TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistศตวรรษที่ 2 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ศตวรรษที่ 2 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เมื่อปี พ.ศ. 2464 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน Chinese Communist Party (CCP) ถูกก่อตั้งขึ้นที่เมือง เซี่ยงไฮ้ เป็นพรรคการเมืองหลัก และเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยจำนวนสมาชิกที่มากกว่า 90 ล้านคน

ดังนั้นการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี จึงเป็นที่จับตามองของสายตาชาวโลก ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการนำประชาชนมากกว่า 70,000 มารวมตัวกันแบบไม่ต้องสวมหน้ากาก ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ใจกลางกรุงปักกิ่ง หากแต่เป็นก้าวต่อไปของสาธารณรัฐประชาชนจีน หรืออนาคตของจีนในศตวรรษที่ 2 ของพรรคคอมมิวนิสต์  ผ่านคำปราศรัยของ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน และผู้นำประเทศรุ่นที่ 5 

เป้าหมายของพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อศตวรรษแรกของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน หมดไปกับการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ โดยในปี พ.ศ. 2523 จีนมีประชากรจำนวน 750 ล้านคนที่มีรายได้ต่อวันน้อยกว่า 1.90 เหรียญสหรัฐ หลังจากนั้นเพียง 30 ปี จำนวนประชากรที่มีรายได้น้อยเหลือเพียง 5 ล้านคนเท่านั้น เท่ากับจีนประสบความสำเร็จในการสร้างสังคมที่เจริญรุ่งเรืองในระดับปานกลางในทุกมิติ (Moderate Prosperous Society in All Respects) ด้วยความร่วมมือและรับผิดชอบของประชาชนจีนทุกคน

จีน เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ที่รุ่งเรืองต่อเนื่องยาวนานกว่า 5,000 ปี ความยิ่งใหญ่ของชนชาติจีนจะกลับมาอีกครั้ง ด้วยประชาชนจีนร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการฟื้นฟู (Rejuvenation) ความยิ่งใหญ่ของชนชาติจีนให้กลับมาอีกครั้ง

ตลอด 100 ปีที่ผ่านมา จีนมีผู้นำที่ผ่านมาทั้ง 4 รุ่น คือ เหมาเจ๋อตง เติ้งเสี่ยวผิง เจียงเจ๋อหมิน และหูจิ่นเทา รวมถึงบุคคลสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากมาย ได้แก่ โจวเอินไหล อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน หลิวเซ่าฉี อดีตประธานสภานิติบัญญัติคนแรก จูเต๋อหนึ่งในสิบจอมพลแห่งกองทัพปลดปล่อยประชาชน เฉินหวิน ที่ปรึกษาคนสำคัญของเติ้งเสี่ยวผิง ที่ออกแบบการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ ยังพูดถึง บรรดาแรงงาน เกษตรกร และผู้นำภูมิปัญญาของจีนที่กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ ที่ร่วมสร้างการพัฒนาประเทศด้วยกัน

สีจิ้นผิง ยังนำเสนอวิสัยทัศน์ในการเดินหน้าประเทศจีนสู่ศตวรรษที่ 2 ของจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ด้วยหลักการ 9 ข้อ

  1. เราต้องรักษาความเป็นผู้นำที่มั่นคงของพรรคคอมมิวนิสต์
  2. เราต้องสามัคคีและนำพาคนจีน ด้วยการทำงานอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น
  3. เราต้องปรับลัทธิมาร์กซ์ให้เข้ากับบริบทของจีนต่อไป
  4. เราต้องสนับสนุนและพัฒนาสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน
  5. เราต้องเร่งปรับปรุงการป้องกันประเทศและกองทัพให้ทันสมัย
  6. เราต้องทำงานต่อไปเพื่อส่งเสริมการสร้างประชาคมของมวลมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกัน
  7. เราต้องต่อสู้กับภาวะชะงักงันและปัญหาต่าง ๆ ด้วยแนวคิดที่ร่วมสมัยและมีความหลากหลาย 
  8. เราต้องเสริมสร้างความสามัคคีที่ยิ่งใหญ่ของคนจีน
  9. เราต้องเดินหน้าสร้างโครงการใหม่ที่ยิ่งใหญ่เพื่อสร้างสรรค์พรรคคอมมิวนิสต์จีนต่อไป

เพื่อสร้างความมั่นคงของชาติจีน จีนยังคงยึดมั่นในเจตนารมณ์ของหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” กับฮ่องกง และมาเก๊า โดยรัฐบาลกลางจากแผ่นดินใหญ่จะใช้อำนาจในการปกครอง (Overall Jurisdiction) สำหรับเขตปกครองพิเศษทั้งสองแห่ง ส่วนไต้หวันนั้น เป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์ ในการรวมชาติอย่างสมบูรณ์ เพื่อเอาชนะแนวคิดการประกาศเอกราชของไต้หวัน 

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬามหาวิทยลัยมหาวิทยาลัย พูดถึง สีจิ้นผิง ว่า “ลักษณะแนวคิดของสีจิ้นผิง ต้องการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน ตามแนวคิด One Belt One Road  ซึ่งริเริ่มโครงการตั้งแต่ พ.ศ.2555 ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นโครงการ Belt and Road Initiative ความริเริ่มแถบและเส้นทางจีน ซึ่งเน้นแนวคิด “รีโพชิชั่นนิ่ง รีแบรนด์ดิ่ง” เพื่อให้จีนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ด้วยการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน มีความแตกต่างจากผู้นำทั้ง 4 คนที่ผ่านมา ซึ่งเน้นการรีฟอร์ม ความคิดและการกำหนดนโยบาย” 

“ผู้นำจีนในศตวรรษที่ 2 ของพรรคคอมมูนิจีน กำหนดเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ให้จีนสร้างประชาคมของมวลมนุษยชาติ ที่มีอนาคตร่วมกัน เป้าหมายจะเน้นเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมเป็นหลัก แสวงหาโอกาสในการสร้างความมั่งคั่ง ทำให้จีนเป็นมหาอำนาจในลักษณะสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน โดยเครื่องมือที่จะนำไปสู่ความสำเร็จนั้นได้ คือ พรรคคอมมิวนิสต์จีนเท่านั้น” 

จะเห็นว่าคำปราศรัยของผู้นำจีนที่ทรงพลัง ด้วยการรักษาเกียรติภูมิของจีนในการเป็นประเทศสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน และยืนยันในหลักการจีนเดียว โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นแกนหลักในทุกเรื่อง เพื่อสร้างให้จีนเป็นมหาอำนาจในโลก ในศตวรรษที่ 2 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ