การพัฒนาระบบจดจำใบหน้าแบบ Liveness ที่สามารถพิสูจน์ความเป็นบุคคลเพื่อป้องกันการปลอมแปลงใบหน้าซึ่งผ่านมาตรฐานสูงสุด เทคโนโลยีประมวลผลภาษา NLP ที่แม่นยำที่สุดในตลาด การพัฒนาโปรแกรม Visual Recognition ในการจดจำภาพให้กับบริษัทประกันรถเพื่อประเมินความเสียหายและอัตราค่าซ่อมจากรูปถ่าย การพัฒนาบล็อกเชนในการตรวจสอบย้อนกลับหรือหาความเชื่อมโยง การใช้เจเนอเรทีฟ เอไอ บางตัวเข้ามาช่วยด้านการเขียนโค้ดให้มีแนวปฏิบัติที่ดีขึ้น หรือช่วยเรื่องการแปลผลหรือสรุปความเพื่อสนับสนุนงานการตลาด เป็นต้น 

เรื่องที่สอง คือ อินฟราสตัคเจอร์ ที่เสถียรมาก ๆ เรามีการเฝ้าสังเกตการทำธุรกรรมของลูกค้า หรือสิ่งต่าง ๆ ในระบบที่รวดเร็วและหาทางแก้ไขเมื่อพบปัญหา โดยนำเอไอมาจับข้อมูลที่เป็น log file ต่าง ๆ ของแอปพลิเคชัน ดาต้าเบส มิดเดิลแวร์ หรือโอเอสต่าง ๆ เพื่อจำแนกความผิดปกติ เช่น ข้อมูลหน้าตาประมาณนี้แสดงว่า ระบบงานกำลังมีปัญหา หรืออาจจะมีปัญหาในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ในการหาวิธีจัดเก็บข้อมูลให้ครบถ้วนเพื่อนำมาสร้างโมเดลการทำงานที่ถูกต้อง 

ปั้นองค์กรเทคฯ ทาเลนต์

ปัญหาขององค์กรไทยที่เป็นเทคฯ คอมปานีอย่างที่รู้กัน คือ บุคลากรที่หายากมาก

“หากเทียบความสามารถของคนไอทีไทยกับประเทศอื่น คิดว่าสู้ได้สูสี แต่หากวัดปริมาณคนเก่ง เขามีเยอะกว่าบ้านเรามาก จึงต้องส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาตรงนี้ให้มากขึ้น KBTG เองมีการจับมือกับเทคโนฯ ลาดกระบัง ให้น้องนักศึกษาที่เรียนมาแล้ว 2 ปี มาทำงานกับเรา 2 ปี เรารับเข้าทำงานเลย”

ตะวันบอกว่า ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอนเราสัมผัสกับความเป็นดิจิทัลในชีวิตแทบจะทุกลมหายใจแล้ว และในกาลข้างหน้าจะมีไม่กี่อย่างที่โลกต้องการ เช่น เรื่องของสภาพแวดล้อม สุขภาพ อาหาร ซึ่งถ้าไม่มีไอที ทุกอย่างก็เป็นไปได้ยาก เหมือนโครงการป่าน่านที่ใช้โดรนบินขึ้นไปโปรยยาฆ่าแมลง การใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับแร่ธาตุและสารอาหารในดิน หรือการใช้ความเป็นอัตโนมัติของระบบไอทีในการเลี้ยงสัตว์เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงและดีที่สุด ดังนั้น คนที่โดดมาในวงการไอทีก็น่าจะมีความมั่นคงในการทำงานสูง เพราะต่อให้คอมพิวเตอร์เก่งแค่ไหนแต่ก็ไปไม่ถึงระดับที่มีความเข้าอกเข้าใจคนด้วยกัน หรือมีความคิดสร้างสรรค์ ยังไงก็ต้องใช้คนมาดูแลอยู่ดี

ที่เหลือจึงเป็นเรื่องของการพยายามจับจุดคนรุ่นใหม่ซึ่งเวลาทำอะไรมักมีเป้าหมายหรือ Purpose ที่ชัดเจน ยิ่งในบริษัทเทคโนโลยีซึ่งต้องการทาเลนต์เยอะ เป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญที่จะดึงดูดให้พวกเขาได้ทำอะไรที่ชอบและมีความสุขที่จะมาทำงาน เช่น กสิกรไทยซึ่งเป็นธนาคารอันดับหนึ่งหรือสองของประเทศ มีธุรกรรมการเงินวิ่งผ่านโทรศัพท์มือถือมากถึง 40%  หากระบบล่มก็จะมีผลกระทบไปทั้งประเทศ การชูเป้าหมายว่า เรากำลังทำงานเพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศก็สร้างความฮึกเหิมให้พวกเขาได้ ส่วนตัวผู้บริหารก็ต้องเป็นผู้นำที่เป็นแบบอย่าง สามารถนำพาเขาและองค์กรไปข้างหน้า 

สัตยา นาเดลลา ซีอีโอไมโครซอฟท์ ซึ่งเชื่อในปรัชญาการเรียนรู้ไม่รู้จบและเชื่อว่าอีคิวสำคัญกว่าไอคิว กล่าวว่า คนเราไม่สามารถมีคำตอบกับทุกเรื่องในชีวิต แต่เราสามารถเรียนรู้ในการเข้าใจและสร้างความสัมพันธ์ทีดี่กับผู้คน ดังนั้น ถ้าเราทำทุกอย่างเองไม่ได้ ก็ต้องดูว่าน้อง ๆ เก่งเรื่องไหนและดึงความสามารถของพวกเขาออกมา และถึง KBTG จะเป็นบริษัทที่ Young เปิดมาเพียง 7 ปี มีคนทำงานอายุเฉลี่ยระหว่าง 33-34 ปี แต่ผู้บริหารที่นี่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูด พร้อมทำความเข้าใจว่า เขามาอยู่ตรงนี้เพราะต้องการอะไรและจะให้การสนับสนุนช่วยเหลือเครื่องมือหรืออื่นใดให้พวกเขาทำงานง่ายขึ้น รวมถึงผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ไม่รู้จบ ซึ่งเป็นไปตามคติพจน์ของผู้บริหาร KBTG คือ การให้ความสำคัญกับคน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 องค์ประกอบด้านไอที (Technology-People-Process) อย่างเทคโนโลยีถ้าเข้าใจได้จริงก็ไม่ได้ยากจนเกินไป หรือถึงไม่รู้ทั้งหมดก็หาที่ปรึกษาหรือเวนเดอร์เก่งๆ มาช่วยได้ กระบวนการทำงานหากยังไม่สมบูรณ์ก็สามารถปรับปรุงได้ แต่ยากที่สุดคือ การรักษาคน ทำอย่างไรทาเลนต์รุ่นใหม่จึงอยากทำงานกับองค์กรของเราไปนาน ๆ

“การเป็นผู้นำสำคัญต้องจริงใจกับลูกน้อง มองให้ปรุโปร่งถึงเป้าหมายที่เขาต้องการบรรลุ และฟังให้เยอะ ๆ เพราะคนอยู่สูงมักไม่ค่อยชอบฟัง เราต้องแสดงให้เห็นว่า เราฟังและเข้าใจเขาจริง ๆ และนำสิ่งที่รับฟังไปทำอะไรบางอย่างกลับมาให้พวกเขาเห็น น้อง ๆ ที่มาคุยกับผมไม่จำเป็นต้องคุยแค่เรื่องงาน จะคุยเรื่องชีวิต ครอบครัว หรืออะไรก็ได้เพื่อให้รู้ว่า เราแคร์พวกเขาจริง ๆ ผมเป็นคนเชื่อเรื่อง pay forward ถ้าเราทำอะไรสักอย่างให้คน 3 คน และให้แต่ละคนไปทำต่อกับอีก 3 คน ไม่นานเราก็จะแตะถึงทุกคนได้หมดทั้งองค์กร” 

ตะวันสำทับด้วยข้อคิดของชาลี มังเกอร์ นักลงทุนระดับตำนานที่บอกว่า ชีวิตการทำงานที่จะประสบความสำเร็จก็มีแค่นี่แหละ หนึ่ง อย่าขายของที่ตัวเองไม่อยากซื้อ สอง ทำงานกับเจ้านายที่คุณให้ความนับถือ และ สาม ทำงานกับเพื่อนที่คุณรู้สึกสนุกที่จะทำงานด้วย 

“บริษัทเทคฯ คอมปานี ที่อยากรักษาคนไว้ให้ได้ คุณต้องเป็นนายที่ลูกน้องรักและอยากทำงานด้วย ต้องมีมุมมองที่ต่างฝ่ายต่างเห็นคุณค่าของกันและกัน อยากตอบแทนซึ่งกันและกัน ซึ่งโดยส่วนตัวผมเองก็เชื่อว่า นี่จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้ KBTG เดินหน้าไปได้ไกลกว่านี้อย่างแน่นอน” ตะวันกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA- เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เทคสตาร์ตอัพ “โพรโตเมท” ต้นน้ำ “หมวกกันน็อคเอไออัจฉริยะ”​ สัญชาติไทย

เปิดใจ “พิมพ์พิชา อุตสาหจิต” ทายาทรุ่น 3 ขายหัวเราะ “การ์ตูนเป็น Soft Power ที่ไปอยู่กับอะไรก็ได้”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ