TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistพ่ายศึกโควิด แพ้สมรภูมิเศรษฐกิจ

พ่ายศึกโควิด แพ้สมรภูมิเศรษฐกิจ

ตั้งแต่หลังเทศกาลสงกรานต์เรื่อยมาเส้นกราฟผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ระบาดระลอก 3 พุ่งขึ้นอย่างน่าตกใจ ครั้งนี้รุนแรงและรวดเร็วอย่างน่าใจหาย ทำให้คนไทยลืมชัยชนะจากการระบาดระลอกแรกอย่างสิ้นเชิง งานนี้สังคมต่างชี้นิ้วพุ่งเป้ามาที่รัฐบาลเฉพาะอย่างยิ่ง “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ “หมอหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีสาธารณสุข ต้องรับไปเต็ม ๆ โทษฐาน “บริหารจัดการวัคซีน” ผิดพลาด

ถ้ารัฐบาลใจกว้างและไม่กลัวเสียหน้า ยอมเปิดให้นำเข้าวัคซีนเสรี ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาตั้งแต่แรก สถานการณ์คงไม่รุนแรงอย่างวันนี้ เหตุที่เกิดการระบาดอย่างหนัก เพราะ “คนไทย” ได้ฉีดวัคซีนช้า และคนจำนวนน้อยที่ได้ฉีด ไม่ถึง 1% ของประชากรทั้งประเทศ และมีให้เลือกแค่ 2 ยี่ห้อ คือ “แอสตร้าเซนเนก้า” และ “ซิโนแวค” เท่านั้น

ความผิดพลาดทั้งหลายเพราะรัฐบาลไม่มีความสามารถใน “การบริหารจัดการยามวิกฤติ” ยังใช้วิธีบริหารแบบเดิม ๆ เสมือนไม่มีวิกฤติอะไรเกิดขึ้น กฏหมายกฏระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่ใช้ ก็เป็นกฏหมาย กฏระเบียบเก่า ๆ แทนที่จะออกใหม่เพื่อใช้ในยามวิกฤติโดยเฉพาะ กระทั่ง “วอร์รูม ศบค.” ทราบมาว่าก็ยังประชุมทุก 2 สัปดาห์แทนที่จะหารือกันอย่างใกล้ชิดกันมากขึ้น

คุณหมอเจ้าของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า เวลาประชุมนักธุรกิจเสนออะไรไปรัฐบาลมักจะไม่ฟัง จะเสนออะไรก็ติดกฏระเบียบเก่า ๆ ที่ใช้มาเป็นสิบ ๆ ปี จึงล่าช้า ไม่ทันการณ์ แม้ว่าตอนหลังรัฐบาลจะผ่อนผันให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้ แต่ก็ไม่ง่าย เพราะติดขัดกฏหมาย กฏระเบียบต่าง ๆ ทั้งขององค์การอาหารและยา (อย.) และองค์การเภสัช

ฟังแล้วน่าเป็นห่วงจริง ๆ ยิ่งคุณหมอเล่าให้ฟังว่า โควิดระลอกนี้รุนแรงกว่าที่ผ่านมา 2 ระลอก เพราะตัดวงจรลำบาก เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ ฝังตัวนานกว่าสายพันธุ์เดิม ตรวจสองครั้งอาจยังไม่เจอ แต่จะเจอรอบ 3 รวมถึงเชื้อกระจายตัวไปทุกกลุ่มทุกระดับ ตั้งแต่เด็กวัยรุ่นวัยทำงานไปถึงคนแก่

ตราบใดที่วัคซีนยังมาช้า ฉีดให้ประชาชนน้อย ย่อมมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมิอาจปฏิเสธได้ ชะตากรรมเศรษฐกิจไทย ฝากอนาคตไว้กับ “วัคซีน” ตัวเดียวเท่านั้น หากยังฉีดได้น้อย ธุรกิจท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนเกือบ ๆ 20% ของจีดีพี ก็ยังอยู่ในสภาพไปไม่กลับหลับไม่ตื่นฟื้นไม่มี คงไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติคนไหนอยากเอาชีวิตมาเสี่ยงกับประเทศที่ไม่ปลอดภัย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การกลับมาระบาดของโควิด-19 ในประเทศเป็นระลอกที่ 3 คาดว่ารายได้ของภาคท่องเที่ยวจะหายไป 1.3 แสนล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 แม้การส่งออกไทยจะได้รับผลดีรายได้เดือน มี.ค. 64 ขยายตัว 8.47% เมื่อเทียบเดือน มี.ค. 63 สูงสุดในรอบ 28 เดือน จากเศรษฐกิจคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดีกว่าที่คาด แต่การระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญเศรษฐกิจไทยปี 64 จึงยังมีความไม่แน่นอนสูง

แถมยังมีปัจจัยลบจาก “หนี้ครัวเรือน” คอยถ่วง ล่าสุด ยอดหนี้ครัวเรือนสูงถึง 14 ล้านล้านบาท หรือ 89.3% ของจีดีพี ถ้าเทียบกับรายได้ครัวเรือนแล้ว หนี้ครัวเรือนจะคิดเป็น 1.6 เท่าของรายได้ทั้งปี

หากเฉลี่ยเป็นรายหัวจะพบว่า คนไทยจะมีหนี้อยู่ราว ๆ 130,000 บาทต่อคน และ 1 ใน 6 ของผู้กู้มีหนี้เสียตกรายละ 64,000 บาท จากนี้ไปชาวบ้านจะจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวังมากขึ้น

ขณะที่ หนี้สาธารณะของรัฐบาลก็สูงถึง 51% ของจีดีพี เพดานกำหนดไว้ 60% เรียกว่า หากไม่มีวินัยในการใช้จ่ายอย่างเข้มงวด นับว่าอันตรายมาก ๆ ที่ผ่านมากู้ 1 ล้านล้านบาท มาเยียวยามผู้เดือดร้อนจากโควิดระบาด ด้วยการลดแลกแจกแถมสร้างความนิยมทางการเมืองเท่านั้น

น่าห่วงตรงที่จะมีคนตกงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกิจจำนวนไม่น้อยไปต่อไม่ได้ ต้องทยอยเลิกกิจการ ขณะที่เงินเยียวยาของรัฐบาลก็ร่อยหรอ เงินที่กู้เหลือแค่ 2.4 แสนล้านบาทเท่านั้น สถานการณ์เศรษฐกิจทรุดมาตั้งแต่ระลอกแรก ก็ยิ่งหนักขึ้นต้องบอกว่า “เครื่องยนต์เศรษฐกิจ” ที่มีอยู่ทั้งหมดเกือบจะดับสนิทแล้ว

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกที่ 3 ทำให้ ภัทรฯ จะต้องปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีในปีนี้เป็นต่ำกว่า 2.7% เพราะคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะไม่ถึง 1 ล้านคน การบริโภคในประเทศจะได้รับผลกระทบจากโควิดรอบใหม่เช่นกัน เนื่องจากคนหลีกเลี่ยงการเดินทาง คาดว่าหลาย ๆ สำนักวิจัยจะทะยอยปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของปีนี้ เช่นกัน

โควิดระบาดรอบนี้ได้เปลือยรัฐบาลล่อนจ้อนว่า มีกึ๋นแค่ไหน แต่ที่รู้ ๆ วันนี้รัฐบาลพ่ายทั้งศึกโควิดและแพ้ทั้งสมรภูมิเศรษฐกิจอย่างหมดรูป

ทวี มีเงิน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ