TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness“เพาเวอร์บาย x บีทูเอส” โมเดลใหม่ Synergy หนีตาย หรือแค่สีสันวงการค้าปลีก

“เพาเวอร์บาย x บีทูเอส” โมเดลใหม่ Synergy หนีตาย หรือแค่สีสันวงการค้าปลีก

ข่าวใหญ่ในวงการค้าปลีก หลังปลดล็อคดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 คือ ความร่วมมือระหว่าง “เพาเวอร์บาย” และ “บีทูเอส” ทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ผุด “เพาเวอร์บาย x บีทูเอส” แฟลกชิพสโตร์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย บนพื้นที่กว่า 6,000 ตารางเมตร ณ ชั้น 4  ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์  โดยแบ่งพื้นที่หลักเป็น 12 โซน เพื่อตอบสนองผู้บริโภค

การผนึกกำลังของ 2 บริษัทในเครือเซ็นทรัลที่เป็นธุรกิจค้าปลีกด้านเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าไอที และค้าปลีกด้านหนังสือ เครื่องเขียน ของใช้สำนักงาน ผู้บริหารคาดหวังว่า “เพาเวอร์บาย x บีทูเอส” จะเป็น One-stop destination สถานที่สำหรับให้ทุกคนในครอบครัวมาใช้เวลาแห่งความสุขร่วมกันแบบไม่มีเบื่อ พร้อมสัมผัสประสบการณ์ชอปปิ้งสุดพิเศษ เพราะไม่ว่าคุณจะมีความหลงใหล หรือมีไลฟ์สไตล์แบบไหน ที่นี่สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการเหล่านั้นไปพร้อม ๆ กับจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจที่ไม่มีวันหมด ซึ่งจะสร้างมียอดขายให้เติบโตขึ้น 20-30%

หลายคนในวงการค้าปลีกให้ทัศนะการ Synergy ครั้งนี้ของบริษัทในเครือเซ็นทรัลว่าไม่ใช่ครั้งแรก นโยบายการรวมกันเพื่อเสริมประโยชน์ระหว่างกัน เคยเกิดขึ้นกับบริษัทในเครือซีโอแอล อย่าง B2S X OfficeMate ก่อนหน้านี้ หรือการ Synergy แคมเปญ “เศรษฐกิจไทยช่วยไทย” ของ 13 บริษัทในเครือเซ็นทรัล ซึ่งหลังจากนี้เชื่อว่าโมเดลการ Collaborated กันภายในก็จะเกิดขึ้นอีก

เป็นที่น่าสังเกตว่าพฤติกรรมการซื้อสินค้าของลูกค้าเปลี่ยนไป โดยเฉพาะสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา หลายคนตระหนักดีว่าแม้ไม่ต้องเดินเข้าห้างสรรพสินค้าก็สามารถซื้อของได้

คำถาม คือ หน้าร้านยังจำเป็นหรือมีความสำคัญกับการขายเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าประเภทนวัตกรรม เทคโนโลยี อยู่หรือไม่

ในขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่หาข้อมูลผ่านออนไลน์ แล้วเดินดูผลิตภัณฑ์ ทดลองใช้ในช้อปของเจ้าของผลิตภัณฑ์ ยังไม่รวมแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่สามารถสั่งซื้อได้เพียงปลายนิ้วกด แถมโปรโมชั่นประจำทุกเดือน หนำซ้ำยังสามารถคืนสินค้าได้ เปลี่ยนสินค้าใหม่ทันทีหากมีปัญหา

ในขณะที่บีทูเอสก็เข้าใจดีว่า ลูกค้าไม่เดินเข้าร้านมาซื้อสินค้า จึงเกิดโมเดล B2S Mini Truck to You  เป็น Mobility Retail ที่เอาผลิตภัณฑ์ของบีทูเอสใส่รถยนต์ แล่นไปหาผู้บริโภคโดยตรง

ดังนั้นจุดขาย เรื่องแฟลกชิพสโตร์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย บนพื้นที่กว่า 6,000 ตารางเมตร ของ “เพาเวอร์บาย x บีทูเอส” จึงไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้น เพราะปกติเพาเวอร์บาย มีขนาดพื้นที่ 3 ขนาด ร้านขนาดใหญ่ มีพื้นที่ 3,000 – 5,000 ตร.ม. ร้านขนาดกลาง มีพื้นที่ 1,000-3,000 ตร.ม. และร้านขนาดเล็ก พื้นทีต่ำกว่า 1,000 ตร.ม.

ในขณะที่พื้นที่ B2S Think Space มีหลากหลายขนาด เช่น B2S Think Space ลาดพร้าว 1,800 ตร.ม.  หรือ B2S Think Space เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ มีขนาดพื้นที่ 3,000 ตร.ม.

ดังนั้น การนำพื้นที่ของ 2 ส่วนค้าปลีกมารวมกันแล้วจัด Customer Journey ใหม่ เพื่อพยายามสร้างกรอบให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ แต่ถ้าผู้บริโภคส่วนใหญ่มาเดินเที่ยวโดยไม่ได้ซื้อสินค้า

สิ่งที่เป็นตัวแปร ยิ่งใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีก คือ พฤติกรรมลูกค้าลูกค้าที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แต่เจ้าของธุรกิจยังไม่สามารถหาโซลูชั่นมาแก้ปัญหาได้ยังทันท่วงที แม้บริษัทจะขนาดใหญ่แค่ไหน ถ้าปรับตัวได้ช้า อาจกระทบผลประกอบการของบริษัท

บริษัท บีทูเอส จำกัด ถือเป็นบริษัทในเครือบริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) เช่นเดียวกับ ออฟฟิศเมท และแพลตฟอร์มร้านหนังสือออนไลน์อย่าง MEB ในส่วนของ บีทูเอส ดำเนินธุรกิจขายปลีกเครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงาน เป็นเวลา 25 ปี 4 เดือนเศษ มีทุนจดทะเบียน 640 ล้านบาท มูลค่าธุรกิจ 1,227,874,308 บาท (191.86 % ของทุน) มีผลประกอบการก่อนสถานการณ์โควิด 4 ปี ดังนี้

  • ปี 2562 รายได้ 4,515,723,206 บาท กำไร 233,342,782 บาท
  • ปี 2561 รายได้ 4,343,665,768 บาท กำไร 255,169,687 บาท
  • ปี 2560 รายได้ 4,214,830,754 บาท กำไร 268,046,365 บาท
  • ปี 2559 รายได้ 4,166,048,534 บาท กำไร 250,080,174 บาท

จากรายได้และกำไรจะเห็นว่า บีทูเอส มีกำไรเพียง 5% ของยอดขายเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากสำหรับธุรกิจที่มียอดขายพันล้าน และในไตรมาสแรกของปีนี้ (2563) บีทูเอส มีรายได้ 803 ล้านบาท ลดลง 21.8% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา บีทูเอส พยายามปรับตัวอย่างต่อเนื่อง นำโมเดล คอนเซ็ปต์ที่คิดว่าจะตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคมานำเสนอ อย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีโมเดลไหนที่ฉุดผลประกอบการให้ดีขึ้นอย่างจริงจังและยั่งยืน

ในขณะที่ บริษัท เพาเวอร์บาย จำกัด เป็นร้านค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ค่อย ๆ เติบโต ไปพร้อมกับการขยายสาขาของเซ็นทรัล จนปัจจุบันมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศถึง 106 สาขา ดำเนินธุรกิจขายปลีกมานานถึง 24 ปี 6 เดือนเศษ มีทุนจดทะเบียน 560 ล้านบาท มูลค่าธุรกิจสูงถึง 696,256,925 บาท (124.33 % ของทุน) ผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา ดังนี้

  • ปี 2558 รายได้ 16,805 ล้านบาท กำไร 95 ล้านบาท
  • ปี 2559 รายได้ 17,275 ล้านบาท กำไร 383 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้ 18,446 ล้านบาท กำไร 235 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้ 19,622 ล้านบาท กำไร 324 ล้นบาท
  • ปี 2562 รายได้ 19,732ล้านบาท กำไร 413 ล้านบาท

แม้ตัวเลขยอดขาย เป็นหมื่นล้านบาทและเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี ในขณะที่กำไรก็เพิ่มสูงต่อเนื่องเช่นเดียวกัน หากแต่เมื่อพิจารณายอดขายเปรียบเทียบกับกำไร จะเห็นว่า ในแต่ละปีบริษัทมีกำไรน้อยมาก

ส่วนบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (CRC) บริษัทแม่ของ เพาเวอร์บาย ที่เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่เจอพิษโควิดจนไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ ให้ผู้ถือหุ้นได้ตื่นตาตื่นใจ ล่าสุดออกมารายงานงบไตรมาสแรก แม้รายได้สูงถึง 54,285 ล้าน แต่กำไรลดลง 63%

การรวมร่างของเพาเวอร์บาย x บีทูเอสครั้งนี้ ถูกวิเคราะห์ว่า เป็นเพียงการเพิ่มสีสันให้ธุรกิจค้าปลีก ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา กำลังซื้อผู้บริโภคไม่ฟื้นตัว เพราะบริษัท ซีโอแอล จำกัด บริษัทแม่ของบีทูเอส ก็พยายามสินค้าใหม่เข้ามาเสริม ทดแทนสินค้าเดิมที่ไม่ทำรายได้มากนัก ตามแนวคิด ”สินค้าตายได้แต่ร้านไม่ตาย” แต่ไม่ง่ายนักเพราะสินค้าแต่ละอย่างก็มีเจ้าถิ่นเดิมครอบครองอยู่

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ