TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessCMMU เผย เพศชาย และคน Gen Y จัดเป็น Risk Lover ชอบเสี่ยง กล้าได้กล้าเสีย ชี้แบรนด์ต้องปรับกลยุทธ์...

CMMU เผย เพศชาย และคน Gen Y จัดเป็น Risk Lover ชอบเสี่ยง กล้าได้กล้าเสีย ชี้แบรนด์ต้องปรับกลยุทธ์ อิงพฤติกรรมผู้ที่ชอบเสี่ยง

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) รายงานข้อมูลการตลาดรูปแบบเอาใจคนชอบเสี่ยงที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน จากข้อมูลงานวิจัย “ถอดรหัสความคิดพิชิตใจคนชอบเสี่ยง Marketing to Risk lover” พบ 3 อันดับที่คนไทยชอบเสี่ยงมากที่สุด ได้แก่ เสี่ยงที่จะลุ้น เทียบเป็นจำนวนประชากรสูงถึง 30 ล้านคน ตามด้วย เสี่ยงที่จะลงทุน และเสี่ยงที่จะเซอร์ไพรส์ โดยกลุ่ม Gen Y และเพศชาย มีความเป็น Risk Lover ชอบความเสี่ยง กล้าได้กล้าเสียมากที่สุด พร้อมแนะกลยุทธ์ใหม่สอดรับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการหรือนักการตลาด กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารรูปแบบ  Chef’s Table และกลุ่มนักลงทุนหรือบริษัทด้านการลงทุน สร้างโอกาสให้ธุรกิจดีขึ้นกว่าเดิมและอยู่รอดต่อไป

ผศ. ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า ซีเอ็มเอ็มยู ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างและวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัย “ถอดรหัสความคิดพิชิตใจคนชอบเสี่ยง Marketing to Risk lover” เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมที่ชอบเสี่ยงและนำมาสู่การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค และมีประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ประกอบการหรือนักการตลาดที่ให้ความสําคัญต่อการทำการตลาดแบบเสี่ยงโชค เพื่อปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารรูปแบบ Chef’s Table เพื่อให้ทราบถึงแนวโน้มพฤติกรรมการชอบทานอาหารของผู้บริโภคในปัจจุบัน และกลุ่มนักลงทุนหรือบริษัทด้านการลงทุนที่ต้องการทราบถึงทัศนคติและทางเลือกในการลงทุนของนักลงทุนในปัจจุบัน

โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,000 คน และสัมภาษณ์เชิงลึก 40 คน โดยกลุ่มตัวอย่าง แบ่งสัดส่วน เพศหญิง 71.5% (จำนวน 716 คน) เพศชาย 23.6% (จำนวน 236 คน) LGBT+ 5% (จำนวน 50 คน) และแบ่งตามเจนเนอเรชัน ดังนี้ Gen Y 54.6% (จำนวน 547 คน) Gen Z 24.8% (จำนวน 248 คน) Gen X 12% (จำนวน 120 คน) และ Baby Boomer 8.7% (จำนวน 87 คน)

โดยผลการวิจัย “พฤติกรรมความเสี่ยงของคนไทย” พร้อมประเด็นคำถามว่า คนไทยชอบเสี่ยงจริงหรือไม่? วิเคราะห์ได้ว่า เพราะสังคมไทยมีความเชื่อเรื่องโชคลาง การพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นหลัก สาเหตุมาจากความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ค่าครองชีพที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่รายได้ลดลง ทั้งยังมีสภาวะโรคระบาด ทำให้ประชาชนหันมาพึ่งสิ่งเหล่านี้เพื่อเป็นแรงผลักดันและเป็นแรงจูงใจ

โดยปัจจัยด้านความเชื่อเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค เนื่องจากความเชื่อจะเป็นตัวกำหนดความตั้งใจและพฤติกรรม เพราะฉะนั้นความเชื่อเรื่องโชคลาง ชอบเสี่ยงโชค ลุ้นโชค จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคนำมาใช้จัดการกับความไม่แน่นอนที่กำลังเผชิญอยู่และเป็นกำลังใจที่ทำให้ผู้บริโภคคลายความกังวลกับสภาวะความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น

ขณะที่ 3 อันดับที่คนไทยชอบเสี่ยงมากที่สุดจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง พบว่า 

  1. เสี่ยงที่จะลุ้น 46.2% ถ้าเทียบเป็นจำนวนประชากร สูงถึง 30 ล้านคน เช่น การลุ้นหวย การลุ้นรางวัลใหญ่จากการชิงโชค ยกตัวอย่าง โออิชิ ทำกิจกรรมส่งเลขใต้ฝา หรือน้ำดื่มสิงห์ กิจกรรมโชคใต้ฝา กรอกรับพ้อยท์ลุ้นแลกรางวัลใหญ่ โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 75.3 จะเข้าร่วมต่อเมื่อมีรางวัลใหญ่มาดึงดูด บ่งชี้ว่ากิจกรรมดังกล่าวมีปัจจัยดึงดูดร่วมด้วย 
  2. เสี่ยงที่จะลงทุน 42.7% เทียบเป็นจำนวนประชากร ได้ประมาณ 28 ล้านคน เช่น หุ้น กองทุน ทองคำ รวมถึงคริปโตเคอร์เรนซีที่กำลังมาในปัจจุบัน ซึ่งบริษัทภาคเอกชนและภาครัฐบาลหลายประเทศก็เริ่มออกมายอมรับการใช้คริปโตเคอร์เรนซีมากขึ้น ยกตัวอย่าง ญี่ปุ่น (Japan) ประกาศให้สามารถใช้บิตคอยน์ชำระค่าสินค้าและบริการในประเทศได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย และล่าสุด เอลซัลวาดอร์ (El Salvador) กำลังผลักดันกฎหมายรองรับบิตคอยน์ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศ
  3. เสี่ยงที่จะเซอร์ไพรส์ 11.1% เทียบเป็นจำนวนประชากร ประมาณ 7 ล้านคน เช่น การซื้อกล่องสุ่ม การรับประทานอาหารแนว Chef’s Table หรือการรับประทานอาหารแบบส่วนตัว ซึ่งจะมีเชฟคอยรังสรรค์เมนูต่างๆ ตามใจเชฟ ที่มีความพิเศษทั้งวัตถุดิบและเรื่องราวต่างๆ เรียกว่าเป็นศิลปะในการรับประทานอาหารรูปแบบหนึ่ง โดยที่ลูกค้าไม่ต้องเปิดเมนูเลือกอาหารเองและลุ้นว่าจะได้รับประทานอาหารเมนูอะไรและรับประสบการณ์ในการทานที่พิเศษมากน้อยแค่ไหน

จากความเสี่ยง 3 ลักษณะดังกล่าวเมื่อวิเคราะห์แล้ว จะพบว่าผู้ที่เป็นเป้าหมายของความเสี่ยงต่าง ๆ จะเกิดการรับสารแล้วแปลงออกมาเป็นพฤติกรรมตอบสนอง สามารถแบ่งคนชอบเสี่ยง ได้ 2 ประเภท คือ

  1. Risk Lover ผู้ชอบความเสี่ยง กล้าได้กล้าเสีย ยอมรับความผันผวนและความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น
  2. Risk Averse ผู้หลีกเลี่ยงความเสี่ยง ไม่ชอบความเสี่ยง ไม่เล่นการพนันเพราะกลัวเสียเงิน ต้องการความแน่นอนให้กับตัวเองค่อนข้างสูง

เมื่อพิจารณาเชิงลึก จะพบ 3 สัญชาตญาณของมนุษย์ที่บ่งชี้ว่าต้องการ “เสี่ยงเพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่า” ประกอบด้วย 1. คนอยากเสี่ยงโชค 2. คนชอบความสนุก และ 3. คนอยากตื่นมาแล้วรวยขึ้น โดยหวังให้ความเสี่ยงที่ลงทุนเสี่ยงไปส่งผลตอบสนองให้เปลี่ยนชีวิตจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ปริยานุช เพ็งเจริญ นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) หัวหน้าทีม กล่าวว่า ทีมวิจัย ซีเอ็มเอ็มยู ได้คิดค้นกลยุทธ์ทางการตลาด อย่างกลยุทธ์พิชิตใจคนชอบเสี่ยง “4R” มีรายละเอียด ดังนี้ 

  • R: RANDOM เสี่ยงลุ้น – แบรนด์อาจจะต้องมีรางวัลที่น่าสนใจหรือรางวัลใหญ่ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีความสนใจ และรู้สึกตื่นเต้น รวมทั้งยังเป็นการสร้างยอดขาย หรือเข้าร่วมแคมเปญนั้น ๆ 
  •  R: RELIABLE เสี่ยงเซอร์ไพร์ส – แบรนด์ต้องทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นและไว้ใจ ในการทำการตลาดประเภทนี้ ว่า สิ่งของที่ผู้บริโภคได้รับมีคุณภาพ เหมาะสมกับราคา 
  • R: RICHNESS เสี่ยงลงทุน – แบรนด์ต้องทำให้ผู้ลงทุนมีความมั่งคั่งทางการเงิน โดยให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และช่วงเวลาที่เหมาะสมในการลงทุน และมีการสื่อสารออกไปให้ผู้ลงทุนรับรู้ ทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์
  • R: RISK ความเสี่ยงของผู้ชอบเสี่ยง – แบรนด์ต้องให้ข้อมูลความเสี่ยงที่จะเปิดเผยได้ว่า บางอย่างนั้นมีความเสี่ยงสูง หรือความเสี่ยงต่ำ เพื่อแสดงถึงความเชื่อมั่นและจริงใจในการทำการการตลาดเพื่อกลุ่มคนชอบเสี่ยง โดยคาดหวังว่าผลการวิเคราะห์งานวิจัยและการเสนอกลยุทธ์การตลาดดังกล่าวนี้จะสามารถสร้างโอกาสให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างสำเร็จ

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

‘จรัสศรี พหลโยธิน’ กับการขับเคลื่อน KBTG INSPIRE เพื่อค้นหาและผลักดัน Tech Talent เข้าสู่ KBTG ในระดับภูมิภาค

เนสกาแฟ โกลด์ เครมมา ทุ่มงบ 300 ล้านบาท จัดแคมเปญ ‘The Finest Moment’ จับมือ แจ็คสัน หวัง เขย่าตลาดกาแฟพรีเมียม

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ