TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistจาก “ละมุนภัณฑ์” ถึง “จักรวาลนฤมิต” คำศัพท์สะท้อนเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

จาก “ละมุนภัณฑ์” ถึง “จักรวาลนฤมิต” คำศัพท์สะท้อนเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

หลังจากคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์นิเทศศาสตร์ร่วมสมัย ราชบัณฑิตยสภา มีมติเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2564 บัญญัติคำว่า Metaverse เป็นคำศัพท์ใหม่ในภาษาไทยว่า “จักรวาลนฤมิต” และกำหนดแนวทางการเขียนทับศัพท์เป็นภาษาไทยว่า “เมตาเวิร์ส” แวดวงไอทีของไทยมีการกล่าวถึงกันคึกคัก เพราะถือเป็นการตอบสนองที่สอดรับกับกระแสสังคมจากการปรับเปลี่ยนชื่อของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก Facebook เป็นชื่อใหม่ว่า Meta ที่สะท้อนภาพความสำคัญของสิ่งนี้ 

คำว่า “จักรวาลนฤมิต” เกิดจากการนำศัพท์ 2 คำ คือ จักรวาล และ นฤมิต” มาสร้างเป็นคำใหม่ด้วยวิธีสมาสตามหลักไวยากรณ์บาลีและสันสกฤตเพื่ออธิบายความหมายของสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคใหม่ 

จักรวาลมีความหมายว่า ปริมณฑล บริเวณโดยรอบของโลก ส่วน นฤมิต” หมายถึง แปลง สร้างขึ้น แปลตรงตัวอาจหมายถึงปริมณฑลที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งให้ความหมายโดยนัยใกล้เคียงกับ Metaverse ที่ปัจจุบันเข้าใจกันว่าหมายถึง สภาพแวดล้อมเสมือนจริงที่สร้างขึ้นบนพื้นที่ดิจิทัลที่ผู้คนสัมผัสได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยการใช้เทคโนโลยี VR และ AR ทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนอยู่ในอีกโลกหนึ่งที่เหมือนกับความเป็นจริง

สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมตาเวิร์สเคยเป็นจินตนาการที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนประเภทนิยายวิทยาศาสตร์อย่างเช่นเรื่อง  Snow Crash ของ นีล สตีเฟนสัน มาก่อน รวมทั้งในภาพยนตร์หลายเรื่อง และเกมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ จนเมื่อเทคโนโลยีพัฒนามาถึงจุดที่พร้อมจะทำให้ความฝันกลายเป็นความจริง มันจึงถูกกล่าวถึงอย่างจริงจัง

กล่าวอีกนัยหนึ่ง เมตาเวิร์สเป็นวิวัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของการเชื่อมต่อระหว่างผู้คนผ่านอินเทอร์เน็ตยุคใหม่แบบ 3 มิติ ที่มีมุมมองแบบ 360 องศา ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมเสมือนจริง ซึ่งจะพัฒนาไปสู่การเกิดสังคมเสมือนจริงที่ผู้คนสามารถพบปะสังสรรค์ ทำงาน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ผ่านชุดอุปกรณ์ VR สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อื่น ๆ ด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้เราใช้ชีวิตร่วมกันในโลกเสมือนจริงควบคู่ไปกับการใช้ชีวิตในโลกจริงได้

ปรากฏการณ์ของคำศัพท์ใหม่ “จักรวาลนฤมิต” ที่ได้รับความสนใจจากคนไทยจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้งของเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอในทุกช่วงระยะเวลาสิบปี เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต

เมื่อกว่า 30 ปีก่อน ในช่วงเวลาที่ไมโครคอมพิวเตอร์ หรือที่ต่อมาเรียกกันติดปากว่า “พีซี” (PC : Personal Computer) กำลังเข้ามาบทบาทต่อการทำงานและวิถีชีวิตคนไทย เคยเกิดปรากฏการณ์วิพากษ์วิจารณ์คำว่า “ละมุนภัณฑ์” เพราะมีข่าวว่าจะใช้เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า Software จนกลายเป็นเรื่องเล่าขานกันสืบมา

ศัพท์ใหม่คำนี้เป็นเพียงข้อเสนอที่แปลคำแบบตรงตัวโดยไม่สื่อความหมายที่แท้จริงของคำเดิม ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับ จึงไม่มีการนำมาบัญญัติอย่างเป็นทางการ แต่กระแสข่าวที่ปรากฎตามสื่อในเวลานั้นทำให้เกิดความเข้าใจว่าเป็นศัพท์ที่บัญญัติไว้ จนมีการนำไอเดียนี้มาล้อเลียนกันอย่างขบขัน เช่นเรียก Hardware เป็นคำไทยว่า “กระด้างภัณฑ์” หรือเรียก Joy Stick ว่า “แท่งหรรษา” (ตามจริงบัญญัติว่า “ก้านควบคุม”) เป็นที่สนุกสนานกันไป

โดยข้อเท็จจริงมีศัพท์บัญญัติของไทยเกิดขึ้นมานานแล้ว เพื่อสร้างคำใหม่สำหรับใช้อธิบายหรือสื่อความหมายของความรู้ใหม่ ๆ ที่แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย 

เป็นที่สังเกตว่าคำศัพท์ใหม่ที่ใช้คำภาษาไทยมีไม่มากนัก เพราะเป็นคำโดดที่มีความหมายไม่ซับซ้อน หาคำที่ตรงกับความหมายเดิมของคำนั้น ๆ ได้จำกัด เช่น คำว่า “เครือข่าย” (network) หรือ ไฟฟ้า (electricity)

ส่วนมากเป็นการนำคำในภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตตั้งแต่สองคำขึ้นไปมารวมกันด้วยวิธีสมาสหรือผสมแบบสนธิ ทำให้คำศัพท์เกิดใหม่จำนวนมากไม่สามารถสื่อความได้ทันทีทันใด เกิดอาการที่เรียกว่าต้องแปลไทยเป็นไทย หลายคำไม่เกิดการใช้แพร่หลาย หรือใช้ในเฉพาะกลุ่มอาชีพ ก็สร้างความยากลำบากในการเข้าใจสำหรับคนทั่วไป 

คำใดที่ถูกใช้บ่อยหรือใช้กันกว้างขวางจนเป็นที่คุ้นเคยก็จะเข้าใจได้โดยไม่ต้องเสียเวลาแปลอีกชั้นหนึ่ง ตัวอย่างคำที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมานานจนเราอาจเผลอคิดไปว่าเป็นคำไทย เช่นคำว่า วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ ไปรษณีย์ ทฤษฎี ปรัชญา กิจกรรม บุคลิกภาพ เป็นต้น แต่คำบางคำแม้จะใช้กันกว้างขวางแล้ว ก็ยังมีความนิยมใช้คำเดิม เช่น ธนาคาร ยังมีความนิยมเรียกว่า แบงก์ (bank) หรือคำว่า โทรทัศน์ คนไทยจำนวนมากยังนิยมเรียกว่า ทีวี ซึ่งเป็นคำย่อของ television เป็นต้น แต่คำศัพท์จำนวนหนึ่งที่ใช้ในชีวิตประจำก็ไม่มีการบัญญัติคำใหม่ จึงต้องใช้คำทับศัพท์ไปเลย เช่น เสื้อเชิ้ต (shirt) ออกซิเจน (oxygen) เว็บไซต์ (website)

ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านใดจะมีคำศัพท์เกิดใหม่เพื่ออธิบายสิ่งนั้น หรือปรากฏการณ์นั้น ๆ ตลอดเวลา อย่างเช่นคำว่า ภาวะโลกร้อน (global warming)

สำหรับคำศัพท์ที่สร้างขึ้นมาใหม่เพื่อใช้กับความรู้ทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศมักเป็นที่เข้าใจยาก เหตุเพราะจำเป็นต้องใช้คำที่สามารถสื่อความซับซ้อนได้ ในบางกรณีจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องบัญญัติด้วยคำแบบอธิบายความ เช่นคำว่า ระบบปฏิบัติการ หน่วยประมวลผล ชุดคำสั่ง โปรแกรมประยุกต์ เป็นต้น ซึ่งมีความยาวของคำจนไม่ค่อยเป็นที่นิยมใช้ จึงมักเรียกเป็นคำทับศัพท์มากกว่า (หรือเรียกแบบคำย่อ เช่น โอเอส ซีพียู) แม้กระทั่งคำว่าคอมพิวเตอร์ (computer) ที่บัญญัติว่า “คณิตกร” ก็ยังไม่ได้รับความนิยม

ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การใช้งานแบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เติบโตอย่างมาก คำว่า “อินเทอร์เน็ต” (Internet) เป็นคำใหม่ที่สำคัญอีกคำหนึ่งที่สะท้อนยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลง เบื้องหลังของการทำงานบนเครือข่ายยุคนี้ประกอบไปด้วยระบบคอมพิวเตอร์และระบบการสื่อสารเชื่อมเข้าหากัน ศัพท์ใหม่ ๆ ที่คนไทยต้องรู้จักเกิดขึ้นมาอีกมากมาย เช่นคำว่า เว็บไซต์ (website) ดาวน์โหลด-อัปโหลด (download-upload) คลิก (click) ลิงก์ (link) อีเมล (E-mail) เป็นต้น

เป็นที่สังเกตว่าผู้คนจะยอมรับและนิยมการใช้คำทับศัพท์มากกว่าศัพท์บัญญัติ ด้วยเหตุผลว่าเข้าใจได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาแปลคำดังกล่าวเป็นไทยอีก นอกจากนี้คำเหล่านี้ยังสั้นกระชับ และออกเสียงได้ไม่ยาก แต่ปัญหาที่มักเกิดอยู่เสมอคือการเขียนตัวสะกดไม่ตรงกับที่ราชบัณฑิตยสภากำหนดไว้

สำหรับคนทั่วไปเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาน่าหนักใจ แต่ในแวดวงวิชาการ สื่อสารมวลชน หรือเอกสารเผยแพร่ของหน่วยงานราชการนับเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญเพราะมิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าต่างคนต่างใช้ตามถนัดจนไม่มีมาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม ภาษาเป็นเรื่องวัฒนธรรมย่อมมีความเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม คำศัพท์หนึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ทั้งความหมายและวิธีการใช้ไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะคำใหม่ประเภทศัพท์บัญญัติ ดังกรณีคำว่า globalization ซึ่งองค์กรสื่อของไทยใช้คำว่า “โลกานุวัตร” มาก่อนที่จะเกิดศัพท์บัญญัติอย่างเป็นทางการว่า “โลกาภิวัตน์” ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าคำใดให้ความหมายที่ตรงกับคำเดิมมากกว่า แม้สื่อส่วนใหญ่จะเปลี่ยนไปใช้ตามที่บัญญัติทีหลัง แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีการใช้แบบเดิมในบางแห่ง เช่นเดียวกับคำทับศัพท์ว่า “อินเทอร์เน็ต” ที่บัญญัติขึ้นภายหลังมีการใช้ว่า “อินเตอร์เน็ต” อย่างแพร่หลาย ทำให้เรามักจะพบการเขียนทั้งสองแบบคู่ขนานกันไป ดังนั้นราชบัณฑิตยสภาจึงต้องมีการปรับปรุงคำศัพท์ที่บัญญัติขึ้นใหม่อยู่เสมอ

ทุกวันนี้ประเทศไทยมีราชบัณฑิตยสถานทำหน้าที่บัญญัติศัพท์ โดยมีคณะกรรมการบัญญัติศัพท์สาขาวิชาต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการบัญญัติศัพท์วิทยาศาสตร์ คณะกรรมการบัญญัติศัพท์แพทย์ คณะกรรมการบัญญัติศัพท์พิมพ์ หรือคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์นิเทศศาสตร์ร่วมสมัยอย่างกรณีการบัญญัติศัพท์คำว่า “จักรวาลนฤมิต” เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่เป็นผู้รู้เฉพาะเรื่องนั้นๆ บัญญัติศัพท์เฉพาะขึ้นมาใช้เอง เช่น คณะกรรมการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย คณะกรรมการพิจารณาศัพท์วิชาการศึกษาของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น โดยคำศัพท์เหล่านี้จะถูกเผยแพร่ออกมาให้รับรู้เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ตามช่องทางต่างๆ ส่วนคำใดจะได้รับความนิยมหรือไม่ก็ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

ครั้งหนึ่ง รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยหนึ่งในภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน ที่ผู้เขียนเคยร่วมงานด้วย ได้แสดงความเห็นว่า “ศัพท์เหล่านี้เป็นเพียงข้อเสนอของผู้รู้ในวงการ หากศัพท์ใดไม่ได้รับความนิยมก็คงจะตายไปเองตามธรรมชาติ

ในมุมมองของผู้เขียนคาดว่าศัพท์บัญญัติคำว่า “จักรวาลนฤมิต” คงไม่เป็นที่นิยมใช้จริงเหมือนอีกหลายคำที่ผ่านมา เพราะการเรียกทับศัพท์ว่า “เมตาเวิร์ส” น่าจะสะดวกและสร้างความเข้าใจได้มากกว่า

สมชัย อักษรารักษ์ … อดีตบรรณาธิการ ผู้มีประสบการณ์ 20 ปี ในวงการงานข่าวการตลาด-ไอที แต่มีความสนใจในประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ จนได้ใช้ทำงานสารคดีนาน 10 ปี

รถไฟความเร็วสูงไทย…หนทางอีกยาวไกล

ป้ายทะเบียนรถแบบพิเศษ ใส่ชื่อคนปนตัวเลขได้

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ไปต่ออย่างไรในยุค EV?

“ศาลพระภูมิ” ในวันที่ไม่เหมือนเดิม

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ