TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistกู้ “7แสนล้าน” เอาอยู่ไหม

กู้ “7แสนล้าน” เอาอยู่ไหม

หลายคนสงสัยทำไมก่อนหน้านี้ทั้งกระทรวงคลังและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)รวมถึงคนในรัฐบาลออกมายืนยันเสียงแข็งว่าเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่กู้มาในปีที่แล้ว 1 ล้านล้านบาทมีเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม แต่จู่ ๆ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง ได้เสนอร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ วงเงิน 7 แสนล้านบาท 

เหตุผลที่กระทรวงคลังอ้างในที่ประชุมว่า ที่ต้องกู้เพิ่มเนื่องจากพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพราะตอนนี้มีเงินเหลือติดกระเป๋าแค่ 1.65 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เมื่อเงินไม่พอก็ต้องกู้เพิ่ม ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่ประหลาด คือ ทำไมกู้เพิ่มแค่ 7 แสนล้านบาท ก็ต้องบอกว่า ที่กู้แค่ 7 แสนล้านบาท เพื่อให้ตัวเลขหนี้สาธารณะมีสัดส่วนอยู่ที่ 59% ของจีดีพี ยังไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้ที่ 60% ของจีดีพีนั่นเอง

แต่ที่น่าสนใจ ทำไมรัฐบาลต้องออกเป็นพ.ร.ก.แทนที่จะเป็นพ.ร.บ.แถมยังเป็น “วาระลับ” และมีเอกสารอธิบายเหตุผลแค่ 4 หน้า ทั้งที่เงินกู้สูงถึง 7 แสนล้านบาท แถมในเอกสารดังกล่าวเขียนแผนงานสั้น ๆ แบ่งเป็น 3 แผนเหมือนพ.ร.ก.เงินกู้เดิมทุกประการ โดยแบ่งเป็น

–    แผนงานการแก้ไขปัญหาโควิด 30,000 ล้านบาท

–    แผนงานเยียวยาประชาชน 400,000 ล้านบาท

–    แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 270,000 ล้านบาท และที่ประชุมได้อนุมัติเรียบร้อย” “โรงเรียนลุงตู่”

ยังสงสัยทำไมไม่รอให้เปิดประชุมสภาฯ ที่กำลังจะเปิดสมัยประชุมในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เพื่อเปิดโอกาสให้ส.ส.ในฐานะตัวแทนประชาชนได้ซักถามที่มาที่ไป ความจำเป็นที่ต้องกู้ หรือกู้แล้วจะไปใช้ทำอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส การที่รัฐบาลทำอย่างหนี้ถือว่าไม่ให้เกียรติสภาฯ เป็นการมัดมือชกประชาชน ทั้งที่ต้องเป็นผู้รับภาระหนี้ที่รัฐบาลสร้างทิ้งไว้ หรือถ้ากลัวว่าออกเป็นพ.ร.บ.จะใช้เวลานาน ก็หารือกันว่าขอออก 3 วาระรวดก็ได้

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การระบาดระลอก 3 สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกระจายเป็นวงกว้าง หนัก และรุนแรงกว่าเดิมหลายเท่า ได้แต่หวังว่าเงิน 7 แสนล้านที่กู้เพิ่มมาครั้งนี้ จะไม่ใช่เป็นการ “ตำน้ำพริก ละลายแม่น้ำ” เหมือนเงินกู้รอบที่แล้ว ที่เน้น “กระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้า” ในการเบิกเงินส่วนใหญ่ จึงเน้นไปที่การโอนใส่กระเป๋าประชาชน ไม่ว่าจะเป็น “เราไม่ทิ้งกัน” “คนละครึ่ง” หรือ “เราชนะ” ปรากฏว่า ส่วนหนึ่งกลับตกไปเข้ากระเป๋าคนที่ไม่ได้เดือดร้อนจริง ๆ แถมยังมีการทุจริตกันอย่างมโหฬาร

จะเห็นว่าเงินกู้ 1 ล้านล้าน แทบไม่มีโครงการลงทุนเพื่ออนาคตเลย หรือจะมีบ้างก็ทำโครงการเล็ก ๆ น้อย ๆ สะเปะสะปะ ซึ่งไม่ได้ฟื้นฟูอะไรเลย มีแต่การเสนอโปรเจกต์หลอก ๆ เข้ามา 

น่าเป็นห่วงว่าเงินกู้เที่ยวนี้ วางกรอบเพื่อใช้ฟื้นฟู้เศรษฐกิจแค่ 2.7 แสนล้านบาท นับว่าน้อยมาก ทั้งที่ธุรกิจล้มหายตายจากไปจำนวนมาก รัฐบาลควรจะใช้เงินกู้ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี เพื่อประคองซัพพลายเชนเอสเอ็มอีให้อยู่รอด หรืออาจจะทำอย่างประเทศเยอรมนี เข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการ ร้านค้าต่าง ๆ ให้อยู่ได้ มีการช่วยค่าต้นทุนครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ทั้งลูกจ้างและนายจ้างอยู่ได้ธุรกิจก็เดินหน้าต่อได้ไม่ล้ม

เหนือสิ่งใด สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำ คือ ต้องเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้ทำงาน อย่างที่หลายประเทศทำกัน ถ้าเอาเงินจำนวนนี้ไปจองวัคซีนที่ดีที่สุดที่มีขายตั้งแต่เงินกู้รอบแรก ป่านนี้เราอาจจะมี ภูมิคุ้มกันหมู่ไปแล้วก็ได้ 

น่าเสียดายที่ผ่านมาเราได้ใช้เงินไปเกือบเก้าแสนล้านบาท เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจไปสามรอบ และกำลังจะกู้เพิ่มอีก ซึ่งก็เข้าใจว่าเงินพวกนี้อาจจะจำเป็นเพื่อช่วยเหลือประชาชนในยามยากลำบาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่ง คือ ต้นทุนการบริหารงานและบริหารความเสี่ยงที่ผิดพลาดของรัฐบาลทั้งในเรื่องโควิดและในเรื่องเศรษฐกิจ

น่าเสียดายถ้างบ 1 ล้านล้านถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็จะน้อยกว่านี้ เศรษฐกิจก็จะไม่จมดิ่งและฟื้นตัวช้าอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ภาพ: Thaigov.go.th

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ