TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเศรษฐกิจยุคโควิด - ฟื้น "ต่ำ-ช้า-เหลื่อมล้ำ"

เศรษฐกิจยุคโควิด – ฟื้น “ต่ำ-ช้า-เหลื่อมล้ำ”

สถานการณ์โควิด-19 ระบาดหลาย ๆ ประเทศหลุดพ้นจนเกือบจะเป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นจีนต้นตอของการระบาด นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย หรือใกล้บ้านเราอย่างเวียดนาม หรืออย่างไต้ไหวัน เกือบจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ

การที่ประเทศเหล่านี้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจพุ่งกระฉูด อย่างจีนคาดว่า จีดีพีโตไม่ต่ำกว่า 7.9% แค่ไตรมาสแรกปี 64 โต 18.3% หรือเวียดนาม ไอเอ็มเอฟ คาดว่า จีดีพี ปีนี้จะโตราว 6.7% โตที่สุดในกลุ่มอาเซียน ส่วนประเทศอื่น ๆ ก็โตลดหลั่นกันไป ส่วนไทยไอเอ็มเอฟคาดการณ์ที่ 4% แต่ในการประชุมอาเซียนล่าสุด ปรับเหลือแค่ 2.3% โตต่ำสุดในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน

ขณะที่สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และกลุ่มประเทศยุโรป ที่เจอสมรสุมโควิดกระหน่ำอย่างหนัก ประเทศแทบแตกสลาย แต่หลังจากผลิตวัคซีนได้ รัฐบาลของเขาโชว์ศักยภาพบริหารจัดการ “วัคซีน” อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว ทำให้หลายประเทศเตรียมเปิดให้ไปมาระหว่างกัน

ความสำเร็จในการบริหารจัดการวัคซีน ทำให้ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ปีนี้ จีดีพีโต 5.1% สะท้อนจาก ข้อมูลล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ในเดือนมีนาคม 2021 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมูลค่า 2.745 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 6.3% ขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ การนำเข้าที่พุ่งสูงเป็นผลมาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและรวดเร็ว 

ส่วนธนาคารกลางอังกฤษคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรเติบโตสูงสุดในรอบ 70 ปี เติบโตเร็วที่สุดตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนการฉีดวัคซีนโควิดต่อเนื่อง ได้เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค ขณะที่มีการยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศและธุรกิจบางส่วนเริ่มทยอยเปิดทำการ โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะขยายตัว 7.25%

หลาย ๆ ประเทศอยู่สภาพ “ต้นร้ายปลายดี” ครั้นหันกลับมามองบ้านเรา ตรงกันข้าม ยิ่งโควิดระบาดรอบ 3 ไม่รู้ว่าจะเห็น “แสงสว่างปลายอุโมงค์” เมื่อไร ไม่เฉพาะ “สาธารณสุข” เท่านั้นที่วิกฤติ แต่เศรษฐกิจก็วิกฤติไม่น้อยกว่ากัน เรียกว่า “วิกฤติซ้อนวิกฤติ”

จนหลายคนบอกว่า เที่ยวนี้ “หนักว่าต้มยำกุ้ง” คราวนั้นหนักเฉพาะรายใหญ่และสถาบันการเงิน แต่คราวนี้ที่โดนหนักคือ รายย่อย พวกเอสเอ็มอี และรากหญ้า วิกฤติต้มยำกุ้งแก้ไม่ยาก เพราะมีในตำรา แต่คราวนี้ “ตำราไม่ได้บอก” จะออกจากวิกฤติอย่างไร

หลังจากการระบาดระลอกแรก ไทยจะได้รับคำชมจากนานาประเทศว่า สามารถจัดการโควิด-19 ได้ดี แต่เที่ยวนี้กลับเละตุ้มเป๊ะ จนสถาบันการเงินต่างปรับลดจีดีพีลงเหลือราว 2.7 เท่านั้น และหากอัตราการติดเชื้อยังพุ่งสูงระดับ 2,000 คนขึ้นไปต่อวัน ก็อาจจะต้องยืดเวลา “มาตรการคุมเข้ม” ในพื้นที่สีแดงเข้มแบบไม่มีกำหนด

นั่นหมายความว่า ธุรกิจร้านค้าทั้งหลายจะต้องถูกจำกัดการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไป ย่านการค้าต่าง ๆ ที่เงียบเหงา ร้านค้าที่ไร้ผู้คน และมีไม่น้อยสู้ไม่ไหว ก็ต้องบอกเลิกกิจการ เฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจโรงแรมทั้งในกรุงเทพฯและแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร สถานบันเทิง และร้านค้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยว ต่างโคม่าและอาการจะหนักขึ้นเรื่อย. ๆ

อย่างที่รู้ ๆ กันว่าเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งเนื้อนาบุญภาคการท่องเที่ยว 12-15% ของจีดีพี แต่กลับมีแรงงานที่อยู่ในวงจรธุรกิจท่องเที่ยวราว ๆ 20 ล้านคน คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน ต้องตกงานขาดรายได้เลี้ยงครอบครัว เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งแก้หากไม่อยากให้วิกฤติเศรษฐกิจถลำลึกไปกว่านี้

แม้การส่งออกจะดีขึ้นในรอบหลายปี คาดว่าปีนี้ส่งออกจะโต 3.4% จีดีพีซึ่งโตตามเศรษฐกิจสหรัฐและจีน ที่เป็นตลาดหลัก แต่เมื่อดูไส้ในอุตสาหกรรมที่ทำให้ตัวเลขการส่งออกดูดี มีแค่ 3 ตัวหลัก ๆ คือ ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี มูลค่าการส่งออกเกินครึ่ง แต่ตัวเลขการจ้างแรงงานแค่ 5% เท่านั้น

นี่คือ ความพิกลพิการโครงสร้างเศรษฐกิจไทย รายได้จากการท่องเที่ยวแค่ 12-15% ของจีดีพี แต่ต้องแบกกว่า 20 ล้านคน แต่ส่งออกรายได้กว่า 70% ของจีดีพี แต่การจ้างงานกลับน้อยกว่า จึงเป็นคำตอบ ทำไมเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น หรือฟื้นช้า

ยิ่งการฉีดวัคซีนช้าเท่าไร เศรษฐกิจก็ยิ่งฟื้นช้าเท่านั้น ล่าสุด Bloomberg คำนวณว่า ประเทศไทยจะต้องใช้เวลา 7.7 ปี ในการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากร 75% นั่นแปลว่า กว่าที่เศรษฐกิจจะเข้าที่เข้าทางเป็นปกติอาจจะต้องรอนานกว่านี้

เหนือสิ่งอื่นใด หากพ้นวิบากกรรมนี้แล้ว แต่การฟื้นตัวเศรษฐกิจก็จะ “ฟื้นอย่างไม่เท่าเทียม” เป็นการฟื้นแบบ “เหลื่อมล้ำ” หรือ “กระจุก” ในบางกลุ่มธุรกิจเท่านั้น ธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจค้าปลีกได้รับผลกระทบน้อย สะท้อนจากตัวเลขสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่โต 10% ธุรกิจรายย่อย ค้าปลีกโต 4% ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอี สินเชื่อติดลบเพราะมีความเสี่ยงสูง สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อย

แต่ไม่ว่าจะวิกฤติอย่างไร คนก็ต้องกินต้องใช้ คนไม่มีเงินก็ต้องกู้มาจับจ่ายใช้สอย กลุ่มสถาบันการเงินจึงพากันกำไรกันอู้ฟู่เหมือนเดิม นี่คือ คำตอบว่าทำไมเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด จึงโตต่ำ ฟื้นช้า และฟื้นแบบเหลื่อมล้ำ

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ