TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview“ใบยา ไฟโตฟาร์ม” ต้นแบบ biotech startup จากรั้วมหาวิทยาลัย สู่การผลิตวัคซีนต้านโควิด-19

“ใบยา ไฟโตฟาร์ม” ต้นแบบ biotech startup จากรั้วมหาวิทยาลัย สู่การผลิตวัคซีนต้านโควิด-19

ไม่มีใครไม่รู้จัก “วัคซีนใบยา” วัคซีนที่วิจัย พัฒนา และผลิตโดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ที่กำลังอยู่ระหว่างเตรียมการทดสอบในคนในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่ “วัคซีนใบยา” เท่านั้น แต่ความน่าสนใจยังอยู่ที่บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ตอัพด้านไบโอเทคที่ก่อตั้งและแยกตัวออกมาจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 3 ปีก่อนและได้รับการบ่มเพาะภายใต้ศูนย์นวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub)

บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ก่อตั้งโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ และรองศาสตราจารย์ ดร.วรัญญู พูลเจริญ สองนักวิจัยวัคซีนใบยา จากจุฬาฯ ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะผลิตยาและวัคซีนเพื่อลดการพึ่งพายาจากต่างประเทศ

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผู้ร่วมคิดค้นวัคซีนป้องกัน Covid-19 จากใบพืชตระกูลยาสูบ ใช้เทคนิคการผลิตโปรตีนจากใบพืช ภายใต้ชื่อวัคซีนใบยา (Baiya SARS-CoV-2 VAX1) กล่าวกับ The Story Thailand ว่า หัวใจของงานวิจัยที่เป็นการวิจัยและพัฒนาของ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด คือ เทคโนโลยีการผลิตโปรตีนด้วยพืช ซึ่งสามารถนำไปทำยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพได้ โปรตีนที่มีความสามารถที่จะออกฤทธิ์ทางยาได้ ได้ทั้งเพื่อการรักษาและเพื่อการเสริมสร้างป้องกัน

ตัวเทคโนโลยีหลักที่คิดค้นสามารถใช้กับพืชอะไรก็ได้ แต่พยายามหลีกเลี่ยงพืชที่เป็น food crop หลีกเลี่ยง eatable vaccine จึงใช้พืชใบยาสูบสายพันธุ์ออสเตรเลีย ซึ่งนำเมล็ดมาปลูกไม่ได้ต้องนำเข้า ช่วง 3 ปีแรกใช้เทคโนโลยีการผลิตโปรตีนจากพืช ผลิตภัณฑ์ที่ขายเชิงพาณิชย์ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ขายเป็นวัตถุดิบให้กับบริษัทเครื่องสำอาง 

“เราคิดอยู่แล้วว่าก่อนที่จะเกิดโควิด พอเกิดโควิดขึ้น เรานำแพลตฟอร์มของเราที่มีความสามารถในการผลิตวัคซีนได้ เริ่มทำวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดตั้งแต่มกราคมปี 2563 และได้ต้นแบบในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทำการทดสอบในสัตว์ทดลอง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม หลังจากนั้นพยายามหาทางทดสอบในมนุษย์ ซึ่งต้องมีการผลิตในที่ที่มีการควบคุมการผลิตภายใต้สถานที่ผลิตที่มีการควบคุม ซึ่งตอนนั้นยังไม่มี ต้องเลือกระหว่างจะไปจ้างผลิตในต่างประเทศหรือตั้งโรงงานผลิตเอง สุดท้ายตัดสินใจสร้างโรงงานในส่วนที่เป็น core technology ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ขึ้นมา”

เริ่มออกแบบและสร้างโรงงานตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้วและสร้างเสร็จตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา และมีการตรวจสอบความถูกต้องของการควบคุมคุณภาพของโรงงาน และจะมีการผลิตเพื่อที่จะเข้าเฟส 1 คือ การทดลองในมนุษย์ (clinical trial) ในเดือนกันยายน 2564 กำลังจะเปิดรับอาสาสมัครหลังจากได้รับการอนุมัติในการเปิดโรงงาน น่าจะอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ 

ตัวโรงงานได้รับการอนุมัติในการที่จะเป็นผู้ผลิตยาและวัคซีน ขั้นตอนต่อมาคือ จะต้องขออนนุมัติจากทางองค์การอาหารและยา (อย.) ทุกระยะ เพื่อขอทดสอบในมนุษย์ ก่อนที่จะขออนุมัติเพื่อใช้ในประชาชนทั่วไป 

โรงงานตั้งอยู่ในจุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย เป็นของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ที่ได้รับการบ่มเพาะโดย CU Innovation Hub และ spin off มาจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ตอนนี้กำลังพัฒนาตัววัคซีนรุ่น 2 ที่มีการปรับเปลี่ยนสายพันธ์ุให้ตอบรับกับตัวแปร (variant) ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ตั้งเป้าว่าจะฉีดเป็นเข็ม booster ให้กับทุกคน มีการปรับปรุงสายพันธุ์ ปรับปรุงสูตรให้สามารถที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น และช่วงสิ้นปีจะนำตัววัคซีนเจนเนอเรชัน 2 เข้าทดสอบในเฟส 1 และ เฟส 2 ต่อไป 

การฉีดในคนจะต้องมีทั้งหมด 3 เฟส เฟส 1 ทดสอบความปลอดภัย ทำในคนจำนวนไม่มากประมาณ 100 คน เฟส 2 ทดสอบความสามารถในการกระตุ้นภูมิในคนจำนวนประมาณ 300 คน และเฟส 3 ทำในคนจำนนวนมากขึ้นเป็นหลักพันหรือหลักหมื่นคน

วัคซีนเจนเนอเรชันที่ 1 จะเข้าสู่การทดสอบเฟส 1 เดือนกันยายน 2564 เพื่อทดสอบความปลอดภัยและทดสอบกระบวนการผลิต เพื่อให้อย.และประชาชนมั่นใจว่าวัคซีนมีความปลอดภัย และจะนำวัคซีนเจนเนอเรชัน 2 เข้าสู่การทดสอบในเฟส 1 สิ้นปี 2564 นี้ 

“ตัวที่เราคาดหวังคือ วัคซีนเจนเนอเรชัน 2 ปรับปรุงสูตรให้รับมือกับไวรัสที่กลายพันธ์ุได้ จะเริ่มใช้จริงได้ในไตรมาส 3 ปี 2565”

กำลังการผลิตของโรงงานสามารถผลิตได้ 1 ล้านโดสต่อเดือน กำลังการผลิตสูงสุด 5 ล้านโดสต่อเดือน ระหว่างที่ทำ clinical trial กำลังจะหาทางที่จะขยายกำลังการผลิตให้ได้มากกว่านี้ด้วย

ทุนในการสร้างโรงงานเพียงพอ ต้นทุนนหลัก ๆ จะอยู่ที่การทำ clinical trial ได้รับทุนจากสถาบันวัคซีน 160 ล้านบาทในการทำ clinical trial เฟส 1 สำหรับวัคซีนเจนเนอเรชัน 1 และ 2 และอยู่ระหว่างการหาทุนเพิ่มเติมในการทำเฟส 2 และ เฟส 3 และ CU Enterprise ช่วยทำ crowd funding อีก 60 ล้านบาท มีเงินลงทุนที่ใส่เข้าไปเองอีกส่วนหนึ่ง ทุนวิจัยและพัฒนาทั้งหมดตอนนี้ประมาณ 200 กว่าล้าน ถ้าจะเข้าเฟส 2 และ 3 จะต้องใช้เงินมากกว่านี้ กำลังหาทางระดมทุนอยู่ 

“เรามีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ก่อนหน้านี้ที่ใช้แพลตฟอร์มการผลิตแบบเดียวกัน โรงงานนี้ถูกออกแบบให้รองรับการผลิตหลากหลายผลิตภัณฑ์ เรามีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่วิจัยและพัฒนาอยู่ด้วย นอกเหนือจากวัคซีนป้องกันโควิด เช่น ยามะเร็ง ยารักษาโรคพิษสุนัขบ้า ยาเซรุ่มพิษงู เป็นต้น” 

แพลตฟอร์มการผลิตและกระบวนการวิจัยและพัฒนามีการพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขให้กับประเทศ 

“เราทำเองตั้งแต่ต้นน้ำในประเทศไทย ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ ถือเป็นความมั่นคงในประเทศ เราทำได้เองไม่ต้องพึ่งคนอื่นเขา” 

แนวคิดในการเลือกว่าจะผลิตยาและวัคซีนอะไร อย่างน้อย ๆ ต้องเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีสามารถที่จะผลิตได้ก่อน บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เป็นบริษัท biotech startup ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ จึงเลือกว่าจะวิจัยและพัฒนาอะไรว่า ผลิตให้ได้ และต้องเป็นสิ่งที่มีความสำคัญทั้งมิติของภาระของโรค ภาระสุขภาพ และภาระทางเศรษฐกิจ อาจจะเป็นโรคบางอย่าง เช่น พิษสุนัขบ้า และงูกัด ไม่ได้เป็นโรคที่บริษัทยาระดับนานาชาติเขาให้ความสนใจ แต่เป็นภาระโรคที่มีความสำคัญกับประเทศในแถบนี้ หรือยามะเร็งที่คนยังเข้าถึงไม่ได้ 

“เราอยากให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนได้เอง มีความมั่นคงทางด้านสุขภาพ งานวิจัยที่ทำไม่ได้อยู่บนหิ้ง แต่เอาไปสู่ห้าง เกิดเป็นนวัตกรรมที่มีผลกระทบกับสังคม อยากให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปด้วยวิทยาศาสตร์ อยากให้นักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยมีรายได้ที่เขาสามารถที่จะอยู่ได้และมีความสามารถที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับประเทศได้ การที่ spin off ออกมาจากคณะเภสัชศาสตร์ ก็เป็นแนวทางที่ทำให้เราไปถึงเป้าหมายที่เราต้องการได้”

ความเป็นจริงการทำนวัตกรรมทางการแพทย์ (Medical Innovation) ไม่ได้เกิดขึ้นโดยคน ๆ เดียว หรือทีม ๆ เดียว แต่เกิดจากคนและทีมที่มีความหลากหลาย ในแง่ของวิทยาศาสตร์ มีทีมในบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด อยู่ 60 คน มีนักวิทยาศาสตร์ที่เป็น PhD อยู่ 6 คน ทำงานวิจัยอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทดสอบต่าง ๆ ไม่ได้มีห้องแล็บของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัดเท่านั้น แต่ยังมีห้องแล็บของมหาวิทยาลัยและของศูนย์วิจัยจากหลายที่ที่ช่วยกัน 

“ในแง่ของธุรกิจเอง บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ได้รับการบ่มเพาะและการชี้แนะจาก mentor และ CU alumni และการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยในการผลักดันงานวิจัยออกมาเป็นงานนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นการบ่มเพาะจาก CU Innovation Hub บริษัท CU Enterprise เป็น team effort ในการทำให้เกิด medical innovation ขึ้น ทั้งหมดเกิดขึ้นโดยทีมไทยแลนด์”​ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าวทิ้งท้าย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ