TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewเปิดมุมมอง "ช่างทำผม" ชื่อดัง พาธุรกิจผ่าวิกฤติโควิด-19

เปิดมุมมอง “ช่างทำผม” ชื่อดัง พาธุรกิจผ่าวิกฤติโควิด-19

ช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19 ระบาด ธุรกิจบริการเสริมสวยและร้านทำผมถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด เนื่องจากอยู่ในสถานที่เข้าข่ายเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อทำให้จำเป็นต้องปิดให้บริการ

ชนาโชติ สวัสดิ์วิชัยโสภิต หรือ “เอ” ทายาทรุ่นสองของโรงเรียนสอนเสริมสวยชื่อดัง “กรเกล้า” ผู้รับสืบทอดงานจากคุณแม่ “สายชล สวัสดิ์ชัยโสภิต” ผู้ไม่ “ตั้งรับ” การเปลี่ยนแปลง แต่ลุกขึ้นมาต่อยอดธุรกิจร้านทำผม Cealeb by Kornklao ด้วยการริเริ่มแนวคิด Co-working Salon และ Home Salon Delivery พร้อมทำระบบแอปพลิเคชันเก็บข้อมูลลูกค้า เพราเชื่อว่าเมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน บริการทำผมในแบบเดิมจึง ไม่ตอบโจทย์

ชนาโชติ บริหาร 3 ธุรกิจ คือ ร้านทำผม Cealeb by Kornklao ตรงย่านพระรามเก้ารองรับลูกค้าทั่วไปร้าน 786 Co-working Salon เป็น Co-working Salon ศูนย์รวมช่างทำผมฝีมือดี และ Home Salon Delivery บริการเสริมสวยถึงบ้าน

Cealeb by Kornklao เป็นร้านทำผมที่สืบทอดต่อจากคุณแม่สายชล คือ เป็นร้านทำผมที่นำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการร้าน เช่น เก็บข้อมูลลูกค้าและวางระบบให้การทำงาน

786 Co-working Salon เป็นพื้นที่ทำงานของกลุ่มช่างที่ค่อนข้างหลากหลายทั้งระดับฝีมือและราคา และรองรับลูกค้าที่หลากหลายกว่า แม้จะมารับบริการในราคาที่ไม่สูงมาก แต่เมื่อมารับบริการจาก 786 Co-working Salon อารมณ์ความรู้สึกของการเข้าไปรับบริการกลับให้ความพิเศษแตกต่างออกไป คือ ได้ประสบการณ์สุดหรูในราคาที่เอื้อมถึง

บริการ Home Salon Delivery ที่เดิมบริการผู้ป่วยติดเตียงเป็นหลักสู่บริการเดลิเวอรี่ถึงบ้านในช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19 ระบาดที่ผ่านมา มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น บางวันรองรับลูกค้า 200-300 เคสต่อวัน

การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจร้านทำผมทำให้มีความสะดวกมากขึ้น และใช้บริหารจัดการงานบริการได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ชนาโชติ กล่าวว่า แอปฯ ยังช่วยให้การทำงานของช่างและทีมงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบริการลูกค้าได้โดนใจมากยิ่งขึ้น เพราะจากประสบการณ์จริง ลูกค้าส่วนใหญ่ 70% ที่เป็นลูกค้าประจำ จะไม่ค่อยเปลี่ยนอะไร จะเอาทรงเดิม แต่ช่างที่ไม่ใช้ประวัติจะจำไม่ได้

“เราไม่รู้หรอกว่าช่างจะเข้ามากี่คน ช่างคนนี้จะมีลูกค้าเข้ามากี่คน ดังนั้น ต้องลงในตารางจอง แบบที่เราสามารถบริหารจัดการได้ แอปพลิเคชันทำให้รู้ว่าในแต่ละวัน ช่างแต่ละคนมีลูกค้ากี่ราย จะเข้ามาเวลาไหน จะเสริมสวยอะไรบ้าง ใช้เวลาเท่าไร ซึ่งจะช่วยให้ร้านสามารถบริหารจัดการพื้นที่ ให้ลูกค้าที่เข้ามารับบริการได้รับความสะดวกสบายและไม่แออัดจนเกินไป”

วงการร้านเสริมสวยะต้องมีการปรับตัวอีกมาก และหนึ่งในแนวทางการปรับตัวดังกล่าว หมายรวมถึง การมีร้านทำผมแบบ stand alone ควบคู่ไปกับร้านทำผมแบบ Co-working salon ที่ชนาโชติกำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้

โควิด-19 ทำให้ร้านทำผมแบบเดิมจะต้องปรับ เพราะวิกฤติทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม ร้านทำผมต้องปรับสู่แนวคิด Home Salon และ Co-working Salon มากขึ้น

บริษัทเอกชนรายหนึ่งในละแวกร้าน Cealeb by Kornklao ให้พนักงาน 30% ทำงานจากที่บ้านหมายความว่า กลุ่มลูกค้าของร้านหายไปทันที 30% แต่ลูกค้ายังคงมีความต้องการทำผมเสริมสวยอยู่ เขาก็ค้นหาร้านละแวกบ้านที่ตัวเองอยู่อาศัย กลายเป็นโอกาสของช่างทำผมที่มีฝีมือที่อยู่ละแวกนั้น

“ถ้าเรายังไม่รู้ตัวว่าลูกค้าเรากำลังหายไปไหน ไม่ใช้ CRM เข้ามาบริหารการจัดการลูกค้า เราจะไม่รู้เลยว่าลูกค้าเราหายไปไหน silent customers คือ เสียงที่น่ากลัวที่สุด เราจะไม่มีสิทธิ์รู้ว่าลูกค้าหายไป นี่คือผลกระทบของ work from home”

ชนาโชติ กล่าวว่า การเก็บข้อมูล เก็บประวัติของลูกค้า จะเป็นเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้บริการร้านทำผมประสบความสำเร็จและเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ข้อมูลว่าลูกค้าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ผมทรงเดิมเป็นแบบไหน มีอาการแพ้ตรงจุดไหน ไม่ชอบหรือชอบสีอะไร คล้าย ๆ AI ช่วยตอบโจทย์ลูกค้าได้ง่าย ๆ 

“ถ้าไม่นำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วย หรือไม่ยอมปรับวิธีคิด ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามกระแสสังคม ก็จะเป็นตนเองที่จะถูกเปลี่ยนทันที”

แนวโน้มของร้านทำผมที่จะเกิดมากขึ้นต่อจากนี้ คือ Home Salon ซึ่งจะเป็นช่างที่มีทุน มีบ้านของตนเองอยู่ จึงช่วยตัดลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนในพื้นที่ไป

“ช่างทำผมเก่งขึ้น แตกต่างจากในอดีตที่การทำผมยาก ๆ จะจำกัดอยู่แต่ช่างในเมืองที่มีฝีมือและอุปกรณ์ครบครัน ทว่าตอนนี้ ช่างท้ายซอยในหมู่บ้านก็ทำได้ แถมทำได้ดีในราคาไม่แพง โดยเป็นผลจากเทคโนโลยีและสื่อที่เข้าถึงทั่วถึง ผู้คนจึงสามารถเรียนรู้เทคนิคทักษะต่าง ๆ ได้จากการศึกษาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ยูทูป ไอจี หรือคอร์สออนไลน์ต่าง ๆ”

นอกจากนี้ แนวโน้มของบริการแบบ Home Salon ทำให้พบว่ามีช่างฝีมือดีจำนวนมากอยากทำงานในลักษณะนี้บ้าง แต่ไม่มีบ้านของตนเอง ชนาโชติจึงนำแนวคิด Co-working salon มาตอบโจทย์ในส่วนนี้

“สังเกตได้ว่า ร้านทำผมใหญ่ ๆ จะไม่ค่อยขยายขนาดสเกลแล้ว เพราะจะมีปัญหาในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน เรื่องสถานที่ เรื่องการลงทุนต่าง ๆ โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหลังจากโควิด ไม่ว่าจะเป็น work from home และการดิสรัปต์ในเรื่องต่าง ๆ ที่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก”

แม้ร้านทำผมแบบ Stand Alone, Co-working Salon และ Home Delivery จะมีแนวทางการบริหารในรายละเอียดที่ให้ความสำคัญแตกต่างกัน แต่หลักการของการดำเนินธุรกิจร้านทำผมเหมือนกัน คือ บุคลากร ระบบ และความต้องการของตลาด

“ฝีมือและความเก่งของช่างทำผม ไม่เพียงพออีกต่อไป หากช่างมีความรอบรู้ในหลายด้าน จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ในการสร้างสายสัมพันธ์กับลูกค้าเดี๋ยวนี้ ไม่ได้ต้องการมานั่งทำผมแล้วจบ ๆ บางทีเขาต้องการ make friends” 

การเป็นเจ้าของร้าน ไม่ใช่ปลายทางความสำเร็จ 

ช่างทำผมในไทยส่วนใหญ่มักติดกับดักว่า ช่างทำผมที่เก่งและประสบความสำเร็จจะต้องเป็นช่างทำผมที่สามารถเปิดร้านเป็นของตนเอง

“ช่างทำผมที่เก่งมีฝีมือจนลูกค้าเชียร์ให้เปิดร้าน แต่พอเปิดร้านปุ๊บกลับเจ๊งไม่เป็นท่าก็มาก ทั้งนี้ เพราะความเก่งของช่างทำผม กับการทำร้านหรือดำเนินธุรกิจ เป็นคนละวิชาคนละศาสตร์กัน”

หากช่างทำผมต้องการเป็นนักธุรกิจ จำเป็นต้องมีความสามารถในการบริหารคนและทีมงาน และต้องมีระบบงาน ทำงานเป็นทีม ซึ่ง ชนาโชติแบ่งธุรกิจของเขาออกเป็น 3 ทีม คือ กองหน้า กองกลาง และกองหลัง 

กองหน้า คือโซเชียลมีเดีย กองกลางคือ ทีมงานที่มีทักษะฝีมือ ภายใต้ศักยภาพในการบริหารคนและทีมให้ทำหน้าที่ประสานงานสอดคล้องกัน กองหลัง คือ การทำ CRM เป็นเรื่องของการเก็บประวัติข้อมูลลูกค้า ที่จะส่งไปให้กองกลางทำงานต่อง่ายขึ้น 

ทั้งนี้ เพื่อส่งผลประสบการณ์ในการเข้าใช้บริการที่ร้านนั้น ๆ ให้ลูกค้าประทับใจ และส่งผลให้เมื่อลูกค้าไปที่อื่น แต่ไม่ได้ประสบการณ์แบบที่เคยได้จากร้านก็จะไม่มีความสุข จนท้ายที่สุดก็จะกลับมาใช้บริการที่ร้านอีกครั้ง จนกลายเป็นความภักดีต่อร้าน

“สมัยนี้ไม่ใช่ตั้งรับ ต้องตั้งรุก ถ้าเราตั้งรับ เราจะคอยตัดค่าใช้จ่ายออกไป เป็นการตัดเพื่อให้ตัวรอด แต่ตั้งรุก คือ อันไหนต่อยอดได้ ไป ไม่มีสมรภูมิใดที่ตั้งรับแล้วอยู่รอด มีแต่สมรภูมิไหนที่ตั้งรุกแล้วถึงเติบโต”

ชนาโชติ กล่าวว่า การอยู่แค่บนเกณฑ์เฉลี่ยมาตรฐาน ไม่เพียงพอที่จะยืนหยัดอยู่ในสังคมได้อีกต่อไป ต้องมีการพัฒนาทักษะฝีมือในทุกวัน โดยคนที่ไม่เคยเก่งต้องเก่ง ส่วนคนที่เก่งอยู่แล้วก็ต้องเก่งยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนคนที่ไม่ทำอะไรเลยและไม่คิดจะทำอะไรเลยก็จะถูกวิกฤติโควิด-19 คัดสรรให้ตกหล่นหายไปจากวงการ 

“สิ่งที่ช่างทำผมจะต้องเรียนรู้แบบไม่อาจปฎิเสธได้ คือ เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการเก็บฐานข้อมูล การใช้ประวัติการทำงานของลูกค้า หรือการบริการจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า ช่วยสร้างประโยชน์ และทำให้เกิดการสร้างทีมที่จะช่วยให้เจ้าของร้าน หลุดจากกรงที่เรียกว่า “ธุระกู” ไปสู่ “ธุรกิจ” ภายใต้ระบบการการทำงานที่สอดคล้องกัน”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ