TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“รัฐล้มเหลว” ... ซ้ำเติมเศรษฐกิจ

“รัฐล้มเหลว” … ซ้ำเติมเศรษฐกิจ

กรณีโควิด-19 กลับมาระบาดระลอกใหม่หลังจากซาลงไประยะหนึ่ง แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมายก็ตาม แต่สิ่งที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ นั่นคือ การระบาดรอบใหม่นี้มาเร็วแบบกระพือโหมราวกับไฟลามทุ่งเป็นเพราะ “ความล้มเหว” ในด้านบริหารจัดการของรัฐบาลทั้งสิ้น

ว่ากันตั้งแต่เรื่อง “วิสัยทัศน์” ต้องบอกว่าล้มเหลว เพราะเรื่องอย่างนี้สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะตั้งรับอย่างไร ในกรณีของแรงงานต่างชาติมีคนออกมาเตือนมาตลอดว่า

เมื่อคราวรัฐบาลประกาศ “ล็อกดาวน์” เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว มีแรงงานต่างชาติส่วนหนึ่งต้องกลับบ้าน เพราะถูกเลิกจ้าง และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจะต้องกลับมาใหม่ แต่รัฐบาลกลับไม่มีมาตรการป้องกัน ด้วยการจับตรวจและยังปล่อยให้หลุดเข้ามาได้

แม้กระทั่งแรงงานพม่าที่อยู่ทำงานในสมุทรสาครก็ไม่มีการ “สุ่มตรวจ” ปล่อยให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแพร่ระบาด ขณะที่รัฐบาลและศบค.มัวแต่ดีใจที่ตัวเลขเป็น 0 โดยไม่เฉลียวใจกับแรงงานต่างชาติราว 4 แสนคนไม่มีการตรวจ ปล่อยให้เป็นขยะซุกใต้พรม ต่างจากสิงคโปร์ที่ระดมตรวจแรงงานต่างชาติ ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยพุ่งกระฉูด 5 หมื่นกว่าคน ทั้งที่คนสิงคโปร์ติดโควิด-19 แค่ 4 พันกว่าคนเท่านั้น

ตรงนี้สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาล 2 ประเทศ รัฐบาลสิงคโปร์มองว่าแรงงานต่างชาติเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการการขายแรงงานราคาถูก ทำให้ต้นทุนในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์สู้คนอื่นได้ ดั้งนั้น จะต้องดูแลแรงงานเหล่านี้อย่างดี

นอกจากนี้ รัฐบาลยังล้มเหลวในเรื่อง “การบริหารจัดการ” จะเห็นว่าการจัดการครั้งนี้ รัฐบาลให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดมีส่วนในการตัดสินใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่การให้อำนาจไม่ชัดเจนว่า “กรอบปฏิบัติ” อยู่ตรงไหน ทำให้มาตรการแต่ละจังหวัดในช่วงปีใหม่ต่างกันแบบสุดโต่ง บางจังหวัดให้ “ล็กคดาวน์” แต่บางจังหวัดให้ “เคาท์ดาวน์” เกิดความอิหลักอิเหลื่อ

หรือกรณี “หักกัน” ระหว่าง รัฐบาลกับ “กรุงเทพมหานคร” เมื่อกรุงเทพมหานครออกประกาศในวันที่ 4 มกราคม “ห้ามนั่ง” ในร้านอาหารตั้งแต่ 1 ทุ่มเป็นต้นไป ต่อมาเย็นวันเดียวกัน รัฐบาลก็ประกาศว่า นั่งทานในร้านได้ถึง 3 ทุ่ม

การที่รัฐบาลมีคำสั่งออกมาแก้ประกาศเดิมอย่างนี้ย่อม ทำให้ผู้ปฎิบัติงานเกิดความสับสน ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการที่ไม่มีความชัดเจน

ความล้มเหลวประการต่อมา คือ “ด้านการสื่อสาร” จากกรณี “สาธิต ปิตุเตชะ” รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข ออกมาขอบคุณนายกฯ และศบค.ที่พิจารณาล็อกดาวน์สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทรบุรี และตราด พอวันรุ่งขึ้นโฆษกศบค.ก็ออกมาบอกกับประชาชนว่าไม่ใช่ล็อกดาวน์ เรียกว่า “พื้นที่ควบคุมแบบเข้มงวด”

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มกราคม โฆษกศบค. ก็แถลงว่า ต่อไปนี้ใครติดเชื้อโควิด-19 แล้วไม่มีแอปฯ หมอชนะ จะมีโทษติดคุก อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา “อนุทิน ชาญวีรกุล” รัฐมนตรีสาธารณสุข ก็ออกมาบอกว่า จะมีการแก้ไขคำสั่งให้ใช้เอกสารแทนได้ การไม่โหลดแอปไม่มีความผิด

ทั้งหมดนี้ เกิดจากคนทำงานในรัฐบาลไม่มีการสื่อสารกันก่อน จึงออกมาสื่อสารกับประชาชนแบบผิดเพี้ยนสร้างความสับสนไปหมด

สำคัญที่สุด คือ “ความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมาย” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบ่อนและเรื่องแรงงานข้ามชาติลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย โดยผู้มีอิทธิพลและคนของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง จนถึงวันนี้ รัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินจับกุม “นายหน้า” และ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และยังไม่สามารถจับ “เจ้าของบ่อน” มาลงโทษทั้งที่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของบ่อน

ในบรรดาแหล่งที่เป็นต้นเหตุการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ “บ่อนพนัน” อันตรายที่สุด เพราะนักพนันจะตระเวนเล่นไปทุกที่และไม่ยอมบอกไทม์ไลน์เพราะทำผิดกฎหมาย

ทั้งหมดนี้ คือ ความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐบาล ได้สร้างความเสียหายเศรษฐกิจแบบซ้ำซาก ขณะที่วิกฤติรอบที่แล้วเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ผู้ประกอบการทยอยปิดกิจการ ส่วนใหญ่ยังใช้หนี้ไม่หมด ต้องมาเจอวิกฤติซ้อนวิกฤติเข้าไปอีก ทำให้เดิมที่คาดว่าปี 64 เศรษฐกิจจะโตราว 4% ก็น่าจะไปไม่ถึง อย่างดีก็น่าจะอยู่ราว ๆ 2% กว่า ๆ และคาดกันว่าราวปลายปี 65 เศรษฐกิจไทยถึงจะกลับมาโตเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด-19

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากความมักง่ายของคนบางกลุ่มและความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐอย่างมิอาจปฏิเสธได้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ