TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistล็อกดาวน์ ... ที่สูญเปล่า

ล็อกดาวน์ … ที่สูญเปล่า

กรณีรัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศ “ล็อกดาวน์” กรุงเทพฯ และจังหวัดรอบนอกรวม 13 จังหวัด ที่ถูกขึ้นบัญชีเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม จากการระบาดโควิด-19 รอบ 3 ต่อมาประกาศเพิ่มพื้นที่สีแดงเข้มเป็น 29 จังหวัด นั้นก็เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเป็นการ “สูญเปล่า” ได้ไม่คุ้มเสีย

เจตนาในการล็อกดาวน์จะให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา “สุขภาพ” เป็นหลักจนถูกมองว่าละเลยในเรื่อง “เศรษฐกิจ” แต่การล็อกดาวน์เที่ยวนี้กลับมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เริ่มจากหมื่นกว่าคน จนทะลุ 2 หมื่นคน มีผู้เสียชีวิตแต่ละวันร้อยกว่าคน จนมีบางวันกลับทะลุ 200 คนเลยทีเดียว

เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมากในห้วงเวลาที่ประกาศล็อกดาวน์ให้คนอยู่บ้านเพื่อตัดวงจรการเดินทางไปมาหาสู่กัน. ตัดวงจรการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เหลือน้อยที่สุด แต่รัฐบาลกลับไม่ได้ใช้ “นาทีทอง” ตรงนี้ เร่งระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ใกล้เป้าหมาย 70% มากที่สุด เพื่อให้เกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” ประชาชนจะได้กลับมาใช้ชีวิตแบบปกติเศรษฐกิจจะได้เดินหน้าต่อไป

ปัญหาเกิดจากรัฐบาลไม่สามารถจัดหาวัคซีนให้ได้ตามเป้า ทั้งที่คนไทยส่วนใหญ่พร้อมฉีดกันเต็มที่ ถึงขั้นต้องแย่งกันเข้าคิวรอเป็นชั่วโมง ๆ

อันที่จริงไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ก็ได้ ถ้ารัฐบาลพูดความจริงตั้งแต่แรก จนทำให้คนเกิดความเชื่อมั่น เรื่องนี้มีงานวิจัยจากไฟแนนเชียลไทม์ ระบุว่า

“การล็อกดาวน์ไม่มีความจำเป็นเลย ถ้าพูดความจริงและอธิบายให้กับประชาชนเข้าใจตั้งแต่แรก คน 90% จะล็อกดาวน์ตัวเองอยู่แล้ว คนส่วนใหญ่รักตัวกลัวตาย มากกว่ากลัวกฏระเบียบที่รัฐบาลออกมาบังคับใช้ คนที่จะฝ่าฝืนคือคนที่มีความจำเป็นจริง ๆ เช่น คนที่ต้องออกมาทำมาหาเลี้ยงครอบครัว แต่ก็อาจจะมีคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งต่อให้รัฐบาลล็อกดาวน์ยังไง ก็จะฝ่าฝืนอยู่ดี แต่คนกลุ่มนี้เป็นคนส่วนน้อย”

ขณะที่ “นิเคอิ” นิตยสารชื่อดังของญี่ปุ่น ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยฟื้นตัวช้าที่สุดในจำนวน 120 ประเทศ อีกประเทศที่ได้คะแนนเท่าไทย คือ เวียดนาม ส่วนประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเจอพิษโควิดเล่นงานหนักพอ ๆ กับไทย อย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซีย กลับได้คะแนนการฟื้นตัวจากโควิด-19 มากกว่าไทย

การล็อกดาวน์ นอกจากจะแก้ปัญหาคนติดเชื้อและเสียชีวิตไม่ได้ผลแล้ว ยังสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจหนักสุดในรอบเกือบ 2 ปี ตั้งแต่เกิดการระบาดโควิด-19 เมื่อต้นปีที่แล้วเป็นต้นมา สำนักวิจัยต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชนต่างประเมินว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง จะเห็นได้จากภาคธุรกิจเอกชนและโรงงานต่าง ๆ จำนวนไม่น้อยเริ่มทยอยปิดกิจการ พวกธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศก็ “กำลังรอวันเจ๊ง” ส่งผลให้คนงาน พนักงานนับล้านคน ต้องตกงาน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าห่วงที่สุดวิกฤติรอบนี้ คือ กำลังซื้อของคนในประเทศตกต่ำ การจับจ่ายใช้สอยน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย GDP ปี 2564 ลงโดยประเมินว่าจะขยายตัวระหว่าง -1.5% ถึง 0.0%

นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง สวนทางกับเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงภาพรวมเศรษฐกิจ แต่หากเจาะลึกลงไปยังภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์และมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมายิ่งเลวร้ายกว่าหลายเท่า ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารที่เงียบเหงาซบเซา มีร้านจำนวนไม่น้อยต้องปิดกิจการโดยปริยาย เช่น หมูกระทะ ร้านปิ้งย่าง เพราะไม่สามารถปฎิบัติตามเงื่อนไขของศบค.ได้

ร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าแม้ภายหลังศบค.จะผ่อนปรนให้ขายได้แต่จะต้องซื้อผ่าน “ไรเดอร์” เท่านั้น ห้ามเดินไปซื้อเอง ศบค.อ้างว่าไม่ต้องการให้มีคนไปมุงซื้อหน้าร้านจนอาจจะกลายคลัสเตอร์ใหม่ มาตรการนี้กลับกลายเป็นเรื่องยุ่งยากสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายให้กับผู้ประกอบการ และผู้บริโภคอย่างมาก จนเจ้าของร้านอาหารบางคนบอกว่าเปิดได้ก็จริงแต่ “ได้ไม่คุ้มเสีย”

ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องเสียโอกาสทองจากการที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ทำให้ออร์เดอร์สินค้าต่าง ๆทะลักเข้ามาจ่ออยู่หน้าโรงงาน “บุญมีแต่กรรมบัง” โรงงานต่าง ๆ กลับผลิตสินค้าส่งมอบให้ไม่ได้ เพราะเจอพิษโควิดระบาดเข้าโรงงาน คนงานพากันติดโควิดจำนวนมาก แต่รัฐบาลกลับไม่มีวัคซีน ซึ่งน่าเสียดายอย่างยิ่ง

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวง ล้วนเกิดจากการล็อกดาวน์แบบไม่มีการวางแผน ไม่ได้คิดให้รอบคอบ และชอบธรรม จึงเป็น “การสูญเปล่า” อย่างมิอาจปฏิเสธได้จริง ๆ

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ