TH | EN
TH | EN
spot_imgspot_imgspot_img
หน้าแรกColumnistมหัศจรรย์ “มังกรน้อย”

มหัศจรรย์ “มังกรน้อย”

ไม่น่าเชื่อว่าในห้วงเวลาแค่ 15 ปี เวียดนามสามารถพลิกโฉมจากประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนที่สุด มาเป็นประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็วอันดับ 2 ของโลก เป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก ๆจนได้รับฉายาว่า ”มังกรน้อย” เบื้องหลังเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตมาได้เพราะภาคธุรกิจเอกชน ที่มีบทบาทสำคัญในการลงทุนทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

นักลงทุนต่างประเทศเป็นอีกปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ได้บุกเบิกการลงทุนในเวียดนามมากที่สุด ข้อมูลจากกระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนามระบุว่าในช่วงปี 1988-2016 เกาหลีใต้เข้ามาลงทุนเป็นเงิน 50.71 พันล้านดอลลาร์ เกิดการจ้างงานกว่า 7 แสนคน บริษัทที่โดดเด่นในการลงทุน คือซัมซุง ตามมาด้วย แอลจี อิเลคทรอนิกส์ ทั้งสองบริษัทมีโรงงานผลิตสมาร์ทโฟนและเครื่องใช้ไฟฟ้า จึงไม่แปลกใจที่เวียดนามกับเกาหลีใต้จะมีความใกล้ชิดกันเป็นพิเศษ

แต่ยุคทองการลงทุนในเวียดนามจริง ๆ คงเป็นเหตุการณ์หลังเกิดวิกฤติจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ทำให้ ประเทศจีนที่เป็น “โรงงานของโลก” โดนหางเลขอย่างแรง ในช่วง2ปีที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติทะยอยย้ายฐานออกจากจีนจนทำให้มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในจีนในปี 2023 “ต่ำ” ที่สุดในรอบ 30 ปี

บริษัทข้ามชาติปิดโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ในจีนจำนวนมาก โดยมีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิปกว่า 10,900 บริษัทที่ต้องปิดตัวลงในปี 2023 โดยเฉพาะบริษัทสหรัฐพากันย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปหาฐานการผลิตอื่นจึงทำให้ถนนทุกสายมุ่งสู่เวียดนาม เนื่องจากความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้จีน มีบุคคลากรที่มีคุณภาพ ค่าแรงต่ำ นักลงทุนส่วนใหญ่จึงหลั่งไหลเข้าไปลงทุน

รายงานของ New World Wealth และ Henley & Partners ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนเพื่อย้ายถิ่นฐานและขอสัญชาติชั้นนำในระดับนานาชาติ เปิดเผยว่า หากเวียดนามสามารถรักษาสถานะการเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก จะทำให้ในอีก 10 ปีข้างหน้า เวียดนามจะกลายเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งเติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยคาดว่า มูลค่าความมั่งคั่งจะพุ่งสูงขึ้นถึง 125%

ทั้งนี้จะเป็นการเติบโตของความมั่งคั่งที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในแง่ของรายได้ต่อหัวประชากร และจำนวนเศรษฐีที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศ ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว GDP ต่อหัวของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 2,190 ดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบันเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่ามาอยู่ที่ 4,100 ดอลลาร์ ตามข้อมูลของธนาคารโลก

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ เวียดนามถูกจับตามองว่าจะกลายเป็นโรงงานผลิตของโลก ส่งผลให้บริษัทข้ามชาติจำนวนมาก กระจายฐานการผลิตไปยังเวียดนาม โดยในปี 2566 การลงทุนโดยตรง หรือ FDI เติบโตขึ้น 32% จากปีก่อนหน้า

ปัจจัยความสำเร็จ เนื่องมาจากในปี 1986 รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อพลิกฟื้นประเทศจากระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่ไม่ประสบความสำเร็จมาเป็นสังคมนิยมแบบกลไกตลาด รัฐบาลเวียดนามที่ผ่านมาทำ3เรื่องใหญ่ ๆ คือ

เรื่องแรก รัฐบาลเวียดนามได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีกับหลายๆประเทศ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าไทยถึง 3เท่า เช่น การเข้าร่วมเขตการค้าเสรีของอาเซียน ลงนามการค้ากับสหรัฐ เข้าร่วมเป็นสมาชิกWTO และยังทำข้อตกลงการค้ากับจีน อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ในปี 2019 เข้าเป็นสมาชิกหุ้นส่วนทรานแปซิฟิก (TPP) เวียดนามอาศัยข้อตกลงการค้าเสรีเป็นยุทธศาสตร์การผลิตให้มีมูลค่าสูงขึ้น

เรื่องที่สอง รัฐบาลเวียดนามมีการปฎิรูปกฏหมายครั้งใหญ่ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคของนักลงทุนต่างชาติ โดยลดขั้นตอนการขออนุญาตให้เหลือน้อยที่สุด กฏหมายที่เก่าล้าสมัยก็ยกเลิก ในขณะที่ประเทศไทยช่วงที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ภาคเอกชนลงขันจ้างนักกฏหมายที่มีความเชี่ยวชาญที่เคยไปปฏิรูปกฏหมายให้เกาหลีใต้และเวียดนาม แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลขณะนั้น

เรื่องสุดท้าย อันนี้สำคัญมากๆรัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญกับการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ปัจจุบันเวียดนามมีประชากร 95 ล้านคน รัฐบาลได้ลงทุนการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา จนถึงระดับมหาวิทยาลัย ที่สำคัญ ตั้งแต่ม.ค. – ก.พ. 2024 เวียดนามกลายไปเป็นประเทศที่ส่งนักเรียนไปเรียนที่ต่างประเทศมากที่สุดในอาเซียนคือประมาณ 1.37 แสนคน ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 5.9 หมื่นคน มาเลเซีย 4.8 หมื่นคนและไทย 2.8 หมื่นคน

นอกจากนี้ สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย ยังรายงานว่า ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอย่างฮาร์วาดและเคมบริดจ์เริ่มกลับมาที่เวียดนามและก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมาก เช่น Tap Tap คอมมิวนิตี้เกมที่ได้รับรางวัล Uber Vietnam และ สตาร์ตอัพด้านโลจิสติกส์อย่าง Abivin เป็นต้น เด็กเวียดนามที่จบด้านวิศวกรรม ด้านไอที จากมหาวิทยาลัยชื่อดังกำลังจะกลับมาปั้นให้เวียดนามเป็น”ซิลิคอน วัลเลย์”

คุณภาพบุคลากรเวียดนามเป็นจุดแข็ง อุตสาหกรรมที่ย้ายฐานจากไทยเพราะเวียดนามมีแรงงานด้านไอที และมีค่าแรงถูกแต่ขยันขันแข็ง มีชาวเวียดนาม 48 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 95 ล้านคนหรือคิดเป็น 55 %อยู่ในวัยทำงาน การที่เวียดนามมีคนในวัยทำงานจำนวนมาก ทำให้ฐานของคนชั้นกลางกว้างขึ้น  

เหนือสิ่งใด คนในวัยทำงานหรือคนชั้นกลางเป็นวัยที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น มีความต้องการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดูดีขึ้น กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มคนที่กล้าบริโภค กล้าจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเวียดนามให้เติบโตแบบก้าวกระโดด

แม้วันนี้เวียดนามอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เทียบเท่ากับไทย แต่หากไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษกิจที่เติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพได้ อีกไม่นานเราคงจะได้เห็นมังกรน้อยอย่างเวียดนามแซงไทย ไม่ใช่แค่หายใจรดต้นคออีกต่อไป

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

วิวาทะ “จีดีพี”

เพื่อไทย VS แบงก์ชาติ คู่กัดตลอดกาล

จับตา พรรคเพื่อไทย พลิกเกม นโยบายดิจิทัลวอลเลต

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ