TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessซิตี้แบงก์แนะปรับพอร์ตลงทุนเน้นหุ้นโตยาว รับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น-นโยบายเข้มงวด-เลขเงินเฟ้อ

ซิตี้แบงก์แนะปรับพอร์ตลงทุนเน้นหุ้นโตยาว รับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น-นโยบายเข้มงวด-เลขเงินเฟ้อ

ซิตี้แบงก์เผยคำแนะนำถึงนักลงทุน ให้เตรียมปรับพอร์ตการลงทุนโดยให้น้ำหนักในหุ้นเฉพาะกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตในระยะยาว ขานรับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางธนาคารกลางในสหรัฐฯ และยุโรปที่เตรียมปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้น หมดยุคดอกเบี้ยต่ำ และยังคงต้องจับตาเงินเฟ้อต่อไปอีกสักระยะ ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะขยายตัวที่ 3.8% แต่ยังไม่อาจกลับไปยังจุดก่อนเกิดวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19

คำแนะนำในครั้งนี้มีขึ้นระหว่างการงานสัมมนาออนไลน์  “Citigold Annual Outlook 2022” แถลงข้อมูลทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนปี 2565 โดยแม้จะยังไม่มีสัญญาณเติบโตในทางบวก แต่ก็ยังมีข่าวดีตรงที่จะไม่มีการหยุดชะงักของระบบเศรษฐกิจอีก และการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะไม่ใช่ปัจจัยคุกคามที่น่ากังวลอีกต่อไป กล่าวคือ ทั่วโลกจะปรับตัวอยู่ร่วมกับไวรัสโควิด-19 และไม่น่าจะนำมาตรการล็อกดาวน์มาใช้อีก

เคน เพ็ง นักยุทธศาสตร์การลงทุนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิกฟิก ธนาคารซิตี้แบงก์ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก ปี 2565 จะยังคงไม่กลับไปยังจุดก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แต่ก็จะไม่มีการหยุดชะงักของระบบเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน แม้ว่าทั่วโลกจะมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังคงเติบได้อย่างช้าๆ คือ ขยายได้อยู่ที่ราว 3.8 % เนื่องด้วยหลายประเทศมีเปลี่ยนแปลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น มาตรการการชดเชยทางการเงินขนาดใหญ่จากผลกระทบของโควิด-19 และธนาคารกลางในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเตรียมยุติการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ คิวอี (Quantitative Easing) นำโดย ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed)

ขณะเดียวกัน อีกปัจจัยที่ต้องจับตาคือแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายใน 2 ปีต่อจากนี้ของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงเป้าอัตราเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ในระดับสูงขึ้นปานกลางในระยะยาว เป็นต้น

นักวิเคราะห์ของซิตี้แบงค์คาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ราว 3.5% โดยได้รับอานิสงส์จากภาคบริการที่กลับมามีความแข็งแกร่ง ในขณะที่ภาคการผลิตยังได้รับผลกระทบจากแรงลมหนุนท้าย (tailwind) ส่วนประเทศจีนคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวอยู่ที่ 4.5% โดยทางการจีนมีแนวโน้มจะใช้นโยบายการเงินที่สวนทางกับซีกโลกตะวันตกด้วยการหันมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงมาตรการควบคุมในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งสินค้าออกไปยังจีน และในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์บางส่วน

ในส่วนของภาพรวมการลงทุนคาดว่านักลงทุนยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายอย่างต่อเนื่อง ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นเลขเงินเฟ้อ การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของซีกโลกตะวันตก และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก แต่ตลาดหุ้นยังคงเป็นแหล่งลงทุนที่สร้างโอกาสทางรายได้ให้แก่นักลงทุน

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ของซิตี้แบงก์มีมุมมองบวกต่อหุ้นวัฏจักรในอุตสาหกรรมที่ได้ผลประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยแนะนำกระจายการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมหลากหลาย อาทิ กลุ่มการดูแลสุขภาพ กลุ่มพลังงาน เทคโนโลยี และเทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชัน เป็นต้น ขณะเดียวกัน ก็แนะนำให้นักลงทุนกระจายการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ เพื่อลดความผันผวน เช่น ตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่เอเชีย ตราสารหนี้ที่มีอัตราผลตอบแทนในระดับสูง (ไฮยิลด์) อย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเน้นที่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืนในตลาดเอกชนที่มีความเสี่ยงต่ำ และใช้ตลาดทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทน พร้อมแนะให้ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวรอบโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อกระจายความเสี่ยงและรักษาผลประโยชน์ของพอร์ตลงทุนในระยะยาว

สำหรับกำไรต่อหุ้นทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น 53% ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา ซิตี้แบงก์คาดว่าน่าจะเติบโตช้าลงแต่ยังคงอยู่ในแดนบวกที่ 7- 8% ระหว่างปี 2565-2566 ในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี (10-year US Treasuries) มีแนวโน้มจะเพิ่มอัตราผลตอบแทนขึ้นมาแตะระดับ 2.1% ภายในสิ้นปี 2565 แม้ว่าไวรัสโควิด-19 อาจทำให้อัตราผลตอบแทนปกติชะลอตัวลง ส่วนภาพรวมผลตอบแทนหุ้นทั่วโลกในปีนี้ นักวิเคราะห์ซิตี้แบงก์ประมาณการไว้ที่ 8% ขณะที่ผลตอบแทนตราสารหนี้คาดว่าจะอยู่ที่ -1 – 0 %

ในส่วนของกลยุทธ์การลงทุน ซิตี้แบงก์แนะนำให้กระจายการลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มอุตสาหกรรมหลากหลาย และสามารถแบ่งเป็น 3 ธีมการลงทุนด้วยกัน ประกอบด้วย

1) Long term leaders – เปลี่ยนการลงทุนระยะสั้นเป็นการมุ่งลงทุนในกลุ่มผู้นำระยะยาว แม้ว่าปีที่ผ่านมาจะมีอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีและสม่ำเสมอมากที่สุด คือ กลุ่มไอทีเทคโนโลยี กลุ่มการดูแลสุขภาพ และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค

2)  Beat the cash thief! – เอาชนะการถือเงินสดด้วยการลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนดี เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทำให้หลายบริษัทต้องมีการจัดการภาระหนี้สินเป็นจำนวนมาก คาดว่ากลุ่มตราสารหนี้ที่น่าจะให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าคือ ตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่เอเชีย ตราสารหนี้ไฮยีลด์ พันธบัตรสหรัฐอเมริกา

และ 3) Unstoppable trends – ให้จัดพอร์ตเผื่อการลงทุนในหุ้นกลุ่มที่เป็นกระแส โดยเทรนด์การลงทุนที่ยังมาแรงคือกลุ่มพลังงานสะอาดหรือพลังงานทางเลือก รวมถึงความพยายามในการลดต้นทุนอันเห็นได้จากภาครัฐบาลมุ่งมั่นที่จะทำให้โลกเป็นสีเขียว (greening the world) ตลอดจนให้ลองพิจารณาหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี และเทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชันของทั้งบริษัทสหรัฐฯ หรือจีนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนกลุ่มการดูแลสุขภาพที่พบว่ามนุษยชาติจะมีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น

ด้าน ดอน จรรย์ศุภรินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า ในส่วนภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางบวก เนื่องจากได้แรงหนุนจากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งนับเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศที่เริ่มกลับมายืนหยัดได้ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผู้คนทั่วโลกสามารถปรับตัวที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน

ขณะเดียวกัน นโยบายของภาครัฐที่เดินหน้าสนับสนุนการฟื้นตัวการท่องเที่ยวเต็มกำลังทั้ง โครงการ Test&Go และ แซนด์บ็อกซ์ คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจเดินไปข้างหน้าได้ บวกกับการส่งออกที่ส่งสัญญาณกลับมาขยายตัวต่อเนื่องจากคำสั่งซื้อของคู่ค้าที่กลับมาทำให้เป็นแรงหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และส่งผลต่อการลงทุนในหุ้นไทยโดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 นี้มีแนวโน้มขยายตัวอยู่ที่ราว 3.6 % ดีกว่าปี 2564 ที่ขยายตัวที่ราว 1 % โดยดอนคาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาจากโครงการ Test&Go และการขยายพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 5 ล้านคน คิดเป็น คิดเป็น 12.5%ของจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เรียกได้ว่า แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะยังฟื้นไม่เต็มที่ แต่ก็สะท้อนทิศทางการเติบโตที่ดีทางเศรษฐกิจและหนุนการลงทุนในตลาดหุ้นไทย

แต่สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นไทย ซิตี้แบงก์ยังคงมองว่า การจัดพอร์ตแบบกระจายสินทรัพย์ และลงทุนในภูมิภาคต่างๆจะรับมือกับสถานการณ์ตลาดผันผวนได้ดีกว่าการลงทุนแบบกระจุกตัว พร้อมแนะให้พิจารณากระจายการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะในเอเชีย เพื่อเพิ่มโอกาสและลดความเสี่ยงจากความผันผวนของการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กับธนาคารกลางยุโรป (ECB)

ขณะเดียวกัน ปัจจัยเงินเฟ้อไทยยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่้ต้องจับตามองเช่นกัน ซึ่งซิตี้แบงก์ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยในปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 1.8% ซึ่งไม่ถือว่าอยู่ในอัตราที่สูงจนน่าวิตกเมื่อเทียบกับทางฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ประเมินได้ว่าตลอดทั้งปี 2565 นี้ไทยไม่น่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโนบายตามธนาคารกลางสหรัฐฯ

 ขณะที่ สถานการณ์ที่สินค้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น จนกระทบต่อค่าครองชีพของคนส่วนใหญ่ในขณะนี้ ซิตี้แบงก์มองว่าจะเป็นผลกระทบในระยะสั้น อีกทั้งภาคการบริโภคของไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ จากแรงงานบางส่วนที่ยังไม่ได้กลับเข้ามาในระบบ เพราะเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว ปัจจัยเหล่านี้จึงยังไม่ได้ทำให้เงินเฟ้อเร่งตัว

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

GuildFi ได้รับการลงทุนจาก BSC Growth Fund เร่งสร้างระบบนิเวศ Web3.0 และ NFT

เนสท์เล่ เปิดตัว ‘ไมโล นมถั่วเหลือง’ ทุ่มงบการตลาด 150 ลบ. ตั้งเป้าเป็น Top 5 ในปีแรก

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ