TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview“คนละครึ่ง” ก้าวแรก สู่สังคมไร้เงินสด

“คนละครึ่ง” ก้าวแรก สู่สังคมไร้เงินสด

“คนละครึ่ง” สำเร็จมากเกินความคาดหมาย เป็นบทพิสูจน์ความพร้อมของคนไทยในการเดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสด และไม่ใช่โครงการแรกที่รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล แต่เป็นโครงการแรกที่ประสบความสำเร็จเปรี้ยงปร้างมากจนจุดติดกระแสไร้เงินสดในระดับรากหญ้า และเป็นก้าวแรกที่จับต้องได้ของการเดินทางสู่สังคมไร้เงินสดและเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย

-เอไอเอส เปิดโซลูชันดัน SMEs ไทยรอดวิกฤติ พร้อมเติบโตแข่งขันระดับโลก
-“รัฐล้มเหลว” … ซ้ำเติมเศรษฐกิจ

สมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) คีย์แมนผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการนี้ กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ที่ โครงการ “คนละครึ่ง” นี้เป็นที่นิยมมากในหมู่ประชาชน เพราะปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน คนจะรู้สึกว่า “คนละครึ่ง” ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเขา เช่น เคยซื้อข้าวแกงจานละ 50 บาท ตอนนี้เหลือ 25 บาท

ประการต่อมา เพราะโครงการนี้เน้นที่ผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ได้ให้รายใหญ่เข้ามา การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจะไปเน้นที่ร้านค้าเล็ก ๆ แม้กระทั้งร้านค้ารถเข็น สิ่งที่ทำให้คนค้าขายเหล่านี้เข้ามาใช้ เพราะหากเขาไม่ใช้เขาจะขายสู้ร้านค้าอื่นที่เข้ามาใช้ไม่ได้ ทำให้เกิดเป็นกระแสว่าร้านอื่นใช้ ร้านข้าง ๆ ใช้ ก็ต้องใช้บ้าง เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่มีคนซื้อ เพราะค่าใช้จ่ายของคนซื้อจะต่างกันมาก

“สิ่งที่เคยมองว่าคนอายุมากจะใช้เทคโนโลยีไม่ได้ โครงการนี้พิสูจน์ให้เห็นหลายครั้งแล้วว่า ไม่จริง ถ้าหากเขาได้ประโยชน์ มีแรงจูงใจมากพอ เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ปรับตัวได้”

สำหรับ โครงการคนละครึ่ง คนใช้จ่ายที่มีอายุ 61-80 ปีมีจำนวมากกว่า 200,000 คน และใช้จ่ายต่อวันเกือบวันละ 100 ล้านบาท 

“เรื่องเทคโนโลยี อาจจะยากหน่อยสำหรับคนบางกลุ่มบางคน แต่ไม่ใช่เรื่องที่เรียนรู้กันไม่ได้ จึงเป็นความหวังที่จะผลักดันประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลมีความเป็นไปได้” 

นอกจากองค์ประกอบเหล่านี้ ยังมีเรื่อง “จิตวิทยา” เรื่อง “กระแส” ทั้ง 2 ข้าง ทั้งข้างประชาชน และข้างผู้ประกอบการค้าขายรายเล็ก ๆ พอเกิดเป็นกระแส ผู้ประกอบการที่เข้ามาร่วมจากจำนวนไม่กี่แสนราย กลายเป็นมากกว่า 1 ล้านร้านค้า คนทั่วไปพอเห็นเพื่อนใช้ ก็อยากจะลงทะเบียน อยากใช้ด้วย เพราะเห็นว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน 

การลงทะเบียนพอรู้สึกว่าต้องแย่งกันลงทะเบียน ก็เกิดเป็นกระแสอีก การเกิดกระแสขึ้น ทำให้โครงการนี้เป็นที่กล่าวขวัญ ถูกพูดถึงกันมาก คนรู้สึกว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์มาก ทั้งร้านเองและคนใช้จ่ายเอง 

“หลายร้านค้ารวมทั้งร้านค้ารถเข็นที่ผมไปพูดคุยด้วย บอกว่าก่อนที่จะมีโครงการคนละครึ่ง เขาขายได้น้อยมาก แต่มีโครงการคละครึ่งแล้ว เขาขายได้มากกว่าเดิม 2-3 เท่า ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจในระดับรากหญ้าเดินได้จริง ๆ”

“คนละครึ่ง” เฟส 1 และเฟส 2 ต่อเนื่องกัน คนที่ลงทะเบียนในเฟสแรกแล้ว เฟส 2 ได้เงินเพิ่มอีก 500 บาท โดยไม่ต้องไปลงทะเบียนใหม่ ส่วนคนที่ลงทะเบียนใหม่ในเฟส 2 ได้ 3,500 บาท ช่วงท้าย ๆ ของเฟส 1 คนเริ่มเข้ามาใช้จ่ายกันค่อนข้างมาก ต่อเนื่องมาจนถึงเฟส 2 ทำให้รวมแล้วมีคนลงทะเบียนทั้งสิ้น 15 ล้านคน วงเงินสะพัดจากโครงการนี้ทั้ง 2 เฟสรวมแล้ว 6 หมื่นล้านบาท 

การทำให้ใช้จ่ายได้ง่าย จะทำให้เข้าไปถึงคนที่ไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีก็สามารถใช้ได้ ทำให้การใช้งานไปสู่ฐานผู้ใช้งานที่ค่อนข้างกว้าง

คนไทยใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าร่วมโครงการหลาย ๆ ของรัฐบาลที่ออกมา รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน 

การออกแบบการใช้งาน (User experience) มาจากการเรียนรู้จากโครงการก่อนหน้านั้น ในเรื่องของการลงทะเบียน เป็นระบบการลงทะเบียนที่พัฒนามาตั้งแต่ “ชิม ช้อป ใช้” และมีการพัฒนาเรื่อยมาจนมาถึงโครงการคนละครึ่ง

สิ่งที่เจอปัญหาคือ OTP (One-time Password) ว่าในการส่งออก SMS เกิดติดขัดเป็นคอขวดตอนส่ง SMS ไปหาผู้ใช้ ซึ่งพยายามให้มีโอเปอเรเตอร์มากกว่า 1 ราย เริ่มจากทรูรายเดียวขยายเพิ่มเป็นเอไอเอสและดีแทค 

“SMS ที่ส่งไปยังหมายเลขดีแทค ส่งไปไม่ได้ ระบบจะส่งซ้ำ ทำให้ SMS ท่วมท่อที่ส่งออกทำให้คนได้รับ SMS ค่อนข้างช้า ส่วนแอปฯ เป๋าตัง ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย เพราะรองรับการใช้ง่ายตั้งแต่คนระดับรากหญ้าไปจนถึงคนชั้นกลางทั่วไป”

สิ่งที่ท้าทายที่สุด

สิ่งที่ท้าทายที่สุดของโครงการคนละครึ่งไม่ใช่เรื่องการออกแบบ เพราะการออกแบบมีการเรียนรู้มาก่อนแล้ว แต่เรื่องของการรองรับปริมาณธุรกรรมที่เข้ามาจำนวนมาก ต้องออกแบบเพิ่มเติม เพราะคนใช้ทั่วประเทศวันละมากกว่า 7 ล้านรายการ มีการใช้จ่ายเกิน 1 พันล้านบาทในแต่ละวัน ทำอย่างไรให้ระบบรองรับได้ โดยให้มีปัญหาติดขัดน้อยที่สุดถึงไม่มีปัญหาเลย นี่คือความท้าทาย

“โครงการคนละครึ่งเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดตั้งแต่ทำโครงการมา และมีการใช้ต่อเนื่องตลอด”

การลงทะเบียนถือว่าเป็นกิจกรรมที่มีปริมาณธุรกรรมค่อนข้างมากแต่ในระยะเวลาสั้น ๆ แต่ “คนละครึ่ง” จะเกิดธุรกรรมจำนวนมากและต่อเนื่องตลอดเวลา

หากมีเฟส 3 เฟส 4 จะต้องเตรียมให้มากขึ้นและดีขึ้นกว่านี้ ซึ่งจะส่งผลไปถึง Mobile Banking ของแต่ละธนาคารว่าต้องเตรียมตัวมากขึ้น เพราะว่าปริมาณธุรกรรมในการเติมเงินจะสูงมากขึ้นมาก ทั้ง ITMX และ Mobile Banking ของแต่ละธนาคารต้องเตรียมการด้วยเหมือนกัน

“ดูจากความสำเร็จของโครงการคนละครึ่งและจากแนวโน้ม คิดว่ารัฐบาลอาจจะมีเฟส 3 เฟส 4 ได้ และเฟส 3 เฟส 4 จะครอบคลุมคนจำนวนมากขึ้นกว่านี้ จำนวนรายการจะมากขึ้นกว่านี้เป็น 2 เท่า” 

ผลกระทบ “คนละครึ่ง”

คุโณปการของ “คนละครึ่ง” ไม่ได้มีต่อแค่ร้านค้าและประชาชน เพราะโครงการคนละครึ่งไม่ใช่แค่ร้านค้าใช้ “ถุงเงิน” ประชาชนใช้ “เป๋าตัง” ไม่ได้อยู่เพียงเท่านี้ ซึ่งทั้งเป๋าตังและถุงเงินจะมีการใช้งานตอนที่มีการใช้จ่าย แต่ก่อนจะใช้จ่ายต้องเติมเงิน เวลาคนเติมเงินจะเติมจาก Mobile Banking 

หลายธนาคารมีขีดความสามารถค่อนข้างจำกัดในการรองรับปริมาณรายการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่าหลายธนาคารต้องปรับระบบค่อนข้างมาก ซึ่งหากมีเฟส 3 เฟส 4 ธนาคารอาจจะต้องลงทุนเพิ่มเติมในการเตรียมระบบให้พร้อมรองรับการเติมเงินที่มีมากขึ้น 

หากมองภาพรวม จะเห็นว่าการที่มีโครงการคนละครึ่ง ทำให้ธนาคารต้องปรับตัวมากขึ้น ประชาชนก็ปรับตัวมากขึ้น ร้านค้าแม้กระทั่งร้านค้าเล็ก ๆ ก็ปรับตัวมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ คือ จะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้น

“เมื่อก่อนเคยเห็นที่เมืองจีนเวลาซื้อขาย แม้กระทั่งบริจาคเงินให้ขอทาน ไม่ต้องใช้เงินสด ใช้ยิง QR Code ตอนนั้นเราก็นึกไม่ออกว่าประเทศไทยจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่เราก็มีพร้อมเพย์ มีเทคโนโลยีที่ยิง QR Code ได้ แต่เราไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ แต่พอมีโครงการคนละครึ่ง คนจำนวนมาก ร้านคนจำนวนมาก ร้านค้ารถเข็นขายลูกชิ้นปิ้ง ขายผลไม้ ขายอะไร ต่าง ๆ สามารถใช้งานคนละครึ่งได้อย่างคล่องแคล่ว จึงเห็นว่าแนวโน้มที่จะผลักดันประเทศไปสู่สังคมไร้เงินสดมีความเป็นไปได้สูงมาก ถ้าทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง” 

ผลประโชยน์  คือ แรงจูงใจชั้นยอด

ก่อนทำโครงการนี้ ไม่ได้คาดคิดว่าโครงการคนละครึ่งนี้จะประสบความสำเร็จอย่างมากขนาดนี้ เพราะว่า ตอนที่ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งตอนต้น ๆ ก็ยังไม่เป็นที่นิยม แต่ตอนหลัง ๆ ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงคนลงทะเบียนเต็มแล้ว 

คนเริ่มเห็นประโยชน์และเห็นว่าโครงการนี้ หากเขาลงทะเบียนแล้ว เขาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่าใช้จ่ายของเขาต่ำลง คนขายก็ขายของได้มากขึ้น

ฉะนั้น เศรษฐกิจรากหญ้าที่หมุนเวียนอยู่ในท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่น เงินไม่ได้หายไปไหน จำนวนรอบของการหมุนเวียนจะมากขึ้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าได้จริง ๆ 

ถ้าคนเห็นประโยชน์และมีแรงจูงใจที่ดีพอ คนเรียนรู้ได้ โดยเฉพาะถ้าแอปฯ ไม่ได้ยากเกินไป หรือมีคนช่วย ซึ่ง “คนละครึ่ง” เด็ก ๆ รุ่นใหม่ใช้เป็นหมดไม่ว่าฐานะยากดีมีจน อยู่ที่ไหนของประเทศไทย ใช้เป็นหมด ซึ่งถ้าเกิดพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย อยากจะใช้ก็มีคนสอน สอนให้ใช้ครั้งสองครั้งเขาก็ใช้เป็นแล้ว ไม่ได้ยาก

คนที่ออกแบบโครงการนี้ มองว่าจะทำอย่างไรถึงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าได้ โจทย์ต้องชัด พอโจทย์ชัดแล้วจะช่วยกันคิดต่อว่าทำอย่างไรให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น ทำอย่างไรให้มีการใช้จ่ายรายวัน แต่ละวัน ไม่ใช่ได้เงินไปแล้วเอาไปเก็บหรือได้เงินไปแล้วเอาไปใช้จ่ายทีเดียว 

การกระตุ้นทุกวัน คนมีการใช้จ่ายทุกวัน ร้านค้ามีการรับเงินทุกวัน ร้านค้าสามารถมีเงินไปหมุนเวียนได้ ร้านค้าสามารถนำเงินที่ขายได้วันนี้ไปลงทุนเพิ่มในวันพรุ่งนี้ ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ นี่คือโจทย์ โจทย์ต้องตั้งให้ชัดว่าจะไปช่วยแก้ปัญหาให้ใคร ความร่วมมือจะเกิดขึ้นเมื่อเห็นประโยชน์”

 Viral Marketing

โครงการคนละครึ่งใช้เทคโนโลยีแบบนี้กระจายไปได้ทั่วประเทศ อยู่ในตรอกซอกซอยในร้านนค้าเล็ก ๆ ในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยจะเห็น “คนละครึ่ง” เป็นความสำเร็จของโครงการที่ได้รับการยอมรับสูงมาก 

“มันเป็นกระแสด้วย เรื่องใดก็ตามพอเป็นกระแส แล้วคนคิดว่าเป็นประโชยน์ เขาก็จะเข้ามาร่วมด้วย ถ้ามันไม่เป็นกระแส แม้ว่าจะเป็นประโยชน์ บางทีก็ไปได้ไม่กว้างเท่าที่ควร ถือว่าโครงการนี้มีส่วนโชคดีด้วยเหมือนกัน ที่มีกระแสในช่วงหลัง ๆ มาก”

การพูดต่อกันทำให้เกิดกระแส บางครั้งหากผลักดันโครงการมากเกินไปอาจจะถูกปฏิเสธ แต่เกิดกระแสเนื่องมาจากคนพูดต่อ ๆ ปากต่อปาก ร้านค้าก็เห็นร้านค้าอื่นขายได้มากขึ้น คนใช้จ่ายเห็นคนอื่นจ่ายน้อยกว่า เลยเกิดกระแส โดยเฉพาะกระแสในโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เป็นไวรัลมาร์เก็ตติ้ง (Viral Marketing)

โครงการนี้เป็นตัวอย่างที่จะบอกว่า การเคลื่อนตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ถ้าวางแผนดี ๆ มีความตั้งใจ จะสามารถผลักดันประเทศไปสู่แนวทางนั้นได้ เศรษฐกิจดิจิทัลไม่ได้หมายความแค่ว่าการมีโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต มี 4G และ 5G แล้วจะเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ใช่เลย 

สังคมไร้เงินสด .. พื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล

เศรษฐกิจดิจิทัล แปลว่าคนต้องเข้ามามีส่วนร่วม คนไม่ต้องเดินทางก็สามารถทำเศรษฐกิจดิจิทัลได้ คุณสมบัติที่สำคัญอีกอย่างของเศรษฐกิจดิจิทัล คือ สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นได้เร็ว เกิดขึ้นทันที ผลลัพธ์เกิดขึ้นทันที และประการต่อมาคือ ไม่มีขอบเขตของการให้บริการ จะเข้าไปสู่เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform Economy) มากขึ้น ๆ 

ถ้าเป็นสังคมไร้เงินสด ต้นทุนในการบริหารจัดการเงินสดจะลดลงอย่างมาก วันหนึ่ง ๆ ประเทศไทยจัดการเงินสดมากกว่าแสนล้านบาท การจัดการเงินสดมีต้นทุนอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่แต่ละธนาคาร ร้านค้า และแม่ค้าที่ขายของในแต่ละวัน

การไร้เงินสด (การเป็น cashless) การซื้อของ การจับจ่าย การทำกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ทันที อย่างรวดเร็ว จะทำให้เงินหมุนเร็วขึ้น 

“มีคนพูดกันว่า ถ้าเป็นสังคมไร้เงินสด จะช่วยจีดีพีของประเทศได้เกือบ 1% เพราะเงินหมุนได้เร็วขึ้นและ Cashless ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคผ่านเงินสดได้ เพราะไม่ต้องจับเงินจับแต่โทรศัพท์มือถือของตัวเอง ช่วยได้ส่วนหนึ่ง”

การจะนำประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางหนึ่งของสังคมไร้เงินสดในภูมิภาคอาเซียน ต้องประกอบกันหลายส่วน รัฐบาลจัดการเองคนเดียวก็อาจจะผลักดันไม่ได้ ทั้งนี้ ภาคธนาคารเองซึ่งเป็นส่วนสำคัญ ธนาคารแห่งประเทศไทย และโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลประกอบกัน ซึ่งตอนนี้มีแรงเหวี่ยง ถ้าทำต่อเนื่องประกอบกัน จะผลักดันไปได้ 

รัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามผลักดันเรื่องสังคมไร้เงินสดมาหลายปีแล้ว แต่ไปได้ไม่ถึงฝั่ง เพราะว่ายังไม่เกิดจิ๊กซอว์ที่ทำให้เกิดการเดินหน้าไปได้อย่างเต็มกำลัง แต่ตอนนี้มีการเอาจิ๊กซอว์มาต่อจนคนเริ่มเห็นภาพแล้ว ถึงแม้ว่ายังไม่ครบว่าภาพใหญ่เป็นอะไร แต่การเดินหน้าไปเรื่อย ๆ แบบนี้อย่างต่อเนื่อง มีส่วนทำให้ถึงเป้าหมายได้ 

“ความต่อเนื่อง” สำคัญมาก เพราะจะทำให้เกิดแรงเหวี่ยง หากทำ ๆ หยุด ๆ เหมือนกับเริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง  การทำต่อเนื่อง แปลว่าคนเริ่มใช้เป็น ก็สามารถทำให้เขาใช้อย่างอื่นได้มากขึ้น หลาย ๆ เรื่องจะสามารถต่อยอดได้ 

โครงการของรัฐบาลมีหลายโครงการที่ทำต่อเนื่องกันมา ตอนทำ “ชิม ช้อป ใช้” ตอนนั้นยังไม่เห็นภาพสังคมไร้เงินสดชัดขนาดนี้ ส่วน “เราไม่ทิ้งกัน” เป็นการแจกเงินเข้าไปในบัญชีของแต่ละคน แจกแล้วหายไปเลย ไม่เห็นผล ไม่มีการใช้อย่างต่อเนื่อง เพิ่งจะมาเห็นการใช้อย่างต่อเนื่องในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”​ และ “คนละครึ่ง” เพราะว่าทั้ง 2 โครงการนี้เป็นการใช้อย่างต่อเนื่องทุกวัน 

ทั้งคนใช้จ่าย ผู้ให้บริการต่าง ๆ มีการใช้ทุกวัน เห็นประโยชน์ทุกวัน ค่อย ๆ ซึมซับเข้าไปในสิ่งที่คนทำในกิจวัตรประจำวัน ซึ่งพอเป็นกิจวัตรประจำวันก็มีโอกาสมี่จะเดินไปถึงเป้าหมายของสังคมไร้เงินสดและเศรษฐกิจดิจิทัล 

“ทุกเรื่องเกิดจากการเรียนรู้ เพราะทุกเรื่องเป็นเรื่องใหม่ ถ้าไม่มีโครงการแรก เราก็ไม่สามารถเรียนรู้จนถึงปัจจุบันได้” 

การเริ่มต้นในโครงการ ชิม ช้อป ใช้ ได้ให้บทเรียนหลายอย่าง ทั้งเรื่องการออกแบบระบบ ออกแบบการใช้งาน การเตรียมการ การมองไปข้างหน้า การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลต้องสามารถทำให้บริการไร้ขอบเขต ด้วยการทำให้เป็นแพลตฟอร์ม ที่ให้บริการ และที่ให้คนอื่นมาร่วมให้บริการได้ อันนี้จะเป็นแพลตฟอร์มในโลกยุคดิจิทัลที่มีบริการหลากหลาย ที่ไม่ใช่คนสร้างแพลตฟอร์มเป็นผู้ให้บริการรายเดียว ต้องมีผู้อื่นเข้ามาร่วมให้บริการได้ 

“จะเห็นการต่อยอดไปในอีกหลายเรื่อง ทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมกัน การจะขยายตัวให้ได้มาก ต้องให้ภาคเอกชนยอมรับ ไว้ใจ และเข้ามาร่วมกัน ภาครัฐต้องเป็นผู้บุกเบิกและส่งเสริม” 

ปี 2564 จะมีโครงการทำนองนี้มากขึ้น เพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่สังคมไร้เงินสด ซึ่งปัจจุบันแอป​ฯ เป๋าตัง มีคนใช้งานอยู่มากกว่า 20 ล้านคน

ในเป๋าตังมี G-Wallet (Wallet ของภาครัฐ และโครงการรของภาครัฐในหลาย ๆ เรื่อง) และมี Wallet ตัวอื่น ๆ ด้วย 

Wallet ไม่ใช่แค่ e-Money แต่เป็นประเภทแต่ละประเภทของบริการ อาทิ สบม.วอลเล็ต ซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล มีการซื้อขายพันธบัตรแรกและตลาดรอง ทำให้เกิดสภาพคล่องของการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล เป็นทางเลือกหนึ่งของประชาชนที่อยากออมสามารถมาซื้อได้ หากต้องการใช้เงินก็สามารถขายได้ 

“เราเน้นการเข้าไปในชีวิตประจำวันของประชาชนมากขึ้น ๆ ในบริการที่หลากหลาย ไม่ได้เน้นเรื่องธุรกรรมทางการเงินอย่างเดียว อาจเป็นการจับจ่ายใช้สอย สุขภาพ การซื้อของออนไลน์ และอีกหลายเรื่องที่จะมีเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ขึ้นกับความร่วมมือกับหลายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน”

เรื่องเงิน เป็นพื้นฐาน เพราะกิจวัตรประจำวัน คือ การใช้จ่ายเงิน บริการอื่น ๆ ที่เติมเข้าเพื่อทำให้ชีวิตของคนทำอะไรได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น 

“ปีนี้ไม่แน่ใจว่ารายใหญ่เข้ามาให้บริการบนแพลตฟอร์มนี้ไหม แต่คิดว่าจะเริ่มมีเข้ามาพูดคุยกันเพื่อจะให้บริการในอนาคต ปีนี้เป็นปีที่ต้องให้เห็นว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลเริ่มเกิด มีบริการที่หลากหลาย และเป็น Opened Platform ที่ต่อยอดได้ ภาพนี้ต้องเกิดได้ในปีนี้ การเสริมบริการเข้ามา บางรายอาจจะเร็ว บางรายอาจจะใช้เวลา จะเห็นผลในปีต่อ ๆ ไป”

“ความเชื่อใจ (Trust) แต่ละคนต้องพิสูจน์ตัวเองว่าสิ่งที่ทำ ทำเพื่อประโยชน์ใคร และสิ่งที่ทำ ทำได้ตามที่อยากจะเห็นหรือไม่ ผลงานที่ผ่านมาจะเป็นตัวบอกว่าคนอื่นเชื่อเราได้แค่ไหน เขาไม่ได้เชื่อเราจากคำพูด เขาจะเชื่อเราจากสิ่งที่เราทำ” 

แม้ว่าเอกชนรายใหญ่อาจจะมีแพลตฟอร์มของตัวเองก็ยังสามารถมาต่อยอดร่วมมือกับแพลตฟอร์มนี้ได้ เพราะต่อให้เป็นบริษัทใหญ่เขาอาจจะมีคนใช้งานไม่มากเป็นระดับ 20 ล้านคน จะเห็นก็แต่ Mobile Banking ที่เห็นคนใช้งานระดับมากกว่า 10 ล้านคน 

แพลตฟอร์มที่มีคนใช้งานระดับ 40 ล้านคน ต้องช่วยกันสร้าง เป็นไปไม่ได้ที่จะมีหลาย ๆ แพลตฟอร์มในประเทศไทย และเป็นแพลตฟอร์มของคนไทย และแต่ละแพลตฟอร์มจะมีคนใช้งาน 40-50 ล้านคน เป็นไปไม่ได้ในขณะนี้ 

“เราจะทำให้ได้ถึงระดับ 30-40 ล้านคน และเกิดประโยชน์กับหลาย ๆ พันธมิตรที่เข้ามาร่วม” 

โควิด-19 คือ ตัวเร่ง

โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น เร็วขึ้น ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ถ้าไม่เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลประเทศจะแข่งขันยาก เพราะประเทศอื่นเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ต้นทุนต่ำกว่า การหมุนเวียนของเงินเร็วกว่า การหมุนเวียนเศรษฐกิจเข้าเร็วกว่า 

เศรษฐกิจดิจิทัล ต้องทำดิจิทัล 3 เรื่อง คือ Digital ID, Digital Currency และ Digital Paper เพราะทำให้ไม่จำเป็นต้องเห็นหน้ากัน ไม่ต้องเดินทาง สามารถทำธุรกรรมได้แทบจะทั้งหมด ไม่เฉพาะภายในประเทศแต่ทำธุรกรรมข้ามประเทศได้ 

เริ่มต้นเห็นแนวโน้มว่าสังคมไร้เงินสดและเศรษฐกิจดิจิทัลไปถึงรากหญ้าได้ การที่เห็นภาพนี้ได้ หมายความว่า มาได้กว่าครึ่ง จะเห็นการใช้จ่ายในรูปแบบไร้เงินสดได้กระจายไปทั่วประเทศ ทั่วทั้งตำบฃล ทั่วทั้งหมู่บ้านในประเทศไทย อยู่ที่ว่าจะทำให้มันเกิดขึ้นต่อเนื่องและเห็นผลได้จริงจังแค่ไหน

“ที่เคยบอกว่าคนไทยไม่ใช้เทคโนโลยี ไม่มีความรู้ เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ไม่มีมือถือ สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคที่เล็กลง ๆ มากขึ้นทุกที และไม่ควรมองเรื่องนี้เป็นนอุปสรรคแล้ว เป็นปัญหาที่แก้ได้จัดการได้ ตัวยาก ไม่ใช่ทัศนคติประชาชน สำหรับประชาชนหากมีแรงจูงใจที่ดีเขาไปได้ ตัวยาก คือ ทัศนคติของคนที่ออกนโยบาย ทัศนคติของนักการเมือง ทัศนคติของคนที่มีอำนาจจัดการ ซึ่งตอนนี้เริ่มเปลี่ยนไปมาก” 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ