TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistโควิด ทุบ "โรงงาน" สะท้าน ... "ส่งออก" สะเทือน

โควิด ทุบ “โรงงาน” สะท้าน … “ส่งออก” สะเทือน

สัปดาห์ที่แล้วมีข่าวดีในวงการส่งออกไทยเมื่อกระทรวงพาณิชย์ได้แถลงตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนเมษายนโตขึ้นแบบพรวดพราดอย่างไม่น่าเชื่อ อันที่จริงตั้งแต่มกราคมเป็นต้นมา ยอดส่งออกไทยก็โตมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ในห้วงเวลาที่ผ่านมาต้องเจอกับวิบากกรรม “ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน” ถัดมาก็เกิดกรณี “ชิป” ชิ้นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าไอทีขาดแคลนทั่วโลก

แต่ตัวเลขการส่งออกที่เติบโตอย่างต่อเนื่องก็ด้วยอานิสงส์มาจากเศรษฐกิจประเทศหลัก ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป กำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เคยหยุดชะงัก กลับมาดำเนินต่อได้อีกครั้ง หลังจากประเทศเหล่านี้ได้กระจายวัคซีนอย่างครอบคลุม ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ

ที่สำคัญมูลค่าตลาดทั้งสหรัฐฯ จีน รวมถึงสหภาพยุโรป คิดเป็นกว่า 50% ของตลาดส่งออกทั่วโลก และประมาณ 30% ของตลาดส่งออกของประเทศไทยเลยทีเดียว

ซึ่งตัวเลขการส่งออกล่าสุดเดือนเมษายน การส่งออกของไทยขยายตัวสูงถึง 13.09% คิดเป็นมูลค่า 21,400 กว่าล้านดอลลาร์ราว 675,000 กว่าล้านบาท เป็นการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 36 เดือน หรือในรอบ 3 ปี และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนมีนาคมที่เพิ่มขึ้น 8.47% ทำให้ยอดการส่งออก 4 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่ากว่า 85,577 ล้านดอลลาร์ ราว 2.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.78%

ส่องไส้ในแต่ละตลาดจะพบว่า ยอดการส่งออกขยายตัวทุกตลาด ตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.8% ตลาดจีน เพิ่มขึ้น 21.9% CLMV รอบบ้านเราเพิ่มขึ้น 44.3% พระเอกก็ยังคงเป็นสินค้ากลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรรวม และเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างที่รู้ ๆ ผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิดหลายคนต้องทำงานที่บ้าน ทำให้ความต้องการอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้น

สะท้อนว่าในช่วงที่ความมืดของโควิดปกคลุมประเทศไทย แต่ก็เริ่มมีแสงสว่างปลายอุโมงค์ ยังเป็นโอกาสทองของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เป็นเหมือน “สปอร์ตไลท์” ที่คอยนำทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทย 

น่าเสียดายมีข่าวดีไม่ทันไร ก็มีข่าวร้ายตามมาติด ๆ ในช่วงต้นเดือนเมายน 2564 โควิด-19 ระบาดเข้าไปในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขยายวงกว้างซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตเพื่อส่งออก เช่น โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร อย่างโรงงานสับปะรดกระป๋องที่ประจวบฯ ภาคการประมง เป็นโรงงานปลาทูนาส่งออกรายใหญ่ที่สมุทรสาคร

ล่าสุดโควิดยังบุกทุบโรงงานส่งออกอย่างต่อเนื่อง เฉพาะธุรกิจไก่ส่งออกเจอไปแล้ว 3 แห่ง รวมถึงยักษ์ใหญ่เบอร์หนึ่งโลกจากสหรัฐฯ ติดโควิดในไทย ซึ่งบริษัทแม่ในสหรัฐฯ เคยถูกจีนระงับนำเข้าไก่มาแล้ว ด้านคลัสเตอร์ ”ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์” ที่เพชรบุรีและโรงงานผลิตถุงมือยาง 2 รายใหญ่ที่ภาคใต้ ยังน่าห่วงยังขยายวงไม่หยุด บรรดาโรงงานส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากโควิดระลอก3 ล้วนแต่เป็นโรงงานผลิตเพื่อส่งออกขนาดใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลกทั้งสิ้น

สาเหตุที่โรงงานเป็นคลัสเตอร์ใหม่ที่เชื้อโควิดแพร่กระจายรวดเร็ว เกิดจากสภาพการทำงาน และความเป็นอยู่ที่อยู่กันอย่างแออัด ฯลฯ จึงน่าห่วงว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมของประเทศจะถูกกระทบจากโควิดที่บุกโจมตี และส่งผลสะเทือนถึงภาคการส่งออกซึ่งเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่กำลังจะฟื้นตัว 

ยิ่งถ้ายังลุกลามสกัดไม่อยู่ โรงงานที่ผลิตส่งออกตามออร์เดอร์ลูกค้าก็สะดุดตามไปด้วย หลาย ๆ โรงงานก็แก้ปัญหาด้วยการผลิตเท่าที่ผลิตได้ หรือต้องย้ายไลน์การผลิต เป็นต้น ต้องบอกว่าตอนนี้เข้าขั้น “วิกฤติ” จริง ๆ รัฐบาลต้องตั้ง “วอร์รูม” แก้ปัญหาเร่งด่วนที่สุดเพื่อประคับประคอง “เครื่องยนต์ส่งออก” ที่เป็นแหล่งรายได้ของประเทศหลักเกือบ ๆ 70% ของจีดีพี ไม่ให้วิกฤติบานปลายจนทำให้การส่งออกชะงักอีกครั้ง

จะว่าไปแล้วที่ผ่านมารัฐบาล “ประมาท” และ “ไร้วิสัยทัศน์” เพราะมัวแต่ตามหาเลข 0 แต่ของจริงซุกอยู่ในโรงงานเพียงแต่ยังไม่ระเบิดออกมา รัฐบาลจึงไม่มีแผนในการตรวจเชิงรุก แต่ใช้วิธีตั้งรับ ไล่ตรวจหลังจากเกิดเหตุการณ์ ในที่สุดก็เอาไม่อยู่ มัวแต่ชะล่าใจ จึงไม่ได้เตรียมวางแผนในการจัดหาวัคซีนตั้งแต่เนิ่น ๆ ทำให้ได้มาช้าและจำนวนจำกัด

ในการบริหารจัดการวัคซีน ก็ไม่ได้จัด “อันดับความสำคัญ” ก่อนหลังว่ากลุ่มไหนควรได้ก่อนได้หลัง จึงเกิดความวุ่นวายตามาจนเกิดกรณี “วัคซีนทิพย์” นัดแล้วไม่มา มิหนำซ้ำยังกีดกันไม่ให้เอกชนเข้ามารับผิดชอบ ทำให้สถานการณ์บานปลายอย่างที่เห็นทุกวันนี้

น่าเสียดาย โอกาสทองของส่งออกไทย ที่ต้องมาตายน้ำตื้น เพราะความประมาทแท้ ๆ

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ