TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityตามติด "แม่ฟ้าหลวง" เข้าป่า (ชุมชน) หา "คาร์บอนเครดิต" หนุนโลกยั่งยืน

ตามติด “แม่ฟ้าหลวง” เข้าป่า (ชุมชน) หา “คาร์บอนเครดิต” หนุนโลกยั่งยืน

ช่วงกลางเดือนสิงหาคมของฤดูฝนอันร้อนระอุ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้ประกาศความร่วมมือกับภาครัฐ ชุมชน และบริษัทเอกชนชั้นนำ 14 องค์กร ขยายผลโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในพื้นที่ 77 ป่าชุมชน พร้อมเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้ชุมชน 500 ล้านบาท และผลิตคาร์บอน 500,000 ตันเทียบเท่าภายใน 10 ปี

เวลาผ่านไปจนล่วงเข้าฤดูหนาวอันร้อนสะท้าน ได้มีโอกาสติดตามทีมมูลนิธิฯ เข้าป่าชุมชนต้นแบบการอนุรักษ์ผืนป่าที่ประสบความสำเร็จของภาคเหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตฯ ณ ป่าชุมชนบ้านตลาดขี้เหล็ก หมู่ที่ 1 ตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ไปชมการดำเนินการครบวงจรสืบสานพระราชปณิธาน “ปลูกป่า ปลูกคน” คนอยู่รอด ป่าอยู่ได้ ไม่ใช่คนหิว ป่าหาย

แนวนโยบายการพัฒนาของมูลนิธิฯ คือ คนต้องอยู่ได้ก่อน ฉะนั้น ต้องปลูกคนให้มีรายได้เพียงพอ ลงทุนสร้างอนาคตได้ จากนั้นป่าจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน

กว่า 40 ปี ที่ทำเรื่องป่า สู่จัดการคาร์บอน

จากประสบการณ์ “ปลูกป่า ปลูกคน” เกือบ 40 ปีในการฟื้นฟูป่าอนุรักษ์ที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ตระหนักดีว่า ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จากความจำเป็นเรื่องปากท้อง และหากบริหารจัดการทรัพยากรอย่างถูกต้องให้คนอยู่กับป่าอย่างสมดุล ป่าจะสามารถเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้ชุมชนและประเทศได้ด้วย

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ นำความเชี่ยวชาญดังกล่าวมาปรับใช้กับป่าชุมชนใน พ.ศ. 2563 ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนริเริ่ม “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ภาคป่าไม้ ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) โดยเชื่อว่าคาร์บอนเครดิตเป็นกลไกที่ตอบโจทย์ให้ชุมชนดูแลป่าและดูแลตัวเองได้พร้อม ๆ กัน ช่วยลดการสูญเสียพื้นที่ป่า ลดอัตราการเกิดไฟป่าให้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ลดปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 จากไฟป่า รวมทั้งมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาคนว่างงาน และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยภาคเอกชนในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจได้ด้วย

..ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมป์ ย้ำเตือนภารกิจว่า มูลนิธิฯ ทำเรื่องป่ามากว่า 40 ปี และจากประสบการณ์ปลูกป่าที่ดอยตุง ก่อนขยายสู่พื้นที่อื่น ๆ พิสูจน์ให้เห็นว่า จะปลูกป่าอย่างเดียวไม่ได้ ต้องปลูกคนก่อน เพราะการใช้ทรัพยากรธรรมชาติทับซ้อนกับวิถีชีวิตของคน ต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน ทำให้คนมีทางเลือก จึงจะสามารถดูแลป่าได้

เมื่อมีโอกาสดำเนินการในพื้นที่อื่น ๆ ได้หารือกับทีมทำงานไปหาป่าชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และเริ่มนำร่องโครงการ จาก 10 ขุนพลแรก สู่การดำเนินงานระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ซึ่งเพิ่งปิดโครงการได้พื้นที่ประมาณ 100,000 ไร่ ซึ่งได้ร่วมมือกับชุมชนที่มีความพร้อม ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เข้มแข็งพร้อมสนับสนุน และมีเอกชนที่ต้องการได้คาร์บอนเครดิต เพื่อเดินสู่เส้นทางการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ทำให้เกิด “Win-Win-Win Situation” ขึ้น

สร้างป่าสมบูรณ์ – สร้างรายได้ยั่งยืนชุมชน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ผนึกรัฐ-ชุมชน-เอกชน จัดการคาร์บอนเครดิต

โครงการนี้เป็นโครงการที่เน้นการอนุรักษ์ดูแลป่า ไม่ใช่การปลูกป่า เพราะความหลากหลายทางชีวภาพเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาสร้าง 80 ปีกว่าจะได้มา เป็นฐานของอาหารธรรมชาติ และคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น แต่สูญเสียได้ในชั่วข้ามคืนจากไฟป่า คนบุกรุกทำกิน ก็จะหายไป ที่ผ่านมาผู้ที่อยู่ในชุมชนต่างสืบทอดการดูแลป่ามาจากรุ่นสู่รุ่น ได้ขยายผลและส่งต่อแก่คนรุ่นต่อไป จึงเป็นเวลาดี ๆ ที่มูลนิธิฯ ได้เข้ามาสนับสนุนเพื่อจะต่อยอด และเป็นตัวอย่างให้คนอื่น ๆ ทำได้ และขยายผลในวงกว้างยิ่งขึ้น ประเทศไทยจะได้ดูแลป่าได้ ลดภาระภาครัฐ ซึ่งการดูแลป่าโดยชุมชนจะเข้มแข็ง และใช้ต้นทุนที่น้อยกว่า โดยทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างสอดประสานกันเป็นอย่างดี

การดำเนินงาน ณ ที่แห่งนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ก้าวสู่ปีที่ 4 กำลังจะได้รับการตรวจสอบและได้คาร์บอนเครดิต

“คาร์บอนเครดิตเป็นแค่ 1 กิจกรรม แต่เราจะยังทำกิจกรรมเชิงพัฒนาพื้นที่ซ้ำซ้อน เพื่อเติมมิติต่าง ๆ เพิ่ม เช่น รายได้เสริมที่มาจากป่า การสร้างวิสาหกิจชุมชนใหม่ ๆ เช่น การท่องเที่ยว ซึ่งต้องจัดการขยะให้เรียบร้อย ต่อยอดว่า จะนำขยะไปก่อให้เกิดประโยชน์อะไร เช่น ปุ๋ย เพราะจะดูแลป่าอย่างเดียวไม่ได้ ต้องจัดการทุกมิติที่เป็นสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม โดยมูลนิธิฯ หวังจะเป็นตัวกลางที่นำมาซึ่งสิ่งใหม่ ๆ ในการขับเคลื่อนชุมชน หรือต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ได้ต่อไป เป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ดี ไม่ใช่การฟอกเขียว”

ชุมชนเข้มแข็ง ป่าเติบโตดี ได้คาร์บอนเครดิตเต็มค่า

สิ่งที่ดำเนินการคือ มีชุมชนที่ดูแลป่าได้ดี เวลาไปทำกระบวนการขึ้นทะเบียนจะได้คาร์บอนเครดิตตามค่าคาดการณ์ที่วางไว้ การทำโครงการต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปีจึงจะได้คาร์บอนเครดิต หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะบอกว่ามีความเสี่ยงจากการทำโครงการ โดยความเสี่ยงจากไฟเป็นความเสี่ยงที่สูงที่สุด ต้องหาชุมชนที่มีความเข้มแข็งในการดูแลพื้นที่ป่า ศักยภาพบริหารจัดการภายในชุมชนเองเพื่อลดความเสี่ยงลง และให้ป่าเติบโตได้เต็มศักยภาพซึ่งจะทำให้ได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต

เวลาทำโครงการจะไม่ระบุไปยังป่าใดป่าหนึ่ง แต่จะบอกกับเอกชนว่าหากมีป่าหลาย ๆ พื้นที่นำมารวมกันเสมือนเป็นการรวมพื้นที่ที่ดี ๆ หลาย ๆ พื้นที่ เป็นการกระจายความเสี่ยงแก่ภาคเอกชน กรณีเกิดไฟในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งก็จะมีความเสี่ยงลดลง ทำให้การสนับสนุนได้คาร์บอนเครดิตเต็มตามจำนวนที่คาดว่าจะได้รับ และสิ่งนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้โครงการเดินต่อไปข้างหน้าได้ ในชุมชนนำร่องนี้มีปริมาณการเกิดไฟป่าน้อยลง ถ้าหมู่บ้านข้าง ๆ เกิดไฟป่า 20% พื้นที่นี้เหลือเพียง 6% ของพื้นที่เกิดไฟไหม้

เรื่องการกระจายเงินเข้าชุมชน ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการดูแลพื้นที่ ดูแลทรพัยากรเพื่อลูกเพื่อหลาน ไม่อยากเห็นเงินมาทำให้แตกคอกัน แต่ควรเป็นปัจจัยเสริมให้สามารถไปทำอะไรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นบทบาทของมูลนิธิฯ ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้น ความหวังดีแต่ก่อให้เกิดผลร้ายจะเกิดขึ้นได้ง่ายมาก ถ้าไม่ระมัดระวังในรายละเอียดพอ

จากการดำเนินงานที่ครอบคลุมราคาคาร์บอนเครดิตของมูลนิธิฯ จึงคิดค่อนข้างสูงที่ 1,800 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพราะต้องดูแลให้คนในชุมชนมีรายได้เพียงพอด้วย เพื่อให้ตรงตามหลักการคนอยู่รอด ป่าอยู่ได้ 

“การขายโครงการแก่เอกชน เป็นการนำเสนอโครงการดูแลธรรมชาติ ที่จะนำมาซึ่งคาร์บอนเครดิต เป็นสิ่งที่เอกชนจะเข้ามาสนับสนุน แต่ถ้าต้องการจะทำโครงการเสริมอื่น ๆ สามารถเจรจาเพิ่มเติมกับชุมชนได้ ขึ้นกับความต้องการและศักยภาพของชุมชน”

GISTDA-มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ดัน GI Tech หนุนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว

ป่าชุมชนสร้างงานสร้างรายได้

ชวลิต ศุภสาร หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมวนศาสตร์ ที่ 1 (เชียงใหม่) สำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล่านโยบายการทำงานของศูนย์ฯ ร่วมกับชุมชนว่า พื้นที่ป่าชุมชนตำบลแม่โป่ง มีทั้งหมด 8 ผืนป่า จาก 10 หมู่บ้าน ซึ่งพื้นที่ป่าชุมชนทั่วประเทศมี 11,285 แห่ง และกรมป่าไม้มีเป้าหมายจัดตั้งเพิ่มเป็น 15,000 แห่งภายในปี 2570 

ป่าชุมชนสามารถจัดตั้งได้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 สอดคล้องกับนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศเป็น 55% โดยพื้นที่ป่าชุมชนอยู่ในพื้นที่ของป่าไม้ 35% รวมกับพื้นที่อุทยาน และพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ ส่วนอีก 15% เป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ และอีก 5% เป็นพื้นที่สีเขียวอื่น ๆ ในเขตชุมชน

แนวทางการดำเนินงานของกรมป่าไม้ เรื่องป่าชุมชน เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาดูแลรักษาป่า ชุมชนมีสิทธิเข้าไปอนุรักษ์ฟื้นฟู พัฒนา ควบคุมดูแล และใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่า โดยชุมชนจะได้รับผลประโยชน์จากผลผลิตจากป่าชุมชน คือเก็บของป่าที่เป็นอาหาร เช่น เห็ด หน่อไม้ ไข่มดแดง น้ำผึ้ง การบริการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่จัดการโดยชุมชน การใช้ประโยชน์จากน้ำ และคาร์บอนเครดิต

แม่ฟ้าหลวง เติมความรู้

หัวหน้าศูนย์ฯ บอกด้วยว่า ที่ผ่านมา การจัดการป่าชุมชนมีปัญหาและอุปสรรคด้านการขาดแคลนองค์ความรู้ และขาดแคลนงบประมาณมาจัดการป่า แต่ “โชคดี” ที่ป่าชุมชนแม่โป่งได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิฯ เข้ามาส่งเสริมโครงการในพื้นที่เพื่อหนุนเสริม เติมเต็ม ให้ชุมชนบริหารจัดการป่าได้ดียิ่งขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยอาศัยกลไกจัดการคาร์บอนเครดิต 

ย้อนความเริ่มแรก ทางศูนย์ฯ ได้เข้ามามีบทบาทร่วมดำเนินโครงการตั้งแต่การลงพื้นที่ดูสภาพป่า ประเมินศักยภาพของชุมชน และศูนย์ฯ ได้ประสานงานกับสวัสดิการป่าชุมชน สนับสนุนข้อมูลต่าง ๆ ของป่าชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย และให้สถานที่ฝึกอบรม เพื่ออำนวยความสะดวกในการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการวางแปลงตัวอย่างให้ชุมชน เพื่อให้ชุมชนวางแปลงตัวอย่างได้เอง สามารถวัดต้นไม้ ความโต ความสูงได้อย่างถูกต้อง รวมถึงการบริหารจัดการเงินกองทุน รวมถึงการสนับสนุนพันธุ์กล้าไม้แก่ชุมชนพื้นที่เป้าหมายนำไปปลูกเสริมพื้นที่ป่าชุมชน กระทั่งป่าชุมชนบ้านตลาดขี้เหล็กได้เป็นป่าชุมชนตัวอย่างด้านการบริหารจัดการป่าและคาร์บอนเครดิตให้ป่าชุมชนอื่น ๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อความสมดุลในการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากป่า

ฟื้นคืนผืนป่าชุมชน เพิ่มคุณค่าชีวิตคน

ก่อนจะได้มาซึ่งป่าไม้ที่แข็งแรง ชุมชนต้องแข็งแกร่ง และมุ่งมั่นในการฟื้นคืนสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งทำมาหากินให้แก่คนในชุมชนได้

ตอนที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงแนวคิด ภาพรวมของการดำเนินโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงไปแล้ว

ครั้งนี้ พาไปสัมผัสมุมมองของผู้นำชุมชนที่คลุกคลีกับผืนป่ามาตลอดชีวิต ยาวนานหลายสิบปี โดยมีแนวคิดหลักที่ต้องการทำให้ป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งทำกินแก่ชุมชน ทั้งในปัจจุบัน และสืบเนื่องถึงลูกหลาน ไม่ว่าจะมีเงินสนับสนุนจากภายนอกหรือไม่มี แต่การดูแลรักษาป่าคือหน้าที่ที่ต้องทำ

ผจญน้ำหลาก-ไฟป่าก่อนอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าดีชีวิตดี

พ่อหลวงมนูญ เทศนำ อดีตผู้ใหญ่บ้าน และที่ปรึกษาเครือข่ายป่าชุมชน ตำบลแม่โป่ง เล่าความเป็นมาของชุมชนตำบลแม่โป่งที่ประกอบด้วย 10 หมู่บ้านว่า ในจำนวนนี้มี 8 หมู่บ้านที่มีพื้นที่ป่า และอีก 2 หมู่บ้านไม่มีพื้นที่ป่า แต่ประชาชนทั้งตำบลต่างทำมาหากินอยู่กับป่า ดังนั้น ทุกหมู่บ้านจึงเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ

จากอดีตกว่า 50 ปีที่ผ่านมาแถบนี้เป็นพื้นที่สัมปทานป่าไม้ ชาวบ้านทำกินอยู่กับป่ามาตลอด ก่อนสัมปทานจะถูกยกเลิกในปี 2511 ตามมาด้วยความแห้งแล้ง และวิกฤติ หน้าแล้งผจญไฟป่า หน้าฝน น้ำป่าหลากท่วม ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก กระทั่งปี 2522 และ 2524 เกิดอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ และอ่างเก็บน้ำห้วยก้า ตามลำดับ ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง และปี 2525 เกิดโครงการตามแนวพระราชดำริฯ ห้วยฮ่องไคร้ ป่าเริ่มฟื้นตัว ชุมชนรอบพื้นที่ได้ร่วมกันดูแลอนุรักษ์ป่า 

“การมาถึงของอ่างเก็บน้ำ ปิดเส้นทางเข้าไปตัดไม้ทำลายป่า และหาของป่าออกมาขาย ออกมากิน เพราะเข้าไปยาก ชุมชนต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการจัดการใหม่ แทนการหากินแบบเดิม ๆ กับป่า ร่วมฟื้นฟูดูแลรักษาป่าอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ช่วยกันดูแลป่าเสื่อมโทรให้ฟื้นกลับมา จากการเข้าร่วมกับป่าประชาอาสา และโครงการพุทธศาสนากับป่าไม้ มาจนถึงการได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ร่วมเป็นป่าชุมชน และทำเรื่องการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช” พ่อหลวงมนูญ ไล่เรียงความเป็นมา

ปัจจุบัน การบริหารจัดการป่าชุมชนได้ต่อยอดเป็นครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปี 2563 มีพื้นที่ดำเนินการกว่า 4,126 ไร่ แบ่งเป็นป่าอนุรักษ์กว่า 2,600 ไร่ และป่าใช้สอยเพื่อการใช้ประโยชน์อีกกว่า 1,400 ไร่ การบริหารจัดการกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ป่าชุมชนกระทำอย่างเป็นระบบ มีคณะกรรมการดูแล และได้เข้าร่วมโครงการคุณดูแลป่า เราดูแลคุณกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เข้าสู่ปีที่ 4 ทำให้ป่าดีขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น บริหารจัดการกองทุนเป็น ได้พัฒนาศักยภาพของชาวบ้าน ในการดูแลฟื้นฟูป่า ให้พัฒนาต่อยอดสู่การท่องเที่ยว นำข้อดี จุดเด่นของแต่ละหมู่บ้านมาร้อยเรียง เชื่อมโยงกันเป็นการจัดการท่องเที่ยวทั้งระบบของตำบล

เปลี่ยนไฟป่าเป็นรายได้

พ่อหลวงวิชัย เป็งเรือน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านต้นผึ้ง หมู่ที่ 7 ตำบลแม่โป่ง และประธานเครือข่ายป่าชุมชนตำบลแม่โป่ง เล่าว่า ได้มีแนวคิดเปลี่ยนไฟป่าให้เป็นรายได้ ก่อนหน้านี้ ได้เข้าร่วมโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

มาตั้งแต่ปี 2563 พื้นที่กว่า 8,600 ไร่ ได้เข้ารับการอบรมการวางแปลงกับทีมมูลนิธิฯ ทุกหมู่บ้านต่างร่วมเรียนรู้วิธีการวางแปลง มีทั้งเยาวชน เก่งเรื่องการบันทึกข้อมูลด้วยเอ็กเซล วัยกลางคน มีความแม่นยำด้านการวัดค่า และผู้สูงอายุซึ่งรู้จักพันธุ์ไม้ ทั้งยังมีกองทุนอีก 2 กองทุน คือ กองทุนดูแลป่าชุมชน และกองทุนพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฯ 

การใช้เงินงบประมาณทั้ง 2 กองทุนต้องได้รับมติเห็นชอบจากที่ประชุมประชาคมหมู่บ้าน อย่างน้อยร้อยละ 70 ของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่จริง นำมาดำเนินงานในกระบวนการต่างๆ ของป่าชุมชน คือ การประเมินการจัดเก็บก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ โดยทั้งตำบลวางแปลงคาร์บอนเครดิตไว้ 93 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 8 ป่าชุมชน 

นอกจากนี้ ยังจัดเวรตรวจลาดตระเวนป้องกันไฟป่า ติดป้ายป่าใช้ประโยชน์ ป่าใช้สอย และทำแนวกันไฟซึ่งเดิมชาวบ้านจะรวมตัวกันทำแนวกันไฟปีละ 1 ครั้งโดยไม่มีค่าจ้าง เพื่อป้องกันไฟจากสันดอยที่จะลามมา แต่เมื่อมีเงินกองทุนได้นำมาจ้างแรงงานในพื้นที่ทำแนวกันไฟตามสันดอยในช่วงโควิดที่ชาวบ้านตกงาน และจัดหาเครื่องเป่าลมมาช่วยทำแนวกันไฟ และนำร่องเวลาดับไฟป่า

แต่ละชุมชนยังทำคอกเสวียนกักเก็บใบไม้ซึ่งจะนำมาทำปุ๋ยได้ต่อไป และมีหน่วยดับไฟป่า โดยมีจุดดูไฟว่าเกิดที่ไหนบ้างบนยอดดอยผาผึ้ง เพื่อประสานงานดับไฟต่อไป จากอดีตเคยเป็นพื้นฐานแห้งแล้ง แต่ปัจจุบันฟื้นฟูขึ้นและนำเงินกองทุนไปพัฒนาสถานที่ให้เป็นจุดแลนด์มาร์กของตำบล ทำกิจกรรมแคมปิ้ง เล่นพาราไกลดิ้ง เส้นทางศึกษาธรรมชาติ และยังชมทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ได้อย่างกว้างไกล

ชุมชนยังร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำ แบบถาวร และกึ่งถาวร เพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นในป่าชุมชนในได้มากที่สุด และยังมีผลพลอยได้เกิดเป็นแอ่งน้ำตกจากการกักเก็บน้ำ และน้ำไหลลงมาเป็นชั้น ๆ

ทั้งนี้ การดูแลรักษาป่าจะดีกว่าการปลูกเสริมป่า เพราะต้นไม้ที่มีอยู่แล้ว หากดูแลดี ๆ อัตราการเจริญเติบโตจะดี ซึ่งการปลูกเสริมป่าที่มีต้นไม้ทึบอยู่แล้ว ไม้จะไม่ค่อยเติบโต การปลูกเสริมจะทำในพื้นที่ที่มีต้นไม้น้อย

พร้อมกันนี้ ยังสร้างแหล่งอาหารในชุมชน เช่น สาธิตการวางแปลงเพาะเห็ด ผักหวานในป่า สร้างศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชน และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านเฟซบุ๊ก

“การทำป่าชุมชน ทำหมู่บ้านเดียวไม่ได้ ต้องให้ทุกหมู่บ้านมาร่วมกัน ต้องใช้เครือข่ายร่วมมือกันแก้ไข หากหมู่บ้านหนึ่งกำลังคนไม่พอก็สามารถโยกคนหมู่บ้านอื่นไปช่วยได้ ถ้าทำหมู่บ้านเดียวเวลาเกิดไฟป่าจะมีปัญหา การมีเครือข่ายยังช่วยเหลือแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการป่าชุมชนร่วมกันได้อีกด้วย โดยตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนอย่างเป็นกิจลักษณะ คอยบริหารจัดการ และใช้เงินกองทุนทำประกันอุบัติเหตุแก่ทีมดับไฟป่า”

สร้างมูลค่าจาก ใบตองตึง

อีกหนึ่งปัญหาไฟป่าช่วงหน้าแล้ง เกิดจากใบตองตึงร่วงหล่นจำนวนมากในป่าชุมชน ซึ่งเป็นไม้ที่มีน้ำมันในตัว พอเกิดไฟป่าขึ้นไปดับแล้วไฟก็มักลุกติดขึ้นมาอีก จากอดีตผู้เฒ่าผู้แก่เคยนำใบตองตึงมาทำหลังคาบ้านแต่ปัจจุบันไม่ได้รับความนิยมแล้ว หลังจากมูลนิธิฯ พาไปดูงานที่ต่าง ๆ ชุมชนจึงมีแนวคิดนำใบตองตึงมาทำจานใบไม้ พัฒนาจนเป็นวิสาหกิจชุมชนบ้านต้นผึ้ง

ส่วนเศษใบไม้จากการทำจานนำไปพัฒนาเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ พวงหรีด กระทง เป็นต้น เศษสุดท้ายนำไปทำปุ๋ย

“ได้ขยายแนวคิดการใช้ประโยชน์จากใบตองตึงไปยังโรงเรียนขยายโอกาสในพื้นที่ ให้เด็กนักเรียนเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากใบตองตึง ลดการเผาขยะในโรงเรียน ทำให้เด็ก ๆ ได้รับรู้ว่า คนรุ่นก่อนได้บุกเบิกดำเนินการต่าง ๆ วางพื้นฐานไว้ให้สานต่อ เพราะเด็กนักเรียนล้วนเป็นเด็กในพื้นที่”

เงินกองทุนยังนำมาสร้างตลาดชุมชน เพื่อวางขายสินค้า และของป่าที่หามาได้ ตลอดจนบางหมู่บ้านใช้เพื่อการพัฒนาปุ๋ยชีวภาพจากใบไม้

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบประกาศนียบัตรให้ป่าชุมชนบ้านต้นผึ้ง สามารถลดและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 300 ตันคาร์บอนเครดิตเทียบเท่าต่อปี ซึ่งคนในชุมชนมองว่า คาร์บอนเครดิตเป็นเพียงผลพลอยได้จากการดูแลป่าซึ่งใช้งบประมาณสูงและต้องใช้เวลามากนับเป็นสิบๆ ปีกว่าป่าจะฟื้นคืนกลับมาได้

คาร์บอนเครดิต คือผลพลอยได้

“การทำคาร์บอนเครดิตไม่ได้มองว่าเป็นการฟอกเขียวให้เอกชน ซึ่งชุมชนไม่ได้มองเช่นนั้น แต่มองว่าเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ เมื่อก่อนชุมชนทำงานปิดทองหลังพระมาโดยตลอด ดึกดื่นเที่ยงคืนขณะคนกำลังนอนหลับพักผ่อน หรือสนุกสนานในสถานบันเทิง ยังมีคนกลุ่มเล็ก ๆ คอยเผชิญเหตุไฟป่า ดับไฟ ตอนนี้มีเงินทุนอยู่ก้อนหนึ่งเพื่อใช้ป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า ป้องกันไม่ให้คนบุกรุกไปตัดไม้ทำลายป่า แต่ไม่ใช่นำเงินเข้ามาทำให้ชุมชนแตกแยก เพียงเป็นการทำสิ่งที่เคยทำอยู่แล้วให้ดีขึ้น”

พ่อหลวงมนูญ เสริมว่า ไม่ว่าจะมีเงินกองทุนเข้ามาหรือไม่ ในฐานะที่อยู่กับป่า ทำมาหากินกับป่าอยู่แล้ว การจัดการป่าเป็นหน้าที่ที่ชุมชนต้องดูแลถ้าพึ่งพิงงบประมาณจากภายนอกเพียงอย่างเดียวป่าไม่ฟื้นได้ระดับนี้ แต่การมีงบประมาณเข้ามาในชุมชนเป็นการเสริมศักยภาพให้บริหารจัดการเป็นไปตามเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

โครงการตามพระราชดำริอ่างเก็บน้ำห้วยก้า

บ้านตลาดขี้เหล็ก เป็นชุมชนที่ได้มีการดูแลรักษาป่ามาเป็นเวลานาน ในอดีตด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่า จึงทำให้เป็นที่ต้องการของกลุ่มสัมปทาน และได้มีการเข้ามาสัมปทานพื้นที่ป่าในหมู่บ้าน จนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ทำให้เกิดปัญหาภัยแล้ง การจัดการป่าในอดีตของชุมชน ไม่ได้มีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรรับผิดชอบเป็นรูปธรรมมากนัก จึงทำให้ยังไม่มีรูปแบบการจัดการภัยที่เกิดขึ้นจากการสัมปทานป่าได้ในเวลานั้น เมื่อชุมชนได้รับผลกระทบจากป่าเสื่อมโทรม

ในปี 2524 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยก้า เพื่อเป็นแหล่งเก็บน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่โดยรอบให้ได้ใช้ประโยชน์ในการอุปโภคและการทำเกษตร จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ชุมชนร่วมใจกันรวมกลุ่มเพื่อฟื้นฟูป่า และได้เข้าร่วมโครงการป่าประชาอาสา ในปี 2527 จัดตั้งคณะกรรมการ กำหนดกฎ กติกา ในการใช้ดูแล ฟื้นฟูป่า และการประโยชน์จากป่าร่วมกัน หลังจากนั้น เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ต่อจากนั้นชุมชนได้ทำโครงการพระพุทธศาสนากับป่าไม้ กับวัดดอยจอมแจ้ง เพื่อให้วัดเป็นจุดรวมใจ ศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการดูแลป่าของชุมชน

โครงการตามพระราชดำริอ่างเก็บน้ำห้วยก้า จึงเป็นแหล่งน้ำสำคัญของคนในพื้นที่เป็นอย่างมากของบ้านตลาดขี้เหล็ก และชุมชนในตำบลแม่โป่ง เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งเก็บน้ำแล้ว ยังเป็นเสมือนผลสำเร็จที่เห็นได้อย่างชัดเจน ในการดูแลป่าของชุมชนอย่างเข้มแข็ง ที่ช่วยแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าจนถึงปัจจุบัน

(ต้นก้า ซึ่งเป็นที่มาของห้วยก้า เป็นต้นไม้ประเภทไว้ก่อหรือไม้ชุ่มน้ำใน 1 ปีจะออกดอกครั้งหนึ่งปีใหนที่ไม่มีดอกปีนั้นจะมีความแห้งแล้งและบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ทางชาวบ้านรักษาไว้ถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน)

บ้านต้นผึ้ง

บ้านต้นผึ้ง หมู่ที่ 7 ตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีป่าชุมชนบ้านต้นผึ้งพื้นที่ประมาณ 984 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่กวง อดีตที่พื้นที่ป่าถูกชาวบ้านทั้งภายในและภายนอก แผ้วถางบุกรุกเพื่อเป็นพื้นที่ทำกิน มีการลักลอบตัดไม้ กานไม้ และเผาป่า ทำให้พื้นที่ป่าเกิดความเสื่อมโทรมร่อยหรอ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาจากการเผาและไฟป่าในพื้นที่ ทำให้เกิดวิกฤติหมอกควันปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือ สาเหตุหลักที่ทำให้ค่า PM 2.5 เกินมาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจการท่องเที่ยวภาคเหนืออย่างมากมาย ภาครัฐและทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญ และมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างเข้มข้นและจริงจังเพื่อควบคุมการเผาทุกรูปแบบ

ปัจจุบันหลังจากผู้นำและราษฎรบ้านต้นผึ้งรับองค์ความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ขึ้น ผ่านกิจกรรมมากมายบนพื้นฐานของความร่วมมือร่วมใจของคนในพื้นที่และการปฏิบัติตามกฎระเบียบของป่าอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ทางป่าชุมชนบ้านต้นผึ้ง ยังมีกิจกรรม “โครงการคุณดูแลป่า เราดูแลคุณ” ซึ่งเป็นโครงการจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทางหมู่บ้านจึงมีแนวคิดในการนำใบไม้มาเพิ่มมูลค่าด้วยการทำเป็นผลิตภัณฑ์ใบไม้ ภายใต้แบรนด์ “วิสาหกิจชุมชนป่าต้นผึ้ง” เช่น จานชามใบไม้ กระถางและกระทงใบไม้ เป็นต้น เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่ เพิ่มมูลค่าให้กับใบไม้ สร้างงานสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับคนในชุมชน สร้างความตระหนักถึงคุณค่าของป่าชุมชนและพื้นที่สีเขียว ก่อให้เกิดความรักความสามัคคีของคนในชุมชน เห็นคุณค่าของบ้านหลังใหญ่ของชุมชน ที่เรียกว่าป่าชุมชนบ้านต้นผึ้ง โดยวิสาหกิจชุมชนป่าต้นผึ้งสามารถสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ใบไม้ เฉลี่ยประมาณ 100,000 -120,000 บาท ต่อปี ซึ่งมีครัวเรือนเป็นสมาชิกประมาณ 52 ครัวเรือน

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนป่าต้นผึ้งจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาต่อยอดกิจกรรม โดยทำรูปแบบจานใบไม้ให้มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นและมีแนวคิดที่จะนำเศษใบไม่ในป่าชุมชน เศษใบไม้จากการตัดแต่งกิ่งลำไย เศษที่เหลือจากการทำจานใบไม้และเศษฟางข้าวที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวใบช่วงฤดูกาลผลิตของเกษตรในพื้นที่ ซึ่งมีเกษตรผู้ปลูกข้าว อยู่ประมาณ 200 ไร่ และปลูกลำไย ประมาณ 100 ไร่ มาขึ้นรูปเป็นกระถางเพาะและปลูกกล้าไม้แบบธรรมชาติทดแทนใช้ถุงพลาสติกดำเพาะกล้าไม้ โดยสามารถนำกล้าไม้ที่ได้จากการเพาะผ่านกระถางใบไม้ธรรมชาติของทางกลุ่มลงปลูกลงดินทั้งกระถางได้เลย ลดการเผาในพื้นที่ทั้งพื้นที่ทางการเกษตรและพื้นที่ป่า ลดปัญหามลพิษจากค่า PM 2.5 สร้างสิ่งแวดล้อมให้สมดุล นอกจากนี้ยังทำให้สามารถเป็นรายได้ที่มั่นคงของชุมชนต่อไป เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและชุมชนวิถีชีวิตมั่งคั่ง

บ้านแม่ฮ่องไคร้

บ้านแม่ฮ่องไคร้ มีประชากร 82 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 265 คน มีอาชีพหลักคือ เกษตรกรรม ได้แก่ การทำนาปลูกข้าว กระเทียม หอมแดง ถั่วลิสง และพืชผักสวนครัว ปศุสัตว์โคนม รับจ้าง และหาของป่าตามฤดูกาล ฐานะการเงินของประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในฐานะที่สามารถจะเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ป่าชุมชนบ้านแม่ฮ่องไคร้ มีพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จำนวน 1,157.12 ไร่

บ้านห้วยบ่อทอง

บ้านห้วยบ่อทอง หมู่ 10 ตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่แยกมาจาก บ้านป่าไผ่ หมู่ที่ 2 มีเนื้อที่ประมาณ 1,235 ไร่ ที่ชื่อ “บ้านห้วยบ่อทอง” เหตุเพราะมีแหล่งน้ำซับเป็นหนองน้ำที่มีน้ำห้วยไหล ลักษณะเป็นสีเหลืองหรือสีทอง ผ่านเข้าสู่หมู่บ้านตลอดปี แต่ยังมีความมหัศจรรย์ คือ ณ บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกัน มีบ่อน้ำเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่มีน้ำสะอาดใสไหลออกมาจากเชิงเขาดอยผาผึ้งโดยไม่มีแห้งเหือด ชาวบ้านถือเป็น “บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์” ทางผู้นำและชาวบ้านจึงได้ร่วมกันทำการขุดขยายเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ ตั้งชื่อว่า “น้ำบ่อหลวง” ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ สำหรับผลิตน้ำประปาและน้ำดื่มสะอาด ใช้ในการอุปโภคบริโภคของพี่น้องประชาชนทั้งหมู่บ้าน

บ้านห้วยบ่อทอง เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในกลุ่มริเริ่มการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีส่วนร่วมของตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2543 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนกับกรมป่าไม้ มีพื้นที่ป่าที่ต้องรับผิดชอบ จำนวน 512 ไร่ ลักษณะเป็นป่าที่มีพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด ได้แก่ เต็ง รัง สัก ยาง เหียง ตึง ไผ่ ไม้พื้นบ้าน และป่าสมุนไพรต่าง ๆ ประกอบกับเป็นป่าใกล้บ้านที่อยู่คู่กับวิถีชุมชนมาแต่ยาวนาน จึงได้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมไปกับการใช้ประโยชน์อย่างเกื้อกูล โดยชุมชนได้ร่วมกันพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อศึกษาธรรมชาติ และพัฒนาจุดชมวิว “ยอดดอยผาผึ้ง” สำหรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสร้างเสริมสุขภาพ สอดคล้องตามวิถีแห่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามเป็นชุมชนที่เกิดการพัฒนาอย่างยืน โดยความร่วมมือจากเครือข่ายป่าชุมชนในพื้นที่ และหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน

กสิกรไทยร่วมสนับสนุนกระทรวงมหาดไทย ซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

มท. ผนึกกำลัง UN Thailand และ KBank ประกาศความสำเร็จซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตครั้งแรกของไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ