TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness"ภาษี e-Service" รับ "แพลตฟอร์ม"​ บูม

“ภาษี e-Service” รับ “แพลตฟอร์ม”​ บูม

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 63 มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) ซึ่งครอบคลุมการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หลากหลายรูปแบบ เช่น การดาวน์โหลดภาพยนตร์ เพลง เกม การจองโรงแรม ที่พัก และสื่อบันเทิงต่าง ๆ

ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้บริการ e-Service จากต่างประเทศ หรือแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ เช่น การให้บริการดาวน์โหลดภาพยนตร์ โหลดเพลง สื่อบันเทิงต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จากการให้บริการผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์แก่ลูกค้าในประเทศไทย มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร คาดว่า รัฐจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีมากกว่า 60 ประเทศที่จัดเก็บภาษีในลักษณะนี้ เพื่อปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีให้ทันสมัยสอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น

โควิดดันบริโภคสื่อออนไลน์บูม

การประกาศจัดเก็บภาษี e-Service หลัก ๆ จะครอบคลุมสื่อบันเทิงจากต่างประเทศ ทั้งภาพยนตร์ เพลง และเกมออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนเข้ามารองรับ ขณะที่แพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านี้เติบโตสูงมาก โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ทำให้พฤติกรรมการเสพสื่อออนไลน์ขยายวงกว้างมากขึ้น

การเก็บภาษีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ครอบคลุม 4 หัวข้อหลัก

  • การให้บริการ Streaming Services ก็เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ผ่านออนไลน์ Netflix เป็นต้น
  • Video Games การขายเกมผ่านร้านค้าออนไลน์ หรือบริการเกมออนไลน์ต่างๆ
  • Software การขายซอฟต์แวร์ หรือพวกแอปฯ บริการต่างๆ
  • ePublishing สิ่งพิมพ์ออนไลน์ (ดูการ์ตูนออนไลน์ ฯลฯ)
"ภาษี e-Service" รับ "แพลตฟอร์ม"​ บูม

บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ ประมาณการณ์ว่า จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น จะทำให้ตัวเลขการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 55 ล้านคน จากตัวเลขในช่วงต้นปี 2563 อยู่ที่ 50 ล้านคน ซึ่งโควิดเป็นตัวเร่งพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ของผู้บริโภคให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และขยายกลายเป็นสื่อหลักของกลุ่ม Gen X ไปแล้ว จากเดิมเป็นสื่อหลักของกลุ่ม Gen Y รวมถึงกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ก็มีการใช้งานเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน และกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง จะเห็นได้จากปริมาณ Transaction หรือยอดการสั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

นอกจากนี้ กันตาร์ ประเทศไทย ได้สำรวจข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงโควิด พบว่า 71% ใช้สำหรับดูวิดีโอ ออนไลน์มากขึ้น รวมถึงการใช้โซเชี่ยล เน็ตเวิร์ค อีเมล พอดแคสต์ และมิวสิค สตรีมมิ่ง เป็นต้น

ทั้งนี้ สมาคมโฆษณาดิจิทัล รายงานข้อมูลในปี 2562 เฉพาะรายได้โฆษณาผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ มีมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท โดยเฟซบุ๊ค และ ยูทูป เป็นแพลตฟอร์มหลักที่มีการใช้งบโฆษณา และในช่วงโควิดนี้ TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่มาแรง เช่นเดียวกับอินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และระบบส่งข้อความ (Instant Messaging) ไม่นับรวมรายได้จากการให้บริการต่าง ๆ ที่ยังไม่มีการรวบรวมตัวเลข

ขณะที่บริการ e-Service อีกสองส่วนสำคัญ ได้แก่ ตลาดเกม มีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านปริมาณธุรกรรมการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ซึ่งจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้น 6 เท่า ในปี 2560 และ 1.5 เท่า ในปี 2561 แม้สถานการณ์โควิดจะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่เชื่อว่าหลังสถานการณ์คลี่คลาย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ให้บริการ e-Service รายใหญ่ ๆ ต่างจดทะเบียนในประเทศไทย และเสียภาษีอย่างถูกต้องอยู่แล้ว โดยจากข้อมูลของเว็บไซต์ creden.co พบว่า บริษัท เฟซบุ๊ก (ประเทศไทย) จำกัด มีรายได้รวมเมื่อปี 2561 อยู่ที่ 252,875,498 ล้านบาท มีการเสียภาษีเงินได้ 8,961,222 ล้านบาท บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด มีรายได้ปี 2561 อยู่ที่ 782,304,919 ล้านบาท เสียภาษีเงินได้ 18,177,340 ล้านบาท บริษัท อีเบย์ มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด มีรายได้รวมปี 2561 อยู่ที่ 23,417,746 ล้านบาท และมีการเสียภาษีเงินได้ 182,222 ล้านบาท เป็นต้น

ช่วงนี้จึงถือเป็นจังหวะที่ดีที่ภาครัฐจะเข้ามาจัดเก็บภาษีบริการ e-Service เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการที่มีการเสียภาษี และแข่งขันอย่างถูกต้องในประเทศไทย และเป็นโอกาสขยายฐานภาษีให้เพิ่มขึ้นจากบริการดิจิทัล ที่นับวันผู้บริโภคหันมาใช้บริการมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกวิถีหนึ่งในยุค New Normal

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ