TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistหนี้ครัวเรือน ... วิบากกรรมใน "สมรภูมิโควิด"

หนี้ครัวเรือน … วิบากกรรมใน “สมรภูมิโควิด”

แม้การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จะรุนแรงกว่าครั้งก่อน ๆ แต่ดูเหมือนคนไทยจะเริ่มคุ้นชินบ้างแล้ว หลังจากอยู่ร่วมกันมากว่าปีจนเริ่ม “การ์ดตก” แต่การระบาดระลอกนี้กลับทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยพบกับความยากลำบากว่าครั้งก่อน ๆ ในการระบาดแต่ละระลอกได้มาปล้นเอารายได้เอาเงินออมในกระเป๋าที่เก็บไว้จนแทบไม่เหลือ

คงจำกันได้โควิด-19 ระบาดระลอกแรกจนต้อง “ล็อกดาวน์” ปิดห้างฯ ปิดร้านค้า พนักงานต้องตกงาน เมื่อไม่มีงานทำก็ขาดรายได้ ธุรกิจก็ขาดทุน ทยอยปิดกิจการ เลิกจ้างพนักงานกันเป็นแถว แต่กลับเป็นยุคทองของธุรกิจคนรุ่นใหม่อย่าง “ขายของออนไลน์” ธุรกิจเดลิเวอรี่ต่างเฟื่องฟู ส่งผลให้ธุรกิจโลจิสติกส์คึกคักตามไปด้วย

แต่ระลอกนี้ดูจะเจอวิบากกรรมทั่วถึงกันทุกคน ได้คุยกับเจ้าของรถขนส่งรายหนึ่ง เล่าว่า คราวระบาดระลอกแรก ๆ แทบไม่กระทบ รายได้กลับดีกว่าเดิม เพราะคนหันมาซื้อของออนไลน์มากขึ้น แต่ระลอก 3 นี่หนักจริง ๆ พ่อค้าแม่ค้าขายของออนไลน์ไม่ได้เลย ไม่มีคนซื้อ

คุยกับเจ้าของร้านอาหารอีสานชื่อดังก็บ่นให้ฟังว่า ยอดขายตกลงทุกวัน ยิ่งเที่ยวนี้ลูกค้าคงเงียบกว่าเดิม เพราะไม่มีเงินเหลือให้มาจับจ่ายใช้สอย คนที่เคยมีเงินเก็บบ้างก็เอาออกมาใช้หมดแล้ว ไม่ต้องพูดถึงพนักงานที่ได้รับผลกระทบจนต้องตกงาน กลุ่มนี้เงินที่จะกินไปวัน ๆ ยังไม่มี

แม้รอบนี้ไม่ใช่ “ล็อกดาวน์” แต่มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาก็เสมือน “ล็อกดาวน์เทียม” ดี ๆ นี่เอง สุดท้าย มีคนไม่น้อยต้องตกงาน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น เมื่อประชาชนต้องหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เงินในกระเป๋าก็ต้องจะหดหายตามไปด้วย แต่ในทางกลับกัน พวกเขาก็ยังต้องกินต้องใช้ต้องหาเลี้ยงครอบครัว แถมยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไม่ว่าค่างวดรถ ค่าเล่าเรียนลูก อื่น ๆ ตามมามากมาย

หากส่องไส้ในสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยล่าสุด พบว่า ยอดหนี้ครัวเรือนสูงถึง 14 ล้านล้านบาท หรือ 89.3% ของจีดีพี เป็นอันดับ 2 ของเอเซีย หรือถ้าเทียบกับรายได้ครัวเรือน หนี้ครัวเรือนจะคิดเป็น 1.6 เท่าของรายได้ทั้งปีเลยทีเดียว

หากเอาหนี้ทั้งหมดมาเฉลี่ยเป็นรายหัวจะ พบว่า คนไทยจะมีหนี้อยู่ราว ๆ 130,000 บาทต่อคน และ 1 ใน 6 ของผู้กู้มีหนี้เสียตกรายละ 64,000 บาท จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ถ้าผู้กู้มีรายได้ 100 บาท จะมีภาระที่ต้องใช้คืนหนี้ และดอกเบี้ยสูงถึง 43-44 บาท นับว่าสูงมาก ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้กู้ซื้อบ้าน รองลงมาเป็นหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนหนี้เสียของหนี้ครัวเรือน ตอนนี้อยู่ที่ 2.5% แม้อัตราหนี้เสียจะยังต่ำ แต่ “หนี้เกือบเสีย” หรือผิดนัดชำระไม่เกิน 3 เดือนยังสูงเกือบ 7% ถือว่ายังไม่น่าไว้วางใจ

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมหนี้นอกระบบเข้าไปด้วย หากรวมกันแล้วประเมินคร่าว ๆ น่าจะไม่น้อยกว่า 120% ของจีดีพีเลยทีเดียว นับว่าน่าห่วงมาก ๆ นั่นหมายความว่า หากโควิด-19 ยังระบาดไม่หยุด ประชาชนยังไม่มีรายได้เข้ามา แต่ภาระหนี้ยังเหมือนเดิม สุดท้ายคนเหล่านี้ก็ต้องหันไปกู้นอกระบบยอมเสียดอกเบี้ยแพง ๆ แทน

ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวจาก มาร์เก็ตบัซซ เปิดเผยว่า จากการสำรวจกลุ่มประชากรจำนวน 2,000 รายทั่วประเทศ ระหว่างเดือนเมษายน 2563 และช่วงหลังการล็อกดาวน์ในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2563 ที่ผ่านมา พบว่า คนไทยได้รับผลกระทบเรื่องรายได้และค่าตอบแทนเกือบครึ่งของประชากรทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 44 ที่มีรายได้ และผลตอบแทนลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่เคยได้รับก่อนสถานการณ์วิกฤติโควิด-19

นอกจากนี้ ร้อยละ 20 ของคนไทย ยังเปิดเผยว่า พวกเขายังใช้จ่ายทุกอย่างเป็นไปตามปกติ แต่ไม่มีเงินเหลือเก็บไว้สำหรับเป็นเงินออม และอีกร้อยละ 21 มีความจำเป็นต้องนำเงินออมไว้มาใช้จ่าย แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่านั้น คือ ร้อยละ 27 ของคนไทย ไม่มีเงินเหลือเพียงพอในการใช้จ่าย

จะเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ “รัฐบาลลุงตู่” จะมองข้ามไม่ได้เด็ดขาด ต้องเร่งออกมาตรการต่าง ๆ มาแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด มิเช่นนั้น “หนี้ครัวเรือน” จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญ ไม่ให้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเต็มที่ เนื่องจากไม่มีเม็ดเงินเข้ามากระตุ้น

ขณะนี้หลาย ๆ ประเทศกำลังคิดโมเดลแก้วิกฤติหนี้ครัวเรือนอย่างเอาจริงเอาจัง อย่างประเทศอังกฤษ มีโครงการ “ยกหนี้” ให้กับลูกหนี้ที่มียอดหนี้ไม่มาก หรืออาจจะใช้วิธี ยื่นแผนจัดการหนี้แบบสมัครใจ คล้าย ๆ กับที่บริษัทต่าง ๆ ยื่นแผนฟื้นฟู เพื่อให้คนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายต่อไป

หากรัฐบาลยังอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไร ปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อเนิ่นนานออกไป หายยนะทางเศรษฐกิจคงจะกวักมือเรียกเร็ว ๆ นี้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ