TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessพลังชุมชนสร้างอาชีพ ส่งต่อโอกาสให้กลุ่มเปราะบาง: บ้านงานฝีมือผาหนาม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

พลังชุมชนสร้างอาชีพ ส่งต่อโอกาสให้กลุ่มเปราะบาง: บ้านงานฝีมือผาหนาม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

จากจุดเริ่ม ทริปเลิกแล้ง เลิกจน สู่พลังชุมชนสร้างอาชีพ กับ เอสซีจี ที่จังหวัดลำปาง การเดินทางในวันที่สอง มุ่งสู่การค้นหาพลังชุมชน ณ วัดพระพุทธบาทผาหนาม ตำบลป่าไผ่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน แม่อุ๊ยหลายท่านยืนรอต้อนรับ คล้องคอให้ด้วยมาลัยดอกรัก ก่อนจะพาเข้าไปยังวิหารเวียงแก้วพระสัจจะ ครูบาเจ้าอภิชัย เป็นโอกาสมงคลในการสักการะสรีระครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี อดีตเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทผาหนาม ที่มรณภาพไปแล้วหลายสิบปี แต่ร่างกายกลับไม่เน่าเปื่อย

เมื่อก้าวเข้าไปในวิหาร ด้านหน้าของทางเข้า มีรูปเคารพของครูบาเจ้าอภิชัย ด้านหลังมีรูปปั้นอุบาสกผู้ติดตาม สวมใส่เสื้ออันเป็นอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ แม่อุ๊ยผู้นำทางเข้าสู่วิหาร ให้ข้อมูลว่าที่อำเภอลี้แห่งนี้ มีทั้งคนเมืองและชนเผ่าปกาเกอะญออาศัยอยู่ร่วมกัน และครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี สามารถทำให้คนปกาเกอะญอที่เคยนับถือผี หันมาปฏิบัติกรรมฐาน รู้จักการให้ทาน รักษาศีล ทำสมาธิ จนกระทั่งพากันเปลี่ยนจากการนับถือผีมานับถือพระพุทธศาสนาในที่สุด 

วัดพระพุทธบาทผาหนาม ยังเป็นที่ตั้งของ ศูนย์เรียนรู้งานหัตถกรรมบ้านงานฝีมือบ้านผาหนาม ซึ่งได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และภูมิปัญญาชุมชนด้านงานหัตถกรรมพัฒนาสู่อาชีพ มาใช้ในการขับเคลื่อนงาน ผ่านบูรณาการความร่วมมือของ “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน บริเวณหน้าที่ทำการศูนย์เรียนรู้ฯ ถูกจัดเป็นซุ้ม เพื่อล้อมวงพูดคุยระหว่างเจ้าบ้านและผู้มาเยือน

วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ สำนักงาน Enterprise Brand Management Office เอสซีจี เปิดวงพูดคุยด้วยการบอกกล่าวความตั้งใจของเอสซีจี ที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำสังคมด้วยนโยบาย ESG 4 Plus ส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง และมีความรู้คู่คุณธรรมตามคำสอนของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2550 จากการทำฝายชะลอน้ำซึ่งสร้างไปแล้ว 115,000 ฝาย ควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำชุมชน ทำให้ชุมชนมีน้ำกิน-ใช้ และเพื่อการเกษตร และต่อยอดมาสู่โครงการพลังชุมชน อบรมสร้างอาชีพ แปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า

“ในจังหวัดลำปางที่ผ่านมา เราได้สัมผัสกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นของกินได้ไปแล้ว มาที่ลำพูน เราอยากจะพาทุกคนมารู้จักผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหารกันบ้าง คือ งานหัตถกรรม งานที่ทำให้คนเรามีความสุข บำบัดจิตของเรา ทำให้เรามีสมาธิ และถ้าออกมาสวยงาม เราภูมิใจ และถ้าขายได้เป็นอาชีพได้ด้วยยิ่งดี เหมือนกับครูอ้อ ผู้หญิงชาวเหนือธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่ผ่านวิกฤติชีวิตมาได้ด้วยงานหัตถกรรมที่เธอรัก”

ฝ่าวิกฤติด้วยคุณค่าของตนเองและงานอันเป็นที่รัก

อำพร วงค์ษา หรือ ครูอ้อ ประธานศูนย์หัตถกรรมบ้านงานฝีมือผาหนาม ผู้ใช้พลังในตัวเองพลิกวิกฤตชีวิตติดลบ แม่ป่วยติดเตียง สามีล้มป่วยความจำเสื่อมจากการทำงาน จากเดิมที่เคยทำงานเป็นครูพี่เลี้ยงสอนเด็กอนุบาล ครูอ้อต้องลาออกจากการเป็นครู ความฝันที่อยากทำเนอร์สเซอรี่เป็นของตนเองต้องหยุดลง เพื่อใช้เวลาทั้งหมดมาดูแลครอบครัว

แม้จะยังเสียใจและแอบร้องไห้กับการที่ต้องลาออกจากการเป็นครู แต่การที่ต้องอยู่แบบไม่มีเงินเดือน จะไปทำการเกษตรก็ทำไม่ได้ เพราะมีผู้ป่วยที่ต้องดูแล ทำให้เธอต้องรีบลุกขึ้นสู้ ด้วยความที่มีความรักชอบงานเย็บปักถักร้อย งานถักจึงเป็นงานแรกที่เลือกลงมือ “ทำทันที” นำไปเสนอขาย และได้คำสั่งซื้อลอตใหญ่มา ซึ่งเป็นจุดเริ่มที่ทำให้สามารถพัฒนาธุรกิจและพัฒนาตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ

“การที่เราต้องลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเอง ถามว่ามันง่ายมั้ย มันไม่ง่ายเลย เราต้องเหยียบความกลัวของเราไว้กับพื้น และเราต้องลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเองด้วยพลังชีวิตที่เรามี มันคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาก็จะไม่เจอความสำเร็จ แต่ ณ วันนั้น เราไม่ได้คิดถึงความสำเร็จ เราคิดถึงความอยู่รอด ทำยังไง ให้เราผ่านวันนี้ไปให้ได้ ทำยังไงให้ลูกให้พ่อให้แม่ มีอยู่มีกิน ทำยังไงให้สามีมีสุขภาพที่ดีขึ้น”

ในปี 2558 คือจุดเปลี่ยนที่ครูอ้อได้มีโอกาสเข้าเรียน โครงการพลังปัญญา และนำความรู้ที่ได้มาใช้ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้งานหัตถกรรม ก่อนจะได้รับการชักชวนเข้าร่วมเรียนรู้กับโครงการพลังชุมชนกับเอสซีจี ครูอ้อสะท้อนถึงสิ่งสำคัญที่ได้รับจากการเรียนรู้จากโครงการพลังชุมชนว่า

“โครงการพลังชุมชน สอนให้เราเห็นคุณค่าในตัวเอง คุณค่าในตัวเองก็มาจากการที่เราได้ทำสิ่งที่เรารักและเราถนัด พอเรารู้จักคุณค่าในตัวเอง เรารักในงานที่เราทำ เราก็มีความสุขและทำมันได้เต็มที่ สร้างรายได้ให้ครอบครัวด้วยสิ่งที่เรามี และสามารถพัฒนาต่อยอดแบ่งปันความรู้ให้คนในชุมชนที่ว่างงานและกลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการ ผู้สูงวัย ทำงานฝีมือให้มีรายได้ มีงานทำ พึ่งพาตัวเอง และก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้สร้างอาชีพ เพื่อสร้างงานให้คนในชุมชน”

ครูอ้อได้เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ผ่านการลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการธุรกิจ โดยการนำวัตถุดิบหรือทรัพยากรในชุมชนมาใช้ หยิบยกเอางานหัตถกรรมที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เชื่อมโยงกับประเพณีวัฒนธรรม มาใช้กระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน และเมื่อธุรกิจและการงานเติบโต ขยายตัวมากขึ้น การทำงานโดยเป็นผู้นำหรือผู้บริหารเพียงคนเดียวย่อมเป็นไปได้ยาก การพัฒนาบุคลากรขึ้นมาเป็นทีมทำงานร่วมกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญ ครูอ้อสะท้อนว่า การขยายงานนั้นไม่ยาก แต่การพัฒนาบุคลากรนั้นยากยิ่งกว่า

“คนที่พอมีพอกิน หรือคนที่เค้ามีศักยภาพ เค้าจะไม่มาสนใจตรงนี้ คนที่จะอยู่กับเราก็คือหนึ่ง กลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย ไม่มีที่ทำกิน เป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสต่างๆ ซึ่งการพัฒนาคนที่มีครบสมบูรณ์ก็ว่ายากแล้ว การพัฒนากลุ่มเปราะบางแบบนี้ยากยิ่งกว่า เพราะเราต้องใส่ใจทุกเรื่อง ให้เขาได้มีเวทีของตัวเอง เราต้อง “ยั้งย่อย” พูดให้น้อย ฟังให้มาก ให้รู้ว่าเขามีความถนัดด้านใด เมื่อพัฒนาทีมงานขึ้นมาแล้ว ตัวเราเองก็ต้องออกไปหาความรู้ใหม่เพื่อมาเติมเต็ม และเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรภายนอก”

ทีมงานของครูอ้อ เป็นทีมงานจิตอาสาที่สละเวลาส่วนตัวมาทำงานร่วมกัน โดยจะมีการประชุมกันเดือนละ 1 ครั้ง แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบทั้งการประสานงานและการรับออเดอร์จากลูกค้า รวมถึงแบ่งหน้าที่กันเป็นครูอาสาลงพื้นที่สอนสมาชิกกลุ่มเปราะบาง

วิชุดา ศรีทอง หรือครูแดง หนึ่งในทีมงานครูอาสา ที่ในอดีตเคยผ่านการทำงานจิตอาสาในชุมชนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐมาแทบทุกรูปแบบ มุ่งงานหนักจนชีวิตวุ่นวายและไม่มีเวลาให้ครอบครัว กล่าวถึงความรู้สึกที่ทำให้ตัดสินใจมาร่วมเป็นทีมทำงานกับครูอ้อ

“เมื่อก่อนเราทำงานอาสาให้ชุมชน บางครั้งเราทำแทบขาดใจ แต่ผู้นำไม่เห็นความสำคัญ ไม่เห็นคุณค่าของเราเลย ทั้งที่ความรู้ความสามารถเราก็มี ครูอ้อก็ชวนให้มาทำงานในจุดนี้หลายต่อหลายครั้ง ตอนนี้เรากลับมามองคุณค่าในตัวเอง แล้วมาเดินทางเส้นนี้ ที่ชุมชนของแม่แดงเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งมีฝีมือในด้านการปัก ก็อยากจะขยายเครือข่ายไปลงที่ชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีรายได้เสริม เป็นโอกาสดีที่ได้มาร่วมงาน” แม่แดงกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ สำนักงาน Enterprise Brand Management Office เอสซีจี กล่าวเสริมว่า “สิ่งที่ครูอ้อพูดมา มีทั้งวิชาแบรนดิ้ง การสร้างอัตลักษณ์จากตัวตนที่เรามี มีทั้งวิชาทรัพยากรบุคคล และวิชาสุนทรียสนทนา หรือ Deep Listening ที่คนเป็นผู้นำต้องรู้จักรับฟัง ไม่ใช่แค่หู แต่ด้วยหัวใจ ฟังสิ่งที่เขาพูดให้เข้าใจเค้า เข้าใจสิ่งที่เขาไม่ได้พูด ที่อยู่ในระหว่างบรรทัดที่เค้าพูดให้ได้ เราถึงจะเข้าใจคน และวิชานี้ต้องฝึก ต้องยั้งย่อย และให้กำลังใจคนพูด รวมแล้วทั้งหมดคือ วิชาบริหารธุรกิจที่เราใช้อยู่ทุกวันในองค์กรขนาดใหญ่ แต่นี่คือ MBA  ชาวบ้าน” 

หลักสูตร Mini MBA สำหรับชุมชน

ดร.พีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้บริหารหลักสูตรโครงการพลังชุมชน เอสซีจี อธิบายว่า องค์ความรู้ที่ทางโครงการพลังชุมชน นำมาใช้ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ และจัดทำเป็นหลักสูตรที่เปรียบเสมือน หลักสูตร Mini MBA สำหรับชุมชน ผ่านการเสริมสร้าง 4 ความรู้คู่คุณธรรม ซึ่งประกอบด้วย รู้เรา: รู้คุณค่าและพัฒนาศักยภาพของตนเอง สร้างมูลค่าจากสิ่งรอบตัว รู้เขา: เข้าใจลูกค้า เข้าใจตลาดอย่างลึกซึ้ง รู้จัดการ: วางแผนเพื่อการบริหารจัดการและบริหารความเสี่ยง รู้รัก-สามัคคี: สร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งพร้อมช่วยเหลือและแบ่งปัน 

“เมื่อครูอ้อสะท้อนถึงเรื่องคุณค่าในตนเอง มันคือส่วนหนึ่งของกระบวนการของ MBA ทั้งหมด แต่เราไม่ได้ใช้ศัพท์ทางวิชาการ แต่ปรับใช้คำที่ชาวบ้านคุ้นชิน ซึ่งในสังคมชนบท บ้าน วัด โรงเรียนจะเกี่ยวโยงกัน ดังนั้น ครูอ้อจะได้ยินคำว่า สุ จิ ปุ ลิ หรือคำว่า อายตนะทั้ง 6 บ่อยมาก และสโลแกนของพลังชุมชน คือ ความรู้ คู่ความคิด แล้วลงมือปฏิบัติ เราใส่ความรู้ให้เขาไปคิดเองระเบิดเอง แล้วลงมือปฏิบัติ แล้วก็จะวนกลับหาความรู้ใหม่ การพัฒนาจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ” 

17 ปีกับการฝ่าฝันวิกฤติ ดูแลฟื้นฟูครอบครัว ค้นหาคุณค่า พัฒนาตนเอง และแบ่งปันสู่ชุมชน กว่า 10 ปีที่เข้าร่วมโครงการพลังชุมชน ครูอ้อและครอบครัว ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้ได้รับรางวัล “ครอบครัวร่มเย็น” จังหวัดลำพูน ประจำปี 2566 เข้ารับรางวัลโล่รางวัลจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติและวันแห่งครอบครัว ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา

ปัจจุบัน ครูอ้อและทีมงานสามารถขยายศูนย์การผลิตงานหัตถกรรมได้ถึง 3 สาขา ได้แก่ ศูนย์หัตถกรรมบ้านงานฝีมือผาหนาม ศูนย์สำนึกรักบ้านเกิด และศูนย์สร้างงาน สร้างอาชีพให้กลุ่มผู้เปราะบาง โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทางเอสซีจีเป็นต้นทุนอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกอาชีพ และค่าเบี้ยเลี้ยงสำหรับทีมครูอาสา ในการเดินทางลงพื้นที่เพื่อสอนกลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการ ผู้ดูแลผู้ป่วย ถึงที่บ้าน

ลดเหลื่อมล้ำด้วย เยียวยาจิตใจและสร้างรายได้ให้กลุ่มเปราะบาง

ยมลพร  หิรัญทาสันต์ หรือ โยเกิร์ต ตัวแทนแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ได้รับโอกาสจากพลังชุมชนสร้างอาชีพ ทุก ๆ วัน โยเกิร์ตจะต้องไปส่งลูกวัยสองขวบกว่าของเธอที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ จังหวัดลำพูน เพื่อเป็นการกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกที่มีความพิการทางสติปัญญา แต่เดิมรายได้ของเธอมีแค่เพียงเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเดือนละ 2400 บาท จนมีโอกาสได้มาฝึกอาชีพปักผ้ากับครูอ้อ จึงได้รายได้เสริมเพิ่มขึ้น โดยใช้เวลาในการทำงานช่วงกลางคืนหลังจากลูกหลับแล้ว และตัดสินใจมาอยู่และทำงานกับครูอ้อที่บ้าน เพื่อฝึกเป็นผู้ประกอบการชุมชนและเป็นครูจิตอาสาสอนงานปัก

อรนุช  วิชิตวรกุล หรือ น้อย ผู้ดูแลผู้พิการติดเตียงคือ น้องชายของเธอซึ่งประสบอุบัติเหตุจนสมองเสียหายไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย เป็นเวลา 10 ปีที่อรนุชดูแลน้องมาตลอด  มีรายได้บ้างเล็กน้อยจากการทำสวนลำไย จนกระทั่งได้เข้าร่วมโครงการอบรมสร้างอาชีพให้ผู้พิการและผู้ดูแล จัดโดยเทศบาลตำบลลี้ และได้เรียนการปักผ้าจากครูอ้อ

“น้อยเห็นงานปักแล้วรู้สึกว่าสวยจัง ชอบจังเลย แต่คิดว่าเราทำไม่ได้หรอก เราไม่มีฝีมือ จนกระทั่ง วันแรกที่เราเริ่มทำ เราก็ทำได้นี่ ครูบอกว่าสวย เราก็มีกำลังใจ เริ่มเห็นคุณค่าในตัวเอง เรามีเวลานั่งทำในระหว่างการดูแลผู้ป่วย แล้วเราก็มองไปถึงชุมชน ที่มีการรวมกลุ่มในชุมชนบ้าง มีคนที่เขาว่างงาน เป็นคนแก่หรือคนที่ต้องมาดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่าอยู่ที่บ้าน ถ้าเราพัฒนาฝีมือแล้วสามารถไปสอนให้เขาทำ รวมกลุ่มกันได้ และข้อดีคือมีตลาดรองรับ” อรนุช กล่าว

จากข้อมูลชุมชน ตำบลป่าไผ่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีตัวเลขผู้พิการอยู่มากกว่า 600 คน นอกจากน้องชายของอรนุช แล้วยังมี สุริยา หล้าจ้อน หรือ ทิว ชายพิการผู้สู้ชีวิต ทิวประสบอุบัติเหตุจากการไปทำงานก่อสร้างที่ประเทศมาเลเซีย ร่างใหญ่สูงแข็งแรงกลับกลายไม่สามารถเดินได้ อาศัยอยุ่ในพื้นที่ห้องขนาดเล็กของเขา มีเตียงนอน มีห้องน้ำ มีที่ทำครัว ที่เขาสามารถนั่งรถเข็นและเคลื่อนที่ไปมาในพื้นที่เล็ก ๆ ของเขาได้ แต่มุมประจำของเขาคือมุมปักผ้า ที่มีแสงธรรมชาติจากหน้าต่างสองบาน ข้างซ้ายมือมีกลุ่มด้ายปักหลากสีคล้องไว้ริมหน้าต่าง เพื่อสะดวกต่อการหยิบใช้ 

งานปักของทิว มีสไตล์โดเด่นจากการเลือกใช้สีสดใสสะดุดตา มีเอกลักษณ์ดึงดูดใจคนรักงานคราฟต์อย่างไม่ต้องสงสัย การได้ลงมือทำงานเหล่านี้ในแต่ละวัน ไม่ใช่เหตุผลด้านรายได้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการที่ทิวได้ลงมือทำอะไรสักอย่าง และรู้สึกชีวิตมีค่า เขาถ่ายรูปชิ้นงานที่ทำเก็บไว้ในโทรศัพท์เครื่องเก่าของเขาทุกรูป งานปักของเขาสร้างความสุขและแรงบันดาลใจให้กับผู้พบเห็น และนั่นคงคือความภาคภูมิใจที่เยียวยาหัวใจของทิวเช่นกัน

อำพร หล้าจ้อน คุณแม่นักสู้ดูแลน้องแจ็ค ลูกชายที่ป่วยติดเตียงมากว่า 10 ปี ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เปราะบางที่ได้สร้างอาชีพด้วยงานปักผ้า หารายได้จุนเจือครอบครัวพร้อมไปกับการดูแลลูก แม่อำพรต้อนรับผู้มาเยือนที่แคร่ไม้หน้าบ้านที่เป็นที่นั่งปักงาน มองเข้าไปในหน้าต่างคือหัวเตียงนอนของน้องแจ๊คงานของแม่อำพร ต่างจากงานสีจัดเต็มของทิว จะเป็นการปักเสื้อผ้าหรือกระเป๋า ด้วยการด้นมือด้วยฝ้ายสีน้ำตาลหรือสีคราม สไตล์เรียบ น้อย แต่น่ารักถูกใจสาว ๆ จากคณะสื่อมวลชนเป็นอย่างยิ่ง

วีนัส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการฝึกอาชีพงานปักให้กับกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ ผู้สูงอายุ สิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคนในการหัดทำงานปัก คือ ทำออกมาแล้วอาจยังไม่ได้มาตรฐาน ต้องเสียวัสดุอุปกรณ์ในการฝึก ซึ่งเป็นต้นทุนของทางกลุ่ม ทางเอสซีจีจึงสนับสนุนทุนสำหรับจัดหาวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งค่าน้ำมันรถและค่าเบี้ยเลี้ยงสำหรับครูที่ต้องไปดูแลฝึกสอนตามบ้าน โดยริเริ่มการสนับสนุนให้คนเปราะบางได้ฝึกอาชีพ ในปี 2565 จำนวน 25 คน และขยายเพิ่มอีก 60 คนในปี 2566 นี้เป็นโครงการต่อเนื่อง และทางเอสซีจีได้ช่วยหาตลาดของที่ระลึกรองรับให้ด้วย

และทั้งหมดนี้ คือ ส่วนหนึ่งของโครงการพลังชุมชน อบรมสร้างอาชีพ แปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า ซึ่งปัจจุบันขยายผลไป 500 ชุมชน กว่า 200,000 คน ใน 37 จังหวัด มีรายได้มั่นคง อาชีพยั่งยืน อีกทั้ง ยังแบ่งปันองค์ความรู้ และเป็นต้นแบบส่งต่อแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่น ๆ เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง  และก่อนจะอำลาทริปเลิกแล้ง เลิกจน สู่พลังชุมชนสร้างอาชีพ กับเอสซีจี วีนัสได้ขอคำแทนความประทับใจจากผู้ร่วมเดินทางคนละคำ และนำมาแต่งเป็นบทกวีมอบเป็นกำลังใจแด่ครูอ้อ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ทุ่งดอกไม้งามสะพรั่งบนผืนผ้า  ปลูกผืนป่าบนอาภรณ์สอนสร้างสรรค์ ชวนยายย่าปักถักทอแบ่งปันกัน เติมเต็มฝันผันชีวิตให้พลิกคืน

กลุ่มเปราะบางหมดหนทางสร้างวันหน้า รั้งความกล้าด้วยความกลัวไร้ความหวัง มาวันนี้เปลี่ยนน้ำตาเป็นพลัง เลิกหันหลังมองอดีตที่ลิดรอน

หัตถกรรมบำบัดจิตให้คิดบวก ใจผนวกพอเพียงจิตอาสา หัวใจฟูสู้ชีวิตด้วยปัญญา ครอบครัวพาก้าวข้ามความท้อใจ

ดาบก็แกว่งเปลก็ไกวใจนักสู้ เป็นกูรูหัตถกรรมงานบริหาร อ้อ อำพร กู้วิกฤตสร้างแรงบันดาล มือประสานกลุ่มเปราะบางให้เลิกจน

กลุ่มสื่อไทยม่วนใจ๋จั๊ดนักเจ้า หมดกระเป๋าช้อปเพลินเกินทุกที่ สู้นะเธอ แม่หญิงแกร่งแห่งเมืองลี้ ให้มั่งมีไร้ทุกข์สุขยั่งยืน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ