TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessก่อนจะมาเป็น Wongnai ...

ก่อนจะมาเป็น Wongnai …

“สิ้นเดือนนี้จะเป็นวันสุดท้ายของ Wongnai และเป็นวันแรกของ LINE MAN Wongnai” นี่คือ คำกล่าวของ “ยอด ชินสุภัคกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Wongnai ที่กล่าวบน Facebook ส่วนตัว และบนบล็อก Medium

“ในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา Wongnai จึงครบรอบ 10 ปีพอดี และจะด้วยความบังเอิญหรืออย่างไรไม่ทราบ ยังเป็นเดือนที่เราประกาศการควบรวมกับ LINE MAN ด้วยเช่นกัน”

The Story Thailand ขอพาย้อนไปพบเรื่องราวของ Wongnai อีกครั้งว่า กว่าจะมาเป็น Wongnai ในวันนี้เพื่อจะก้าวต่อไปในนาม LINE MAN Wongnai ในอนาคตอันใกล้นี้ มี Story อย่างไร …..

จากหนังสือ “วิถีสตาร์ทอัพ” ถอดบทเรียนและความสำเร็จสตาร์ทอัพไทย จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ เนชั่นบุ๊คส์ ตีพิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2559

ทีมผู้ก่อตั้ง Wongnai

“ยอด ชินสุภัคกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท วงในมีเดีย จำกัด​ เริ่มต้นไอเดีย​ ​Wongnai ระหว่างเรียน MBA อยู่ที่ UCLA หลังจากหลงกลิ่นอายของเมืองสตาร์ตอัพและได้ลองทำสตาร์ตอัพเล็กที่นั่นแล้วไม่สำเร็จเขาหิ้วความฝันกลับมาทำ Wongnai ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนวิศวะคอมพิวเตอร์จุฬาฯ ทันทีหลังเรียนจบด้วยประกบการณ์การทำงาน 5 ปีที่ Thomson Reuters ประสบการณ์เจ๊งและประสบการณ์การเรียนวิศวะฯ และ MBA ประกอบกับ work ethic ที่ดีอย่างสม่ำเสมอทำให้ Wongnai สามารถทะยานเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดรีวิวร้านอาหารในประเทศไทยด้วยแนวคิด user generated content (UGC) 

ความคิดที่อยากจะทำสตาร์ตอัพเกิดเมื่อในปีที่สองที่ยอดเรียน MBA อยู่ที่ UCLA อาจจะเพราะบรรยากาศของสตาร์ตอัพที่ครุกรุ่นที่นั่นในตอนนั้น ทำให้ยอดตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตสตาร์ตอัพกับเพื่อนร่วมชั้นชาวสเปน 

สตาร์ตแรกในชีวิต คือ การทำเว็บไซต์ ชื่อ trustbeach.com เป็นเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์คคล้าย ๆ Pinterest เป็นการ recommend สิ่งของให้กับบุคลลอื่น ที่เขาเลือกทำ trustbeach.com เพราะช่วงนั้น (ปี 2009) โซเชียลเน็ตเวิร์คค่อนข้างฮิตมาก​ที่อเมริกา 

“คนทำโซเชียลเน็ตเวิร์คค่อนข้างเยอะ แข่งขันสูงเลยไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร ทำอยู่ประมาณ​ 1 ปี ตอนนั้นเขาทำใช้เงินทุนตัวเอง ไม่มีทีมงาน มีการจ้างทีมที่อินเดียเขียนโปรแกรม รู้เลยว่านี่คือเส้นทางสู่ความล้มเหลว”

เว็บไซต์ที่ออกมาตอนแรกไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคิดและออกแบบไว้ เขาพยายามแก้ไข แต่การแก้ไขทุกครั้งต้องใช้เงินเพิ่ม เงินก็เริ่มหล่อยหลอ เขาก็เริ่มไปหาทุน ได้มีโอกาสพูโคุยกับ venture capital อยู่ 2-3 ราย แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการขอเงินลงทุนเพื่อมาทำสตาร์ตอัพของเขาต่อ ในที่สุดเขาจึงล้มเลิกสตาร์ตอัพแรกในชีวิตไปหลังจากทำไปเกือบปี 

“ที่อเมริกามีนักลงทุนเยอะ แต่จำนวนสตาร์ตอัพนั้นเยอะกว่าอีก การแข่งขันสูงมาก ยิ่งเราไม่มีชื่อเสียง ไม่มีแบล็คกราวด์ ไม่มีคอนเนคชั่น ไม่มีอะไรเลย ณ​ ตอนนั้น เลยไม่มีความรู้สึกเลยว่าจะระดมทุนได้”

“หลังจากที่ตัดสินใจที่จะเลิกเว็บไซต์แรก ผมกลับรู้สึกว่าผมชอบทำในสิ่งนั้น รู้สึกว่าการทำเว็บไซต์ การทำ tech startup มันเหมาะกับเรามาก เพราะว่าผมเรียนคอมพิวเตอร์มา เรียน MBA มา เรารู้ทั้งสองฝั่ง รู้ทั้งฝั่งเทคนิคอล และรู้ทั้งฝั่งบริหาร”

ล้มเหลวไม่ล้มเลิก จึงมี Wongnai 

เขาล้มเหลวแต่ไม่ล้มเลิก เขามีความคิดว่าถ้าทำ tech startup ที่เมืองไทย และเชื่อมั่นว่าจะต้องมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าที่อเมริกา เพราะเขามั่นใจว่าเขาหาทีมได้ ไม่จำเป็นต้อง outsource ทีมออกไปข้างนอกอีกแล้ว ซึ่งงบประมาณที่ใช้ในการสร้างสตาร์ตอัพต้องน้อยกว่า และด้วยความเข้าใจในตลาด (ในประเทศไทย) ทำให้เขารู้สึกว่าตลาดเมืองไทยสามารถที่เจาะได้ง่ายกว่าเยอะ เพราะยังไม่ได้เต็มไปด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์คเยอะแยะเหมือนที่อเมริกา 

“พอคิดว่าจะมาทำ tech startup ในเมืองไทย ก็มองหาว่าไอเดียอะไรมันเวิร์ค ก็เป็นคนชอบกินด้วย หลายคนก็เป็นคนชอบกินอยู่แล้ว เราไปไหนก็ใช้ Yelp ตลอด หาข้อมูลร้าน ดูรีวิว เลยรู้สึกว่าเป็นไอเดียที่มีคนใช้แน่ ๆ แล้วเมืองไทยมีหรือยัง ปรากฏว่าเมืองไทยยังไม่มี มีความต้องการไหม เราค่อนข้างชัวร์ว่ามาความต้องการใช้แน่ ก็เลยเป็นไอเดียใหญ่ไอเดียแรกที่เราคิดถึง” 

เขาเริ่มคุยกับเพื่อนที่เป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนตั้งแต่มหาวิทยาลัยอีก 3 คน คือ ภัทราวุธ ซื่อสัตยาศิลป์ (CTO) ศุภฤทธิ์ กฤตยาเกียรณ์ (Software Architect) และวรวีร์ สัตยวินิจ (Development Manager) เริ่มคุยทีละคนว่าอยากทำเว็บไซต์ อยากทำ tech startup ในไทย เขาใช้เวลาหลายเดือนคุยกันข้ามประเทศ (ตอนนั้นยอดยังเรียนอยู่ที่ UCLA) ค่อย ๆ พัฒนาไอเดีย และค่อยๆ สร้างทีมขึ้นมา ในที่สุดเขาก็ได้เพื่อนมาร่วมทีม 3 คนเป็น co-foudner และต้นปี 2010 พวกเขาเหล่า co-founder ที่เป็นเด็กวิศวะคอมพิวเตอร์จากรั้วจามจุรีก็ต้นเริ่มเขียนโปรแกรมกัน ตอนนั้นทุกคนยังทำงานประจำกันอยู่ พวกเขาใช้เวลาประมาณ 6 เดือนถึงจะเขียนโปรแกรมได้เป็นรูปเป็นร่างใกล้จะเสร็จ 

“พวกเราค่อนข้างจริงจัง เราคุยกันเยอะ คุยกับเกือบทุกวัน เรา teleconference กันทุกสัปดาห์ แล้วก็ทำงานกันอย่างค่อนข้างมีวินัย น่าดีใจที่มีคนยอมเชื่อใจเราถึงขนาดเอาเวลาส่วนตัวมาทำงานโปรเจคนี้โดยไม่ได้ได้คิดเงินค่าตอบแทนเลย มันดีกว่าตอนที่ทำงานกับทีมอินเดียมาก ตอนนั้นต้องจ่ายเงินเขา ขอบข่ายงานก็ต้องชัดเจน เกินกว่านี้เขาคิดเงินเพื่อน แต่อันนี้เราทำงานกับคนรู้จักของเราเอง ทีมงานของเราเองมันยืดหยุ่นมาก เราอยากจะเปลี่ยน อยากจะเพิ่มฟีเจอร์ตรงนี้ อยากจะลดฟีเจอร์ตรงนี้ ทำได้ตลอดเวลา เราเริ่มรู้สึกว่าเรามีทีมที่ดี เรามีไอเดียที่น่าจะโอเค ก็เลยเริ่มเลย” 

ยอดเรียนจบกลับมาเมืองไทยปุ๊บก็มาตั้งบริษัท วงใน มีเดีย จำกัดปั๊บ

“ตอนตั้งบริษัทผมเป็นพนักงานคนเดียว ชวนเพื่อนออกจากงาน เพื่อนก็ยังไม่ยอมออกจากงานเพราะจะรอเปิดตัวเว็บไซต์ออกไปก่อน​ พอเปิดตัวเว็บไซต์ออกไป เพื่อนก็ค่อย ๆ ออกจากงานมาทีละคน”

ยอด บอกว่า เว็บไซต์ต้นแบบของ ​Wongnai คือ yelp.com เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมรีวิวร้านอาหาร ตอนนั้นที่เมืองไทย เว็บไซต์ที่รีวิวร้านอาหารที่เมืองไทยส่วยมาเป็นการสื่อสารทางเดียว ไม่ได้เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมรีวิวจากหลาย ๆ คน ไม่ได้เป็น location base เขาเลยคิดว่า ถ้าเขาเอาไอเดียรีวิวร้านอาหารจากผู้ใช้บริการที่ไปกินจริงมาทำที่เมืองไทย มันต้องเวิร์คแน่นอน เพราะข้อหนึ่งตลาดค่อนข้างเปิดยังไม่มีใครทำ สอง คือ ความต้องการค่อนข้างชัดเจน คนไทยชอบกินและที่ไทยมีร้านอาหารเยอะแยะให้เลือก ก็เลยตัดสนใจว่าจะมาทำรีวิวร้านอาหารที่เมืองไทย

วันแรกที่เปิดตัว “วงใน” ยอดตั้งเป้าว่าจะให้ Wongnai เป็นมาตรฐานในการค้นหาร้านอาหารของไทย และตั้งใจให้ Wongnai เป็นเว็บ 2.0 ที่เปลี่ยนแปลงโลกอินเทอร์เน็ตในประเทศ ณ​ ตอนนั้นให้ได้  

“ตอนนั้นเว็บในไทยเป็นเว็บ 1.0 คือ เป็นเว็บสื่อสารทางเดียว มีข่าว บันเทิง หวย ดูดวง เราไม่ชอบ มันเป็นข้อมูลที่เน้นการบันเทิงอย่างเดียว ไม่ได้มีประโยชน์จริงๆ Wongnai แตกต่างนะ Wongnai เป็นเว็บข้อมูลร้านอาหารเป็นรีวิวจากผู้ใช้จริง ๆ ที่สำคัญเป็นเว็บไซต์ร่วมกันสร้าง หรือ user generated content ซึ่งมันคือ แนวคิดของเว็บ 2.0 ตอนนั้น Facebook เร่ิมมา Facebook เป็นเว็บร่วมกันสร้าง มีอีกหลายเว็บที่ตอนนั้นเป็นเว็บไซต์ร่วมกันสร้าง เว็บ 2.0 เร่ิมมา แต่ในไทยตอนนั้นยังไม่ค่อยมีเว็บ 2.0 เว็บไซต์ร่วมกันสร้างเท่าไร เราเป็นเว็บไซต์ร่วมกันสร้าง เว็บไซต์ 2.0 เว็บแรก ๆ ของเมืองไทยแน่ ๆ เราต้องทำให้ยุคอินเทอร์เน็ตประเทศไทยก้าวข้ามผ่านจากยุคเว็บ 1.0 ไปเว็บ 2.0 ให้ได้ เราตั้งเป้าไว้ขนาดนั้น เราค่อนข้างที่จะฝันกลางวันนิดนึง”​

สำหรับรูปแบบการสร้างรายได้ของธุรกิจ Wongnai เขาคิดไว้คร่าว ๆ ว่าจะเดินตามรอย Yelp และ TripAdvisor นั่นคือ หารายได้จากโฆษณา 

“เราก็คิดว่าเดี๋ยวจะต้องมีรายได้เข้ามาในอนาคต แต่เรารู้อยู่แล้วตั้งแต่ตอนต้นว่าหน้าที่ของเราในตอนต้นไม่ใช่การหารายได้ หน้าที่ของเราตอนต้นคือการสร้างปราสาทขึ้นมา แล้วให้คนเข้ามาอยู่เยอะ ๆ แล้วค่อยหาวิธีหาเงินจากปราสาทหลังนั้น สิ่งที่เราสร้างไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่กระท่อม แต่เราคิดว่าเราสร้างปราสาทตั้งแต่ต้น ทำอย่างไรก็ได้ให้คนมาใช้เยอะมากที่สุด พอคนใช้แล้วติดบริการแล้ว จะมีวิธีหารายได้แน่นอน ตอนนั้นคิดแค่นั้นเอง” 

ฝันให้ใหญ่อดทนเดินไปให้ถึง

สิ่งที่เขาเรียนรู้มาจากการทำ tech startup ที่อเมริกา คือ ทุกคนตั้งเป้าหมายใหญ่ตลอด ทุกคนต้องไปตลาดต่างประเทศ ต้องไปตลาดโลกกันเสมอ พอเขามาทำ Wongnai ที่เมืองไทยเขาจึงตั้งเป้าหมายอย่างนั้นตั้งแต่ต้น ทุกอย่างที่ Wongnai ทำตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน ทำมาเพื่อรองรับการ scale ทั้งหมด 

“เราไม่ได้ทำมาเพื่อเป็นเว็บไซต์เล็ก ๆ เขียนรีวิวกันเอง เราทำขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนเข้ามาใช้ตั้งแต่แรก”​

แม้เขาจะตั้งเป้าหมายใหญ่ แต่วิธีทำเขาค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ สร้าง เขาบอกว่าไม่ใช่เทคนิคธุรกิจอะไร แต่ทำใหญ่ไม่ได้เพราะเขาไม่มีเงินมากขนาดนั้น ในปี 2010 ตอนนั้นยังไม่มีแหล่งเงินทุนจากภายนอก (ประเทศ) เลย เพราะฉะนั้น เขาต้องใช้เงินตัวเอง เลยทำให้มันก็ขาดสภาพคล่องพอสมควรในช่วงแรกประมาณ 2 ปี 

“ผมใช้เงินของผมเองเลย ผมออกเงินเพราะเป็นเจ้าของไอเดีย ไม่ได้รบกวน co-founder คนอื่น ผมเป็นหุ้นใหญ่สุดก็ลงเงินเอง” 

เขายอมรับว่า ช่วงแรก ๆ Wongnai ไม่ได้เติบโตเร็วอย่างที่คิด ตอนแรกวาดฝันไว้ใหญ่มาก ว่าเว็บไซต์ Wongnai ออกแบบมาดี จะต้องมีคนเข้ามาใช้จำนวนมาก ปรากฏว่าไม่จริง ช่วงแรก ๆ ของ Wongnai มีคนเข้ามาใช้ไม่มากอย่างที่คาด เขารู้สึกผิดหวัง แต่ไม่ได้ผิดหวังมากขนาดรู้สึกล้มเหลว เพราะเขาคิดอยู่แล้วว่ามีอะไรให้ทำอีกตั้งมากมาย 

ที่คนเข้าเว็บน้อย ยอดประเมินว่าเป็นเพราะช่วงแรก ๆ เว็บไซต์ก็อาจจะยังทำงานได้ไม่ดีเท่าไร ข้อมูลน้อย อันนี้สำคัญมาก พอข้อมูลน้อยคนก็ไม่รู้จะเข้ามาใช้ทำไม เขาก็รู้ว่าเขาต้องเพิ่มข้อมูลต้องเพิ่มจำนวนผู้รีวิว (reviewer) และเพิ่มผู้ใช้งาน (user) เขาค่อย ๆ ทำไปทีละเปลาะ ๆ 

ช่วงแรก ๆ ไม่มีรายได้เข้ามานั้น เขาก็พยายามดิ้นรนหารายได้ทางอื่นเข้ามา ไม่ได้รอพึ่งรายได้จากการขายโฆษณาตามแผนที่วางไว้เท่านั้น 

“เรารับงานจากข้างนอกด้วย อาทิ รับงานเขียนโปรแกรม เขียนเว็บไซต์ ตอนนั้นไม่มีน้อง co-founder นี่แหละเขียนโปรแกรม ตอนนั้นไม่ได้มีพนักงานเยอะ ประมาณ​10 คน รวม co-founder คนที่จ้างเข้ามาส่วนมากไม่ได้เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์แต่เป็นการตลาด เพราะว่า co-fouder เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์อยู่แล้ว”

การที่ co-founder ของ Wongnai ทุกคนเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์​เขียนโปรแกรมได้ ถือเป็นจุดแข็งของ Wongnai ทำให้เขาสามารถออกแบบและพัฒนา Wongnai ให้เป็นโปรดักส์ที่ซับซ้อนได้มากตั้งแต่ต้น 

“ช่วงแรกสถานการณ์ทางการเงินของ Wongnai ติดลบตลอด อยู่ในอาการชักหน้าไม่ถึงหลัง อาศัยว่าผมมีเงินเก็บอยู่บ้าง แล้วก็มีเงินยืมกรรมการอยู่หลายล้านบาทเหมือนกัน ประกอบกับเรารับจ้างพัฒนาซอฟต์แวร์ รับจ้างทำเว็บไซต์เพื่อให้พอมีรายได้เข้าบริษัท เราจึงเลยอยู่รอดได้”

สถานการณ์ทางการเงินของ Wongnai เริ่มดีขึ้นปี 2012 ในปีนั้นมีหลายอย่างเกิดขึ้น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจสตาร์ตอัพ เช่น เริ่มเกิดระบบนิเวศน์ของสตาร์ตอัพ 

“เราไปแข่ง Software Park Pitching Competition เราไปแข่งแล้วชนะมา มี HUBBA มี Thumbups มี Tech in Asia มี e27 เริ่มมีคนมาสนใจ Wongnai แล้วนักลงทุนเริ่มเข้ามา”

ประกอบกับเริ่มมีคนใช้สมาร์ทโฟนเยอะขึ้นมาก เครือข่าย 3G เริ่มให้บริการ การที่คนใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น คนใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือมากขึ้น สิ่งที่เขานึกถึงคือ ค้นหาร้านอาหาร Wongnai อยู่ตรงนั้นแล้ว คนก็เลยโหลดไปใช้ Wongnai ก็เริ่มเติบโต 

“เราทำเพื่อสนับสนุบมือถือตั้งแต่ปลายปี 2010 ไม่เชิงว่าเราเห็นแนวโน้ม เราก็เดา ก็เดิมพัน เราก็ไม่ได้มั่นใจ เราก็ทำทั้ง iOS และ Android แนวคิดแรกให้เป็น web แต่พอเราเห็น iPhone ครั้งแรก เราเห็นว่ามีแอพฯ​​ โหลดได้ เราเห็นว่าเราต้องมีแอพฯ​ มันต้องเวิร์คเลยทำแอพฯ ขึ้นมา”

จำนวนผู้ใช้งานเริ่มดีขึ้น traffic เริ่มดีขึ้น มากขึ้น (แต่รายได้ยังไม่ดีขึ้น) ช่วงนั้นเองเริ่มมี นักลงทุนต่างชาติเข้ามาคุย เขาบอกว่าการมีนักลงทุนเข้ามาคุยทำให้ความมั่นใจของ founder เริ่มกลับมา การมีนักลงทุนอยากจะมาลงทุนใน Wongnai ทำให้เขารู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่าเขาควรจะโฟกัสที่วงในอย่างเดียวดีกว่า ต้องคอยรับงานนอก เขาจึงหยุดรับงานนอกที่ไม่ใช่การพัฒนา Wongnai 

“แล้วเราก็เริ่มใช้เงินมากขึ้น โดยที่ยังไม่ได้เงินจากนักลงทุน เรายอมใช้เงินตัวเองมากขึ้น ยอมติดลบมากขึ้น ลองยืมครอบครัวมาใช้เงินตรงนี้ เพราะเรารู้ว่าเดี๋ยวนักลงทุนต้องเอาเงินมาลงที่บริษัทแล้วเราต้องได้เงินคืน เราก็ทำแบบนี้คือเริ่มโฟกัสที่วงในอย่างเดียวตั้งแต่ปี 2012”

เงินลงทุน คือ ปุ๋ยสตาร์ตอัพ

จนปี 2013 Wongnai ปิดดีลแรกได้กับ Recruite Group เขาถึงเอาเงินที่ Recruite Group ให้มามาคืน founder ส่วนหนึ่ง และใช้จ่ายในการขยายเพิ่มเติมส่วนหนึ่ง 

“รายได้ยังไม่มานะตอนนั้น รายได้เริ่มมาตอนปี 2014 อย่างที่ผมบอกว่าช่วงแรก ๆ อยู่ในช่วงสร้างปราสาทยังไม่เก็บเงินคนเข้าปราสาท ทำอย่างไรก็ได้ให้โตเร็วที่สุด โตเร็วที่สุดหมายความว่ามีผู้ใช้งานมากที่สุด มีจำนวนรีวิวมากที่สุดก่อนถึงจะมาโฟกัสเรื่องรายได้ปีถัดมา”

เขาบอกว่าช่วงที่เอาเงินนักลงทุนมาใช้โดยที่ยังไม่มีรายได้เขามีความรู้สึกกดดัน แม้แต่เงินตัวเองเขาก็กดดัน แต่เป็นความกดดันที่น้อยกว่าช่วงแรกของการทำ Wongnai เยอะ ที่กดดันน้อยกว่า เป็นเพราะตอนนั้นเขาเริ่มเห็นการเติบโตของ Wongnai แล้ว กราฟการเติบโตของ Wongnai เริ่มเป็น J curve แล้ว เริ่มโตแบบ explotenial แล้ว

“ตอนปี 2010-2011 ลงเงินตัวเองไป แล้วก็ไม่รู้ว่าจะได้คืนหรือเปล่า ตอนนั้นการเติบโตยังไม่มีเลย คนยังใช้หลักหมื่นคนอยู่เลย พอปี 2012-2013 คนใช้ขึ้นเป็นแสนคน ปลายปี 2013 ขึ้นเป็นหลายแสนคน การเติบโตมาแล้ว คือ เขาเรียกว่ามันเห็นการการเจริญเติบโตที่เป็นรูปธรรม เราค่อนข้างมั่นใจมากขึ้นว่าเราทำในส่ิงที่ถูกต้อง โปรดักส์ของเรามีคนใช้จริง ๆ ถึงแม้รายได้ยังไม่มาแต่มันไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว” 

กราฟที่เป็น explotetial มันค่อย ๆ ไล่กันมาจาก จำนวนผู้ใช้ก่อน ตามด้วยจำนวนรีวิว และรายได้ ปีแรกจำนวนผู้ใช้ขึ้นเยอะ ปีต่อมาจำนวนรีวิวขึ้นเยอะ ปีต่อมารายได้ถึงจะขึ้นเยอะ มันไม่ได้ขาว-ดำ มันไม่ได้ว่าผู้ใช้ขึ้นแล้วรายได้จะขึ้นเลย มันค่อย ๆ ไล่ ๆ กันมา 

“แม้รายได้เริ่มขึ้น แต่เราก็ไม่ได้หยุดโต เราก็พยายามที่จะใช้เงินอย่างระมัดระวัง แต่ใช้เงินอย่าง agressive เพื่อให้โตให้ได้เร็วที่สุด ไม่อยากให้ J Curve มันหยุด”

เขาบอกว่า “เงินลงทุน” เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในการโตของสตาร์ตอัพ ไม่จำเป็นว่าสตาร์ตอัพทุกรายต้องโตด้วยเงิน แต่เงินลงทุนเป็นส่วนให้สตาร์ตอัพสามารถโตได้เร็วขึ้น และทดลองได้หลายครั้งมากขึ้น 

เขาย้ำว่า สำหรับสตาร์ตอัพ การโตเร็วเป็นสิ่งที่จำเป็น ถ้าโตช้าใช้เวลาหลายปีเทคโนโลยีก็จะเปลี่ยนไปหมดแล้ว สตาร์ตอัพนั้นก็ไม่ relevant แล้วในตลาด 

“การทำ tech startup จะต้องโตเร็ว ถ้าโตไม่เร็วก็ไม่ใช่คำนิยามของ startup สำหรับผม ถ้าโตไม่เร็ว ไม่เสี่ยง ก็เป็นธุรกิจที่ไม่เปลี่ยนโลก ถ้าเป็นธุรกิจที่เปลี่ยนโลก ต้องเป็นธุรกิจที่โตเร็วเพื่อ capture ตลาดให้ได้เป็นจำนวนมากเพื่อที่จะเปลี่ยนอะไรสักอย่างในโลกใบนี้” 

เขาบอกว่าเขาไม่มีเทคนิคการระดมทุน เขาเพียงแค่ทำโปรดักส์ให้ดีที่สุดเท่านั้นเองจริง ๆ สำหรับเขา เขาคิดว่าสตาร์ตอัพควรจะโฟกัสที่การทำโปรดักส์ให้ดีก่อน มี traction ที่ดี มีรายได้ มีการเติบโตที่เห็นได้จริง ที่เหลือ term sheet จะมาเองจากนักลงทุนหลาย ๆ ราย นักลงทุนก็หน้าที่ในการหาสตาร์ตอัพที่ดีที่สุดเพื่อลงทุน 

“เพราะฉะนั้นถ้าของเราดีที่สุดหรือดีจริง ๆ เขาก็จะมายื่นข้อเสนอให้เราอยู่แล้ว ที่เหลือจะเป็นรายละเอียด ซึ่งจะมีคนช่วยให้คำปรึกษาได้ น้อง ๆ สตาร์ตอัพควรจะเดินทางสายกลาง ไม่ใช่ว่าปิดตัวเองจากนักลงทุนไม่ไปไหนเลย ไม่มีใครรู้จัก ขณะเดียวกันก็ไม่เห็นด้วยว่าไม่ใช้เวลาในการบริหารเลย แต่ใช้เวลาในการคุยกับนักลงทุนอย่างเดียว ผมคิดว่าบริหารของตัวเองให้ดีขณะเดียวกันก็ออกไปเจอนักลงทุนบ้างน่าจะเป็นทางสาบยกลางที่เหมาะสม”

ตั้งแต่ทำ Wongnai มา เขาระดมทุนไป 3 รอบแล้ว ได้แก่ ปี 2013 ได้รับการลงทุนในรอบ seed round และปี 2014 รับการลงทุนรอบ series A จาก Recruit Strategic Partners และรอบที่สามรับการลงทุนรอบ series B จากโครงการอินเว้นท์ (InVent) ของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เมื่อเดือนเมษายนปี 2016

เขาบอกว่า รอบต่อไป Wongnai จะเข้าตลาดหุ้นวางแผนไว้ว่าจะเข้าตลาดฯ ในปี 2019 เป็นการระดมทุน และเป็น partially exit ของนักลงทุนและผู้ก่อตั้งด้วย การระดมทุนรอบล่าสุดจะช่วยให้ Wongnai มีกำลังในการขยายธุรกิจไปจนถึงเข้าตลาดหุ้นได้ในปี 2019

“อาจจะ MAI ณ​ ปี 2019 ต้องมีคุณสมบัติ ต้องมีกำไร ต้องมี valuation เท่านั้นเท่านี้ ต้องมีการบริหารงานที่โปร่งใส บัญชีต้องดีกว่าปัจจุบัน เป็นมาตรฐานมากขึ้น ต้องปรับตัวในเรื่องเหล่านี้เพื่อให้เข้าตลาดหุ้นได้”

สำหรับกลยุทธ์การขยายธุรกิจ ยอดบอกว่า เขาจะดูความเหมาะสมว่ามีใครอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ทีมงานเหมาะสม ราคาเหมาะสมไหม ถ้าทีมงานเหมาะ ราคาเหมาะสม ​​Wongnai จะซื้อกิจการ แต่ถ้าไม่มี  Wongnai จะทำเอง เพื่อให้การขยายได้เร็วขึ้น และทำให้ได้คนดี ๆ มาร่วมทีมด้วย ก่อนหน้านี้ไปซื้อกิจการมา ก็มี “น้าอ้วนชวนหิวที่เชียงใหม่” hungrayfatguy.com แล้วก็มีเพจที่ชลบุรี ชื่อ “ชลบุรีกินอะไรดี” และ wekorat.com มาเป็นส่วนหนึ่งของ Wongnai ภายใต้ชื่อ “wekorat by wongnai”

แม้ว่ากลยุทธ์การขยายธุรกิจ Wongnai เขาจะใช้เงินจากการระดมทุนมาซื้อกิจการ แต่ Wongnai ค่อนข้างใช้เงินอย่างระมัดระวัง เพราะการมีทักษะการใช้เงินเป็นทักษะที่สำคัญมากสำหรับสตาร์ตอัพ เขามองว่าทักษะการใช้เงิน คือนิสัยของ founder ว่าเห็นเงินแล้วเป็นอย่างไร 

“ผมคิดว่ามันคือนิสัย ไม่รู้ว่าเปลี่ยนกันได้ไหม เราเคยเห็นเงินขนาดนี้หรือเปล่า หรือว่าวิถีชีวิตการใช้เงินปกติเราใช้เงินอย่างไรเราใช้เงินนั้นเหมือนเป็นเงินตัวองหรือใช้เงินเหมือนเป็นเงินคนอื่น ผมว่านิสัยของ founder บุคลิกของสตาร์ตอัพ คือตัวตนของ founder”

สตาร์ตอัพทำงานหนักและอดทน

ช่วงต่ำสุดของ Wngnai คือช่วง 2 ปีแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ ด้วยรูปแบบธุรกิจที่ให้บริการแพลตฟอร์มในการีวิวร้านอาหาร กลายเป็นเป็นไก่กับไข่ของการเติบโตของธุรกิจ เพราะเขาไม่รู้ว่าจำนวนผู้ใช้ (คนเข้ามาอ่านรีวิว) จะมาก่อน หรือจำนวนรีวิว/เนื้อหาจะมาก่อน 

“เราเป็น user generated content ถ้ามีผู้ใช้ก็ไม่มีเนื้อหา แต่ไม่มีเนื้อหาก็ไม่มีผู้ใช้ ก็เลยยากนิดนึง ช่วงนั้นเป็นช่วงต่ำสุดของเรา” 

ปี 2010 -2011 ช่วงเริ่มต้นตอนแรก ๆ เขาบอกว่า เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโปรดักส์ของเขาจะมีคนใช้หรือเปล่า ตอนนั้นก็ต้องสู้ต่อไป เขายอมรับว่าเขาเคยคิดคนเดียวอยู่บ่อย ๆ ว่าหยุดดีไหม ไปทำอย่างอื่นดีหรือเปล่า แต่ก็ไม่ได้พูดออกมา 

“ผมว่า co-founder ทุกคนไม่มีใครพูดออกมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะดี เพราะถ้ามีใครคนใดคนนหนึ่งพูดออกมา อีก 3 คนอาจจะบอกเออเลิกดีกว่า มันอาจจะเลิกไปแล้วก็ได้ แต่ว่าทุกคนอดทน และโฟกัสที่ “ก้าวต่อไป” ว่าจะทำอะไรต่อ ทำอะไรต่อ ทำอะไรต่อ”

จากปี 2013 -2016 ​Wongnai เติบโตเกิน 10 เท่าในทุก ๆ เมทริกซ์ ตั้งแต่จำนวนผู้ใช้งาน จำนวนรีวิว ปริมาณการเข้าใช้งาน (trafiic) และรายได้ เขาบอกว่าที่ Wongnai สามารถเติบโตได้แบบนี้เพราะว่า Wongnai เป็น product-market-fit ที่ถูกต้อง หมายความว่า เป็นโปรดักส์ที่คนมีความต้องการที่จะใช้ในจังหวะที่เหมาะสม คือ มีคนต้องการที่จะค้นหาร้านอาหารที่ดี ที่อยู่ไม่ไกลจากเขามากนัก นั่นคือ scenario ที่คนใช้ Wongnai มากที่สุด ในสถานการณ์ที่เหมาะสม หมายถึงคนใช้สมาร์ทโฟนเยอะ คนใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือเยอะ คือ มีโปรดักส์ที่เหมาะสมในเวลาที่เหมาะสมที่คนอยากใช้มันก็เลยโตได้ 

การที่จะมีโปรดักส์ที่เหมาะสมในเวลาที่เหมาะสมได้ มันเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องของการวางแผน การวางแผนตั้งแต่ต้น คือ การตั้งเป้าหมายว่า Wongnai จะเป็นเหมือน Yelp ที่อเมริกา แต่ทำที่เมืองไทยให้ได้ แต่ถึงแม้จะมีการวางแผนมาตั้งแต่ต้นแล้วก็ตาม เขาก็ยอมรับว่าเขาทำไปโดยไม่รู้ว่าจะเป็นไปตามแผนนั้นหรือเปล่า เพราะแม้การวางแผน/การตั้งเป้าหมายนั้นสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้น คือ หลังจากที่มีไอเดีย มีวิสัยทัศน์เรียบร้อยแล้ว ตอนทำให้เป็นจริงตามแผน สตาร์ตอัพได้ทำดีพอ ได้ให้รายละเอียดกับมันมากพอ ได้ใช้เวลากับมันมากพอหรือเปล่า 

“ถ้าเราถอนตัวตั้งแต่ 2 ปีแรก เราก็ไม่มีโปรดักส์ที่เหมาะสมในเวลาที่เหมาะสมอย่างที่เราเห็นในปีที่ 3 หรือว่าถ้าเรามีไอเดียที่ดีมีเวลาที่เหมาะสมแต่เราไม่สามารถทำโปรดักส์ออกมาได้ดี ข้อมูลไม่ถูกต้องเป็นต้น คนก็ไม่ใช้อยู่ดี เพราะสุดท้ายก็แข่งกันที่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แข่งกันที่ execution มันมีคำพูดที่ว่าไอเดียเป็นแค่ 10% ของความสำเร็จของธุรกิจ อีก 90% คือ execution”

“execution คือ การที่ผมเข้าออฟฟิศทุกวัน นั่งทำงานตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 2-3 ทุ่มทุกวัน เพื่อที่จะทำโปรดักส์ให้ออกออกมาดี มีข้อมูลที่เหมาะสม มีการใช้งานที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้งาน การที่ทีมโปรดักส์ของเรา 15 คน นั่งทำงานถึง 2 ทุ่มทุกวันเพื่อทำโปรดักส์ที่ดีที่สุดให้ผู้ใช้งาน พวกนี้คือรายละเอียดที่สำคัญกว่าไอเดีย ใคร ๆ ก็คิดได้ เมื่อปี 2010 ก็มีคนคิดคล้าย ๆ กับเรา มีทุกปี ทุกวันนี้ยังมีคนคิดคล้ายๆ เรา แต่สุดท้ายความแตกต่างของเราคือ โปรดักส์ต่างกัน ประสบการณ์การใช้งานต่างกัน ข้อมูลต่างกัน สุดท้ายคนก็เลือกใช้ ไม่ใช่มีโปรดักส์เดียว แต่ทำออกมาไม่เหมือนกัน”

เขาบอกว่าสิ่งเหล่านี้ ความทุ่มเท การทำงานหนัก ความเอาใจใส่ในรายะลเอียดในทุกขั้นตอนของการทำงานของสตาร์ตอัพ คือ สิ่งที่คนทั่วไปอาจจะไม่ได้เห็น คนทั่วไปอาจจะให้น้ำหนักกับการที่ว่าสตาร์ตอัพมีไอเดียที่ถูกต้องและอยู่ถูกที่ถูกเวลา 

“แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าการมีไอเดียที่ถูกต้องและการอยู่ถูกที่ถูกเวลาคือ คุณ execute สิ่งที่คุณทำอยู่ออกมาได้ดีไหม คนส่วนมากไม่ได้ให้น้ำหนักตรงนี้มาก พูดง่าย ๆ คือ ไม่ใช่คนขยัน ผมคิดว่าทีมผม ผมเองกับ co-founder เป็นทีมที่ขยันแล้วทำงานหนักมาตลอด 6 ปี และนี่คือรางวัลที่เราได้ เราไม่ได้ฟลุค เราไม่ได้มีวันนี้เพราะมีไอเดียที่ถูกต้องอย่างเดียว แต่เราค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นเพราะเรา execute มันอย่างรุนแรง ยาวนาน ต่อเนื่อง ไม่มีความสำเร็จชั่วข้ามคืน” 

เขาบอกว่า co-founder ที่ชื่อเสียงโด่งดังในโลก ทุกวันนี้ก็ยังคงทำงานอยู่ทุกคน แล้วยังทำงานกันเป็น 10 ปี founder ของ Google สองคนทุกวันนี้ยังทำงานกันอยู่ Mark Zurgerblrg ทุกวันนี้ยังเขียนโปรแกรม Elon Musk ทำงานอยู่ 3 บริษัทเป็น 10 ปีแล้ว ทั้ง ๆ ที่เขารวยล้นฟ้า คือ เขาไม่ได้ทำเพราะเขาอยากรวยอย่างเดียว แต่เขาทำเพราะเขาอยากจะเปลี่ยนโลก อยากจะทำโปรดักส์ที่คนจำนวนมากใช้ ที่ทุกคนมีเหมือนกัน คือ มี work ethic ที่ดี 

ทุกวันนี้ ​Wongnai มีพนักงานร่วมร้อยคน แต่เขาก็ยังคงทำงานหนักเหมือนวันแรก ๆ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือ ความเครียดลดน้อยลง

“ช่วง 2 ปีแรกเครียด เป็นโรคภูมิแพ้ความเครียด หน้าขึ้นผื่น ช่วง 2 ปีแรกผมขาว ผมหงอกเยอะมาก ช่วงนี้เครียดน้อยลง แต่จำนวนทำงานพอ ๆ กับเมื่อก่อน”

ใคร ๆ ก็เป็นสตาร์ตอัพได้

ในมุมมองของซีอีโอ Wongnai เขามองว่าใคร ๆ ก็เป็นสตาร์ตอัพได้ มันขึ้นอยู่กับว่าคน ๆ นั้นทำอะไร และขึ้นอยู่กับว่าเขาเก่งขนาดไหน เขามีความอดทนกับมันขนาดไหน เขาอยู่ถูกที่ถูกเวลาหรือเปล่า ถึงแม้จะมีการศึกษาออกมาว่า คนที่เป็นสตาร์ตอัพที่ดีที่สุด อายุประมาณ 20 ปลาย ๆ ถึง 30 ต้น ๆ แต่ว่าจริง ๆ เด็กจบใหม่เขาก็ทำได้ ไม่ได้หมายความว่าเด็กจบใหม่ทำไม่ได้ ชีวิตนี้ไม่มีอะไรขาวกับดำ ไม่มีถูกผิดเสมอไป คนที่มีประสบการณ์มากหน่อยมีข้อดีอย่างหนึ่ง เด็กจบใหม่ก็มีข้อดีอย่างหนึ่ง เด็กจบใหม่อาจจะไม่มีประสบการณ์การบริหาร การคุยกับคน แต่สิ่งที่เขามีคือเวลาเวลาและโอกาสในการผิดพลาด ส่วนเรื่องทักษะในเรื่องการบริหารเขาสามารถพัฒนาได้ หากโปรดักส์เขาดี เขาค่อยมาพัฒนาทักษะการบริหารจัดการตอนหลังได้ ยกตัวอย่าง Mark Zurkeburg เขาก็เป็นเด็กที่เก่งเรื่องโปรแกรมมิ่ง ทักษะการบริหารพัฒนาทีหลังหลังจากที่เขาพบคนเยอะขึ้น 

“ตั้งแต่มัธยมผมเป็นกรรมการรุ่น ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็มีส่วนช่วย ตอนทำงานผมเป็นผู้จัดการก็มีพนักงานประมาณ​ 28 คนที่อยู่ทีมเรา ทักษะการบริหารค่อย ๆ สะสมมา เรียน MBA ก็ช่วยเรื่องทักษะอื่น ๆ อาทิ การเงิน การบัญชี การบริหารทีมขาย เขาสอนเรื่องพวกนี้เราก็เอามาใช้ สุดท้ายระหว่างทำงานไปเราก็ต้องศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง เพื่อทำให้ตัวเองเก่งขึ้นด้วย การที่เรามาอยู่ในตำแหน่งที่เป็นผู้ก่อตั้งเป็นซีอีโอ มันทำให้เรามี privillage ในการศึกษาหาความรู้ หรือได้เจอกับคนเก่ง ๆ มากกว่าตำแหน่งอื่น ๆ ด้วย ก็ทำให้เรายิ่งอยู่ในตำแหน่งที่ได้รับความรู้ง่ายกว่าคนอื่น ๆ ในฐานะซีอีโอเราก็ได้รับเชิญไปคุยกับคนนั้นคนนี้ไม่สัมมนา เราก็มีโอกาสได้เจอกับคนเก่ง ๆ ได้คุยได้แลกเปลี่ยนกับหลาย ๆ คน ทำใหเราค่อย ๆ เพิ่มพูนไปเรื่อย ๆ”

เขาคิดว่าสิ่งที่สตาร์ตอัพยุคใหม่ควรจะทำ นอกเหนือจากการมี work ethic ที่ดีแล้ว สตาร์ตอัพควรเล็งที่จะแก้ปัญหาระดับประเทศหรือระดับภูมิภาคที่มันเป็นปัญหาที่ใหญ่มากและเป็น fundamental สุด ๆ เขาคิดว่าประเทศไทยเองมีปัญหาที่ใหญ่มาก ๆ ที่รอให้แก้อยู่อีกเยอะ แต่สิ่งที่เขาเห็นสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ทำแล้วเขาขัดใจมากที่สุด คือ ไอเดียมักจะเล็ก เป็นนิชมาร์เก็ตบ้าง แก้ปัญหาที่มันเฉพาะเจาะจงมาก ๆ เป็นอะไรที่ซับซ้อน และเป็นขั้นกว่าแล้ว กลายเป็นว่าไม่ได้แก้ปัญหาที่เบสิคสุด ๆ ของที่จีนที่ใหญ่ปุ่นที่อเมริกาเป็นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่เอาปัญหาใหม่ ๆ ของเขามาทำที่เมืองไทย ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 1-2 ปีที่แล้วมาทำที่ไทย ซึ่งกลายเป็นว่ามันไม่ใช่ระดับ fundamental แล้ว 

“ระดับ fundamental หมายถึง เรื่องแบบ fintech ที่โครต fundametnal คือ replace ธนาคารไปเลย หรือว่าเรื่องของ e-commerce ทำไมเราไม่มี e-commerce อันดับสอง ทำไมถึงเป็น Lazada เจ้าเดียว หรือของ government -tech agriculture tech เรื่องที่มันพื้นฐานสุด ๆ ไม่ค่อยมีคนทำ แต่คนมักจะไปทำเรื่องเท่ ๆ อาทิ เกี่ยวกับ social เกี่ยวกับ application เป็นต้น เรื่องของ health คนทำน้อย ระบบ health tech ที่คลินิคและโรงพยาบาลต้องใช้ เรา disrupt มันได้ไหม”

เขารู้สึกว่า ถ้าเขาสร้างสตาร์ตอัพขึ้นใหม่ในยุคนี้ เขาจะแก้ปัญหาอย่างไรก็ได้ที่คิดว่ามีกลุ่มผู้ใช้งานมากกว่า Wongnai ตอนนี้ Wongnai มีคนใช้ประมาณ 2 ล้านกว่าคน แต่ Wongnai ไปได้สุดก็ประมาณ 10 ล้านคน 

“ผมยังไม่ตั้งเป้าหมายอะไรที่เล็กกว่า 10 ล้านคน ผมพยายามตั้งเป้าหมายที่ใหญ่มาก ๆ เพราะตอนนี้ตลาดพร้อมที่จะดันคนที่มีวิสัยทัศน์ใหญ่มาก ๆ แล้วก็สร้างให้เป็นบริษัทที่ใหญ่ระดับประเทศ คือ ผมคิดว่าประเทศถ้าจะให้ช่วยให้ประเทศไทยเท่จริง ๆ ต้องมีระดับยูนิคอร์ฯ มีบริษัทใดบริษัทหนึ่งที่ขึ้นไปเป็น Alibaba ของเมืองไทย Google ของเมืองไทย Facebook ของเมืองไทยให้ได้ ซึ่ง Wongnai เป็นไม่ได้ เพราะ Wongnai ไม่ได้มีตลาดที่ใหญ่ขนาดนั้น เป็นตลาดที่ใหญ่ที่เราพอใจ แต่ไม่ได้ใหญ่ระดับแสนล้านบาท หมื่นล้านบาท ตลาดของเราอาจจะอยู่สักหลักพันล้าน”

“ถ้าผมได้สร้างอะไรขึ้นมา ผมจะสร้างอะไรที่ใหญ่กว่านี้อีก เพราะผมคิดว่าเงินมีมากว่าเดิม ดูตัวเลขของเงินลงทุนที่อยู่ประเทศรอบข้าง เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เขาลงทุนกันเป็นหลักหลายสิบล้านเหรียญฯ ร้อยล้านเหรียญ​ อยากให้ทำอะไรแบบนั้น โครตกว้าง แก้ปัญหาใหญ่มาก ๆ ระดมได้หลายร้อยล้านเหรียญ มูลค่าบริษัทพันล้านเหรียญให้ได้ในไทย เป็นสิ่งที่อยากเห็นเด็กรุ่นนี้ทำ ถ้ามีโอกาสผมจะทำ แต่ต้องหลังจากที่พา Wongnai ไปถึงจุดที่ทุกคนฝันไว้แล้ว ซึ่งไม่รู้ว่ามีวันนั้นหรือเปล่า หลังจากเข้าตลาดหุ้นฯ ต้องรอดูว่า ​​Wongnai จะเป็นอย่างไรต่อหลังจากนั้น”

เขาไม่ได้เสียดายโอกาสสำหรับตัวเอง แต่เสียดายโอกาสสำหรับประเทศมากกว่า ตัวเขาเองมาได้ขนาดนี้ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายส่วนตัวไปนานแล้ว เนื่องจากอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มาตั้งแต่ต้นเขาจึงรู้สึกว่ายังไม่พอใจเท่าไร คิดว่ามันน่าจะมีคนที่สุดยอดกว่านั้นเกิดขึ้นมาในยุคหลังได้ เพราะทุกอย่างมันพร้อมกว่าถ้าเทียบกับเมือ่ปี 2010 

เขาบอกว่าสิ่งที่เขาสามารถทำเพื่อวงการสตาร์ตอัพไทยได้ คือ พยายามให้ความรู้ ประสาน ช่วยเหลือทั้งระบบนิเวศของสตาร์ตอัพ แต่สุดท้ายอยู่ที่ความทะเยอทะยานของผู้ก่อตั้ง สำคัญที่สุดว่าเขาอยากเป็นแค่ไหน ความทะเยอทะยานมีมากได้ แต่ความสามารถและความทำงานหนักต้องไปคู่กันด้วย หากทะเยอทะยานเยอะแต่ไม่ทำงานก็ไม่มีประโยชน์ ทะเยอทะยานเยอะความสามารถต่ำก็ไม่มีประโยชน์เช่นกัน 

SWOT ของ Wongnai 

เขาวิเคราะห์ SWOT ของ Wongnai ให้ฟังว่า จุดแข็งคือ การเป็นโปรดักส์ที่ดี มีคนชอบเยอะ มีข้อมูลเยอะ มีร้านอาหาร 200,000 ร้าน มีรีวิวเกือบ ๆ ล้านรีวิว ปัจจุบัน วงในมีเดียครองตลาดระบบค้นหาและรีวิวร้านอาหารในไทยโดยมีจำนวนสมาชิกมากกว่า 2.3 ล้านรายที่ลงทะเบียน

ส่วนจุดอ่อนที่มีคือ ข้อมูลอาจจะผิดบ้าง และเรื่องของโฆษณามีผู้ใช้บ่นว่าเยอะเกินไป คนแยกระหว่าง โฆษณาและ UGC ไม่ออก เชื่อถือได้ไหม ซึ่งก็ต้องปรับแก้พัฒนาไปเป็นลำดับ

ในขณะที่ภัยคุกคามของสตาร์ตอัพ Wongnai คือ การที่มีรูปแบบธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากค่าโฆษณา นั้นเป็นความเสี่ยง เพราะงบโฆษณามีขึ้นมีลง การลงโฆษณาสุดท้ายแล้วยังวัดผลเป็นยอดขายได้ยากสำหรับร้านค้า

สำหรับโอกาสทางธุรกิจนั้น เขามองว่ายังมีตลาดเหลืออีกค่อนข้างมากในเมืองไทย โดยเฉพาะตลาดในต่างจังหวัด หรือตลาดในโดเมนอื่นที่ไม่ใช่ร้านอาหาร อาทิ Beauty and Spa หรือ travel และ shopping ก็ตาม และ business model ใหม่ อาทิ  order delivery 

“ซึ่งเราเอาโอกาสมามาลบภัยคุกคาม เราเริ่มขยายรายได้จากโฆษณาไปสู่ transaction ตอนนี้รายได้ 90% ก็ยังมาจากโฆษณา  ตอนนี้รายได้มีหลายขา แบ่งเป็นโดเมนมี food (ไม่ถึง 90%) กับ beauty (มากกว่า 10%) รายได้จากโฆษณาประมาณ​ 90% มีรายได้อย่างอื่น เช่น ดีล และ order delivery ซึ่งมี order แล้วแต่ว่ายังไม่มีรายได้ ยังไม่วิธีเก็บเงิน ให้คนใช้ก่อน ยังมีงานที่ต้องทำอีกเยอะ”

“เราสร้างงานขึ้นมาเอง ถ้าเป็นคนอื่นเขาอาจจะพอใจแล้ว เป็นเว็บไซต์รีวิวร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดก็นั่งตีพุงนอนกินเงินโฆษณา ถ้าอย่างนั้นผมก็อยู่บ้านเฉย ๆ ไม่ต้องทำงานก็ได้ แต่ผมยังไม่พอใจ ยังมีตลาดอีกเยอะแยะที่ยังไม่มีใครเข้าไปทำ มีปัญหาอีกหลายอย่างที่เราต้องการจะแก้ คนต่างจังหวัดก็ยังไม่ได้ใช้ Wongnai คนจะหาร้านทำผมก็ยังไม่มีเครื่องมือที่จะหาได้ดีๆ คนจะหาสถานที่ท่องเที่ยวก็ยังไม่มีเครื่องมือที่หาได้ดีๆ คนจะสั่งอาหารมากินที่บ้านก็ยังไม่มีเครื่องมือดี ๆ เท่าไร เรารู้สึกว่ามีปัญหาอีกเยอะแยะที่เราสามารถแก้ปัญหาให้ผู้ใช้งานได้ ที่ไม่ได้ต่างจากเทคโนโลยีที่เรามีอยู่มากนัก เพราะฉะนั้น มันอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้มาใช้ Wongnai เป็นตัวแทนในการทำสิ่งเหล่านั้น และเราเชื่อว่ายังมีรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่เราคิดว่าเราจะคิดออก  พฤติกรรมคนต้องเปลี่ยนไปอยู่แล้ว” 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ