TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistวิกฤติ "วัคซีน" - วิกฤติ "เศรษฐกิจ”

วิกฤติ “วัคซีน” – วิกฤติ “เศรษฐกิจ”

โควิด-19 ระบาดระลอก 3 กลายเป็น “มรสุมไวรัสลูกใหญ่” ดันตัวเลขผู้ป่วยใหม่และผู้เสียชีวิตพุ่งสูงปรี๊ดทุกวัน เสียงเรียกร้องอยากจะฉีดวัคซีนจึงมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ ทั้งนักธุรกิจ พ่อค้าแม่ขาย คนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ นักเรียน นักศึกษา ประชาชน แทบทุกคนล้วนอยากฉีดวัคซีน เพื่อที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตทำมาหากินตามปกติ เศรษฐกิจจะได้เดินหน้า

ขณะที่เฝ้ารอวัคซีน แต่กลับมีกระแสข่าวโรงพยาบาลวชิรพยาบาล และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศเลื่อนฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ออกไป เนื่องจากยังไม่ได้รับวัคซีนตามกำหนด ต่อมาโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ก็ออกมาร้องว่า “ถูกเท” ไม่ได้รับการจัดสรรควัคซีนตามที่ขอ 12,000 โดส ได้แค่ครึ่งเดียว ได้รับแล้ว 2,000 โดสยังไม่ได้รับอีก 4,000 โดส

จึงมีคำถามว่า วัคซีนหายไป? ทำไมไม่มาตามนัด

ลองไล่เรียงตั้งแต่วันแรกที่วัคซีนโควิดเดินทางมาถึงไทย เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ จนถึงวันนี้ (30 พฤษภาคม) โดย “ซิโนแวก” จำนวน 5.5 ล้านโดส มีบริจาคเพิ่มอีก 5 แสนโดส กระจายไปแล้วกว่า 3.44 ล้านโดส “แอสตร้าเซนเนก้า” จำนวน 117,300 โดส แจกจ่ายไปแล้ว 115,890 โดส ตามแผนเดือนพฤษภาคมจะมีเข้ามาอีก 1.7 ล้านโดส แต่ต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด 

คงต้องลุ้นกันต่อไปว่า ผลกระทบของการเลื่อนส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ในล็อต 1.7 ล้านโดสนี้ จะกระทบชิ่งไปถึงล็อต มิถุนายน 4.3 ล้านโดส กรกฎาคม 10 ล้านโดส สิงหาคม 10 ล้านโดส และลอตใหญ่อีก 35 ล้านโดส ที่จะเข้ามาในช่วงเดือนกันยายนไปจนถึงธันวาคมหรือไม่

อย่าลืมว่า ความล่าช้าของ “วัคซีน”​ คือ “ต้นทุนประเทศ” ที่เพิ่มขึ้น จะกระทบต่อเนื่องเป็น “โดมิโน” ทั้งเรื่องสุขภาพ ปัญหาสังคม และหนีไม่พ้นความเสียหายทางเศรษฐกิจ สะท้อนจากภาพถนนในกรุงเทพฯ โล่งจนเวิ้งว้าง ย่านธุรกิจที่เคยคึกคักไม่เคยหลับ วันนี้ต่างเงียบเหงาวังเวง ร้านอาหารชื่อดังระดับมิชชิลินสตาร์ ตลอดจนร้านดังระดับตำนาน ทยอยปิดเป็นว่าเล่น

ในต่างจังหวัด แม้การระบาดโควิด-19 จะรุนแรงน้อยกว่า แต่ธุรกิจเศรษฐกิจก็เสียหายไม่แพ้กัน เมื่อวันก่อนไปธุระต่างจังหวัด ร้านอาหารชื่อดังอยู่ริมทางย่านแหล่งท่องเที่ยวแทบไม่มีคน แม้จะเป็นเวลาเที่ยงที่ปกติคนจะแน่น เชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นได้ ก็คงหลังจากที่คนไทยฉีดวัคซีนในระดับ 70% กระทั่งเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้สักระยะ

แต่เมื่อหันมาดูการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลและศบค. เหมือน “มือสมัครเล่น”​ มั่วไปหมด การเมืองก็เข้ามาล้วงลูก กลายเป็น “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” จนเละตุ้มเปะ ไม่มีการจัดอันดับความสำคัญก่อนหลัง กลุ่มเสี่ยงและพื้นที่เสี่ยงที่จะต้องได้ฉีดก่อน ก็ต้องรอไปก่อน แต่ที่ฉีดกันครึกโครมล้วนแต่เป็น “กลุ่มเส้น” ใกล้ชิดนักการเมืองคนใหญ่คนโตในรัฐบาล และใช้วิธีจัดสรรเฉลี่ยไปทุกจังหวัดโดยไม่ดูความจำเป็น

แทนที่จะให้กลุ่มเสี่ยงหรือพื้นที่เสี่ยงอย่างกรุงเทพฯที่เป็น”ศูนย์กลางธุรกิจ-เศรษฐกิจ”ของประเทศหรือชลบุรีที่อยู่ในอาการโคม่าและเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลักในโครงการอีอีซี.ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศแต่กลับได้รับการจัดสรรวัคซีนพอๆกับจังหวัดขนาดเล็กที่แทบไม่มีผู้ติดเชื้อเลย

“วัคชีนล่าช้า” ย่อมทำให้ประเทศเสียโอกาสในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จนถึงทุกวันนี้ สัดส่วนการฉีดวัคซีนกับจำนวนประชากรเป้าหมาย ยังได้ไม่กี่เปอร์เซ็น กว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่จริง ๆ ที่ต้องเร่งปูพรมฉีดให้ได้อย่างน้อย 70% ก็คงต้องรออย่างเร็วกลางปีหน้า หรืออาจจะนานกว่านั้น ถึงตอนนั้น เชื้อโควิดอาจจะกลายพันธุ์ หรือเกิดการระบาดระลอกใหม่

นั่นแปลว่า คนที่ฉีดวัคซีนไปก่อนหน้านี้ ก็แทบไม่มีความหมาย ไม่เกิดประโยชน์ เงินลงทุนกับวัคซีนก่อนหน้านี้จำนวนมหาศาลต้องสูญเปล่า ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ เสียทั้งเวลาและเสียทั้งเงินทอง เพราะการบริหารจัดการวัคซีนไม่เป็นโล้เป็นพาย

เมื่อสัปดาห์ก่อน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพยากรณ์ว่า เมื่อประเทศไทยเจอโควิดระลอก 3 การขยายตัวของจีดีพีปีนี้อาจจะเหลือเพียง 1.5-2.5% อีกไม่กี่วันต่อมา ศูนย์วิจัยของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งก็ทำนายว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศปีนี้อาจจะโตได้เพียง 0.8-1.6%เท่านั้น

ขณะที่ศูนย์วิจัย “กรุงไทย คอมพาส” ระบุ การแพร่ระบาดระลอกที่ 3 รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ส่งผลกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงอุปสงค์ (ปริมาณความต้องการ) ในประเทศค่อนข้างมาก พร้อมประเมินว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจสำหรับปีนี้จะลดลงเหลือ 0.8-1.6% เทียบกับที่เคยคาดการณ์ไว้ที่  2.5% กรณีไม่มีการระบาดระลอก 3  

นอกจากนี้ ประเมินมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจอาจสูงถึง  400,000-580,000 ล้านบาท … นี่คือความเสียหายจากการบริหารจัดการวัคซีนมั่ว และล่าช้าที่รัฐบาลและศบค.ปฏิเสธไม่ได้

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ