TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyระบบงานซับซ้อน หลากหลาย กระตุ้นความตื่นตัว "Enterprise Architecture" ในองค์กร

ระบบงานซับซ้อน หลากหลาย กระตุ้นความตื่นตัว “Enterprise Architecture” ในองค์กร

สถาปัตยกรรมองค์กร (EA หรือ Enterprise Architecture) ไม่ใช่เรื่องใหม่ของแวดวงไอที แต่ล่าสุดหลายองค์กรทั้งรัฐและเอกชนกำลังตื่นตัวศึกษาและจัดทำอีเอกัน หลังพบระบบงานไอทีมีความซ้ำซ้อน หลากหลายเพิ่มขึ้น

ไพโรจน์ ร่วมวิบูลย์สุข ซีอีโอ บริษัท ไอโนว์พลัส จำกัด (IKnow Plus) ซึ่งมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมไอซีทีมากว่า 30 ปี เชี่ยวชาญเรื่องอีเอเป็นอย่างดี แนะนำถึง EA ว่า มาจาก 2 คำ คือ Enterprise หรือองค์กร กับ Architecture สถาปัตยกรรมที่จะมาขับเคลื่อนธุรกิจขององค์กรไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใด จะเป็นค้าปลีก ยานยนต์ การเงินการธนาคาร ล้วนต้องมีสถาปัตยกรรมเข้ามาช่วยขับเคลื่อน

เปรียบเทียบสถาปัตยกรรมเหมือน Building Blocks หรือการสร้างตึกสร้างบ้านต้องมีวัตถุดิบมาประกอบ ซึ่งในส่วนของอีเอไม่ใช่เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเดียว แต่ต้องมองถึงธุรกิจควบคู่ไปด้วยกัน นำมาช่วยการขับเคลื่อนธุรกิจขององค์กร

อีเอ พิมพ์เขียวขับเคลื่อนองค์กร

นิยามของอีเอมีหลากหลาย เช่น เอ็มไอที พูดถึงการจัดระเบียบองค์กรธุรกิจในแง่กระบวนการทางธุรกิจและไอทีให้สัมพันธ์กัน เชื่อมโยงกัน กำหนดมาตรฐานให้สอดคล้องกันเพื่อสร้างโมเดลการบริหารจัดการขององค์กร หรือ SearchCIO.com มองนิยามอีเอเป็นเหมือนพิมพ์เขียวมาวางโครงสร้างองค์กร กระบวนการต่าง ๆ ในการทำงานขององค์กร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนองค์กรทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ดังนั้น อีเอ จึงเป็นทั้งกรอบ แนวทาง ขั้นตอนวิธี กฏกติกา พิมพ์เขียว และเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนองค์กร

ที่สำคัญของการทำอีเอคือ ต้องรู้ตัวเองว่าเป็นธุรกิจแบบไหน จะได้วางสถาปัตยกรรมตั้งแต่ต้นให้มีรากฐานมั่นคง เพราะรูปแบบที่แตกต่างทำให้มีวัตถุประสงค์และข้อจำกัดที่ต่างกัน ถ้ามองเทคโนโลยีสารสนเทศก็ต้องมองว่า หน้าตาของเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีอยู่หน้าตาเป็นอย่างไร จะได้สอดคล้องต่อการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

เริ่มต้นดี ต่อยอดได้สะดวก

“หากเราคำนึงถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมตั้งแต่เริ่มต้นจะนำไปสู่รากฐานที่มั่นคง ฉะนั้นการต่อยอดจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

พื้นฐานหลักของอีเอ คือ แนวคิดที่เป็น Architectural Thinking มาประยุกต์ใช้ในองค์กรเพื่อกำหนดกรอบ แนวทาง การวางแผนให้เป็นระเบียบ เหมือนการออกแบบบ้าน ต้องคิดถึงห้องต่าง ๆ ก่อนจะรวมเป็นบ้านทั้งหลัง ต้องคิดถึงสิ่งแวดล้อมของบ้าน และจากบ้านหลาย ๆ หลังประกอบกันเป็นเมือง ซึ่งการเป็นสถาปนิกต้องสร้างมุมมองเรื่องพวกนี้เป็น 

เช่นเดียวกันในมุมของไอทีก็ต้องมองซอฟต์แวร์ซึ่งมีความสามารถหลากหลาย มองระบบใช้งาน เช่น อีอาร์พี บัญชี ซีอารเอ็ม ในองค์กร และมององค์กรว่าเป็นธุรกิจประเภทใด 

“คือต้องมองตัวเองก่อน เช่น การจะสร้างสะพาน จะสร้างสะพานสำหรับทำอะไร สะพานข้ามคลอง อาจสร้างแบบง่าย ๆ รูปแบบไม่ซับซ้อน สะพานข้ามแม่น้ำขนาดใหญ่ ต้องคำนวณโครงสร้าง คำนึงถึงรถยนต์ที่ต้องขับผ่าน ฉะนั้น ต้องรู้ก่อนว่า เรากำลังจะทำอะไร จะสื่อให้บุคลากรต่าง ๆ ในองค์กรเข้าใจตรงกัน”

ทั้งนี้ กลยุทธ์ขององค์กรเป็นส่วนที่จะสร้างธุรกิจ มองว่าธุรกิจจะโตอย่างไรซึ่งเทคโนโลยีมีส่วนจะช่วยทำให้เติบโต คือกลยุทธ์การนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งทุกวันนี้มีเทคโนโลยีหลากหลาย และมีดิสรัปทีฟเทคโนโลยีอีกมาก ซึ่งเทคโนโลยีนำมาใช้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางธุรกิจขององค์กร ฉะนั้นก่อนจะทำธุรกิจอะไรต้องเข้าใจสิ่งที่เราจะเดินก่อน ต้องดูว่าระบบที่มีอยู่เดิมสอดคล้องกับสิ่งที่จะทำต่อไป และมีประสิทธิภาพเพียงใด

ช่วยให้แผนยุทธศาสตร์เดินถูกทาง

อีเอ คือ สิ่งที่มาช่วยวางแผนให้เกิดประสิทธิภาพในการกำหนดกรอบแนวทางการขับเคลื่อนกลยุทธ์ หรือยุทธศาสตร์ขององค์กรให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง โดยอีเอจะทำให้ทราบว่า ไอทีที่ใช้อยู่ในองค์กรยังทันสมัย ใช้งานได้ หรือล้าสมัยไปแล้ว หรือกรณีองค์กรใหม่ อีเอจะช่วยการวางแผนว่าจะใช้ไอทีตรงส่วนไหนเป็นตัวเริ่มต้นก่อนนำเข้ามาใช้ 

อีกส่วนคือการกำหนดว่าปลายทางที่จะไปเป็นอะไร อาจเป็น 3-5 ปีข้างหน้า ทิศทางธุรกิจจะเติบโตไปทางไหนซึ่งจะสอดคล้องกับพันธกิจองค์กรที่กำหนดไว้ โดยนำมากำหนดโครงสร้างไอที และสภาพแวดล้อมปฏิบัติการทางธุรกิจจะใช้ไอที โซลูชันอะไร

อีเอเกี่ยวข้องกับธุรกิจ กระบวนการ คน และไอที ซึ่งมีมิติหลายระดับ แตกเป็นมิติย่อย ๆ ตามเรื่องงาน ข้อมูล โครงสร้างพื้นฐาน มองโครงสร้างเป็นระบบระเบียบเพื่อกำหนดรูปแบบการวางแผน ใช้เป็นกรอบแนวทางเพื่อการอิมพลีเมนต์ต่อไปข้างหน้าเป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้ รวมถึงจะเปลี่ยนระบบไอทีที่มีอยู่เดิมไปสู่ความทันสมัยได้อย่างไร

หัวใจหลักของอีเอคือการสร้างมุมมองด้านต่าง ๆ ขึ้นมา ทั้งด้านธุรกิจ ข้อมูล อินฟอร์เมชัน แอปพลิเคชัน เทคโนโลยี ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา บางช่วงเปลี่ยนเร็ว และนับวันจะยิ่งเร็วขึ้น ฉะนั้น แนวคิดในแง่ธุรกิจเองจะมีวิธีการใหม่ ๆ ในการกำหนดกระบวนการต่าง ๆ มีโมเดลการกำหนดกลยุทธ์ 

ปัจจัยแวดล้อมมากมายต้องคำนึง

จากอดีตพูดถึง SWOT อย่างเดียว หลัง ๆ มี BMC Business Model Canvas เข้ามาประกอบใช้ มีเครื่่องมือใหม่ ๆ เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกันในมุมมองของระบบข้อมูล (information system) การออกแบบสมัยใหม่ คอนเซ็ปต์ agile, Micro Service หรือ API เข้ามาในมุมของแอปพลิเคชัน ส่วนมุมข้อมูล เช่น AI Big Data เทคโนโลยีความปลอดภัย บล็อกเชน หรือโครงสร้างพื้นฐาน 5จี คลาวด์ Metaverse ที่เฟซบุ๊ก ไมโครซอฟท์ ต่างผลักดันให้เกิดขึ้น

จะเห็นว่า เทคโนโลยีมีสิ่งใหม่ ๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เป็นมุมมองบิสิเนส เดต้า แอปพลิเคชัน เทคโนโลยี และแตกย่อยเข้าไปในเรื่อง Security หรือความปลอดภัย ซึ่งทุกสิ่งล้วนต้องนำมากำหนดกรอบพิมพ์เขียวขององค์กร

การจะทำพิมพ์เขียวสถาปัตยกรรมขึ้นมาได้ ต้องกำหนดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์องค์กรใส่เข้ามาเพื่อการออกแบบ ตั้งแต่การกำหนด Business Capability Map ความสามารถในเชิงธุรกิจขององค์กรว่าเน้นด้านไหน รวมถึงโครงสร้างองค์กรที่จะขับเคลื่อนในอนาคต ข้อมูลผลิตภัณฑ์ โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อใช้ออกแบบทำเป็นระบบงานจริงซึ่งอาจนำเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ เช่น โรบอต เอไอ

“บางทีต้องมีมุมของบิสิเนสโดยมองจากภาคไอทีมาเป็นสถาปัตยกรรมเชิงธุรกิจ ต้องมองกลยุทธ์ในมุมการตลาด ธุรกิจที่จะขับเคลื่อนต้องการทำอะไร กลยุทธ์ที่จะใช้คืออะไร ในมุมของไอทีต้องสร้างระบบที่สเกลได้ รองรับการเปลี่ยนแปลงได้เร็ว ต้องนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดทั้งพนักงาน คู่ค้า และตัวลูกค้าเอง จะได้รู้ว่าเรากำลังทำอะไร ลูกค้าคือใคร และออกแบบให้มีฟังก์ชั่นเชิงธุรกิจเรื่องอะไรเป็นภาพธุรกิจ (Business Architecture) ให้เป็นคีย์หลักในการใช้กำหนดมุมมองเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะสร้างขึ้น และวางแผนให้สอดคล้องเป็นภาพเดียวกัน”

อีเอเกิดมาหลายสิบปี แต่ ณ วันนี้เริ่มมีบทบาทขึ้นเพราะวิวัฒนาการไอทีเริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมอยู่่ในฐานะสนับสนุนธุรกิจมากกว่าใช้ขับเคลื่อนโดยตรง แต่ปัจจุบันไอทีกลายเป็นสร้างสินค้า หรือบริการใหม่ ๆ ได้ด้วย อีเอจึงมีบทบาทมากขึ้นในการเข้าใจโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศที่ปัจจุบันใช้อยู่ เพื่อทำให้ตอบสนองธุรกิจได้เร็วกว่าเดิมจากการเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล รองรับอนาคต 3-5 ปีข้างหน้า

ปัจจุบันใช้ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ใช้ขับเคลื่อน องค์กรที่ทำแมน่วลในระบบแอนะล็อกจะเข้าสู่โลกดิจิทัลต้องนำกระบวนการเหล่านี้ดิจิไทซ์เข้าระบบเป็นข้อมูลเชิงเทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาใช้และประมวลผล วิเคราะห์ได้ รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ เข้าสู่ดิจิทัลไลเซชัน โดยใช้ช่องทางดิจทัลใหม่ ๆ จนกระทั่งถึงขั้นสร้างผลิตภัณฑ์ หรือบิสิเนสโมเดลใหม่ ๆ มาขับเคลื่อนดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชันได้อย่างมีความสามารถ ซึ่งต้องมองโรดแมปตัวเองว่าอยู่ตรงไหน ก็ใช้ตรงนั้นค่อย ๆ วางแผน โดยดึงดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชัน เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ธุรกิจ

คนช่วยทำอีเอต้องประสานงานได้

คนที่จะมาช่วยทำอีเอ อาจไม่ต้องเชี่ยวชาญลงลึกด้านใดด้านหนึ่ง แต่ต้องเป็นคนประสานพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านได้ และรู้เรื่องธุรกิจด้วย เพราะจะต้องทำงานร่วมกันทั้งฝ่ายไอทีและธุรกิจ ตลอดจนทีมกลยุทธ์ด้านต่าง ๆ ภายในองค์กร โดยอาจสร้างคณะทำงานที่ประกอบด้วยคนจากหลายภาคส่วนเข้าร่วม มาทำหน้าที่กำกับดูแล

ช่วยลดค่าใช้จ่าย

ประโยชน์ของอีเอที่เห็นได้ชัดคือ ช่วยลดค่าใช้จ่าย บางองค์กรลดลงมากกว่า 50% จากการจัดการหนี้เชิงเทคโนโลยี  (Technical Debt) ซึ่งถ้าไม่มีอีเอก็จะไม่ทราบว่าการลงทุนเทคโนโลยีขององค์กรนั้นได้สร้างหนี้ไปแล้วเท่าไร 

การเกิดหนี้เท่ากับเสียค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เงินไปชำระหนี้ที่เกิดขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายจะถูกหรือแพงขึ้นกับว่าเรารู้ตัวเราเองแค่ไหน และเราสามารถปรับตัวเองได้เพียงใด โดยยังต้องตอบสนองต่อการตอบโจทย์ธุรกิจที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้เร็วเพียงใด ไม่ว่าจะสร้างบริการ หรือสร้างผลิตภัณฑ์ 

ทั้งนี้ ขึ้นกับเทคโนโลยีที่มีอยู่ปรับตัวได้เร็วแค่ไหน ถ้าเจอปัญหาภายหลังจากลูกค้ามากขึ้น เทคโนโลยีที่ใช้อยู่ปรับตัวไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องรื้อทำใหม่ เท่ากับต้นทุนที่เกิดขึ้นต้องสูง ฉะนั้นจะเห็นว่าอีเอคือการพยายามเข้ามาช่วยให้ประเมินตัวเอง ในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน ในมิติต่าง ๆ โดยให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่กำลังดำเนินไป

อย่างไรก็ตาม อีเอไม่ใช่สิ่งที่ทำแล้วจบ แต่ต้องทำต่อไปเรื่อย ๆ และองค์กรทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ หรือสตาร์ตอัพล้วนทำอีเอได้

อีเอช่วยเพิ่มมูลค่าองค์กร

ผศ.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าอีเอจะช่วยขยายธุรกิจให้เพิ่มมูลค่าแก่องค์กร จากปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้ธุรกิจมีช่องทางหลากหลายกว่าเดิม แพลตฟอร์มที่เคยทำเพื่อองค์กรจะเกี่ยวพันกับหน่วยงานภายนอก ดิจิทัลกลายเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์องค์กร ดังนั้น แทบทุกเซ็กเตอร์ได้รับประโยชน์จากดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชัน

ล้อมกรอบ

สมเกียรติ อึงอารี รองประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาดิจิทัล ผู้จัดงานสัมมนาเล่าถึง EA: Enterprise Architecture ว่า เป็นเรื่องพื้นฐานที่มีมา 30-40 ปีแล้ว แต่ทั้งภาครัฐและเอกชนเพิ่งให้ความสนใจจะทำอีเอในช่วงนี้ เพราะความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยียุคปัจจุบัน อดีตแต่ละหน่วยงานอาจใช้เพียงแอปพลิเคชันเดียว แต่ปัจจุบันหน่วยงานบางแห่งมีถึง 300 แอปพลิเคชันที่ต้องใช้งาน การจัดทำอีเอตั้งแต่เริ่มแรกจึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ มูลนิธิจึงได้จัดสัมมนาออนไลน์เรื่อง EA: Enterprise Architecture ให้แก่ผู้สนใจทั้งภาครัฐและเอกชนรายเล็กรายใหญ่เข้าร่วมรับฟังประมาณ 300 คน

ดีแทค ลุยสร้างมาตรฐานปลอดภัยบนโลกออนไลน์ ชวนรัฐ-เยาวรุ่นไทยร่วมยุติ “ไซเบอร์บูลลี่”

มุมมอง ‘ท๊อป จิรายุส’ ต่อ “ภาษีคริปโท” แนะกม.ไทยต้องเปลี่ยนให้ทันโลก สร้างโอกาส ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ