TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewUNESCO กับพันธกิจ บ่มเพาะนิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เด็กทุกคน

UNESCO กับพันธกิจ บ่มเพาะนิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เด็กทุกคน

แม้การศึกษา คือ สิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องได้รับในฐานะมนุษย์คนหนึ่งในสังคม และการมีความรู้ คือ ก้าวแรกที่สำคัญและทรงพลังที่สุดที่จะช่วยให้เด็กคนหนึ่งสามารถยกระดับชีวิตให้มีคุณภาพที่ดีได้ กระนั้นก็ยังมีเด็กบางกลุ่มในสังคมที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่เป็นสิทธิที่ตนพึงมีได้อย่างชอบธรรม เพราะเหตุปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยให้เข้าถึงการศึกษา

โศวิรินทร์ ชวนประพันธ์ เจ้าหน้าที่โครงการ Non formal education and lifelong learning literacy (การศึกษานอกระบบและการเรียนรู้ตลอดชีวิต) แห่งองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประเทศไทย กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ปัจจัยที่ไม่เอื้อดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่เรื่องฐานะครอบครัวที่ยากจน ความไม่พร้อมและด้อยโอกาสต่าง ๆ ทำให้เด็กกลุ่มหนึ่งที่ควรจะเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ กลายเป็นเด็กนอกระบบ หรือเด็กที่หลุดจะระบบการศึกษา

ทั้งนี้ ผลการศึกษาของยูเนสโกพบว่า เฉพาะภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีเด็กอยู่นอกระบบการศึกษาในระดับประถมศึกษามากถึง 18 ล้านคน ขณะที่ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ กสศ. พบว่าในไทยมีเด็กนอกระบบการศึกษาอายุระหว่าง 3-17 ปี กว่า 670,000 คน

ตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับสูงจนน่าตกใจและน่าเป็นห่วง เพราะการที่เด็กอยู่นอกระบบการศึกษาจะส่งผลต่อความเสียหายทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยในทางเศรษฐกิจ ผลการวิจัยขององค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ ร่วมกับ R4D ได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยที่เกิดจากปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาไว้ถึง 1.7 % ของจีดีพี (The Economic cost of out-of-school children in Southeast Asia, 2015)

ขณะที่ประเด็นทางสังคมก็เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน เพราะเด็กนอกระบบการศึกษาเหล่านี้เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อจากการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ได้รับการล่วงละเมิดต่าง ๆ หรือตกอยู่ในวงจรค้ามนุษย์หรือค้ายาเสพติด 

“การศึกษา คือ สิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้เด็ก ๆ ที่อยู่นอกระบบโรงเรียน หรือออกนอกระบบกลางคันสามารถใช้ชีวิตและเติบโตขึ้นได้อย่างเป็นบุคคลมีคุณภาพ ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ยูเนสโกให้ความสำคัญมาก”

โศวิรินทร์ อธิบายว่า เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสต้องการการศึกษาที่ยืดหยุ่น ซึ่งแตกต่างจากการศึกษาพื้นฐานภาคบังคับของเด็กในระบบ ดังนั้น การเรียนการสอนและการเข้าถึงการศึกษาของกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ซึ่งหมายรวมถึงลูกหลานของแรงงานข้ามชาติ เด็กยากจน และเด็กไร้สัญชาติตามตะเข็บชายแดนไทยจึงไม่สามารถยึดติดอยู่กับรูปแบบการศึกษาเดิมที่มีอยู่ได้ 

“หน้าที่ของเราจึงเข้าไปดูแลการศึกษาของเด็กกลุ่มนี้ ให้พวกเขาเข้าถึงการศึกษาได้ ขณะเดียวกัน เพราะดูแลเรื่องการศึกษาตลอดชีวิต กลุ่มเป้าหมายจึงครอบคลุมวัยผู้ใหญ่ ซึ่งเน้นกลุ่มผู้ใหญ่ด้อยโอกาส โดยพื้นที่ดำเนินการอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมไทย อีกทั้ง ทีมอยู่ภายใต้หน่วยนวัตกรรมทางการศึกษาและทักษะของทางยูเนสโก ทีมเลยมีโอกาสนำเอานวัตกรรมมาใช้เพื่อโอกาสทางการศึกษาของกลุ่มเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้” โศวิรินทร์ กล่าว

แน่นอนว่า ที่ผ่านมายูเนสโกพยายามดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาของเด็กนอกระบบในไทย ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาสังคมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายหลักในการลดจำนวนเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาภายในประเทศไทยให้เหลือน้อยที่สุด และบ่มเพาะปลูกฝังพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต 

ทั้งนี้ เด็กนอกระบบ หมายถึง เด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาไม่ว่าจะในรูปแบบใด ๆ มาก่อน หรือได้มีการออกจากการเรียนกลางคันไป ทำให้ไม่ได้รับการศึกษาตามระบบการศึกษา ซึ่งตัวเลข 18.7 ล้านคนนี้เป็นตัวเลขที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งภูมิภาค เฉพาะช่วงวัยของเด็กในระดับประถมศึกษาเท่านั้น ซึ่งถ้าหากนับรวมระดับมัธยมศึกษา ตัวเลขเด็กนอกระบบก็จะยิ่งมีจำนวนสูงมากไปกว่านี้อีก 

ในมุมมองของโศวิรินทร์ การแก้ปัญหาของเด็กนอกระบบที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการให้ทุนและนำเด็กกลุ่มนี้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาพื้นฐานภาคบังคับอย่างเดียวเท่านั้น เพราะถ้าเป็นเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา หรือหลุดจากระบบการศึกษากลางคัน ส่วนมากจะเป็นเด็กที่อายุเกินเกณฑ์ คือ จะเข้าเรียนประถมจะมีอายุมากกว่าเด็กปกติ เช่น ปกติเริ่มเรียนประถมตอน 7 ขวบ แต่เด็กนอกระบบอาจจะได้เริ่มเรียนตอนอายุ 10 ขวบ พอเด็กกลุ่มนี้มาเรียนจึงอาจจะมีปัญหาในการเข้าเรียน ไม่สามารถปรับตัวให้กับโรงเรียนในระบบได้

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่หลักของยูเนสโกที่จะเพิ่มเส้นทาง ขยายโอกาส ทำลายอุปสรรค ให้เด็กนอกระบบเหล่านี้ สามารถเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสมกับตนเองต่อไปได้ โดยปัญหาการศึกษาของไทยหลัก ๆ คือ ปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษา ยูเนสโกในไทยจึงเน้นตอบโจทย์เด็กและเยาวชนที่ยังเหลื่อมล้ำ ด้วยการหาหนทางให้เด็กกลุ่มนี้เข้าถึงการศึกษาให้ได้ก่อน แล้วค่อยไปช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มนี้ให้พัฒนาก้าวไปอีกขั้นได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการศึกษาในรูปแบบเดิม ๆ ที่เน้นการให้เป็นตัวทุนการศึกษา ทั้งแบบมีเงื่อนไขและไม่มีเงื่อนไข บวกกับบริจาคสิ่งของ ยูเนสโกมองว่ากลับให้ผลแค่เพียงในระยะสั้น คือ เด็กได้รับทุน ได้เรียนต่อ แต่พัฒนาการทางด้านการศึกษากลับไม่มีต่อ ทำให้ยูเนสโกตั้งคำถามต่อว่าจะทำอย่างไรให้เด็กมีใจรักในการศึกษาตรงนั้น ทำอย่างไรจึงจะเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับตนเอง แล้วก็ขยายโอกาสทางการศึกษาของตนเองให้ได้เรียนสูงขึ้นไปได้สูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เทคโนโลยีนวัตกรรม ตัวช่วยเรียนรู้ตลอดชีวิต

ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่วิธีการรูปแบบการจัดการการศึกษาต้องเปลี่ยนไป ทำอย่างไรให้สามารถเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านี้ ที่ทำให้มีเด็กออกจากระบบการศึกษากลางคันอยู่เรื่อย ๆ และหนึ่งในตัวช่วยสำคัญ คือ เทคโนโลยีนวัตกรรม 

“เราจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยให้เด็กเข้าระบบและอยู่ต่อไปในระบบ เรามองผลระยะยาวที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก ไม่ใช่แค่การให้ทุนที่เกิดผลในระยะสั้น ซึ่งตรงนี้ก็จะแสดงให้เห็นถึงว่า ในส่วนของโครงการ Learning Coin ที่มีจุดประสงค์สำคัญ คือ ให้เด็กอยู่กับโครงการผ่านกิจกรรมการอ่านหนังสือ ผ่านทาง app learning และได้เป็นทุนการศึกษาตอบแทนกลับมา คือ ยิ่งอ่านเยอะก็ยิ่งได้ทุนเยอะ ซึ่งตรงนี้ เด็ก ๆ อาจจะมองว่า เรื่องทุนเป็นสิ่งสำคัญ แต่จริง ๆ แล้ว สิ่งที่เราต้องการจะขับเคลื่อนก็คือ เราต้องการปลูกฝังนิสัยการรักการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ แล้วก็สร้างนิสัยการรักการอ่าน โดยมองว่าถ้าเด็ก ๆ อ่านหนังสือออก มันจะเป็นประตูที่เปิดไปสู่โลกความรู้ แล้วก็ ทำให้เด็ก ๆ สามารถต่อยอดในวิชาต่าง ๆ ที่ต้องการเรียน รวมถึงสร้างนิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้” โศวิรินทร์ กล่าว

เรียกได้ว่า ไม่ว่าฉากทัศน์ของการศึกษาจะเปลี่ยนไปอย่างไร ยูเนสโกก็จะทำนวัตกรรมไปใช้เพื่อให้เด็กนอกระบบสามารถเข้าถึงการศึกษาต่อไปได้ มีการติดตามผลอย่างจริงจัง แตกต่างจากการให้เพียงทุนการศึกษาแบบครั้งเดียวจบ 

อีกทั้ง กลยุทธ์ที่ทำให้คนอ่านผ่านแอป Learn Big แล้วสามารถเก็บเหรียญผ่านการอ่าน ก่อนนำมาเปลี่ยนเป็นทุนการศึกษา คือ กุศโลบายที่จะช่วยปลูกฝังนิสัยการรักการอ่านให้กับเด็ก โดยมีปลายทาง คือ การสร้างบุคลากรที่มีทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง 

ขณะเดียวกัน นอกจากจะปลูกฝังให้เด็กสามารถมีนิสัยรักการอ่านแล้ว โครงการสามารถใช้นวัตกรรม ใช้อุปกรณ์ไอซีที เข้ามาทำให้เด็ก ๆ มีทักษะทางการใช้อุปกรณ์ไอซีที ที่ตามปกติจะไม่มีโอกาสได้สัมผัส ดังนั้นโครงการจึงมีส่วนในการช่วยต่อยอดให้เด็ก ๆ มีทักษะทางดิจิทัลที่สำคัญต่อโลกอนาคตนับจากนี้อีกทางหนึ่งด้วย 

“กลุ่มเป้าหมายจะสามารถใช้ทักษะที่เขาได้ตรงนี้นำไปต่อยอดหาความรู้ได้ด้วยตนเองในอนาคตได้ ซึ่งโดยมากจะเป็นการศึกษานอกระบบ หรือการศึกษาตามอัธยาศัยที่จะเน้นไปที่การศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง และเป็นการศึกษาที่ตอบโจทย์ที่สุดสำหรับเด็กกลุ่มนี้” โศวิรินทร์ กล่าว

Learn Big ห้องเรียนห้องสมุด ในมือเด็ก ๆ

สำหรับ Learn Big นี้ โศวิรินทร์ อธิบายว่า เป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมหนังสือ และสื่อการเรียนการสอนที่เข้ามาเสริมจากการเรียนการสอนในโรงเรียน ตัวแท็บเล็ตจะเป็นอุปกรณ์ที่ทางโครงการมอบให้กับเด็กในโครงการ ภายใต้การบริจาคแท็บเล็ตจาก POSCO บริษัทผู้ผลิตเหล็กกล้าในเกาหลีใต้ Lenovo และ กสศ. 

ส่วน Learning Coin เป็นโครงการเฉพาะในพื้นที่ประเทศไทย ที่ต่อยอดมาจากโครงการ mobile literacy ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการรู้หนังสือผ่านสื่อพกพาให้กับเด็กด้อยโอกาสตามตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา โดยเด็กกลุ่มแรกที่นำร่องเข้าร่วมโครงการในปี 2017 คือเด็กเมียนมา 150 คน หลัง เด็กเมียนมาบอกว่าไม่อยากไปโรงเรียน เพราะรู้สึกผิดที่ไม่ได้ช่วยพ่อแม่ทำงาน 

“โครงการ Learning Coin มีขึ้นเพื่อให้เด็กได้เงินจากการอ่านหนังสือในแอป โดยมีเงื่อนไขสำคัญพ่วงเพิ่มขึ้นมาอีกว่า เด็กต้องเรียนหนังสือ เด็กต้องไปโรงเรียน แล้วก็อ่านหนังสือใน Learn Big เพื่อเป็นทุนการศึกษาไปช่วยพ่อแม่ เด็กก็จะรู้สึกภูมิใจที่ได้อ่านหนังสือ แถมได้ทุนมาช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ด้วย ซึ่งความสำเร็จในปีแรกทำให้ยูเนสโกจับมือร่วมกับกสศ. ขยายโครงการกับกลุ่มเด็กไทยด้อยโอกาสใน 4 จังหวัดคือ แม่ฮ่องสอน ยะลา นครนายก และกรุงเทพ จำนวน 454 คน ซึ่งเพิ่งสิ้นสุดโครงการปีแรกไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา” 

ทั้งนี้ จุดที่นำมาใช้ในการคำนวณเป็นเงินการศึกษาจะมีเกณฑ์หลัก ๆ อยู่ 3 ประการ คือ 1) ความสม่ำเสมอในการอ่าน เพราะต้องการให้เด็กเกิดนิสัยรักการอ่าน ถ้าไม่อ่านสม่ำเสมอจะไม่เกิดเป็นนิสัย ถ้าอ่านต่อเนื่องหลายวันติดต่อกันจะได้ทุนการศึกษาเยอะ สูงสุด 800 บาท/เดือน ส่วนเด็กในกรุงเทพฯจะได้สูงสุด 1,200 บาทต่อเดือน 2) คือจำนวนชั่วโมงที่อ่าน ยิ่งอ่านชั่วโมงเยอะก็ยิ่งได้ทุนเยอะ และสุดท้าย คือ การประเมินผลซึ่งต้องขอความร่วมมือจากครูให้ช่วยตรวจคำตอบของชุดคำถามในแอปพลิเคชัน ซึ่งจะวัดความรู้ว่าเด็กได้อ่านหนังสือจริง 

ปัจจุบัน หนังสือใน Learn Big มีมากกว่า 400 เล่ม ครอบคลุมทั้งภาษาไทย ภาษาเมียนมา และภาษาอังกฤษ ขณะที่ประเภทหนังสือแบ่งเป็น 3 หมวดหมู่หลัก คือ 1) หนังสือเรียน ของกระทรวงศึกษาธิการไทย และเมียนมา ทั้งในและนอกระบบ 2) หนังสืออ่านนอกเวลา ซึ่งมีเยอะที่สุดใน Learn Big โดยจัดตามระดับความยาก-ง่ายของหนังสือ และ 3) สื่อการสอนสำหรับครู เช่น ตัวอย่างข้อสอบ แบบฝึกหัด คู่มือการสอน สื่อมัลติมีเดียต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของเด็ก 

ด้านจำนวนผู้ใช้งาน แพลตฟอร์ม Learn Big จะแยก 2 แพลตฟอร์มหลัก คือ เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน โดยตัวเว็บมีผู้ใช้งานราว 400,000 คน รวมในไทย เมียนมา และลาว แต่ถ้าเป็นแอปพลิเคชัน ยอดดาวน์โหลดจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 แต่ส่วนที่เป็น active user จะอยู่ที่ประมาณ 4,000 คน 

“ตอนนี้ อยู่ในช่วงทำการรวบรวมผลการดำเนินการทั้งหมดให้กสศ. โดยมีแผนว่าระยะที่ 2 จะดำเนินการต่อกับทางกสศ. และต่อยอดพัฒนาแอปพลิเคชันกับทาง ​Thoughtworks ให้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ ให้ตอบโจทย์การอ่านและการเรียนรู้ของเด็กให้มากขึ้น จากปัญหาที่พบในช่วงโควิด ว่าครูต้องกระตุ้นให้เด็กเยอะ ๆ เด็กจึงจะอ่าน ดังนั้นจึงต้องพัฒนาแอปพลิเคชันให้สามารถกระตุ้นให้เด็กเกิดแรงจูงใจในการอ่านได้เอง เลยร่วมมือกับ Thoughtworks ในการพัฒนาฟังก์ชันต่าง ๆ” โศวิรินทร์ กล่าว

ในส่วนของปัจจัยที่ทำให้กลุ่มเด็กไทยที่เข้าร่วมโครงการอ่านหนังสือได้น้อยมากเมื่อเทียบกับเด็กเมียนมา โศวิรินทร์ พบว่า สาเหตุหลัก ๆ คือ เด็กต้องทำงาน โดยเฉพาะในช่วงสภาวะโควิด ทำให้เด็กมีความจำเป็นมาก ๆ ที่ต้องทำงานหาเลี้ยงช่วยเหลือครอบครัว ซึ่งคาดว่าหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย การอ่านของเด็กก็น่าจะดีขึ้น 

ขณะที่ สาเหตุต่อมา ก็คือ ขาดการแรงสนับสนุนจากครู พอไม่ได้กระตุ้นอย่างต่อเนื่อง จากทั้งครูและยูเนสโก ส่งผลให้เด็กไม่เกิดแรงจูงใจ อีกทั้งเนื้อหาต่าง ๆ ก็ส่งผลต่อการอ่านเช่นกัน เพราะเนื้อหาที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด จำเป็นต้องหาเนื้อหาที่หลากหลาย มีการทำสำรวจว่าเด็กอยากอ่านอะไร เพื่อหาหนังสือมาตอบโจทย์ความต้องการนั้น

“เด็กจะเลือกอ่านจากความชอบ ถ้าเราไม่มีหนังสือที่ตอบโจทย์หรือถูกใจ เขาจะไม่อ่าน ซึ่งเราก็ต้องหาหนังสือที่ตอบโจทย์ตรงนี้ให้เยอะมาก ๆ ซึ่งทาง Thoughtworks เข้ามาช่วยในส่วนนี้ด้วย” ” โศวิรินทร์ กล่าว

แนวทางในการพัฒนา โศวิรินทร์ มองว่าแอปมีศักยภาพช่วยให้เกิดความยั่งยืนโดยการที่อาจจะต้องมองไปถึงเรื่องของการเปิดเป็นแพลตฟอร์มให้บุคคลภายนอกร่วมบริจาคเป็นทุนการศึกษาให้เด็กในโครงการ ตอนนี้มี POSCO กับกสศ. ซึ่งในอนาคตหากว่าแพลตฟอร์มไปลิงค์กับแพลตฟอร์มบริจาค จะสามารถให้บุคคลภายนอกที่สนใจในโครงการนี้เข้ามาบริจาคให้โครงการ Learning Coin และสามารถติดตามผลการอ่านของเด็กที่ตนเองบริจาคให้ได้

เตรียใช้ Big Data กับ Blockchain ช่วยส่งเสริมการอ่าน

ขณะเดียวกัน ทางทีมของโศวิรินทร์ ก็มีแผนไปถึงการช่วยจัดระบบข้อมูลการอ่าน เพราะข้อมูลการอ่านของเด็กตอนนี้ยกระดับกลายเป็นบิ๊กดาต้าไปเรียบร้อยแล้ว โดยตั้งเป้าประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้จัดการการอ่านของเด็ก แล้วขยายต่อไปในการให้ทุนการศึกษาที่จะต้องเป็นการให้ทุนที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ แล้วก็ทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบัน ที่ให้เป็นเงินสดกับทางโรงเรียน แต่โศวิรินทร์กล่าวว่าในอนาคต ถ้ามีบล็อกเชนเข้ามาช่วย แนวทางในการให้ทุนอาจจะมีความรวดเร็วและสะดวกขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า เงินยังคงเป็นสิ่งจูงใจที่มีอิทธิพลต่อเด็กมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง กระนั้น แรงจูงใจที่ไม่ใช่เงิน (non-financial incentive) ก็เป็นแรงจูงใจที่มีบทบาทต่อการศึกษาของเด็กเช่นกัน โดยแรงจูงใจที่ไม่ใช่เงินอย่าง ความใส่ใจของคุณครู คำชมจากคุณครู หรือความต้องการโอกาสที่จะได้รับการต่อยอดพัฒนาทักษะ เข้ารับการอบรม หรือ เป็นสิ่งของอื่นๆ ที่อยากได้ ทำให้โศวิรินทร์ ระบุว่า ระยะถัดไปของโครงการจะต้องมองทั้งแรงจูงใจที่เป็น financial และ non-financial incentives เพื่อให้ 2 ปัจจัยนี้เข้ามาช่วยกันทำให้เด็กอยู่ในระบบ แล้วอ่านหนังสือให้มากที่สุด 

ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดของโครงการยังคงเป็นการสร้างนิสัยรักการอ่าน โดยการปลูกฝังนิสัยการอ่านในวัยเด็กนี้ ถ้ายิ่งเด็กก็จะยิ่งมีการสร้างนิสัยรักการอ่านได้เร็ว ซึ่งจะส่งผลกระทบในการเรียนของเด็กต่อไปในอนาคต 

“เป้าหมายหลัก คือ ต้องสร้างนิสัยรักการอ่าน รักการเรียนรู้ ตลอดชีวิตให้แก่เด็กกลุ่มนี้ให้ได้ หลังจากนั้น ทุนการศึกษาเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่เป็นแรงจูงใจ สิ่งสำคัญ คือ การอ่าน”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ