TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeสำรวจความเท่าเทียมทางเพศ ในวันสตรีสากล Gender Gap ช่องว่างที่ยังถมไม่เต็ม

สำรวจความเท่าเทียมทางเพศ ในวันสตรีสากล Gender Gap ช่องว่างที่ยังถมไม่เต็ม

ในวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็น วันสตรีสากล หรือ  International Women’s Day มีที่มาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้หญิงที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมด้านแรงงาน เพื่อเฉลิมฉลองและให้ความสำคัญกับสิทธิสตรีอย่างเท่าเทียมกัน และองค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองเนื่องในวันสตรีสากลเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1977  

ปี 2565 ที่ผ่านมา ท่ามกลางวิกฤติการณ์ที่ทวีคูณขึ้นในโลก ไม่ว่าจะเป็นภาวะการระบาดของโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ความขัดแย้งที่นำมาสู่ความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก ทำให้สถานการณ์ความเท่าเทียมกันทางเพศ ไม่ว่าจะเป็น ชาย-หญิง หรือเพศทางเลือกอื่น ๆ ยังคงน่าเป็นห่วง ช่องว่างระหว่างเพศยังทวีความรุนแรงขึ้นในหลายมิติ

รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารบุคคลและการพัฒนาภาวะผู้นำ ให้มุมมองและความคิดเห็นต่อความเท่าเทียมกันทางเพศในประเทศไทยว่า จำนวนของประชากรหญิงที่มากกว่าและมีการศึกษาสูงกว่า แต่โอกาสก้าวหน้าในการทำงาน ทั้งตำแหน่งและเงินเดือน กลับไม่สอดคล้องกัน

“เราเห็นตัวเลขประชากรศาสตร์ ประชากรหญิง มากกว่าประชากรชาย ตัวเลขปัจจุบัน ประชากรชาย มี 31.7 ล้านคน ส่วนประชากรหญิง 33 ล้านคน ผู้หญิงเดี๋ยวนี้เรียนมากกว่า มีการศึกษาสูงกว่าผู้ชาย แต่ในทางกลับกัน ผู้หญิงยังคงได้เงินเดือนต่ำกว่า และสัดส่วนของผู้หญิงที่สามารถก้าวสู่ระดับผู้บริหาร มีเพียง 32% และทะลุถึง CEO แค่ 24% เท่านั้น

อะไรคือสาเหตุ เป็นเรื่องของค่านิยมที่ฝังมาในสังคมมนุษย์ตั้งแต่ยุคหิน ด้วยความที่ผู้ชายมีร่างกาย แข็งแรงกว่ากว่าผู้หญิง บทบาทของผู้หญิงจึงถูกวางให้อยู่บ้านเลี้ยงลูกไป ซึ่งตอนนั้นสังคมต้องใช้แรง ใช้กล้ามเนื้อ เราก็ยอมรับได้ แต่ในสังคมที่มันมีเครื่องทุ่นแรง ใช้สมองมากกว่ามันไม่ใช่ และผู้หญิงไทยไม่ควรจะดีใจ ว่าเราดีกว่าประเทศอื่น มันยังไม่พอ ไม่ใช่ว่าเราจะดีกว่าผู้ชายหรือว่าเราจะไปข่มขู่ผู้ชาย แต่ในฐานะเป็นเป็นมนุษย์เหมือนกัน เรายังห่างจากความเท่าเทียมกันเยอะ”

Gender Gap ช่องว่างที่ถมไม่เต็ม

รศ.ดร.ศิริยุพา เผยข้อมูลจาก รายงานความเท่าเทียมระหว่างเพศ ปี 2565 หรือ Global Gender Gap Report 2022 จัดทำโดย World Economic Forum เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยรายงานเกณฑ์มาตรฐานดัชนีช่องว่างระหว่างเพศ ในปี 2565 สำรวจใน 146 ประเทศทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอชุดข้อมูลประจำปี เพื่อประเมินความก้าวหน้าในการลดช่องว่างระหว่างเพศในประเทศและภูมิภาคต่างๆ ของโลก ซึ่งในสภาวะปัจจุบัน นักวิชาการระบุว่า ปัญหาความเท่าเทียมกันทางเพศของโลกยังคงถดถอย มนุษย์อาจต้องใช้เวลาอีก 132 ปี เพื่อจะแก้ปัญหาและปิดช่องว่างระหว่างเพศของโลกลงได้ 

ซึ่งด้วยข้อจำกัดของข้อมูลที่มี ทำให้รายงานดังกล่าวไม่สามารถรายงานช่องว่างระหว่างเพศทุกเพศได้ จึงโฟกัสรายงานเฉพาะ ผลลัพธ์ทางช่องว่างระหว่างหญิงและชาย ใน 4 มิติ ได้แก่ การมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ (Economic Participation and Opportunity) การเข้าถึงการศึกษา (Educational Attainment) การเข้าถึงสาธารณสุขและการรักษาพยาบาล (Health and Survival) และมิติสุดท้ายได้แก่ การได้รับแรงกระตุ้นให้มีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Empowerment)

“สำหรับประเทศไทย ถ้าดูตัวเลขถือว่าเราทำได้ดีมากทั้ง 4 มิติ ในแง่ของการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ อยู่ในอันดับที่ 22 ของโลก แต่นั่นหมายถึง ผู้หญิงไทยเราออกไปทำงาน มีรายได้ แต่งานในบ้านห้ามทิ้ง และไม่พูดถึงที่ว่าการที่จะได้ตำแหน่งสูงสุดในองค์กรหรือเปล่า ส่วนด้านการศึกษา ไทยอยู่อันดับที่ 74 ของโลก ช่องว่างทางการศึกษาต่ำ ผู้หญิงทั้งโลกได้รับการศึกษามากกว่าผู้ชาย ตัวเลขคือได้ 0.95 ส่วนของไทย ได้ 0.99 และทางสุขภาพอยู่อันดับที่ 41 

แต่ตัวเลขมันหลอกเราว่าช่องว่างน้อย ผู้หญิงได้ทำงาน แต่กลับมีโอกาสการเติบโตทางตำแหน่งหน้าที่การงานไม่เท่ากับผู้ชาย ยิ่งเรียนสูงยิ่งได้เดือนน้อยลงกว่า ผู้ชาย ที่แย่คือ ผู้หญิงที่อยู่บ้าน ทำงานบ้าน ไม่นับว่ามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ดังนั้น งานบ้าน การเลี้ยงลูก กลายเป็นงานที่วัดไม่ได้ทางตัวเงิน ถ้าคุณต้องไปจ้างแม่บ้านต้องจ่ายเงินเดือนเป็นหมื่น แต่แรงงานของผู้หญิงที่เป็นภรรยากลับไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ

ที่น่าห่วงคือ ด้านการเมือง ไทยอยู่อันดับที่ 130 จาก 146 ประเทศ ผู้หญิงมีที่นั่งในสภาผู้แทนฯ น้อยมาก  ก็ไม่ได้คิดว่าต้องไปแข่งกับผู้ชายว่าใครจะเป็นนายก แต่การที่เรามีเสียงผู้หญิงน้อยในสภา ในแง่ของการออกกฎหมายที่จะเป็นประโยชน์กับผู้หญิง เสียงที่จะเป็นช่วยผู้หญิงมันน้อยเหลือเกิน สรุปแล้ว ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งมีผลทำให้ชีวิตความก้าวหน้า และคุณภาพชีวิตของผู้หญิงมันไม่ดีเท่าที่ควร”

ทำไมผู้หญิงไปไม่ถึงดวงดาว

รศ.ดร.ศิริยุพา ให้มุมมองด้านข้อจำกัดของผู้หญิง ว่าหากมองกันอย่างเป็นจริง เมื่อเปรียบเทียบกันในทางกายภาพ ผู้หญิงตัวเล็กกว่า โดยทั่วไป ทำให้แรงน้อย แข็งแรงน้อยกว่า อาจมีผลในการทำงานที่ต้องใช้แรงหรือต้องเสี่ยงอันตราย แต่ในทางกลับกัน ผู้หญิงไม่ได้ฉลาดน้อยกว่า และอึดกว่า อดทนกว่าผู้ชาย แต่นอกจากเหตุผลทางกายภาพแล้ว สิ่งสำคัญที่จำกัดบทบาทของผู้หญิง คือ อคติ จากค่านิยมดั้งเดิมของสังคมที่ใช้แรงมากกว่าสมอง และความเชื่อของผู้หญิงเองที่อยู่ภายใต้บริบททางวัฒนธรรม รวมถึงในแง่อารมณ์ความรู้สึก (Emotion) ผู้หญิงจะมีความอ่อนไหว สะเทือนใจกว่าผู้ชาย ทำให้ผู้หญิงเกิดความกลัวทำให้ไม่กล้าทำอะไร ที่สำคัญ ผู้หญิงมีอคติกับตัวเอง งานวิจัยจากทั่วโลกล้วนชี้ให้เห็นว่า ว่าผู้หญิงส่วนใหญ่มี การรับรู้ต่อตัวเอง (Perception) ที่ทำให้เกิดความกลัวและวิตกกังวล

กับคำถามที่ว่าทำไมจึงสัดส่วนของผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารองค์กรเพียง 30% และทะลุไปสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดหรือ CEO เพียงแค่ 24% ที่เหลือเป็นผู้ชาย รศ.ดร.ศิริยุพา อธิบายเจาะลึกว่า “สาเหตุ มีตั้งแต่ว่า ลาคลอด หาคนเลี้ยงลูกไม่ได้ กำลังอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง ลาไปเลี้ยงลูก กลับเข้ามาใหม่ในตำแหน่งเดิม ต้องได้เงินเดือนน้อยลงเพราะเธอหายตัวไป หรือแบบที่ 2 ไม่ได้กลับมาอีกเลยเพราะว่าหลุดโลกของสังคมธุรกิจไปแล้ว 

อันดับที่ 3 บทบาทของผู้หญิงที่ติดมาตั้งแต่สังคมโบราณ ว่าเธอต้องเป็นคนดูแลเรือนชาน ลูกเต้า นอกจากผู้ชายที่ใส่บทบาทนี้ให้ผู้หญิง ผู้หญิงเองก็เชื่อด้วย สังคมโลกมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ผู้หญิงในหลายประเทศยังเชื่อว่าฉันทำได้แค่นั้น ฉันควรทำเช่นนั้น นี่คือ คุณมีคุกขังความคิดและขังโอกาสของตัวเอง”  

จากประสบการณ์กว่า 20 ปี การบริหารบุคคล การพัฒนาภาวะผู้นำ และการบริหารการเปลี่ยนแปลง  นอกจากนี้ยังเป็นนักวิจัย โค้ชของผู้บริหารระดับสูง ที่ปรึกษาและวิทยากรที่ได้รับการยอมรับจากองค์กรชั้นนำของไทยและต่างประเทศ รศ.ดร.ศิริยุพา ให้คำแนะนำกับผู้หญิงในการสร้างความเข้มแข็ง และพัฒนาศักยภาพ ความรู้ ความสามารถว่า

“สำหรับในแง่ความรู้ ความสามารถของผู้หญิง ไม่น่าห่วง แต่สิ่งแรก คุณจะต้องสร้างแบรนด์ให้ตัวเอง คือภาพพจน์ที่จะทำให้สังคมรับรู้ได้ว่า เราเป็นผู้หญิงทำงานที่ทำได้เท่าเทียมกับผู้ชาย ผู้หญิงต้องรู้จักที่จะโปรโมทตัวเอง ก้าวมาข้างหน้า เลือกเวทีทีจะโชว์ ก้าวหลุดจากแนวหลังมาสู่แนวหน้าให้ได้ หาเวทีแจ้งเกิดให้ตัวเอง ทำให้ความสามารถของตัวเองเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่และยอมรับในวงกว้าง

อันที่สอง ผู้หญิงมักถูกโจมตีว่าอ่อนไหว ความจริงผู้ชายก็อ่อนไหวและเจ้าอารมณ์พอกัน แต่เรามักจะถูกโจมตีเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น EQ เราต้องดี เราต้องระวังและบริหารอารมณ์เรา ไม่ใช่ผู้หญิงอารมณ์เป็นวันนั้นของเดือนถึงได้ตัดสินใจเช่นนี้ ซึ่งเป็นโจ๊กที่ผู้ชายชอบพูดถึงผู้หญิง อันที่สาม สำคัญมาก คุณต้องมีเน็ตเวิร์ค  ถ้าคุณทำงานอยู่ในวงการหรือวิชาชีพที่มีผู้ชายมากกว่า คุณอย่าได้ถอยนะ คุณจะต้องไปเข้าสมาคมวิชาชีพพวกนี้ ถ้าคุณยิ่งหนียิ่งถอยยิ่งห่าง ผู้ชายยิ่งมองไม่เห็นคุณ

สรุปคือ บทบาทในองค์กร คุณต้องแบรนด์ตัวเองว่า เป็นคนที่ทำงานได้ทุกอย่าง ทำงานได้ในทุกสภาพ รักษาอารมณ์ได้ ส่วนบทบาทภายนอกองค์กร คุณจะต้องสร้างความน่าเชื่อถือ มีการพัฒนาความรู้ในการทำงาน หรือมีโอกาสสัมมนาระดับประเทศ มันจะเป็นตัวที่จะเรียกว่าป่าล้อมเมือง โดยเฉพาะสังคมไทย ถ้าผู้หญิงคนไหนเป็นที่ยอมรับในวงการระดับประเทศหรือต่างประเทศ ผู้หญิงคนนั้นก็จะเป็นผู้ทรงอิทธิพล  ก็จะทำให้คุณก้าวข้ามความแตกต่างทางเพศไปได้ ”  

รศ.ดร.ศิริยุพา เผยอีกว่า ข้อมูลจาก World Economic Forum ระบุว่า มีผู้หญิงที่เป็นนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม ถึง 53% แต่ผู้หญิงมีบทบาทน้อยมากในแวดวง Tech Industry ทั่วโลกมีผู้หญิงที่ทำงานในสายเทคโนโลยีแค่ 5%  ยกตัวอย่าง เช่น สัดส่วนผู้หญิงที่เป็นผู้บริหารอีคอมเมิร์ซอาจจะมากพอ ๆ กับผู้ชาย แต่ถ้าเป็นโปรแกรมเมอร์ยังมีน้อยมาก เนื่องจาก ผู้หญิงติดอยู่กับบทบาทที่สังคมตีกรอบเอาไว้ให้แต่ดั้งเดิมมา เหมือนกับช่วงหนึ่งที่ตลาดแรงงานไทยต้องการวิศวกรจำนวนมาก ในยุคแรกก็มีแต่ผู้ชายที่เป็นวิศวกร

ต่อมาเมื่อมีการส่งเสริม ผู้หญิงก็เริ่มเลือกเรียนวิศวกรรมมากขึ้นและทำคะแนนได้ดี เพราะฉะนั้นในด้านเทคโนโลยีก็เช่นกัน ภาครัฐควรมีการส่งเสริม ให้ทุนการศึกษา สร้างแรงจูงใจเป็นรางวัลทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดเป็นกระแสผู้หญิงที่เรียนและทำงานด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ส่วนในแง่อุตสาหกรรมอื่นๆ รศ.ดร.ศิริยุพา มองว่า ผู้หญิงทำได้ดีในอุตสาหกรรมการเงิน ดูได้จากสัดส่วนจำนวนผู้บริหารหญิงที่เป็น CFO ปัจจุบันมีมากถึง 43% และประเมินว่าน่าจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนผู้บริหารสูงสุดหรือ CEO ผู้หญิง ในอีก 5 ปีข้างหน้าน่าจะขยับสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 30%

รวมพลังเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

ในแง่การเปลี่ยนแปลงระดับสังคม รศ.ดร.ศิริยุพา เสนอว่า ผู้หญิงจะต้องรวมตัวกัน เพื่อที่จะสร้างพลัง โดยใช้ข้อได้เปรียบที่ประชากรผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย  สร้างอำนาจต่อรองเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระเบียบทางสังคม ผลักดันนโยบายและกฎหมาย ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและโครงสร้างที่เอื้อต่อการทำงานของผู้หญิง  ออกแบบหลักสูตรการศึกษาที่ผู้หญิงและผู้ชาย สามารถเรียนรู้การงานและลงมือทำในทักษะทุกด้านโดยไม่จำกัดและไม่เกี่ยงเพศ และที่สำคัญไม่ใช่แก้เฉพาะเพศหญิง แต่รวมไปถึง LGBTQ+ และ Inclusiveness 

รศ.ดร.ศิริยุพา มองว่า “ที่ผ่านมาผู้หญิงที่อยู่ในสถานะผู้บริหารระดับสูงนั้นมีน้อย และยังไม่ใส่ใจผู้หญิงด้วยกัน จึงไม่มีจุดเริ่มต้นที่แข็งแรง ในเมื่อผู้หญิงมีอำนาจอยู่ในตำแหน่งอะไรได้ ก็ควรใช้โอกาสที่มีในการดูแลสวัสดิการของผู้หญิงด้วยกันบ้าง ทำให้การลาคลอดไม่ทำให้ผู้หญิงต้องสูญเสียโอกาสในการทำงานเพราะเหตุผลในการต้องเป็นแม่ และควรส่งเสริมให้มีระบบสนับสนุนการดูแลเด็กเล็กในที่ทำงานด้วย มีการบริหารองค์กรที่ซัพพอร์ตผู้หญิง อย่างแท้จริง ช่วยกันค่อย ๆ ลดช่องว่างลงมา แทนที่จะใช้เวลา 132 ปีในการแก้ไข เราอาจจะย่นเวลาลงมาได้

ในส่วนของนักการเมือง บรรดาผู้แทนราษฎร นอกเหนือจากที่จะแก้กฎหมายโสเภณีหรืออะไรก็ตาม ช่วยเอามาดูปัญหาเรื่องผู้หญิงเสียก่อน เพราะผู้หญิงเป็นแรงงานทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำไมคุณไม่สนับสนุนให้ แรงงานซึ่งเป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจของเรา ให้ทำงานได้เต็มศักยภาพ กลับกลายเป็นผู้หญิง ต้องช่วยผู้หญิงด้วยกันเอง”

ในวาระวันสตรีสากลทุกท่าน ปี 2566 รศ.ดร.ศิริยุพา ฝากกำลังใจถึงผู้หญิงไทย ว่า “สำหรับผู้หญิงไทยนะคะ พี่มองว่า “เธอมาได้ไกลแล้ว เหลืออีกนิดเดียว “You’ve Come a Long Way, Baby” เธอทำได้ดีมาก เธอต้องผนึกกำลังกัน หญิงไทย อนาคตของชาติอยู่ในมือเธอ ก้าวข้ามความกลัว เอาศักยภาพทั้งหมดที่มีมาใช้ แล้วโลกเราเนี่ยจะอยู่กันได้อย่างเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
น้ำผึ้ง หัสถีธรรม – เรียบเรียง

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เปิดมุมมองซีอีโอหญิง ‘มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ’ และบทบาทของ Sea (ประเทศไทย) ต่อความยั่งยืนและ ESG

เซ็นทรัล จับมือ โรบินสัน ชวน 8 ศิลปินสาว รังสรรค์ผลงานศิลปะ พร้อมจัดประมูล

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ